รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
26 มิถุนายน 2566
ผู้เขียน ขนิษฐา จันทร์เจริญ
อาจารย์สัตวแพทย์ จุฬาฯ พัฒนาชุดทดสอบภาวะภูมิแพ้ไรฝุ่นในสุนัขที่มีภาวะภูมิแพ้ผิวหนังชนิดอาโทปี ระบุสารก่อภูมิแพ้ได้แม่นยำเพื่อวางแผนการรักษาอย่างตรงจุด การันตีความสำเร็จด้วยรางวัลเหรียญทองจากการประกวดนวัตกรรมที่สวิตเซอร์แลนด์
ภาวะภูมิแพ้ผิวหนังชนิดอาโทปีเป็นหนึ่งในภาวะภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นได้บ่อยในสุนัข โดยอาการเด่น ๆ อาทิ อาการคัน ผิวหนังผื่นแดงและบวม ในขั้นรุนแรงอาจจะมีอาการหลอดลมตีบ ไอ และจาม คล้ายคนที่เป็นภูมิแพ้ได้อีกด้วย
อาการคันและผื่นแดงที่ผิวหนังในสุนัขจึงไม่ใช่ที่จะมองผ่าน เจ้าของสุนัขควรใส่ใจและพาสัตว์เลี้ยงไปตรวจเพื่อวางแผนการดูแลรักษาที่เหมาะสมและตรงจุด ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อสามารถระบุถึงเหตุหรือตัวการที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ผิวหนัง
ทั้งนี้ การตรวจเพื่อทดสอบภาวะภูมิแพ้ผิวหนังในสุนัขค่อนข้างมีข้อจำกัด โดยเฉพาะวิธีการตรวจที่ซับซ้อน ใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ณุวีร์ ประภัสระกูล ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมผู้วิจัยซึ่งประกอบด้วย สพ.ญ.ดร. ณัฐรดา คันทวี รศ. ดร.นิทัศน์ สุขรุ่ง น.ส.นวรรนพร แซ่ลิ้ม ผศ.ดร.วันดี ศิริโชคชัชวาล จึงได้คิดค้นและพัฒนา “ชุดทดสอบซีรั่มเพื่อระบุภาวะภูมิแพ้ไรฝุ่นในสุนัขที่มีภาวะภูมิแพ้ผิวหนังชนิดอาโทปีด้วยอิมโมโนโกลบูลินจี่ซับคลาสหนึ่ง” เพื่อช่วยให้สัตวแพทย์ระบุเหตุของภาวะภูมิแพ้ในสุนัขได้รวดเร็วและง่ายยิ่งขึ้น
“ชุดทดสอบนี้สามารถนำมาใช้ได้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มทดสอบภาวะภูมิแพ้ ตรวจระหว่างการติดตามอาการ ไปจนถึงช่วงหยุดการรักษา โดยสุนัขไม่ต้องเจ็บตัวและยังประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วย” รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ กล่าวถึงจุดเด่นของนวัตกรรม ซึ่งคว้ารางวัลเหรียญทองจากการประกวดนวัตกรรมในงาน The 48th International Exhibition of Inventions 2023 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
Canine Atopic Dermatitis (CAD) หรือภูมิแพ้ผิวหนังชนิดอาโทปี เป็นหนึ่งในรูปแบบของภูมิแพ้ผิวหนังที่พบบ่อยในสุนัข เกิดจากความผิดปกติของการตอบสนองภูมิคุ้มกันต่อสารต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อม อาทิ สารเคมีในอากาศ ฝุ่นละออง เชื้อรา ไร และอาหาร
“สุนัขสุขภาพดีและสุนัขที่มีปัญหาสุขภาพต่างก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ทั้งสิ้น อุบัติการณ์ที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังแตกต่างกันไปขึ้นกับธรรมชาติของสุนัขแต่ละตัว แต่ละสายพันธุ์ สุนัขบางตัวอาจเป็นโรคผิวหนังบ่อยและมีอาการรุนแรง ในขณะที่บางตัวอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย และบางตัวก็อาจไม่เป็นโรคผิวหนังเลย” รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ กล่าว
โรคภูมิแพ้ผิวหนังในสุนัขเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ได้แก่
อย่างไรก็ตาม รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ กล่าวว่าสุนัขที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนังส่วนใหญ่มีเหตุมาจากสารก่อภูมิแพ้ในสิ่งแวดล้อม เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสร รา และสารอื่น ๆ ที่สุนัขสัมผัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งไรฝุ่นที่เป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นภูมิแพ้
สุนัขที่มีภาวะภูมิแพ้ผิวหนังจากไรฝุ่นมักมีอาการคัน เกาบริเวณผิวหนังที่มีอาการผิวแพ้ เช่น ใบหู ท้อง ขา และใต้ลำตัว มีผื่นแพ้ผิวหนัง ผื่นแดง แผลเป็น หรือเป็นแผลสะเก็ดบริเวณผิวหนังที่มีอาการผิวแพ้ และมีกลิ่นเหม็นคล้ายยีสต์หมัก
บางกรณี สุนัขที่เป็นโรคอาจมีอาการบวมและแดง มีหนองบริเวณผิวหนังที่มีอาการผิวแพ้ ขนหลุดร่วงมากขึ้น และอาจมีแผลที่เกิดจากการเกาหรือการรักษาผิวหนังที่ไม่ถูกต้อง
“ในภาวะที่รุนแรง ยังอาจมีอาการหลอดลมตีบ น้ำตาไหล ไอ จามคล้ายคนที่เป็นภูมิแพ้ได้อีกด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้สร้างความทรมานให้กับน้องหมาเป็นอย่างมาก”
แม้ภาวะภูมิแพ้ผิวหนังในสุนัขจะเกิดจากการแพ้ไรฝุ่นเป็นส่วนใหญ่ แต่สุนัขที่มีอาการแพ้จากเหตุอื่น ๆ เช่น อาหาร ก็จะมีอาการแพ้ในลักษณะคล้ายกันกับการแพ้ไรฝุ่น
รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ กล่าวว่าการระบุสารก่อภูมิแพ้มีความสำคัญมาก เพื่อช่วยลดหรือหลีกเลี่ยงสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ รวมถึงยังช่วยในการวางแผนการให้การรักษาที่เหมาะสม อาทิ การให้ยาต้านการแพ้อย่างถูกต้องเพื่อลดความเสี่ยงที่สุนัขจะได้รับการรักษาที่ไม่จำเป็นหรือไม่เหมาะสม
“การแพ้และการรับมือกับการแพ้เป็นเรื่องที่เฉพาะเจาะจงและขึ้นกับสุนัขแต่ละตัว และสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ สัตวแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้สามารถให้คำปรึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการและการป้องกันอย่างเหมาะสมสำหรับสุนัขได้ รวมถึงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันสามารถช่วยลดอาการภูมิแพ้ในสุนัขได้บ้าง โดยภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงอาจช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อและระบบภูมิคุ้มกันของสุนัข เพื่อลดการตอบสนองที่ผิดปกติต่อสิ่งที่เขาแพ้”
อย่างไรก็ตาม รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ กล่าวว่าสุนัขอาจแพ้สิ่งที่เฝ้าระวังไปตลอดชีวิตก็ได้ หรืออาจจะเกิดอาการแพ้สิ่งใหม่ ที่ไม่เคยแพ้มาก่อนได้เช่นกัน
ภาวะภูมิแพ้ในสุนัขเกิดขึ้นได้เมื่อสุนัขอายุ 6 เดือนขึ้นไป รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ แนะนำให้เจ้าของสุนัขหมั่นสังเกตอาการผิวหนังที่คล้ายคลึงกับลักษณะอาการของโรคภูมิแพ้ผิวหนัง เช่น คัน ผิวหนังแดง เปียกชื้น ผิวหนังหนาหรือพบสะเก็ดรังแคมาก ตัวมีกลิ่นเหม็น ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้ควรพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังหรือภูมิแพ้
“เจ้าของสุนัขควรจดบันทึกอาการและการตอบสนองของสุนัขต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นข้อมูลให้สัตวแพทย์วินิจฉัยและให้คำแนะนำที่เหมาะสมในการจัดการโรค ซึ่งอาจต้องมีการติดตามรักษาเพื่อควบคุมอาการและความผิดปกติของผิวหนังในระยะยาว”
การระบุชนิดของสารก่อภูมิแพ้มีความสำคัญในการวางแผนการรักษา ซึ่งปัจจุบัน รศ.น.สพ.ณุวีร์ กล่าวว่ามีรูปแบบการทดสอบ 2 วิธี ได้แก่
1.การตรวจด้วยวิธี Intradermal skin test เป็นการทดสอบภายใต้ผิวหนังเพื่อวินิจฉัยการแพ้ภูมิแพ้อากาศในสุนัข โดยสัตวแพทย์จะฉีดสารทดสอบเข้าไปในชั้นผิวหนังของสุนัขและสังเกตอาการสักระยะ ก่อนที่จะประเมินผลตามการตอบสนองของผิวหนังของสุนัขเพื่อระบุสารที่สุนัขแพ้และระดับความรุนแรงของการแพ้ กระบวนการตรวจแบบนี้ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง
“วิธีนี้มีข้อจำกัดคือก่อนที่สุนัขจะเข้ารับการทดสอบ ต้องหยุดยาแก้อักเสบ ยาแก้คัน ยากดภูมิแพ้คุ้มกัน ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้นได้ นอกจากนี้ การตรวจด้วยวิธีการนี้ต้องวางยาซึมหรือยาสลบให้สุนัขด้วยระหว่างทำการตรวจ และยังเป็นวิธีการทดสอบที่มีราคาแพง”
2.การตรวจด้วยวิธีทางซีรั่มวิทยาเพื่อตรวจหาอิมโมโนโกลบูลินอี (Allergen-specific IgE serology testing) เป็นวิธีการตรวจสอบอาการภูมิแพ้อากาศในสุนัขโดยใช้การตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันที่เกี่ยวข้องกับภูมิแพ้ชนิด immunoglobilun E (IgE) ที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นไปได้ (allergen) วิธีการทดสอบแบบนี้จะมีการเก็บตัวอย่างเลือดของสุนัข เพื่อทำการทดสอบ
“วิธีนี้ค่อนข้างสะดวก แต่ในประเทศไทยยังไม่มีห้องปฏิบัติการสัตวแพทย์ที่ให้บริการทางด้านนี้มากนัก จึงต้องส่งตัวอย่างเลือดไปยังห้องปฏิบัติการต่างประเทศ ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง รอผลนาน ที่สำคัญใช้ปริมาณเลือดในการทดสอบค่อนข้างมาก”
จากข้อจำกัดของการตรวจทดสอบเพื่อระบุสารก่อภูมิแพ้ทั้ง 2 แบบ รศ.น.สพ.ณุวีร์ ได้พัฒนานวัตกรรม — วิธีการตรวจทางซีรั่มเพื่อระบุภาวะภูมิแพ้ไรฝุ่นในสุนัขภูมิแพ้อาโทปี ด้วยอิมโมโนโกลบูลินจีซับคลาสหนึ่ง (IgG subclass 1) โดยใช้วิธีทางห้องปฏิบัติการที่เรียกว่า ELISA (Enzyme-Linked Immunosorbent Assay)
รศ.น.สพ.ณุวีร์ อธิบายว่า “อิมโมโนโกลบูลินจีซับคลาสหนึ่ง” เป็น 1 ใน 4 ของซับคลาสของอิมโมโนโกลบูลินจี ที่อยู่ในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์และสัตว์ มีหน้าที่สำคัญในการปกป้องร่างกายจากการตอบสนองภูมิแพ้และการต่อต้านเชื้อโรค ซึ่งการประเมินระดับและสัดส่วนของอิมโมโนโกลบูลินจีแต่ละคลาส สามารถช่วยในการวินิจฉัยและการติดตามการตอบสนองภูมิคุ้มกันต่อสารต่าง ๆ หรือการติดเชื้อในรูปแบบต่าง ๆ ในร่างกายได้
“จากการศึกษาของทีมวิจัยพบว่า “อิมโมโนโกลบูลินจีซับคลาสหนึ่ง” เป็นคลาสหลักของ “อิมโมโนโกลบูลินจี” ที่มีการตอบสนองภูมิคุ้มกันในระดับสูงต่อสารก่อภูมิแพ้ในสุนัขที่เป็นอาโทปีหรือภูมิแพ้ผิวหนัง (AD)”
ในช่วงดำเนินการวิจัย รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ ได้ทดลองใช้ชุดทดสอบนี้กับสุนัข 200 ตัวที่โรงพยาบาลสัตว์ในกรุงเทพที่เข้าร่วมโครงการวิจัย การทดสอบประสิทธิภาพของชุดทดสอบนี้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ใกล้เคียงกับประสิทธิภาพของการตรวจด้วย 2 วิธีเดิมที่ใช้อยู่
“แม้เราจะยังไม่มีชุดทดสอบที่ดีที่สุด แต่วิธีการตรวจด้วยชุดทดสอบนี้ก็ถือว่าเป็นวิธีการตรวจที่ง่ายต่อการเข้าถึงของสัตวแพทย์ และสามารถใช้ได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มตรวจ ติดตาม จนถึงหยุดการรักษา โดยที่สุนัขไม่ต้องเจ็บตัว และยังประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วย” รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ กล่าว
นวัตกรรมชุดทดสอบซีรั่มเพื่อระบุภาวะภูมิแพ้ไรฝุ่นในสุนัขได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติในระดับสูง Q1 ถึง 3 ฉบับ!
การดูแลและรักษาอาการภูมิแพ้ผิวหนังในสุนัขโรคเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและควรได้รับคำแนะนำจากสัตวแพทย์ เพื่อจัดการดูแลที่เหมาะสมสำหรับสุนัขแต่ละบ้าน โดย รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ สรุปแนวทางการดูแลรักษาไว้ดังนี้
“การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันสามารถช่วยลดอาการภูมิแพ้ในสุนัขได้บ้าง โดยภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงอาจช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อและระบบภูมิคุ้มกันของสุนัข เพื่อลดการตอบสนองที่ผิดปกติต่อสิ่งที่เขาแพ้”
ปัจจุบัน ชุดทดสอบซีรั่มเพื่อระบุภาวะภูมิแพ้ไรฝุ่นในสุนัขที่มีภาวะภูมิแพ้ผิวหนังชนิดอาโทปีด้วยอิมโมโนโกลบูลินจี่ซับคลาสหนึ่ง ได้รับการจดสิทธิบัตรแล้ว และในอนาคต รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ ตั้งใจที่จะต่อยอดนวัตกรรมนนี้ให้เป็นชุดทดสอบแบบกระดาษ (paper-based ลักษณะเหมือน ATK) เพื่อสะดวกและง่ายต่อการตรวจสอบการแพ้ได้ภายในครั้งเดียว และสามารถระบุการแพ้อื่น ๆ ของสุนัขได้ด้วยนอกเหนือจากการแพ้ไรฝุ่น เช่น แพ้เกสรดอกไม้ แพ้โปรตีนจากอาหาร เป็นต้น
นอกจากนี้ รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ ยังวางแผนที่จะพัฒนาวัคซีน หรือที่เรียกกันว่า Allergy Immunotherapy หรือ Allergen-Specific Immunotherapy (ASI) สำหรับฉีดเข้าไปในร่างกายสุนัขเพื่อรักษาอาการภูมิแพ้ได้อย่างตรงจุดอีกด้วย!
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายวิจัย คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โทร. 0-2218-9440
คีเฟอร์น้ำเกสรดอกกุหลาบ เครื่องดื่มสุขภาพต้านอนุมูลอิสระ ผลงานนิสิตจุฬาฯ คว้าเหรียญทองระดับโลก
The Skinov’e นวัตกรรมสกินแคร์จากเปลือกกล้วยหอมทองปทุม ผลงานวิจัยจุฬาฯ ที่ทำให้สิวเป็นเรื่องกล้วยๆ
น้ำยายืดอายุกระดาษ นวัตกรรมจุฬาฯ อนุรักษ์เอกสารและภาพศิลปะโบราณให้คงสภาพอีกนานนับทศวรรษ
อาหารเป็นยา นวัตกรรมเพื่อสุขภาพของคนยุคปัจจุบัน
จุฬาฯ ชู “หมัดสั่ง” ภาพยนตร์สารคดีฟื้นจิตวิญญาณมวยไทยบนสังเวียนโลก
หุ่นยนต์ดินสอรุ่นล่าสุด “Home AI Assistance” ผู้ช่วยประจำบ้านดูแลผู้สูงอายุตลอด 24 ชั่วโมง อีกก้าวของหุ่นยนต์สัญชาติไทย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้