รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
7 มิถุนายน 2566
ผู้เขียน ปริณดา แจ้งสุข
หากคุณมีเพื่อนชาวต่างชาติ คุณจะแนะนำให้เพื่อนรู้จักประเทศไทยอย่างไร?
พาชมสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม?
พาชิมอาหารไทยรสเด็ด?
หรือแนะนำภาพยนตร์ ซีรีส์ไทยที่น่าดึงดูด?
ประเทศไทยมีเสน่ห์มากมายให้เลือกดื่มด่ำ แต่หนึ่งในเสน่ห์ที่ขาดไม่ได้เลยก็คงจะเป็น “ภาษาไทย” ที่ไม่ว่าจะฟังอย่างไร ก็ไพเราะเสนาะหูราวกับกำลังฟังตัวโน้ตดนตรีที่แทรกอยู่ในถ้อยความ
“ช่วงหลังมานี้ เราจะเห็นผู้สนใจเรียนภาษาไทยเพิ่มมากขึ้น และมาจากหลายประเทศทั่วโลกด้วย กระแสความสนใจนี้มาพร้อมกับการเปิดอะไรหลาย ๆ อย่าง ทั้งโลกดิจิทัล การเปิดพรมแดนในด้านของภาษา การเดินทางที่ง่ายขึ้น การส่งออกสินค้าไปจนถึงการส่งออกละคร ซีรีส์ และกระแส soft power ต่าง ๆ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกียรติ เทพช่วยสุข ผู้อำนวยการศูนย์ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว
ไม่ว่าจะเรียนเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ ทำธุรกิจการค้า เรียนเพื่อสื่อสารกับดาราที่ชื่นชอบ หรือแม้กระทั่งเรียนเพื่อความสนุก ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ภาษาไทยยาก”
แต่สำหรับ อ.เกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์และการสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติกล่าวว่า “ภาษาไทยเข้าใจง่ายกว่าที่คิด และยังมีอะไรสนุก ๆ รอให้ได้เรียนรู้อีกมากมาย หากเรารู้หลักและจับจุดได้”
ในบทความนี้ อ.เกียรติจะได้ให้คำแนะนำและหลักภาษาแบบเข้าใจง่ายสำหรับผู้ที่คิดจะเรียนภาษาไทยอย่างจริงจัง หรือแม้แต่เจ้าของภาษาเองก็จะได้รู้เกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับภาษาไทย ที่จะทำให้เห็นว่าภาษาไทยนั้นไม่ซับซ้อนอย่างที่คิด แถมเป็นภาษาที่มีเสน่ห์ สะท้อนความเป็นคนสนุกสนานและช่างคิดสร้างสรรค์ของคนไทยด้วย
นักเรียนที่เริ่มต้นเรียนภาษาไทยโดยส่วนใหญ่มักบอกว่าภาษาไทยยาก อ.เกียรติกล่าวว่านั่นเป็นเพราะคุณลักษณะเฉพาะของภาษาไทยที่แตกต่างจากภาษาแม่ของผู้เรียนชาวต่างชาติในแง่มุมต่างๆ ดังนี้
ภาษาไทยมีระบบการเขียนและตัวอักษรเป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นตัวอักษรที่ไม่ได้ใช้ร่วมกันกับภาษาใดเลย และยังมีระบบไวยากรณ์บางอย่างที่แตกต่างจากบางภาษาที่เป็นภาษาแม่ของผู้เรียน อีกทั้งยังมีระบบวรรณยุกต์ที่ทำให้ชาวต่างชาติบางคนฟังคำบางคำแล้วแยกไม่ออกว่าเป็นคำเดียวกันหรือคนละคำ เช่น คาว ข่าว ข้าว และ ขาว เนื่องจากไม่สามารถแยกความแตกต่างของเสียงวรรณยุกต์ได้ โดยเฉพาะชาติตะวันตกเนื่องจากในภาษาของเขาไม่มี
แม้ในหลายภาษาจะมีระดับของภาษาอยู่ แต่ในภาษาไทย เรื่องระดับภาษาเป็นสิ่งที่เด่นชัดมาก
ในประโยคที่สื่อความหมายเดียวกัน เราจะเลือกใช้คำในการสื่อสารอย่างไร มีปัจจัยมากมายที่ต้องคำนึงถึงหลายประการ เช่น ประโยคนั้นเป็นภาษาพูดหรือภาษาเขียน เรากำลังจะสื่อสารกับใคร ในสถานการณ์ใด ฯลฯ ชุดคำศัพท์ที่ใช้ล้วนต่างกันทั้งสิ้น
“หากต้องการเขียนให้สละสลวย ก็ใช้คำศัพท์ชุดหนึ่ง พูดกับพ่อแม่ ครูอาจารย์ ก็เป็นคำศัพท์แบบหนึ่ง แม้กระทั่งจะพูดคุยกับเพื่อน บางครั้งยังต้องแบ่งอีกว่าเพื่อนสนิทหรือไม่สนิท คำศัพท์ที่ใช้ก็จะแตกต่างกันออกไป” อ.เกียรติอธิบาย
ทุกภาษาล้วนมีคำสแลงที่ใช้ภายในกลุ่ม แต่คนไทยนั้นจัดได้ว่าเกิดมาพร้อมกับความคิดสร้างสรรค์เชิงภาษา โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่ม LGBT+ ที่มักประดิษฐ์คำศัพท์ใหม่ ๆ ขึ้นมาใช้สื่อสารกันภายในกลุ่มอยู่เสมอ และด้วยความที่เป็นคำศัพท์ที่ออกรสชาติ มีความสนุก จึงมักแพร่กระจายออกมาใช้กันในสังคมวงกว้างด้วย ถือเป็นเสน่ห์ของภาษาไทย ที่บ่งบอกลักษณะนิสัยของคนไทยที่เป็นคนรักสนุกและมีความคิดสร้างสรรค์ได้ดีทีเดียว
คำว่า “สวัสดี” มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสฤตคำว่า สฺวสฺติ (อ่านว่า ซะ-วัส-สฺติ) แปลว่า ความเจริญ ความสงบ ความดี ซึ่งมีการนำมาใช้เป็นคำทักทายครั้งแรกในสมัยพระยาอุปกิตศิลปสาร ในปี พ.ศ. 2476 โดยใช้กันเองในกลุ่มนิสิตและอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จากนั้นรัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงมีการประกาศให้ใช้กันทั่วไปใน พ.ศ. 2486 เป็นต้นมา
ภาษาไทยในปัจจุบันได้รับอิทธิพลมาจากการผสมผสานของหลายภาษา เช่น บาลี สันสกฤต เขมร มอญ จีน ชวา พม่า มลายู เปอร์เซีย และภาษาของชาติยุโรปบางภาษา เช่น โปรตุเกส และอังกฤษ เป็นต้น คำศัพท์และไวยากรณ์ของภาษาไทยจึงมีกลิ่นอายของบางภาษาเหล่านั้นอยู่ด้วย ทั้งนี้ อ.เกียรติกล่าวว่าไวยากรณ์ของภาษาไทยที่ชาวต่างชาติควรทราบก่อนเริ่มเรียน เพื่อให้เรียนได้เร็วและเข้าใจภาษาไทยได้ง่ายขึ้นมีอยู่ไม่กี่ข้อเท่านั้น เป็นต้นว่า
ปกติเมื่อเราเรียนภาษาต่าง ๆ เราก็ต้องดูรูปประโยคพื้นฐานว่า ประธาน กริยา กรรม จะเรียงอยู่ในประโยคอย่างไร ซึ่งในจุดนี้ภาษาไทยจะเรียงแบบเดียวกับภาษาอังกฤษหรือภาษาจีน คือ ประธาน > กริยา > กรรม ยกตัวอย่างเช่น ฉันกินข้าว แต่จะต่างกับบางภาษาซึ่งพูดแบบ ประธาน > กรรม > กริยา เช่น ภาษาญี่ปุ่น หรือ ภาษาเกาหลีดังนั้นเขาก็จะพูดประโยคนี้เป็น “ฉันข้าวกิน”
แม้ว่าสองภาษาจะมีการใช้โครงสร้างประโยคพื้นฐานที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกัน แต่บางครั้งก็ไม่ใช่ว่าไวยากรณ์ของทั้งสองภาษาจะเหมือนกันเป๊ะแบบ 100% นี่เป็นเพียงความเข้าใจเพื่อการพูดประโยคพื้นฐานอย่างง่ายเท่านั้น ถึงแม้ภาษาไทยกับจีนจะพูดแบบ ประธาน กริยา กรรม เหมือนกัน แต่โครงสร้างนามวลีของภาษาจีนก็จะมีความแตกต่างจากภาษาไทย ดังนั้น แทนที่จะพูดว่า “ฉันกินข้าวสองจาน” หากผู้พูดภาษาจีนพูดประโยคนี้ในภาษาไทยโดยยึดตามโครงสร้างนามวลีของภาษาจีน ก็อาจจะพูดผิดเป็น “ฉันกินสองจานข้าว”
ดังนั้น หากต้องการพูดภาษาไทยให้เหมือนเจ้าของภาษาโดยใช้ประโยคที่ซับซ้อนขึ้น ก็จะต้องมาเรียนไวยากรณ์ด้านต่าง ๆ เพิ่มเติม
“ไวยากรณ์ของภาษาไทยหลาย ๆ เรื่องค่อนข้างเข้าใจง่ายและตรงไปตรงมาเมื่อเทียบกับหลาย ๆ ภาษา เพราะเราไม่มี tense ไม่มีการผันคำกริยา ไม่มีกฎไวยากรณ์ที่ซับซ้อนมากมาย สำหรับภาษาไทย จริงๆ แล้ว แค่เราจำคำศัพท์แล้วเอาคำมาต่อๆ กัน ก็พอที่จะพูดให้คนไทยเข้าใจได้ไม่ยากเลย” อ.เกียรติอธิบาย
เมื่อทราบวิธีการเรียงประโยคอย่างง่ายไปแล้ว ทีนี้หากเราต้องการใช้รูปประโยคแบบอื่น เช่น ประโยคปฏิเสธ สิ่งที่เราต้องทำก็คือ เติมคำว่า ไม่ ลงไปที่ข้างหน้าคำกริยา หรือประโยคคำถามก็เติมคำว่า ไหม ลงไปที่ท้ายประโยค เป็นการสร้างประโยคเบื้องต้นที่ไม่ซับซ้อนเลย
การขยายคำนามในภาษาไทยแตกต่างจากบางภาษา กล่าวคือในภาษาไทย เรามักจะพูดคำหลักก่อน แล้วจึงตามด้วยคำขยายหรือคำเสริม ลองดูคำว่า ชาร้อน ในภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น จีน หรือเกาหลี เขาจะพูดคำขยาย “ร้อน” ก่อนแล้วจึงจะพูดคำหลัก “ชา” ดังนั้น หากชาวต่างชาติที่พูดภาษาลักษณะนี้มาเรียนภาษาไทยและไม่เข้าใจหลักไวยากรณ์นี้ก็เป็นไปได้ที่เขาจะพูดว่า “ดำแมว” หรือ “ไทยอาหาร”
การออกเสียงภาษาไทยนั้นมีข้อที่ต้องใส่ใจอยู่ไม่กี่เรื่อง ซึ่งหากผู้เรียนเข้าใจและฝึกฝนได้ดีก็จะทำให้พูดและเข้าใจภาษาไทยได้อย่างเจ้าของภาษาโดยไม่ยากเลย
ด่านแรกที่คนเรียนภาษาไทยจะต้องเรียนรู้คือเสียงพยัญชนะ ในแง่การเขียน พยัญชนะไทยมี 44 รูป แต่ด้านการออกเสียง มีเพียง 21 เสียงเท่านั้น (ภาษาอังกฤษมีเสียงพยัญชนะ 24 เสียง) ซึ่งพยัญชนะไทยบางรูปมีเสียงซ้ำกัน และถ้าดูดี ๆ เสียงพยัญชนะไทยค่อนข้างมีความเป็นระบบ แถมยังคล้ายกันเป็นคู่ ๆ อีกด้วย เช่น เสียง ก. ไก่ กับ ข. ไข่ ต. เต่า กับ ถ. ถุง ป. ปลา กับ พ. พาน ในช่วงแรกอาจจะแยกเสียงได้ยากสักหน่อย แต่หากฟังบ่อย ๆ รับรองว่าไม่ยากอย่างที่คิดเลย
ข้อควรระวังอีกอย่างโดยเฉพาะชาวตะวันตกคือ ตัวสะกด เพราะในภาษาอังกฤษ เมื่อออกเสียงตัวสะกดเรามักจะออกเสียงลมตอนท้ายมาด้วย แต่กับภาษาไทยเราจะไม่ออกเสียงลมนั้นออกมา ยกตัวอย่างเช่นคำว่า รัก เราจะไม่ออกเสียง เคอะ ออกมา เป็นต้น
สระของภาษาไทยก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ชาวต่างชาติไม่สู้จะคุ้นเคย อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าเสียงพยัญชนะของไทยมีไม่มาก โดยมีน้อยกว่าภาษาอังกฤษอยู่เล็กน้อย แต่ในทางกลับกัน ภาษาอังกฤษมีสระอยู่ 20 เสียงหรือภาษาญี่ปุ่นก็มีเพียง 5 เสียง คือ อะ อิ อุ เอะ โอะ แต่ในภาษาไทย เรามีสระอยู่ถึง 24 เสียง ยังไม่รวมสระพิเศษ อำ ไอ ใอ เอา และ ฤ ฤา ฦ ฦา ซึ่งเป็นเสียงสระประสมเสียงพยัญชนะ แม้จะดูว่ามาก แต่จริง ๆ แล้ว เสียงสระจำนวนมากนี้มาจากการที่สระมีคู่สั้น-ยาว และยังมีการผสมกันไปมาระหว่างสระกันเอง จึงสามารถนำไปเชื่อมโยงและเรียนรู้ได้อย่างไม่ยากมากนัก
เสียงวรรณยุกต์ในภาษาไทยถือเป็นสิ่งที่ท้าทายผู้เรียนชาวต่างชาติมากที่สุดเลยก็ว่าได้ ในบรรดาภาษาแม่ของผู้เรียนภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศ มีเพียงไม่กี่ภาษาเท่านั้นที่จะมีเสียงวรรณยุกต์ใช้กัน เช่น ภาษาจีน เวียดนาม แต่ก็ใช่ว่าจะตรงกันกับวรรณยุกต์ในภาษาไทยเป๊ะๆ
ลองให้ชาวต่างชาติพูดประโยค “ไม้ ใหม่ ไม่ ไหม้” หากออกเสียงวรรณยุกต์ไม่ตรงคีย์ คนฟังก็อาจจะไม่เข้าใจความ หรืออาจจะรู้สึกว่าผู้พูดกำลังพูดคำ ๆ เดียวกันซ้ำ ๆ 4 ครั้งก็ได้
“วรรณยุกต์เป็นส่วนที่สำคัญมาก คำบางคำเมื่อเปลี่ยนเสียงวรรณยุกต์ ความหมายก็เปลี่ยนไปเลย” อ.เกียรติกล่าวเน้น พร้อมยกตัวอย่างชุดคำ ปา ป่า ป้า ป๊า ป๋า ซึ่งหากไม่ระวังในการออกเสียงวรรณยุกต์ให้ถูกต้อง ก็จะทำให้ความหมายผิดเพี้ยนไปทั้งหมด
ปา (เสียงสามัญ) หมายถึง โยนออกไป
ป่า (เสียงเอก) หมายถึง ที่ที่มีต้นไม้ขึ้นมา
ป้า (เสียงโท) หมายถึง พี่สาวของแม่
ป๊า (เสียงตรี) หมายถึง คำที่คนไทยเชื้อสายจีนใช้เรียกพ่อ
ป๋า (เสียงจัตวา) หมายถึง คำที่ใช้เรียกผู้ชายที่มีฐานะรวย
“การฝึกเสียงวรรณยุกต์เป็นเรื่องยากสำหรับผู้เรียนระดับต้น อาจจะต้องใช้วิธีต่าง ๆ เข้ามาช่วย เช่น ใช้ไฟล์เสียงที่ชัดเจนในการฝึกการฟัง หรือให้นักเรียนพูดให้อาจารย์ผู้สอนฟัง แล้วช่วยแก้ไขให้ โดยอาจจะเปรียบเทียบกับคำอื่น ๆ ที่มีวรรณยุกต์เดียวกัน อย่างเช่น ก้า ก็เปรียบเทียบกับ ป้า แล้วออกเสียงให้เหมือนกัน หรือพยายามฝึกออกเสียงร่วมกับสระต่าง ๆ ถึงแม้จะเป็นคำที่ไม่มีความหมาย แต่ก็จะทำให้นักเรียนเคยชินกับเสียงวรรณยุกต์มากขึ้น” อ.เกียรติแนะ
ศูนย์ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ จุฬาฯ (CTFL) เป็นประตูที่เปิดกว้างสำหรับชาวต่างชาติทุกคนที่สนใจเรียนภาษาไทยเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันโดยปัจจุบัน ศูนย์ฯ เปิดคอร์สออนไลน์ฟรี! 2คอร์สด้วยกัน ได้แก่Thai on Campusเป็นวิชาภาษาไทยเบื้องต้นที่ใช้ในรั้วมหาวิทยาลัยเน้นสอนการสื่อสาร การฟังทั่วไป โดยใช้บริบทจากสภาพแวดล้อมของจุฬาฯ เป็นหลัก เช่น การสั่งอาหาร การขึ้นรถโดยสารภายในมหาวิทยาลัย (CU POP BUS) เรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องแบบนิสิต เป็นต้นCommunicative Thai for Foreignersคอร์สนี้จะเน้นภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ได้แก่ การฟัง และการพูด เหมาะสำหรับผู้เรียนระดับต้นที่ยังไม่ต้องการใช้ภาษาไทยในระดับที่สูงมาก แต่ต้องการเรียนรู้เพื่อสามารถใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ เช่น การเดินทางท่องเที่ยว ซื้อของ สั่งอาหาร การสมัครงาน เป็นต้น ในคอร์สนี้ ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องมีความรู้หรือเรียนตัวอักษรไทย แต่จะเป็นการฝึกพูดและฟังภาษาไทยด้วย “สัทอักษรสากล” (International Phonetic Alphabet: IPA)เนื้อหาในคอร์สนี้บางส่วนมาจากคอร์ส Communicative Thai for Beginners ซึ่งเปิดสอนโดยศูนย์ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ
ผู้ที่เริ่มเรียนภาษาใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอะไรก็ตาม มักจะเริ่มด้วยการแปลรูปประโยคตรงตัวจากภาษาแม่ของตนเอง ซึ่งนั่นจะทำให้การเรียงประโยคสับสน อ.เกียรติกล่าว
“การรู้หลักภาษาและพยายามสร้างคำตามหลักภาษาไทย โดยไม่ต้องแปลจากภาษาแม่ของตัวเอง จะทำให้เข้าใจได้เร็วขึ้น หากเทียบผู้เรียนที่เรียนฟังหรือพูดด้วยตัวเองอย่างเดียว กับผู้เรียนที่รู้หลักภาษาแล้วนำหลักมาใช้ในการสร้างประโยคได้ คนที่รู้หลักมักจะไปได้เร็วกว่า”
เช่นเดียวกับการเรียนภาษาอื่น ๆ การทำให้ภาษาไทยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผลมากทีเดียว อาจจะฝึกจากการดูหนัง ฟังเพลง ดูรายการภาษาไทย หรือที่น่าลองอีกอย่างหนึ่งก็คือการลองมาใช้ชีวิตที่ประเทศไทย เพื่อใช้โอกาสในการสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เช่น อ่านป้ายโฆษณา ฟังคนไทยคุยกันบ่อย ๆ หรือลองคบกับเพื่อนคนไทย ใช้ภาษาไทยพูดคุยกันทุกวันก็จะช่วยให้เรียนรู้ได้ไวขึ้นอย่างแน่นอน
“คนไทยมีชื่อเสียงเรื่องการเป็นคนมีอัธยาศัยดี ส่วนมากพร้อมที่จะเป็นเพื่อนกับชาวต่างชาติอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวที่จะผูกมิตรกับคนไทยเลย” อ.เกียรติกล่าว
หรือจะให้ดีกว่านั้น หากมาเรียนภาษาไทยที่ประเทศไทยอย่างจริงจัง นอกจากจะมีเพื่อนชาวไทยคอยช่วยแล้ว ยังจะได้อาจารย์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนภาษาไทยช่วยปรับพื้นฐานและแก้ไขข้อผิดพลาดให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
สำหรับชาวต่างชาติที่สนใจจะมาอาศัยและเรียนภาษาที่ประเทศไทย ศูนย์ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ จุฬาฯ (CTFL) มีคอร์สภาษาไทยหลากหลายรูปแบบเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายในการเรียนภาษาไทยของแต่ละคน
อะไรคือข้อดีของการมาอาศัยและเรียนภาษาในประเทศไทย?
การมาเรียนที่ประเทศไทยกับอาจารย์คนไทยย่อมได้ประสบการณ์ที่ดีกว่า โดยเฉพาะที่จุฬาฯ ซึ่งเป็นแหล่งรวมอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาไทยและภาษาศาสตร์โดยตรง และเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์การสอน จึงมั่นใจได้ว่าอาจารย์ผู้สอนทุกท่านมีศักยภาพมากพอที่จะส่งต่อความรู้ และฝึกให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในการใช้ภาษาไทยได้อย่างแน่นอน
นักเรียนส่วนมากที่เคยมาเรียนภาษาไทยที่จุฬาฯ ต่างชื่นชอบในบรรยากาศของมหาวิทยาลัยที่อยู่ใจกลางเมืองแต่ร่มรื่น ผสมผสานความเก่าแก่และความทันสมัยไว้ด้วยกันอย่างลงตัว และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือนอกจากการเรียนแล้ว ยังมีกิจกรรม workshop ต่าง ๆ ที่ผู้เรียนภาษาไทยสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับชมรมต่าง ๆ ของนิสิตที่นี่ได้ด้วย หรือบางครั้งจะมีการพาไปชมรอบ ๆ มหาวิทยาลัย และเที่ยวรอบๆ เมืองหรือต่างจังหวัด
Intensive Thai Program (ITP)ในคอร์สนี้ ผู้เรียนจะได้เรียนภาษาไทยแบบ “เข้มข้นและลงลึก” มีทั้งสิ้น 9 ระดับด้วยกัน โดยแต่ละระดับจะใช้ระยะเวลาเรียน 6 สัปดาห์ หรือ 100 ชั่วโมง หากเริ่มเรียนตั้งแต่ระดับ1จนจบระดับ 9ก็จะใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่งเท่านั้น ทั้งนี้ ใครที่มีพื้นฐานภาษาไทยมาบ้าง ก็อาจไม่ต้องเริ่มที่ระดับ 1 ก็ได้สำหรับเนื้อหาของคอร์สจะเน้นทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาไทย ตั้งแต่ระดับต้นไปจนถึงระดับสูง ซึ่งข้อดีของการมาเรียนที่จุฬาฯ ก็คือผู้เรียนจะได้ทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมชั้นที่มาจากทั่วโลก ได้พบปะพูดคุยกับอาจารย์ผู้สอนตัวเป็น ๆ เพื่อประสิทธิภาพในการเรียนรู้ที่ดียิ่งขึ้นในแต่ละระดับ ผู้เรียนจะได้เรียนภาษาไทยทุกวัน วันละ 3 ชั่วโมง หลังจากนั้น ก็จะเป็นกิจกรรมเสริมระหว่างการเรียน ไม่ว่าจะเป็นการพาไปทัศนศึกษา การเรียนรู้วัฒนธรรมไทย เช่น มวยไทย ดนตรีไทย การทำอาหารไทย เป็นต้น เชื่อว่าหากใครหลายๆ คนที่กำลังอินกับเสน่ห์ของประเทศไทยอยู่ ก็คงจะถูกใจการมาเรียนคอร์สนี้ไม่น้อยCommunicative Thai for Beginners (CTB)คอร์สนี้แบ่งออกเป็น 3ระดับ โดยเนื้อหาบทเรียนจะเน้นการใช้ภาษาไทยที่จำเป็น เช่น การทักทาย แนะนำตัว การสั่งอาหาร บอกสถานที่ ไปโรงพยาบาล ไปเที่ยว จองโรงแรม หรือการบอกความรู้สึกต่าง ๆ เป็นต้นปัจจุบัน กลุ่มผู้เรียนคอร์สนี้ส่วนมากเป็นกลุ่มคนที่ทำงานช่วงกลางวัน และกลุ่มคนที่อยู่ต่างประเทศ ที่ต้องการพัฒนาทักษะภาษาไทยเพื่อใช้ในการสื่อสารในชีวิตประจำวันเท่านั้นนอกจากนี้ ผู้เรียนที่มีความต้องการเฉพาะ ก็สามารถเลือกเรียนแบบ Private Course ได้ด้วยโดยศูนย์ฯ จะจัดหลักสูตรและสรรหาอาจารย์ผู้สอนตามเป้าหมายในการเรียนของผู้เรียน เช่น เรียนเพื่อใช้ในการทำงาน เชิงธุรกิจ หรืออยากจะชวนเพื่อนมาเรียนกันเป็นกลุ่มย่อย ก็สามารถทำได้เช่นกันคอร์สเรียนสำหรับนิสิตจุฬาฯนอกจากคอร์สเรียนสำหรับบุคคลภายนอกแล้ว ศูนย์ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศยังเปิดรายวิชาเลือกสำหรับนิสิตจุฬาฯ ทุกคณะทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สำหรับนิสิตชาวต่างชาติ จะมีรายวิชาที่ฝึกการพูดและฟังภาษาไทยเพื่อการสื่อสารสำหรับผู้เรียนระดับต้น และยังมีรายวิชาการอ่านและเขียนภาษาไทยเชิงวิชาการสำหรับผู้เรียนระดับกลางที่ต้องการใช้ทักษะภาษาไทยในการอ่านและเขียนงานวิจัย นอกจากนี้ ยังมีรายวิชาสำหรับนิสิตชาวไทยที่สนใจการสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติซึ่งจะได้เรียนทั้งทฤษฎีภาษาศาสตร์ที่จำเป็นต่อการเป็นครูสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติและยังได้ฝึกสอนจริงอีกด้วย และยังมีข่าวดีคือ ทางคณะอักษรศาสตร์กำลังจะมีหลักสูตรปริญญาโทเปิดใหม่เร็ว ๆ นี้ เป็นหลักสูตรภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ ที่มาจากความร่วมมือของศูนย์ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ ภาควิชาภาษาไทย และภาควิชาภาษาศาสตร์
การทดสอบสมรรถภาพการใช้ภาษาไทยสำหรับผู้พูดภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศ หรือ Chulalongkorn University Thai Proficiency Test of Thai as a Foreign Language (CU-TFL) เป็นแบบทดสอบที่ออกโดย สถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเปิดให้มีการสอบเป็นประจำทุกปี โดยจะเป็นการทดสอบทักษะด้านต่าง ๆ ได้แก่ ทักษะการฟัง การอ่าน การเขียน และการพูด ผลการทดสอบสามารถนำไปใช้ในการสมัครเข้าศึกษาในประเทศไทย หรือสมัครงานที่ใช้ภาษาไทยสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าทดสอบวัดระดับภาษาไทย สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครได้ ที่นี่
สำหรับผู้ที่รู้สึกว่าภาษาไทยยาก อย่าเพิ่งด่วนถอดใจ อ.เกียรติสรุปหลักสำคัญในการเรียนภาษาไทยว่า “เพียงเริ่มต้นอย่างถูกต้องด้วยหลักการพื้นฐานของภาษา ทั้งเสียง การเขียน และไวยากรณ์ของภาษาไทยมีความเป็นระบบ หากเข้าใจเรื่องเหล่านี้และจำคำศัพท์ได้ เพียงนำคำศัพท์มาเรียงให้ถูกที่ ก็สามารถสื่อสารในชีวิตประจำวันได้แล้ว”
การเรียนภาษาไทยที่ศูนย์ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะทำให้การเรียนภาษาไทยเป็นเรื่องง่าย ได้ผลเร็ว และสนุก อาจารย์ผู้สอนภาษาไทยมีประสบการณ์ มีกลุ่มเพื่อนผู้เรียนจากหลายชาติหลายภาษา และเพื่อนนิสิตชาวไทยที่จะช่วยเป็นเพื่อนฝึกภาษาและเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ภาษาไทย ผ่านศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตคนไทย … แล้วจะพบว่าภาษาไทยนั้นง่ายและงดงาม
“หุ่นอาจารย์ใหญ่” ฝึกเจาะเลือดและฉีดยาสุนัข เสริมความมั่นใจนิสิตสัตวแพทย์
จุฬาฯ เปิดตัว “วีลแชร์เดินได้” Wheelchair Exoskeleton หุ่นยนต์สวมใส่บนร่างกายมนุษย์จุฬาฯ เปิดตัว “วีลแชร์เดินได้” นั่ง ลุกยืน และเดินได้ในตัวเดียว
“ศูนย์สุขภาวะผู้สูงอายุ จุฬาฯ” บ้านหลังที่ 2 ดูแลระหว่างวัน ตอบโจทย์ลูกหลานวัยทำงาน ตรงใจสูงวัยสุขภาพดี
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้