รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
20 กรกฎาคม 2566
ผู้เขียน ปริณดา แจ้งสุข
“อินไซท์วัดโพธิ์” นวัตกรรมเพื่อสังคมโดยอาจารย์สถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ แอปพลิเคชันที่เป็นเหมือนเพื่อนร่วมทาง ช่วยวางแผนการเที่ยววัดโพธิ์ ตั้งแต่เดินทางอย่างไร มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง และฟีเจอร์สนุก ๆ ให้เล่น เช่น ผังวัดโพธิ์แบบเสมือนจริง (AR) เกมตามหายักษ์วัดโพธิ์ และความรู้อื่น ๆ อีกเพียบ
ซีรีส์ไทยย้อนยุคที่โด่งดังหลายเรื่องสร้างกระแสให้นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างชาติ หลั่งไหลไปยังโบราณสถานต่าง ๆ เช่น “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร” หรือ “วัดโพธิ์” หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของกรุงเทพฯ และของชาติ ที่ในแต่ละวัน มีนักท่องเที่ยวราว 10,000 – 15,000 คน! เข้าเยี่ยมชม
แม้กระแสความนิยมแต่งกายชุดไทยและถ่ายรูปตามมุมต่าง ๆ ในโบราณสถาน จะเป็นพลัง soft power ที่สร้างเศรษฐกิจ แต่ก็มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ควรได้รับการดูแลเช่นกัน
“วัดโพธิ์เป็นศาสนสถานที่เราต้องเคารพ และยังเป็นโบราณสถานที่เราต้องรักษา แต่เราจะเห็นกลุ่มนักท่องเที่ยวปีนป่าย โดยที่ไม่รู้ว่าสถานที่แห่งนี้มีคุณค่าและอายุเกินร้อยปี เมื่อเกิดการหักพังขึ้นมาก็ยากที่จะซ่อมแซมให้เป็นดังเดิมได้” ดร.วิลาสินี สุขสว่าง อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว
การได้พบเห็นพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่ไม่เหมาะสมและกำลังสร้างปัญหาให้กับสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งนี้ ผลักดันให้อาจารย์วิลาสินีริเริ่มโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคม “อินไซท์วัดโพธิ์” (Insight Wat Pho) เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งหากไม่เร่งแก้ไขเสียแต่วันนี้อาจจะสายเกินไปในวันหน้า
ในฐานะอาจารย์สถาปัตย์ฯ ที่ทำงานกับชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง อ.วิลาสินี สะท้อนว่าการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ได้ผล ควรเริ่มที่ต้นเหตุ ซึ่งก็คือการให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม
“ทุกวันนี้ เราอยู่กับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ปลายเหตุ เช่น น้ำเน่า ก็ไปฟื้นฟูแหล่งน้ำ ซึ่งที่สุดแล้ว การตามแก้ไขปัญหาเช่นนี้เป็นวิธีที่ไม่ยั่งยืนนัก” อ.วิลาสินี สะท้อน “ปัญหาของวิธีที่เราแก้ปัญหา”
“ถ้าคนมีความรู้เพียงพอในด้านสิ่งแวดล้อม ก็จะรู้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มีสาเหตุมาจากอะไร แล้วจะต้องแก้ไขอย่างไร ตัวเราเองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อม จะมีส่วนช่วยบรรเทา ลด หรือไม่สร้างปัญหาได้อย่างไร ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ยั่งยืนกว่าการตามแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ” อ.วิลาสินี อธิบายถึงการประยุกต์แนวคิดสิ่งแวดล้อมศึกษา (Environmental Education) และ จริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Ethic) ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นที่วัดโพธิ์
ในประเทศไทยมีโบราณสถานมากมาย และหลายแห่งก็กำลังเผชิญกับผลกระทบอันเกิดจากนักท่องเที่ยวเช่นกัน แต่ อ.วิลาสินี เลือกเริ่มต้นที่วัดโพธิ์ เนื่องจากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง
วัดโพธิ์เป็นพระอารามหลวงที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนเคารพกราบไหว้ สถาปัตยกรรมมีความโดดเด่นงดงาม และที่สำคัญ “วัดโพธิ์เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย มีตำรับตำรายา ตำรานวดแผนไทย ที่ถูกจารึกบนแผ่นศิลาในวัดไว้มากมาย”
“องค์ความรู้เกี่ยวกับวัดโพธิ์มีเยอะมาก แต่ถูกรวบรวมไว้ในหนังสือและเก็บเอาไว้ในห้องสมุด ไม่มีใครได้อ่าน จึงมาคิดว่าเราจะนำข้อมูลเหล่านั้นมาทำอย่างไร ให้คนทั่วไปเข้าถึงได้และทำให้น่าสนใจยิ่งขึ้น แทนที่เขาจะแค่มาชมวัดแล้วก็กลับไป แต่จะทำอย่างไรที่จะดึงเขาให้อยู่ที่วัด สนุกและได้ความรู้นานขึ้น” อ.วิลาสินี กล่าวถึงที่มาของการพัฒนาแอปพลิเคชัน “อินไซท์วัดโพธิ์” เพื่อตอบโจทย์การสร้างองค์ความรู้ให้บุคคลทั่วไปได้เรียนรู้เกี่ยวกับวัดโพธิ์และเห็นคุณค่า อันจะนำไปสู่การร่วมอนุรักษ์และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
แอปพลิเคชัน “อินไซท์วัดโพธิ์” ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ ได้เคยทำวิจัยและเก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับวัดโพธิ์ไว้อย่างละเอียด รวมถึงการสร้างโมเดลวัดโพธิ์แบบ 3 มิติไว้แล้วด้วย
“จะน่าเสียดายมาก ถ้าสิ่งที่เราได้เคยทำวิจัยและสร้างโมเดลไว้จะถูกเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์เฉย ๆ ทั้งที่คนทั่วไปน่าจะได้ประโยชน์”
ดังนั้น อ.วิลาสินี และทีมวิจัยคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ จึงได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ได้แก่ วัดโพธิ์ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นต้น คัดเลือกข้อมูลที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ในการมาเยี่ยมชมวัดโพธิ์ เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดกลับไป
“อินไซท์วัดโพธิ์” ประกอบด้วย 3 ฟีเจอร์หลักที่จะบอกเล่าข้อมูลพื้นฐานในการเข้าชม และอีก 4 ฟีเจอร์เล่น ที่จะพาผู้ใช้ไปเล่นสนุกแถมได้ความรู้อีกด้วย ได้แก่
อ.วิลาสินี กล่าวถึงฟีเจอร์นี้ว่า “เวลาเราจะไปท่องเที่ยวที่ไหน เราก็ต้องมีแผน จะไปอย่างไร ที่นั้นเปิดเมื่อไร ซื้อตั๋วเข้าชมอย่างไร เป็นข้อมูลแรกที่ควรจะทราบ เพราะฉะนั้น ใครที่กำลังวางแผนมาเที่ยวที่วัดโพธิ์ ก็สามารถดูข้อมูลจากแอปพลิเคชันอินไซท์วัดโพธิ์ได้เลย รับรองได้ว่าข้อมูลครบถ้วน ไม่มีหลงทางแน่นอน”
แผนผังของวัดโพธิ์ค่อนข้างซับซ้อน และอาจทำให้การเดินเที่ยวชมสถานที่ไม่ทั่วถึง หรือพลาดสถานที่สำคัญไป ดังนั้น การที่มีแผนที่อยู่ในมือ จะช่วยให้ตามหาสถานที่ต่าง ๆ ได้สะดวกขึ้น
“ถึงแม้ว่าที่วัดโพธิ์จะมีแผนที่แสดงไว้ตามจุดต่าง ๆ อยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริง เวลาเราหลงทาง บางครั้งจะหาแผนที่ ก็ยังหาไม่เจอ แต่ถ้าหากเราถือแผนที่ไว้ติดมือ ก็คงจะสบายใจขึ้น” อ.วิลาสินี กล่าว
สำหรับฟีเจอร์นี้ จะแสดงพัฒนาการที่สำคัญของวัดโพธิ์ใน 3 สมัย ได้แก่ สมัยรัชกาลที่ 1 สมัยรัชกาลที่ 3 และสมัยปัจจุบัน ซึ่งจะแสดงเป็นแผนผัง 3 มิติ เพื่อให้เห็นภาพว่าวัดโพธิ์ในแต่ละยุคมีหน้าตาเป็นอย่างไร และปัจจุบันวัดโพธิ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
ฟีเจอร์นี้จะพาคุณเหินฟ้ามาชมวัดโพธิ์ได้จากทุกซอกทุกมุม โดยการตามหามาร์กเกอร์ที่ติดอยู่บนพื้นภายในวัดโพธิ์ เมื่อสแกนมาร์กเกอร์นั้น ก็จะแสดงภาพ AR (Augmented Reality) แผนผังของวัดโพธิ์ขึ้นมา
“เราเลือก AR มาใช้กับแอปฯ นี้ เพราะน่าจะมีประโยชน์และทำให้คนสนุกได้ เราจะสามารถหมุนได้ ซูมเข้า-ออกได้ ทำให้สามารถเข้าใจแผนผัง หรือรายละเอียดของสถาปัตยกรรม การวางตำแหน่งอาคารต่าง ๆ ได้มากขึ้น”
ฟีเจอร์นี้จะพาไปสำรวจสิ่งต่าง ๆ ที่ห้ามพลาดในวัดโพธิ์ โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมและพระพุทธรูปที่สำคัญ ที่นอกจากเราจะเข้าไปดูด้วยตาแล้ว ยังมีเสียงและคำบรรยายที่จะช่วยให้เราเข้าใจเรื่องราวของสิ่งตรงหน้ามากขึ้น
นอกจากนี้ ความสนุกที่ห้ามพลาดอีกอย่างคือการ “กลับแก้กลบท (Poetry Quizzes)” ในจารึกวัดโพธิ์ที่ติดอยู่ตามเสาในพระระเบียง
“จารึกวัดโพธิ์เป็นโบราณวัตถุที่ได้ขึ้นทะเบียน UNESCO บางส่วนมีรูปแบบเป็นปริศนากลโคลง เมื่อเราเอาแอปฯ ส่องดูที่จารึกนั้น ก็จะปรากฏเป็นภาพ AR และเสียงอ่านเป็นโคลงสี่สุภาพให้เราฟัง ฟังก์ชันนี้จะทำให้เราเดินเล่นได้รอบพระระเบียงโดยไม่รู้ตัวเลยทีเดียว”
ในแอปฯ จะมีรูปภาพในอดีตเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้วของมุมต่าง ๆ ในวัดโพธิ์ ผู้ใช้จะต้องเดินหามุมนั้น ๆ ในปัจจุบันให้เจอแล้วนำมาเทียบกันว่าปัจจุบันวัดโพธิ์มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง เป็นอีกฟีเจอร์ที่จะพาเราเดินไปทั่ววัดโพธิ์ เหมาะกับสายชอบถ่ายรูปเป็นอย่างมาก
“เชื่อว่าหลายคนคงไม่รู้ว่ายักษ์วัดโพธิ์หน้าตาเป็นอย่างไร และอยู่ตรงไหน” อ.วิลาสินี เกริ่นถึงที่มาของฟีเจอร์ไฮไลต์อย่าง “ฉันคือยักษ์วัดโพธิ์”
“เมื่อเราอยู่ในวัดโพธิ์ เราจะเห็นยักษ์มากมายเต็มไปหมด แล้วตัวไหนที่เป็นยักษ์วัดโพธิ์ตัวจริง? ฟีเจอร์นี้จะมีแผนที่บอกพิกัดยักษ์ต่าง ๆ เมื่อเราเดินไปเจอยักษ์ แอปฯ ก็จะอธิบายให้ฟังว่ายักษ์ที่เราเห็นอยู่นั้นคือยักษ์อะไร” แผนที่จะพาเราเดินชมไปรอบ ๆ บริเวณวัดโพธิ์จนทั่ว เพื่อไปชมยักษ์รูปแบบต่าง ๆ ซึ่งยักษ์บางตัวอาจจะอยู่ในรูปแบบที่เราไม่อาจคาดคิดเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นการจะตามหายักษ์ให้ครบนั้น เป็นอะไรที่ท้าทาย และจะดึงให้เราได้ใช้เวลาอยู่ในวัดโพธิ์ได้นานขึ้นมากเลยทีเดียว
หลายๆ คนอาจจะได้ยินชื่อ “ยักษ์วัดแจ้ง” (วัดแจ้งคืออีกชื่อหนึ่งของวัดอรุณฯ) กับ “ยักษ์วัดโพธิ์” ที่มักจะมาคู่กัน จึงทำให้เกิดความสับสน และมักคิดว่ายักษ์วัดโพธิ์คือยักษ์ตัวใหญ่ ๆ บ้างก็เข้าใจผิดว่ายักษ์วัดโพธิ์คือยักษ์จีนอย่างที่ปรากฎในภาพยนตร์ “ท่าเตียน” (พ.ศ. 2516) ที่เป็นการปะทะกันของยักษ์วัดแจ้งและยักษ์วัดโพธิ์“ยักษ์วัดโพธิ์ตัวจริงมีขนาดเท่า ๆ ตัวเราเลยค่ะ ตั้งอยู่ในช่องกระจกบริเวณซุ้มทางเข้าพระมณฑปหรือหอพระไตรปิฎก เพื่อทำหน้าที่พิทักษ์รักษาหอพระไตรปิฎกนั่นเอง” อ.วิลาสินี เฉลยหากสนใจเรื่องราวของยักษ์วัดโพธิ์เพิ่มเติม สามารถตามไปอ่าน “ตำนานยักษ์วัดโพธิ์” กันต่อ หรือ ลองดาวน์โหลดแอปฯ อินไซท์วัดโพธิ์แล้วไปตามหาตัวจริงที่วัดโพธิ์กันได้เลย!
อ.วิลาสินี กล่าวว่าเรื่องราวเกี่ยวกับวัดโพธิ์ที่น่าสนใจยังมีอีกมาก ซึ่งทีมพัฒนาจะเพิ่มเติมข้อมูลเข้าไปในแอปฯ เรื่อย ๆ แต่เรื่องที่ท้าทายกว่า ไม่ใช่เรื่องข้อมูลของวัดโพธิ์ แต่เป็นโมเดลธุรกิจที่จะทำให้แอปฯ “อินไซท์วัดโพธิ์” ได้ไปต่อ
“อินไซท์วัดโพธิ์” เป็นแอปฯ ฟรี เราไม่ต้องการให้การเรียนรู้ต้องเสียเงิน เพราะฉะนั้นเราจะอยู่รอดได้ก็ต้องพึ่งโมเดลธุรกิจ เราคิดจะสร้างอินไซท์วัดโพธิ์ให้เป็นแพลตฟอร์มในการสนับสนุนการท่องเที่ยวและการทำกิจกรรมในวัดโพธิ์ อย่างการจองบัตรเข้าร่วมกิจกรรมพิเศษ เช่น การเขียนภาพสีน้ำในวัดโพธิ์ การทัวร์วัดโพธิ์ตอนกลางคืน หรือการจองสินค้าที่ระลึกคอลเลกชันพิเศษ เป็นต้น ก็จะสามารถทำได้ผ่านแอปฯ นี้เท่านั้น รวมทั้งการจองไกด์นำเที่ยว ที่การันตีได้เลยว่ามีความรู้ที่ถูกต้อง ก็จะรวมอยู่ในแผนต่อไปนี้เช่นกัน” อ.วิลาสินี เล่าถึงแผนในอนาคตอันใกล้นี้
แอปพลิเคชัน “อินไซท์วัดโพธิ์” ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพียงแค่ให้ผู้ใช้ได้เล่นสนุกและได้รับความรู้เท่านั้น แต่ อ.วิลาสินี เชื่อมั่นว่านวัตกรรมนี้จะสร้างผลกระทบต่อสังคม ทั้งในแง่ของวัฒธรรม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ
“เราอยากเห็นพฤติกรรมในการมาท่องเที่ยววัดโพธิ์ที่เปลี่ยนไป จากการมาชมอย่างเดียว เป็นการได้สำรวจไปรอบ ๆ ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒธรรมอันดีงามของไทย ไม่พลาดชมจุดที่น่าสนใจ เมื่อนักท่องเที่ยวสามารถใช้เวลาในจุดนี้ได้นานขึ้น เมื่อเหนื่อยหรือหิว เขาก็สามารถอุดหนุนร้านค้าในชุมชนรอบ ๆ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในภาพใหญ่ได้แล้ว ยังสามารถช่วยดึงเม็ดเงินเข้าสู่ชุมชนได้อีกด้วย” อ.วิลาสินี กล่าว
ทั้งนี้ อ.วิลาสินี ยังกล่าวถึงแผนที่จะพัฒนาโครงการไปยังสถานที่สำคัญอื่น ๆ โดยวัดลำดับถัดไปที่มีอยู่ในใจคือ “วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร” ซึ่งถือเป็นวัดพ่อ-วัดลูกกับวัดโพธิ์ (วัดโพธิ์ คือ วัดประจำรัชกาลที่ 1 ส่วนวัดอรุณฯ คือวัดประจำรัชกาลที่ 2) และได้รับผลกระทบจากกระแสความนิยมจากนักท่องเที่ยวในการแต่งชุดไทยและหามุมถ่ายรูปในโบราณสถานเช่นกัน
สนใจลองเล่นแอปพลิเคชัน “อินไซท์วัดโพธิ์” สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี ทั้งบน App Store และ Google Play หรือติดตามข่าวสารเกี่ยวกับแอปพลิเคชันได้ที่ Facebook: Insight Wat Pho
การพลิกฟื้นโบราณสถาน ชุมชนรอบ ๆ และสถานท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เป็นหนึ่งในแนวทางที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความสำคัญในการเรียนการสอนมาโดยตลอด“ทุกภาควิชาเน้นการออกแบบกายภาพ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นโบราณสถาน หรือ สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ นิสิตจะได้เข้าไปศึกษาและออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ผ่านมา เราได้เข้าไปช่วยพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและชุมชนเป็นจำนวนมาก เป็นอีกหนึ่งกำลังที่จะช่วยส่งเสริมให้ความเจริญไม่กระจุกตัวอยู่เพียงแค่ที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น”ชุมชน “อัมพวา” คือหนึ่งในพื้นที่ดังกล่าวอ.วิลาสินี เล่าว่าเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ชุมชนอัมพวาเป็นชุมชนเก่าที่เริ่มจะเสื่อมโทรม ทางคณะสถาปัตย์ฯ ได้พานิสิตเข้าไปศึกษาทุก ๆ ปี วางแผนพัฒนาทั้งแผนผังและเศรษฐกิจชุมชน จนปัจจุบัน อัมพวากลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง มีทั้งตลาดและกิจกรรมให้ทำมากมาย“จากที่คนในชุมชนเริ่มละทิ้งบ้านไป คนรุ่นใหม่ก็ได้กลับมาทำธุรกิจที่บ้านเกิดกันมากขึ้น” อ.วิลาสินี เล่าอย่างภาคภูมิใจล่าสุด คณะสถาปัตย์ฯ กำลังดำเนินโครงการ “บางโพลีฟวิ่งแล็ป” โดยทำงานร่วมกับชุมชนประชานฤมิตร ชุมชนเก่าแก่ย่านบางโพ ซึ่งเป็นแหล่งรวมผู้ประกอบการงานไม้ ที่มีมากว่า 80 ปี บนถนนสายไม้บางโพอีกด้วย
“หุ่นอาจารย์ใหญ่” ฝึกเจาะเลือดและฉีดยาสุนัข เสริมความมั่นใจนิสิตสัตวแพทย์
จุฬาฯ เปิดตัว “วีลแชร์เดินได้” Wheelchair Exoskeleton หุ่นยนต์สวมใส่บนร่างกายมนุษย์ นั่ง ลุกยืน และเดินได้ในตัวเดียว
“ศูนย์สุขภาวะผู้สูงอายุ จุฬาฯ” บ้านหลังที่ 2 ดูแลระหว่างวัน ตอบโจทย์ลูกหลานวัยทำงาน ตรงใจสูงวัยสุขภาพดี
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้