รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
21 สิงหาคม 2566
ผู้เขียน ชาติสยาม หม่อมแก้ว
นิสิตคณะวิศวฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลชนะเลิศ MGA Award จากผลงานนวัตกรรมชุดกันไฟ Smart Suit ชูจุดเด่นการใช้เทคโนโลยี IoT เชื่อมต่ออุปกรณ์และสั่งการออนไลน์ เก็บข้อมูล ลดความเสี่ยง เพิ่มความปลอดภัยให้เจ้าหน้าที่ดับไฟป่าหน้างานแบบเรียลไทม์
ในช่วงหลายปีมานี้ ประเทศไทยและหลายพื้นที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาไฟป่า ที่ปะทุขึ้นบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงอย่างมีนัยยะสำคัญ สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อสภาพแวดล้อมในวงกว้าง รวมถึงส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของมนุษย์และสัตว์เป็นจำนวนมาก
การควบคุมไฟป่าให้เร็วที่สุดจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง แม้จะมีการใช้เครื่องบินโปรยสารควบคุมไฟ แต่การดับไฟป่าและอพยพผู้คนออกจากพื้นที่เสี่ยง ก็ยังคงต้องอาศัยบรรดาอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ ที่ต้องฝ่าเปลวเพลิง เสี่ยงภัยอันตรายนานา ทั้งความร้อนและควันพิษที่เกิดจากเผาไหม้ ซึ่งล้วนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อาทิ คาร์บอนมอนอกไซด์ (carbon monoxide) ไนโตรเจนออกไซด์ (nitrogen oxides) สารประกอบอินทรีย์ชนิดระเหยง่าย (volatile organic compounds) ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) และอื่น ๆ
ปัญหาดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้กลุ่มนิสิตชั้นปีที่ 4 จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในชื่อทีม TAF ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมชุดกันไฟ Smart Suit เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันการสร้างและพัฒนาชิ้นงานต้นแบบโดยใช้ระยะเวลาสั้น ๆ ในระดับนานาชาติ “Rapid Prototype Development (RPD) Challenge – a multi GNSS Asia programme” ซึ่งในงานนี้มีทีมนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชียเข้าร่วมมากกว่า 40 ทีม และนวัตกรรมชุดกันไฟ Smart Suit ของนิสิตวิศวฯ จุฬาฯ ได้รับรางวัลรางวัลชนะเลิศ (MGA Award)
นิธิ อจละนันท์ นิสิตภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาฯ หนึ่งในสมาชิกทีม TAF กล่าวว่า “ชุดกันไฟ Smart Suit ที่พัฒนาขึ้นมานี้ เราได้แรงบันดาลใจมาจากการแก้ปัญหาไฟป่าในภาคเหนือของประเทศไทย รวมถึงภาวะวิกฤตการดับไฟป่าในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งในหลาย ๆ ครั้ง ก่อให้เกิดการสูญเสียบุคลากร เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครในการดับไฟป่าไปอย่างน่าสะเทือนใจ ซึ่งทางทีมหวังว่าชุดกันไฟ Smart Suit จะเป็นนวัตกรรมที่ช่วยลดความเสี่ยงและการสูญเสียนักดับเพลิง และเป็นส่วนสำคัญในแก้ไขปัญหาไฟป่าต่อไปในอนาคต”
ทีม TAF ประกอบด้วยหนุ่มสาวไฟแรง 5 คนจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งนอกจาก นิธิ แล้ว ก็ยังมีนฤดม หมี-อิ่ม นิสิตภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า นิชานันท์ ชุณห์เสรีชัย นิสิตภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ณฐพงศ์ อินทรสุข นิสิตภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ และ อนุธิดา ฤทธิพันธ์ นิสิตภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ ซึ่งพวกเขาทั้งหมดกำลังจะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในเดือนตุลาคมที่กำลังจะถึงนี้
การดับไฟป่ามีความเสี่ยงสูงมาก ซึ่งหลายครั้งอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าได้รับบาดเจ็บ หรือกระทั่งเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ความสูญเสียดังกล่าวเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ การสื่อสารที่ผิดพลาด การถูกรบกวนของสัญญาณการทำงาน อุปกรณ์ป้องกันที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือระบบการจัดการไม่รัดกุมเพียงพอ
“ทีมของเรามีโอกาสไปสังเกตการณ์การปฏิบัติงานในพื้นที่จริงที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้สัมภาษณ์และเก็บข้อมูลจากพี่ ๆ อาสาดับไฟป่า ซึ่งเราก็ได้พบปัญหาที่ค่อนข้างซีเรียส ทั้งเรื่องของการจัดการทีมและความปลอดภัย ชุดกันไฟ Smart Suit ของเราถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว” นิธิกล่าว
ทีม TAF ออกแบบนวัตกรรมชุดกันไฟ Smart Suit โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT (Internet of Things) เครือข่ายรวมของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อถึงกันและเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์กับระบบคลาวด์ และการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ด้วยกันเอง โดยใช้ชิปคอมพิวเตอร์และการสื่อสารโทรคมนาคมที่มีแบนด์วิดท์สูง ซึ่งทีมเลือกใช้บอร์ดคอมพิวเตอร์ Sony spresence board (บอร์ดคอมพิวเตอร์ สำหรับ IoT) และอุปกรณ์เซนเซอร์ต่าง ๆ ในการเชื่อมต่ออุปกรณ์และสั่งการออนไลน์ โดยติดตั้งอุปกรณ์เหล่านี้ไว้กับชุดกันไฟแบบดั้งเดิม
“เราติดตั้งอุปกรณ์ซึ่งใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ติดตั้งง่ายและราคาไม่แพง ที่สำคัญ ชุดกันไฟ Smart Suit มีระบบแสดงข้อมูลและสร้างแผนที่แบบโต้ตอบ (interactive map) ได้แบบเรียลไทม์ โดยข้อมูลที่เก็บได้จากชุดกันไฟนี้ถือเป็นข้อมูลเชิงพื้นที่ (spatial data) ซึ่งสามารถวัดค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ ได้ เช่น ค่าฝุ่นPM 2.5 ค่าคาร์บอนมอนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ ความชื้นสัมพัทธ์ อุณหภูมิ ที่สามารถนำมาใช้บริหารสถานการณ์ได้อย่างแม่นยำ” นิธิเล่าถึงประสิทธิภาพของชุดกันไฟ Smart Suit
จุดเด่นของนวัตกรรมชุดกันไฟ Smart Suit คือระบบแจ้งเตือนเพื่อความปลอดภัยในการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า
“สิ่งที่ทำให้ทางคณะกรรมการเทคะแนนให้ทีมเรามากที่สุด น่าจะเป็นเรื่องการตรวจวัดค่าความร้อน” นฤดม นิสิตภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาฯ ตัวแทนของทีมกล่าว “Smart Suit สามารถแจ้งเตือนค่าความร้อนในกรณีที่อุณหภูมิสูงเกินกำหนด ซึ่งหากเซนเซอร์พบว่ามีความร้อนสูงและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ก็จะแจ้งเตือนทันที เพื่อป้องกันการเกิดโรคลมร้อน หรือฮีทสโตรก อีกอย่างหนึ่งก็คือการแจ้งเตือนค่าคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซพิษที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ ซึ่งหากสูดดมหรือได้รับเข้าสู่ร่างกายเกินค่ามาตราฐาน จะทำให้เสียชีวิตทันที การแจ้งเตือนจะทำให้ผู้สวมใส่ซึ่งอยู่ในสถานการณ์หน้างานรับทราบได้ทันท่วงที ก่อนที่จะเกิดความสูญเสีย”
ด้วยระบบแสดงข้อมูลและสร้างแผนที่แบบเรียลไทม์ ชุดกันไฟ Smart Suit สามารถตรวจจับพิกัดที่อยู่ของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครดับไฟป่าที่สวมอยู่ ช่วยให้เจ้าหน้าที่และศูนย์ควบคุม สื่อสารข้อมูลถึงกันได้แบบเรียลไทม์ เพื่อรับมือและป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์ เช่น ลมเปลี่ยนทิศ จึงช่วยให้การบริหารสถานการณ์ไฟป่า การอพยพเคลื่อนย้าย หรือสั่งการเพื่อหลบแนวไฟป่าที่กำลังโหมลามอยู่ มีประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงและการสูญเสียในขณะปฏิบัติงาน
นฤดม เล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานของระบบแจ้งเตือนของชุดกันไฟ Smart Suit ว่า “ศูนย์ควบคุมหรือ control center สามารถมอนิเตอร์สถานการณ์และข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูกเก็บจากเซนเซอร์จากระยะไกลได้ โดยส่งผ่าน LoRa (การเชื่อมต่อไร้สายสำหรับ IoT) ซึ่งรวมไปถึงตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ และ hotspot (จุดที่ดาวเทียมตรวจพบค่าความร้อนสูงผิดปกติจากค่าความร้อนบนผิวโลก) จากภาพถ่ายดาวเทียมที่ใช้สำหรับการตรวจวัดโลก สภาพอากาศและนิยมนำมาใช้ติดตามไฟป่า อย่างMODIS (Moderate Resolution Imaging Spectroradiometer) หรือ VIIRS (Visible Infrared Imaging Radiometer Suite) เพื่อส่งแจ้งเตือนให้กับเจ้าหน้าที่ และในกรณีที่ไฟป่าทวีความรุนแรงและลุกลาม ก็สามารถใช้ปุ่มเตือนภัยเพื่อแจ้งให้ชาวบ้านในพื้นที่ เจ้าหน้าที่และอาสาดับไฟป่าให้อพยพเคลื่อนย้ายผ่านทาง EWS messages (Early warning system messages) ได้เช่นเดียวกัน”
ปัจจุบัน นวัตกรรมชุดกันไฟ Smart Suit ที่เพิ่งคว้ารางวัลใหญ่ระดับโลกชิ้นนี้ ยังคงเป็นเพียงผลงานชิ้นต้นแบบเท่านั้น ซึ่งน้อง ๆ สมาชิกในทีม TAF แม้จะแยกย้ายกันไปเติบโตตามเส้นทางที่แต่ละคนเลือก แต่ก็ยังรู้สึกภาคภูมิใจและหมายมั่นว่าวันหนึ่ง นวัตกรรมต้นแบบชิ้นนี้ จะได้รับการพัฒนาไปสู่นวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง เพื่อจัดการกับสถานการณ์ไฟป่าที่กำลังเป็นปัญหา และรักษาชีวิตของอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าผู้เสียสละให้มีความปลอดภัยและทำงานได้สะดวกสบายขึ้น
“ชุดกันไฟ Smart Suit ที่เราพัฒนาขึ้น ยังเป็นเพียงต้นแบบ โดยที่เราเลือกใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีเท่าที่เราในฐานะนิสิตจะหาได้และราคาไม่แพงมาใช้ ในอนาคต หากมีการต่อยอดนำไปผลิตเพื่อใช้งานจริงได้ ก็สามารถที่จะอัปเดตอุปกรณ์หรือใช้เทคโนโลยีที่มีความทันสมัยกว่านี้ หรือเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานต่าง ๆ เพื่อประสิทธิภาพที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปได้อีก” นฤดมกล่าวทิ้งท้าย
หน่วยงานหรือบริษัทใดสนใจนำต้นแบบ “นวัตกรรมชุดกันไฟ Smart Suit” ไปพัฒนาต่อเพื่อผลิตสำหรับใช้งานจริง ทางน้อง ๆ ทีม TAF ก็พร้อมและยินดีที่จะหารือ ถ่ายทอดองค์ความรู้ และร่วมมือพัฒนานวัตกรรม เพราะปัญหาไฟป่าเป็นวาระสำคัญและเร่งด่วน ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ที่ยังรอคอยนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อใช้จัดการกับสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้สนใจสามารถติดต่อกับสมาชิกทีมโดยตรงหรือติดต่อผ่าน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทรศํพท์ 02 2186309-10
“ศูนย์สุขภาวะผู้สูงอายุ จุฬาฯ” บ้านหลังที่ 2 ดูแลระหว่างวัน ตอบโจทย์ลูกหลานวัยทำงาน ตรงใจสูงวัยสุขภาพดี
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้