รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
19 กรกฎาคม 2566
ผู้เขียน นิธิกานต์ ปภรภัฒ
ศศินทร์ จุฬาฯ พร้อมเป็นศูนย์กลางนโยบาย DEI (Diversity, Equity, Inclusion) เปิดตัวนโยบาย “IDEALS” สร้างวัฒนธรรมยอมรับความหลากหลายและการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคในองค์กร ผนึกกำลังกับ Steps ตั้ง Neurodiversity at Work Research Center (NWRC) ศูนย์วิจัยแห่งแรกในประเทศไทย มุ่งเสริมศักยภาพและโอกาสให้บุคคลที่มีความแตกต่างทางการรับรู้ เข้าถึงงานเพื่อร่วมสร้างสังคมธุรกิจที่ยั่งยืน
จากงานวิจัยหนึ่งของ World Economic Forum ปี 2563 ระบุสถิติที่น่าสนใจว่าบริษัทที่มีนโยบายไม่แบ่งแยก (Inclusion) โดยเฉลี่ยจะมีรายได้สูงขึ้น 28 % มีอัตรากำไรที่สูงขึ้น 30 % และมีผลตอบแทนรวมของผู้ถือหุ้นมากกว่า 2 เท่า สอดคล้องกับ Harvard Business Review ในปี 2562 ที่รายงานว่าสถานที่ทำงานที่ไม่แบ่งแยก และทำให้พนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรได้ พนักงานจะมีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นถึง 56 % และมีอัตราการลาออกลดลง 50 %
สถิติดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการให้ความสำคัญกับความไม่แบ่งแยกและการมีส่วนร่วมของผู้คนในองค์กร เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับองค์กรและธุรกิจที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน
การมีส่วนร่วมอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม หรือการไม่แบ่งแยกเป็นแนวคิดอุดมคติ หรือเป็นแนวทางที่ปฏิบัติได้? และจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร?
สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสอนบริหารธุรกิจ (MBA) ภายใต้การนำของ ศ.ดร.เอียน เฟนวิค ผู้อำนวยการศศินทร์ พยายามหาคำตอบนั้น โดยล่าสุด ได้ประกาศใช้นโยบายสนับสนุนความหลากหลายและกาจตรมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมและความเสมอภาค โดยใช้ชื่อว่า IDEALS ซึ่งหมายถึง Inclusion (การมีส่วนร่วม) Diversity (ความหลากหลาย) Equity (ความเสมอภาค) และ Access to Learning (การเข้าถึงการเรียนรู้) at Sasin (ที่ศศินทร์)
“เราริเริ่มนโยบาย IDEALS ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่ยอมรับความแตกต่างของผู้คน และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมและความเสมอภาคให้มากขึ้นในอนาคต” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดรูว์ บี.มัลลอรี่ ผู้อำนวยการด้านงานวิจัย ศูนย์วิจัยด้านความหลากหลายทางการรับรู้ในสถานที่ทำงาน (NWRC), Inclusion Ambassador และอาจารย์ศศินทร์ จุฬาฯ กล่าวถึงความตั้งใจในการสร้างวัฒนธรรมที่สนับสนุนความหลากหลาย ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม Diversity Equity and Inclusion (DEI) ในสถาบัน เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับภาคธุรกิจและองค์กรต่าง ๆ
ทั้งนี้ ศศินทร์ตั้งเป้าการศึกษาวิจัยและทดลองปฏิบัติการนโยบาย IDEALS เพื่อ “การมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม” ในกรอบระยะ 5 ปี นับจากปี 2566 นี้เป็นต้นไป
“การสร้างนโยบายที่รับผิดชอบต่อทุกคน ให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ สร้างการมีส่วนร่วม และปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม มีความสำคัญมากสำหรับทุกองค์กร ในฐานะสถาบันการศึกษา ศศินทร์ตั้งใจให้นโยบายนี้เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่จะติดตัวทุกคน ทั้งนิสิตและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ของศศินทร์ เมื่อนิสิตเรียนจบและออกไปทำธุรกิจ ทุกคนจะสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากนโยบาย IDEALS ไปใช้ในการบริหารองค์กร และแก้ปัญหาในวงกว้างได้ ในฐานะผู้นำชั้นแนวหน้าของประเทศ”
อาจารย์ดรูว์ กล่าวว่าเดิมที ศศินทร์ไม่ได้มีแผนปฏิบัติการที่เจาะจงในการดำเนินนโยบาย IDEALS แต่ใช้วิธีการที่คล้ายกับการทำแผนธุรกิจ มีการสำรวจกรณีศึกษาภายในองค์กรว่ามีความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลาย (Diversity) มากน้อยเพียงใด รวมถึงมีการตรวจสอบนโยบายภายในองค์กรเพื่อดูว่านโยบายนั้น “รวม” หรือ “ไม่รวม” ใครหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจหรือไม่
ที่สำคัญ ศศินทร์ศึกษาความต้องการของบุคลากรทั้งหมดในองค์กร โดยให้ความสำคัญกับความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างภายนอก เช่น สีผิว ภูมิหลังทางเชื้อชาติ ศาสนา หรือแม้กระทั่งสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ ยังเจาะลึกลงไปในเรื่องของประสบการณ์สำคัญในชีวิตของแต่ละคน การฝึกฝนตนเอง ตลอดจนถึงความเชื่อ ทั้งที่เผยออกมาอย่างชัดเจนและที่แอบซ่อนไว้ ซึ่งจะเผยออกมาเมื่อมีกระบวนการพูดคุยสอบถาม
“ที่ศศินทร์ เราภูมิใจในความแตกต่างและหลากหลายภายในสถาบัน ตั้งแต่คณาจารย์ นิสิต นิสิตเก่า และบุคลากร ความเห็นอันหลากหลายของทุกคนจะนำมาสร้างแนวทางตามนโยบาย IDEALS ให้เกิดขึ้นได้จริง ไม่ใช่เพียงแนวคิดอุดมคติ”
กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยจะมีคณะกรรมการตัวแทนของศศินทร์ร่วมประชุมกันเพื่อวางแผนแนวทางในเชิงปฏิบัติ สร้างความร่วมมือและการประสานงานกับองค์กรเครือข่ายต่าง ๆ รวมทั้งตรวจสอบแนวทางการจัดทำหลักสูตรและนโยบาย เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติเป็นที่ยอมรับในสากล ปกป้องผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงการใช้งานวิจัยและแนวคิดที่ดีที่สุดจากทั่วโลก ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในสังคมที่มีความหลากหลายทางพหุวัฒนธรรม
หนึ่งในหลักการสำคัญของ IDEALS คือการอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาค (Equity) ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะมี หรือได้รับทุกอย่างเหมือนกันหรือในปริมาณเท่ากัน
“ความเสมอภาคหมายถึงทุกคนได้รับสิ่งที่จำเป็นและสอดคล้องกับความต้องการเป็นรายบุคคลเช่น หากคุณได้ยินไม่ถนัด คุณอาจได้รับความช่วยเหลือเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ช่วยจดบันทึกแทนคุณ เป็นการช่วยให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินมีโอกาสเช่นเดียวกับผู้ที่ไม่บกพร่องทางการได้ยิน เป็นวิธีที่เราจะใช้ประโยชน์จากความแตกต่างได้ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนมีสิ่งจำเป็นสำหรับการทำงาน การเรียนรู้ การพูด เพื่อสร้างความก้าวหน้า”
ที่ศศินทร์ จึงมีกระบวนการรับฟังนิสิตที่มีความต้องการพิเศษต่าง ๆ
“ทุกคนที่อยากจะเรียนและมีศักยภาพในการเรียน ไม่ควรจะถูกปิดกั้น เราต้องการดึงศักยภาพสูงสุดในการเรียนรู้ของนิสิตทุกคน เราต้องการสร้างโอกาสที่เปิดกว้างมากที่สุด ให้ทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เท่าเทียม”
อาจารย์ดรูว์ กล่าวว่าศศินทร์กำลังทดลองกิจกรรมหลายอย่าง อาทิ การรับฟังความต้องการต่าง ๆ ทั้งจากนิสิตและเจ้าหน้าที่ เช่น ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามต้องการให้จัดประชุมไม่ตรงกับช่วงเวลาละหมาด และเพิ่มเมนูอาหารฮาลาลให้เป็นทางเลือก การเพิ่มพื้นที่ให้เจ้าหน้าที่ชาวไทยและนานาชาติได้มีช่วงเวลาสร้างความคุ้นเคย เพื่อสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษกันมากขึ้น หรือแม้กระทั่งการจัดพื้นที่ Meditation Room ให้ทุกคน ทุกศาสนา และทุกความเชื่อสามารถเข้าไปใช้ได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ อาจารย์ดรูว์ยังได้ปรับบรรยากาศในการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้สัมผัสถึงความหลากหลาย
“นิสิตบอกกับผมว่าในการเรียนที่ผ่านมา พวกเขาไม่ค่อยมีโอกาสได้เจอคนอื่น ๆ เท่าไร มาเรียนก็นั่งเรียนไปเรื่อย ๆ กับกลุ่มที่เจอกันตั้งแต่แรก กลุ่มเดียวเท่านั้น” อาจารย์ดรูว์ กล่าวถึงจุดอ่อนของการเรียนรู้ที่ได้รับฟังจากการสัมภาษณ์นิสิต
“เรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นในชั้นเรียนของผมที่ศศินทร์ ผมจะให้พวกเขาเปลี่ยนกลุ่มทุกวัน 2-3 ครั้งต่อวัน พวกเขาจะได้เปลี่ยนกลุ่มในทุกกิจกรรมที่ทำ ในตอนแรก นิสิตรู้สึกหงุดหงิดหัวเสีย แต่เมื่อจบการเรียนในชั้นแล้ว นิสิตหลายคนบอกผมว่ามันเป็นประสบการณ์ที่เยี่ยมมาก พวกเขาได้รู้จักทุกคนในชั้น ทั้งนิสิตไทยและต่างชาติ ได้เรียนรู้เรื่องราวของผู้คนมากมาย เพิ่มความมีชีวิตชีวาในการเรียน”
การทำความเข้าใจความหลากหลายเท่านั้นยังไม่พอ ยังต้องมีความรู้สึกเคารพและเห็นคุณค่าของความหลากหลายด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม (Inclusion) อาจารย์ดรูว์ กล่าว
“คนจะมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมในองค์กรได้เมื่อพวกเขารู้สึกปลอดภัย (psychological safety) เป็นตัวของตัวเองได้ และภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของบางสิ่ง”
เรื่องนี้เป็นความท้าทายพอสมควรโดยเฉพาะในวัฒนธรรมไทย ที่ให้ความสำคัญกับความอ่อนน้อมถ่อมตน ความสุภาพและความเคารพ แม้จะมีข้อดี แต่ก็อาจทำให้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกลังเลที่จะแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกอย่างสร้างสรรค์และตรงไปตรงมา ซึ่งทำให้การมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคในองค์กรเป็นไปได้ยาก “เพราะทุกคนไม่ได้เป็นตัวของตัวเองจริง ๆ”
อาจารย์ดรูว์ กล่าวว่าศศินทร์พยายามสร้างบรรยากาศแห่งความรู้สึกปลอดภัย เพื่อที่ทุกคนจะรู้สึกว่าได้รับการยอมรับและส่งเสริมให้เป็นตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นด้านการเรียน การทำงาน หรือการสอนก็ตาม อาทิเช่น คณาจารย์รู้สึกปลอดภัยที่จะเสนอแนวคิดที่แหวกแนว พนักงานรู้สึกปลอดภัยเมื่อทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ แม้ว่าจะต้องคิดนอกกรอบก็ตาม
“ถ้าคนเรารู้สึกว่าได้มีส่วนร่วมในองค์กรจริง ๆ เขาก็จะให้ความร่วมมือด้วยดี ไม่ว่าคนนั้นจะอยู่ในตำแหน่งอะไร หรืออยู่ในระดับใดในองค์กร”
หนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ที่ศศินทร์ใช้มาโดยตลอดและนับว่ามีความสำคัญยิ่งคือกระบวนการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา หรือ “Participatory Problem Solving” กล่าวง่าย ๆ ก็คืออาจารย์และนิสิตในชั้นเรียนร่วมพูดคุยเพื่อวิเคราะห์ หาคำตอบ หรือข้อสรุปวิธีการในการแก้ไขปัญหาด้วยกัน
อาจารย์ดรูว์ ยกตัวอย่างนิสิตที่ทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีขนาดเล็ก ที่พบปัญหาพนักงานลาออกบ่อย และเมื่อมีการจ้างงานใหม่ พนักงานใหม่ก็จะทำงานแค่ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แล้วทยอยลาออก ไปทำงานกับองค์กรใหม่และองค์กรที่ใหญ่ขึ้น
“เมื่อเรามาระดมสมองเพื่อจัดการกับปัญหานี้ด้วยกัน โดยใช้กระบวนการ “Participatory Problem Solving” เราก็พบทางออกคือการให้พนักงานที่ดี เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการคัดเลือกพนักงานใหม่ การคัดเลือกพนักงานใหม่ไม่ควรเป็นเรื่องเฉพาะของฝ่าย HR หรือเป็นเรื่องของผู้บริหารหรือผู้จัดการเท่านั้น เพราะคนที่จะต้องทำงานร่วมกันคือพนักงานที่ทำงานในระดับใกล้เคียงกัน ดังนั้น เมื่อมีการนัดผู้มาสมัครเป็นพนักงานคนใหม่ พนักงานที่ดีจะมาเข้าร่วมการสัมภาษณ์ด้วยและให้คำแนะนำผู้บริหารเพื่อช่วยคัดเลือกผู้สมัครที่ดี ในกระบวนการนี้ พวกเขาจะรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมมากขึ้น นำไปสู่ความพร้อมที่จะทำงานร่วมกัน สร้างทีมที่ดี อัตราการลาออกก็จะลดลง
อาจารย์ดรูว์ อ้างข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกที่ชี้ว่า 15 % หรือประมาณ 1 พันล้านคนของจำนวนประชากรโลก เป็นบุคคลที่มีความแตกต่างทางการรับรู้ในรูปแบบใดแบบหนึ่ง ซึ่งในประเทศไทย บุคคลในกลุ่มนี้ก็มีจำนวนไม่น้อยเลย
“คนกลุ่มนี้มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจและสังคม แค่ยังมีปัญหาในการหางานและร่วมสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศ” อาจารย์ดรูว์ กล่าวถึงที่มาของการก่อตั้ง Neurodiversity at Work Research Center (NWRC) ศูนย์วิจัยแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเชียงใต้ โดยมีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มโอกาสในการเข้าทำงาน และเพิ่มการมีส่วนร่วมให้กับบุคคลที่ถูกเลือกปฏิบัติ
ในฐานะผู้อำนวยการด้านงานวิจัยของ NWRC อ.ดรูว์ กล่าวว่า “ศศินทร์ต้องการให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางการรับรู้มีอิสรภาพในการเลือกอนาคตที่เหมาะสมกับตนเองเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ เรามุ่งมั่นให้สังคมเปิดใจรับรู้ถึงโอกาส และการปรับสิ่งแวดล้อมบางอย่างในที่ทำงาน เพื่อให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพสูงสุดออกมา จึงจำเป็นต้องสร้างระบบเครื่องมือและการวิจัยที่เหมาะสมกับประเทศไทยด้วย”
ศูนย์ NWRC จะทำการวิจัยการฝึกอบรมด้านอาชีพ เพื่อศึกษาประสบการณ์ของผู้ที่มีความหลากหลายทางการรับรู้ ตั้งแต่ช่วงที่พวกเขาลงทะเบียนเรียนไปจนถึงช่วงที่พวกเขาได้งานทำ นอกจากนี้ ศศินทร์ยังทำงานร่วมกับ Steps (stepcommunity.com) องค์กรที่ปรึกษาชั้นนำของประเทศไทยด้านการเตรียมความพร้อมในการเข้าทำงานให้กับเยาวชนผู้ที่มีความหลากหลายด้านการรับรู้ และส่งเสริมการดำเนินธุรกิจแบบไม่แบ่งแยกเพื่อช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สามารถสร้างความหลากหลายในการจ้างงานมากยิ่งขึ้น
“เราจะสร้างกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และพัฒนาวิธีการและครื่องมือต่าง ๆ เพื่อได้องค์ความรู้ที่ถูกต้องแม่นยำ เพื่อใช้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในการยืนยันว่าการมีบุคลากรที่มีความหลากหลายทางการรับรู้ในองค์กรนั้นมีประโยชน์อย่างไร มีงานวิจัยใหม่ ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าการปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยภายในองค์กรก็สามารถเปิดโอกาสให้พวกเขา (ผู้ที่มีความแตกต่างด้านการรับรู้) เข้ามาทำงานได้อย่างเต็มที่ ไม่จำเป็นต้องมีการลงทุนมากมายอะไรเลย”
นอกจากองค์ความรู้จากการวิจัยของศูนย์ฯ ที่จะได้เผยแพร่ให้กับองค์กรธุรกิจหรือหน่วยงานของรัฐบาลแล้ว อ.ดรูว์ หวังว่าความรู้ดังกล่าวจะช่วยให้นิสิตเข้าใจความต่างระหว่าง “ความไม่ทัดเทียมด้านสมรรถภาพ” กับโอกาสที่มาจาก “ผู้นำที่สร้างงานที่มีความหมาย”
จากประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษาด้านการไม่แบ่งแยก (inclusivity) ให้กับธุรกิจต่าง ๆ คุณแมกซ์ ซิมป์สัน ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Steps กล่าวว่า ศูนย์ NWRC จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับภาคเอกชน สังคม และที่สำคัญที่สุด เป็นประโยชน์กับผู้ที่มีความหลากหลายทางการรับรู้ที่มักถูกสังคมกีดกันในการเข้าทำงาน
ทั้งนี้ ข้อมูล จากกรมประชาสัมพันธ์ ในปี 2565 ระบุว่าผู้พิการในวัยทำงานจำนวน 856,844 คนในประเทศไทย มีเพียงร้อยละ 36.5 เท่านั้นที่มีงานทำ โดยส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการเกษตรมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษายังบอกด้วยว่า ผู้พิการที่ได้รับการจ้างงาน 79 % มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตและสติปัญญาดีขึ้น และ 88 % เกิดผลดีกับการจ้างงาน การสร้างสรรค์ผลงาน และความไว้วางใจในตัวบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นผลให้พนักงานมีส่วนร่วมมากขึ้นและมีอัตราการลาออกลดลง
ด้วยนโยบาย IDEALS และการเปิดพิ้นที่ให้ความหลากหลายต่าง ๆ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมอย่างเสมอภาค อาจารย์ดรูว์ เชื่อมั่นว่าผู้ที่จบการศึกษาจากศศินทร์จะเป็นผู้นำที่ใส่ใจประเด็นทางสังคม เคารพในคุณค่าของสมาชิกทุกคนในสังคม ซึ่งในระยะยาว จะเกิดส่งผลสะเทือนเชิงบวกให้กับสังคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
อย่างไรก็ดี อาจารย์ดรูว์ กล่าวว่า เส้นทางการเดินทางจาก Diversity ไปสู่ Equity หรือ Inclusion ในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ไม่มีเส้นทางตายตัวหรือสูตรสำเร็จ แต่ละประเทศต้องค้นหาเส้นทางที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทภายในด้วยตนเอง อย่างประเทศไทยยังคงต้องค้นหาและสร้างพื้นที่เหล่านี้ ซึ่งศศินทร์ได้เริ่มสร้างองค์ความรู้ใหม่ในเรื่องนี้ และลงมือใช้ที่ศศินทร์ก่อน ซึ่งมีความยืดหยุ่นทางพหุวัฒนธรรมและมีความเป็นไทย ก่อนที่จะขยายผลการบริหารจัดการ Inclusion ไปสู่ภาพรวมของประเทศ ซึ่งก็ต้องสอดคล้องกับบริบทประเทศไทยทั้งหมดด้วย
“ผมมุ่งหวังให้ศศินทร์เป็นศูนย์กลางของนโยบาย DEI ซึ่งศศินทร์เป็นสถาบันบริหารธุรกิจแห่งแรกในไทยที่พร้อมแบ่งปันเรื่องราวกับสถาบัน หน่วยงาน และองค์กรเพื่อให้เกิดจุดมุ่งหมายความยั่งยืนให้เกิดขึ้นร่วมกัน” ผศ.ดร.ดรูว์ กล่าวทิ้งท้าย
ร่วมสร้างองค์กรธุรกิจโดยเห็นศักยภาพของทุกคน ติดตามนโยบาย IDEALS และโครงการภายใต้แนวคิดเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมที่ยั่งยืนจาก สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ที่ sasin.edu/inclusion
สามารถอ่านข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม ได้ที่1. The Valuable 500 – Closing the Disability Inclusion Gap, World Economic Forum: www.weforum.org2. The Value of Belonging at Work, Harvard Business Review: hbr.org3. Increasing Employment Opportunities for Disabled Persons, กรมประชาสัมพันธ์: thailand.prd.go.th4. Neurodiversity at Work Research Center (NWRC), ศศินทร์ จุฬาฯ : sasin.edu/nwrc5. TransTalents Project, ศศินทร์ จุฬาฯ : sasin.edu/transtalents
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้