รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
1 มิถุนายน 2566
ผู้เขียน นิธิกานต์ ปภรภัฒ
มะเร็งปอด ยิ่งตรวจพบไว โอกาสรักษาหายยิ่งมีมาก แพทย์ จุฬาฯ แนะประชาชนตรวจสุขภาพปอดสม่ำเสมอ พร้อมแจงเทคโนโลยีการตรวจรักษาและยาที่ช่วยยืดอายุและประคองคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วย
โรคมะเร็งเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตของคนไทยเกือบแสนรายในแต่ละปี และแนวโน้มนี้ก็ดูจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วย สถิติจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติปี 2565 เผยว่าในประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ราว 400 คนต่อวัน โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยมะเร็งปอดราว 11 % ทำให้มะเร็งปอดจัดเป็นโรคมะเร็งที่คนไทยเป็นมากเป็นอันดับ 2
สถิตินี้อาจดูน่าหวาดหวั่น แต่มีแนวทางลดความเสี่ยงและรักษาได้ รองศาสตราจารย์ ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ ประธานคณะทำงานมะเร็งปอดเพื่อคนไทย และผู้อำนวยการศูนย์ความเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่าสิ่งที่น่ากลัวกว่าการเป็นโรคมะเร็งปอดคือความไม่รู้ และความเข้าใจผิด จนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยหลายรายมาตรวจและได้รับการรักษาเมื่อใกล้จะสายเกินไป
“มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่ยากที่สุด เนื่องจากโรคนี้ในระยะแรก มักไม่ปรากฎอาการ จนเมื่อผู้ป่วยพบว่าตัวเองไอเรื้อรัง น้ำหนักลด โรคมะเร็งปอดก็ลุกลามและแพร่กระจายแล้ว” รศ.ดร.นพ.วิโรจน์กล่าวถึงความท้าทายในการรักษาโรคมะเร็งปอด
“นอกจากนี้ ผู้ป่วยมักกลัวที่จะมาตรวจ เพราะกลัวว่าจะเป็นโรค และกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษา เหล่านี้ทำให้เสียโอกาส เพราะการตรวจพบมะเร็งปอดตั้งแต่ระยะเริ่มต้นและได้รับรักษาที่เหมาะสม จะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายจากโรคได้มากกว่า” รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ กล่าวในงานเสวนา “มะเร็งปอดรักษาหายขาดได้จริงหรือ?” ที่ศูนย์ความเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร จัดขึ้นที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนได้เข้าใจโรคมะเร็งปอดอย่างรอบด้าน ทั้งสาเหตุ อาการ แนวทางการรักษา ตลอดไปจนถึงประเด็นความเข้าใจผิดต่างๆ เกี่ยวกับการรักษาโรคมะเร็งปอด
มะเร็งปอดเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่เลือกเพศ ช่วงวัย และสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งมีหลายประการ แต่ปัจจัยเสี่ยงหลักที่ครองแชมป์ก่อโรคมะเร็งปอดอันดับหนึ่งก็ยังคงเป็นการสูบบุหรี่
“คนที่ไม่สูบบุหรี่ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดได้ แต่การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น เช่น ถ้าเราเอาคนที่ไม่สูบบุหรี่มา 1,000 คน อาจจะเจอคนเป็นมะเร็งปอดไม่ถึง 1 คน แต่ถ้าตรวจคนสูบบุหรี่ 1,000 คน เรามีโอกาสเจอคนเป็นมะเร็งปอดได้ 4-5 คน” รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ กล่าว
การสูบบุหรี่ในที่นี้ยังรวมถึงผู้ที่อยู่ในครอบครัวที่มีนักสูบบุหรี่ด้วย
“หากในครอบครัวมีผู้สูบบุหรี่ สมาชิกในครอบครัวนั้นก็จะกลายเป็นผู้สูบบุหรี่มือสอง และมือสาม มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดได้เช่นกัน เนื่องจากสารก่อมะเร็งที่อยู่ในบุหรี่จะติดและตกตะกอนอยู่ในบ้าน ข้าวของเครื่องใช้ และจะมีกลิ่นบุหรี่แม้ขณะนั้นจะไม่สูบแล้วก็ตาม เมื่อสูดเข้าไปบ่อยๆ ก็เข้าไปอยู่ในปอด”
นอกจากการสูบบุหรี่ ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปอด ได้แก่
“ส่วนใหญ่การเป็นมะเร็งปอดจะมาจากการสัมผัสใกล้ชิดกับปัจจัยก่อมะเร็งแวดล้อมมากกว่า อย่างเช่นการอยู่ในครอบครัวที่มีคนสูบบุหรี่”
ดังนั้น ในเบื้องต้น รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ แนะว่าเราสามารถลดโอกาสการเป็นมะเร็งปอดได้ด้วยการเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
“อย่างแรกเลย คือไม่สูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงพื้นที่มีคนสูบบุหรี่ เลี่ยงการอยู่หรือเข้าไปในพื้นที่ที่มลภาวะเป็นพิษสูง หาพื้นที่ภายในบ้านที่เป็น “เซฟโซน” มีเครื่องฟอกอากาศ ปลูกต้นไม้ หรือสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยปรับให้อากาศดีขึ้น”
“ไอ เหนื่อยง่าย หอบ มีเสมหะปนเลือดเรื้อรัง และมีก้อนโตที่คอ – หากมีอาการดังกล่าวต่อเนื่องราว 2-3 สัปดาห์ โดยที่อาการไม่ลดหรือทุเลาลง ให้รีบมาพบอายุรแพทย์โรคปอดโดยเร็ว” นายแพทย์ นพพล ลีลายุวัฒนกุล หน่วยโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้ข้อสังเกตอาการที่น่าสงสัยของมะเร็งปอด
นอกจากอาการตั้งต้นดังกล่าว ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ขึ้นกับว่าเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะใด
“เช่นหากมะเร็งแพร่ไปที่สมอง ผู้ป่วยก็อาจจะมีอาการทางสมอง หรือหากมะเร็งแพร่ไปที่กระดูก ผู้ป่วยก็มีอาการปวดกระดูก หรือถ้าไปตับ ผู้ป่วยก็จะมีอาการแน่นท้อง ตัวเหลือง นอกจากนี้ เซลล์มะเร็งอาจจะสร้างสารบางอย่างที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดอุดตัน ลิ่มเลือดอุดตัน เยื่อหุ้มกระดูกอักเสบ บางที เราก็เจอว่าผู้ป่วยมีอาการสมองหรือเส้นประสาทโดยไม่ได้มีเซลล์มะเร็งอยู่ในระบบนั้นๆ”
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดในปัจจุบันใช้วิธีการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วยปริมาณรังสีที่ต่ำ (Low-dose CT) ซึ่งสามารถตรวจพบมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นได้ราว 60-90% มากกว่าการตรวจเอกซเรย์ปอดถึง 4 เท่า
“เมื่ออัตราการตรวจพบมะเร็งมีมากขึ้น อัตราการรอดชีวิตจากมะเร็งปอดก็มากขึ้นด้วย” นายแพทย์ นพพล ลีลายุวัฒนกุล กล่าว
ผลเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จะแบ่งความเสี่ยงของโรคจากลักษณะก้อนที่พบในปอด ซึ่งในหลายกรณี จะต้องมีการตรวจคัดกรองขั้นต่อไป เช่น การส่องกล้องหลอดลม เจาะตรวจชิ้นเนื้อ และการผ่าตัด ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม การตรวจคัดกรองด้วยเทคโนโลยีนี้เหมาะกับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งปอด เช่น “คนสูบบุหรี่” โดยเฉพาะคนในช่วงวัย 50-75 ปี ไม่ว่าจะยังสูบบุหรี่อยู่ หรือเลิกสูบบุหรี่ไปแล้วไม่เกิน 15 ปี และสูบมากกว่า 20 แพคเยียร์ (Pack-year เป็นการคำนวณจากแพ็คบุหรี่ที่สูบต่อวัน x จำนวนปี เช่น 1 ซองต่อวัน x 20 ปี = 20 Pack-year)
ส่วนผู้ที่ไม่ได้เป็นนักสูบ หรืออยู่ในครอบครัวที่มีประวัติสูบบุหรี่ ต้องให้แพทย์ประเมินความจำเป็นในการตรวจคัดกรองด้วยเทคโนโลยีนี้ เนื่องจากอาจได้รับผลกระทบจากการเข้ารับการตรวจวินิจฉัยหรือผ่าตัด เช่น ภาวะลมรั่วในปอด ภาวะเลือดออกจากการตัดชิ้นเนื้อ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีเรื่องค่าใช้จ่ายในการตรวจด้วย
ทั้งนี้ รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ กล่าวว่าแนวทางการรักษามะเร็งปอดจะขึ้นอยู่กับระยะของโรค
“ถ้าพบมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นก็จะใช้การผ่าตัดเป็นหลัก ถ้าโรคเข้าสู่ระยะกลางๆ อาจจะมีการฉายแสงเสริมเข้ามา มีการผ่าตัดบ้าง แล้วก็ให้ยา แต่ถ้าโรคแพร่กระจายไปมากแล้ว ก็อาจจะให้ยาเพียงอย่างเดียว หรือฉายแสงเพื่อบรรเทาอาการ”
แม้จะเป็นมะเร็งปอดเหมือนกัน แต่ชนิดมะเร็งปอดที่เกิดขึ้นก็อาจแตกต่างกันได้ในแต่ละบุคคล แพทย์หญิง ปิยะดา สิทธิเดชไพบูลย์ อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา กล่าวว่ามะเร็งปอดอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
นอกจากนี้ ในกลุ่มคนเอเชียยังพบการกลายพันธุ์ประเภท Epidermal Growth Factor Receptor (EGFR) ในเซลล์ประเภทนี้ถึง 50 % เมื่อเทียบกับยีนกลายพันธุ์ประเภทอื่น ซึ่งแพทย์หญิงปิยะดา กล่าวเสริมว่าปัจจุบัน มีการตรวจพบเซลล์มะเร็งปอดลงลึกถึงระดับยีนได้กว่า 10 ชนิด
การผ่าตัดยังคงเป็นแนวทางการรักษาหลักสำหรับโรคมะเร็งปอด นายแพทย์นพพร พรพัฒนารักษ์ หน่วยศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก กล่าว “แต่ทั้งนี้ ต้องเลือกให้เหมาะกับผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป โดยวินิจฉัยจากเชื้อมะเร็ง ขนาด-ตำแหน่งชิ้นเนื้อ ระยะของโรค และสภาวะร่างกายร่วมทั้งโรคประจำตัวของผู้ป่วย โดยเฉพาะการรักษาในมะเร็งระยะต้น ซึ่งจะเป็นการผ่าตัดก่อนหรือหลังการได้รับยาก็ได้”“การผ่าตัดจะเป็นการรักษาแรกที่เลือกในกรณีทีเซลล์มะเร็งอยู่ในจุดใดจุดหนึ่งในเนื้อปอด และพิจารณาแล้วว่ามีแนวโน้มที่จะไม่มีการแพร่กระจาย การผ่าตัดเพื่อครอบคลุมระยะที่แท้จริงของมะเร็งปอดได้อย่างสมบูรณ์ และหวังผลให้มะเร็งปอดหายขาดนั้น จะต้องตัดก้อนมะเร็งออก พร้อมกับเนื้อกลีบปอดรอบข้าง เลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณขั้วปอด ทางเดินหายใจและลงไปถึงหลอดลมส่วนบน” นพ.นพพร กล่าว
ปัจจุบัน การผ่าตัดปอดมี 2 วิธี ได้แก่
นอกจากการผ่าตัด แนวทางการรักษามะเร็งปอดยังมีเรื่องการรักษาด้วยการฉายรังสีด้วย ซึ่งที่ รพ. จุฬาฯ รังสีที่ใช้เป็นมาตรฐานคือรังสีร่วมพิกัด (Stereotactic body radiation therapy) หรืออีกชื่อ “รังสีศัลยกรรม”
“เราให้รังสีร่วมกับระบบภาพนำวิถี (Image-Guided Radiation Therapy) เพื่อความแม่นยำ ซึ่งความถี่หรือระยะเวลาในการรักษานั้นขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็งปอด” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ดนิตา กานต์นฤนิมิต หน่วยรังสีวิทยา กล่าว
“เมื่อมะเร็งปอดเข้าสู่ระยะ 2-3 จะใช้การฉายรังสีควบคู่ไปกับเคมี-ภูมิคุ้มกันบำบัด แทนผ่าตัด หรือใช้ร่วมกันก่อนและหลังผ่าตัด ส่วนมะเร็งในระยะ 4 จะใช้รังสีรักษาเพื่อควบคุมและบรรเทาให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตปลอดจากอาการโรคได้ รวมถึงใช้รังสีอื่นเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ อาทิ ฉายรังสีโปรตอน (Proton) พุ่งตรงไปที่มะเร็ง เพื่อลดปริมาณรังสี ผลข้างเคียงต่ออวัยวะสำคัญ เช่น รอยโรคที่ต้องฉายซ้ำ รอยโรคใกล้ผนังหัวใจ”
“หากสภาพร่ายกายของผู้ป่วยไม่แข็งแรง การฉายรังสีนับเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ให้ผลอัตราการควบคุมโรคที่สูง ทำให้อัตราการรอดชีวิตสูงตามไปด้วย” พญ.ดนิตา กล่าว
การรักษามะเร็งปอดระยะต้น (ระยะ1-2) ใช้ “การผ่าตัด” มีโอกาสหายขาดค่อนข้างสูง แต่ก็มีโอกาสจะกลับมาเป็นซ้ำได้ ยาจึงมีบทบาทเป็นตัว ‘เสริม’ หลังการผ่าตัด
“ผลชิ้นเนื้อจะบอกเปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงมากน้อยของโรค และช่วยในการเลือกยาเพื่อรักษาแบบเฉพาะเจาะจงเป็นรายๆ ไป เราไม่อาจใช้ยากับทุกคนได้เหมือนกัน และจะต้องตรวจละเอียดด้วยว่าผู้ป่วยแต่ละคนเป็นมะเร็งชนิดใด” พญ.ปิยะดา อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา กล่าวขยายความ
กลุ่มยาที่ใช้รักษามี 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) และยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ซึ่งต้องเลือกใช้ให้ตรงชนิดและระยะของโรค และผู้ป่วยบางรายก็อาจจะต้องได้รับยาแบบผสมผสาน
พญ.ปิยะดา อธิบายโดยยกตัวอย่างการให้ยากับผู้ป่วยมะเร็งที่มีความเฉพาะเจาะจงว่า “หนึ่งใน 3 ของผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งปอดแบบเซลล์ขนาดไม่เล็ก และรักษาโดยการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่สำหรับผู้ป่วยที่เป็นแบบเซลล์ขนาดเล็ก อาจจะต้องใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดผสมกับอย่างอื่นด้วย”
ปัจจุบัน แนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดมีลักษณะเหมือนการรักษาโรคเรื้อรัง ที่ผู้ป่วยสามารถอยู่กับโรค รักษาคุณภาพชีวิตและมีชีวิตยืนยาวขึ้น โดยมียารองรับในการรักษากว่า 10 ชนิด อย่างเช่นยากลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัด ที่มักใช้รักษผู้ป่วยในระยะ 4 ก็ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งปอดมีชีวิตยืนยาวขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีทางเลือกใหม่เข้ามาเสริม “วัคซีนมะเร็ง”
พญ.ปิยะดา อธิบายหลักการและกลไกการทำงานของวัคซีนมะเร็งว่า “โดยปรกติ เซลล์มะเร็งจะส่งสัญญาณรบกวนการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เปรียบเสมือน “ทหารป้องกันร่างกาย” ให้มองไม่เห็นความผิดปกติของเซลล์มะเร็ง”
“ยาภูมิคุ้มกันบำบัดจะเข้าไปยับยั้งการส่งสัญญาณดังกล่าวของเซลล์มะเร็ง ส่วนวัคซีนมะเร็งก็จะทำให้เม็ดเลือดขาวจดจำลักษณะเฉพาะของเซลล์มะเร็งได้ เมื่อทั้งสองทำงานร่วมกัน เม็ดเลือดขาวก็จะทำงานได้ดีขึ้น สามารถกำจัดสิ่งแปลกปลอมอย่างเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบและศึกษาวิจัยเพื่อใช้ในมะเร็งระยะต่างๆ”
ทีมแพทย์หวังว่ายาเหล่านี้จะสามารถทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายฆ่าเซลล์มะเร็งได้เอง โดยที่ไม่ต้องใช้ยาในการรักษาทั้ง 100 % ดังนั้นปัจจุบันจึงอยู่ในขั้นตอนการทดสอบและศึกษาวิจัยเพื่อใช้ในมะเร็งระยะต่างๆ
มะเร็งปอดรักษาหายขาดได้ (โดยเฉพาะเมื่อมารับการรักษาในระยะต้นๆ) แต่ก็กลับกลายเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นจำนวนมากในแต่ละปี เพราะการไม่รู้จักโรค ความกลัว ความวิตกกังวล ความเข้าใจผิดที่เกิดมากจากการได้รับข้อมูลข่าวสารผิดๆ จากคนรอบข้าง และจากโลกโซเซียล
“สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้หลายคนเสียโอกาสชีวิตไปไม่น้อย” ประธานคณะทำงานมะเร็งปอดเพื่อคนไทย รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ กล่าว พร้อมไขข้อกังวลใจของผู้ป่วยมะเร็งปอด เช่น
“อย่ากลัวที่จะตรวจเจอมะเร็งปอด เพราะมีหนทางดูแลรักษา โดยเฉพาะในระยะต้นๆ”
“อย่ากังวลเรื่องค่าใช้จ่าย โรคมะเร็งปอดเป็นหนึ่งในโรคที่ครอบคลุมอยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”
“อย่าคิดไปก่อนว่ารักษาแล้ว จะเกิดผลข้างเคียงอย่างนั้น อย่างนี้ ตามที่คนอื่นๆ บอกเล่าหรือเป็นมา เช่น ผมร่วง เม็ดเลือดต่ำ เพราะมะเร็งแต่ละชนิด รักษาไม่เหมือนกัน ทั้งการผ่าตัด การฉายรังสี หรือการรับยาบางทีผู้ป่วยต้องได้รับยาเคมีบำบัด แต่ยาเคมีบำบัดนั้นอาจจะไม่มีผลข้างเคียงเรื่องผมร่วงก็เป็นได้”
“โรคมะเร็งรักษาได้แต่ค่อนข้างยากและใช้เวลา การปรับอาหารและพฤติกรรมเพียงอย่างเดียวไม่อาจช่วยให้หายจากมะเร็งได้ การรักษาทางการแพทย์ยังคงจำเป็น แต่การปรับอาหารและพฤติกรรมเป็นส่วนเสริมให้ร่างกายทนต่อการรักษาได้ดี”
“เรื่องสมุนไพรก็เช่นกัน แม้สมุนไพรจะมาจากธรรมชาติแต่ก็เป็นอันตรายหรือก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ ไม่ใช่ว่าเป็นสมุนไพรแล้วจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือเคมีบำบัดเป็นอันตรายร้อยเปอร์เซ็นต์ เคมีบำบัดหลายชนิดก็มาจากธรรมชาติ แต่ผ่านกระบวนการวิจัยที่ได้รับรองมาตรฐานแล้ว”
สุดท้าย รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ กล่าวสรุปให้ความมั่นใจว่าด้วยความรู้ และความก้าวหน้าทางการแพทย์และเทคโนโลยีการรักษาต่างๆ โรคมะเร็งปอดมีหนทางรักษาให้หายขาดได้ โดยเฉพาะเมื่อตรวจพบในระยะแรกๆ แต่แม้จะพบในระยะหลัง ก็มีแนวทางประคับประคองให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม
ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งปอดเพิ่มเติมได้ที่ www.chulacancer.net Facebook : chulacancer.net Line : @ChulaCancer และ chulacancer@chulahospital.org หรือโทร. 0-2256-4100 หรือ https://www.lungandme.com/ “Lung and Me” แพลตฟอร์มออนไลน์ส่งตรงสาระและความเข้าใจที่ถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อผู้ป่วยมะเร็งปอดและผู้อภิบาล
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
คีเฟอร์น้ำเกสรดอกกุหลาบ เครื่องดื่มสุขภาพต้านอนุมูลอิสระ ผลงานนิสิตจุฬาฯ คว้าเหรียญทองระดับโลก
The Skinov’e นวัตกรรมสกินแคร์จากเปลือกกล้วยหอมทองปทุม ผลงานวิจัยจุฬาฯ ที่ทำให้สิวเป็นเรื่องกล้วยๆ
น้ำยายืดอายุกระดาษ นวัตกรรมจุฬาฯ อนุรักษ์เอกสารและภาพศิลปะโบราณให้คงสภาพอีกนานนับทศวรรษ
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้