รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
6 กันยายน 2566
ผู้เขียน ศุภวรรณ พิพิธสมบัติ
แฟชั่นและสิ่งทอ จุฬาฯ พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ชูโมเดลการพัฒนาทุนวัฒนธรรมสิ่งทออย่างเป็นระบบและครบวงจร ตั้งแต่การสร้างนวัตกรรมเส้นใยสิ่งทอและนำมาออกแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมแฟชั่น กระบวนการผลิต คำนึงถึงการสร้างตราสินค้า และตลาดคู่แข่ง คู่ขนานไปกับธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ส่งเสริมรายได้พัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
สิ่งทอ เป็นหนึ่งในศิลปะและวัฒนธรรมที่สะท้อนอัตลักษณ์ วิถีชีวิต และภูมิปัญญาของผู้คนในกลุ่มชาติพันธุ์และชนชาติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทอผ้า วัสดุในการทอ การย้อม ลายผ้า และการสวมใส่ ฯลฯ เหล่านี้เป็นสิ่งที่แต่ละสังคมเรียนรู้ สั่งสม และถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นเป็นเวลาหลายร้อยปี ซึ่งน่าเสียดายหากวัฒนธรรมอันล้ำค่านี้จะสะดุดลงอย่างที่ในปัจจุบัน ผ้าทอพื้นเมืองกลายเป็นเพียงผลิตภัณฑ์ที่ระลึกจากการท่องเที่ยว ที่มีไว้สวมใส่ในโอกาสพิเศษเท่านั้น
การฟื้นคุณค่าและสืบสานทุนวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไปในโลกสมัยใหม่ จึงต้องการศิลปะและความสร้างสรรค์ในการผสานคุณค่าเดิมให้ลงตัวกับไลฟ์สไตล์ยุคใหม่
ด้วยความตั้งใจนี้ประกอบกับความเชี่ยวชาญด้านแฟชั่น ศาสตราจารย์ ดร.พัดชา อุทิศวรรณกุล หัวหน้าหน่วยวิจัยแฟชั่นและนฤมิตศิลป์ ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญา ประจำปี 2566 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้ริเริ่ม “โครงการนวัตกรรมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ จากจังหวัดน่าน สู่สากลเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์” ในช่วงปี 2563 – 2565
“ประเทศไทยมีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลายกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งล้วนเป็นอัตลักษณ์เฉพาะ เชื่อมโยงวัฒนธรรมกับกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศเพื่อนบ้านได้ น่าเสียดายที่ภูมิปัญญาที่สืบทอดมาอย่างยาวนานเหล่านี้จะสูญไป เพราะขาดการพัฒนาอย่างครบวงจร ขาดการทำตลาด ส่งผลให้การทอผ้าของชุมชนไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดผู้บริโภคในปัจจุบัน จนกลายเป็นปัญหาคลาสสิกที่มักพบได้ในชุมชนที่ยึดอาชีพทอผ้าในประเทศไทย” ศ.พัดชากล่าว
ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนศตวรรษที่ 2 (Second Century Fund : C2F) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.พัดชา และอาจารย์ นักวิจัย รวมถึงศิษย์เก่าจุฬาฯ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการออกแบบที่มีชื่อเสียงในอุตสาหกรรมแฟชั่นของประเทศไทย ได้ร่วมบุกเบิกพัฒนา Cluster สิ่งทอจังหวัดน่าน ศึกษาปัญหาสิ่งทอท้องถิ่น และสร้างโมเดลการพัฒนาทุนวัฒนธรรมสิ่งทออย่างครบวงจร สร้างอัตลักษณ์จำเพาะของผลิตภัณฑ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์ให้เป็น Cluster ต้นแบบ ตั้งแต่การนำนวัตกรรมมาพัฒนาเส้นใยและเทคนิคการทอที่เป็นภูมิปัญญาตามทุนทางวัฒนธรรม ได้แก่ การใช้มรดกภูมิปัญญาพืชธรรมชาติมาสกัดสีย้อม การใช้ลวดลายที่เป็นสัญญะของชาติพันธุ์ชนเผ่าในจังหวัดน่าน รวมทั้งกรรมวิธีการสกัดสีจากภูมิปัญญาดั้งเดิม นำมาพัฒนาให้เกิดมูลค่าเพิ่มในงานสร้างสรรค์แฟชั่น
“เราออกแบบสิ่งทอให้เป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวสู่รูปแบบร่วมสมัยในกระแสนิยม ยกระดับตราสินค้าจากทุนวัฒนธรรม ส่งเสริมช่องทางการตลาด และพัฒนาการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ โดยหวังว่าโมเดลนี้จะเป็นต้นแบบที่ช่วยขับเคลื่อนกระตุ้นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมชุมชนสู่การเปิดตลาดในระดับชาติและนานาชาติอย่างยั่งยืน อีกทั้ง ยังหวังว่า โมเดลต้นแบบนี้จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์จากทุนทางวัฒนธรรมในทุก ๆ ภูมิภาคของประเทศไทย”
บรรพบุรุษของชาวน่านส่วนหนึ่งเป็นคนไทที่อพยพจากดินแดนล้านช้างทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ตามชายแดนทางเหนือของจังหวัดน่าน หรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วย คนเมืองหรือคนไทยวนซึ่งเป็นหมู่ชนที่ถูกเรียกว่า ลาวพุงดำ และในเขตตัวเมืองยังประกอบไปด้วยขมุ เงี้ยว พม่า และลาว ส่วนเขตรอบนอกตัวเมืองประกอบไปด้วยชนเผ่าต่าง ๆ เช่น ไทลื้อ ม้ง เมี่ยน ถิ่น หรือลัวะ ผีตองเหลือง ฯลฯ โดยชนกลุ่มย่อยแต่ละกลุ่มมีวิถีชีวิต ความเชื่อ และพิธีกรรมแตกต่างกันไป ทั้งยังมีการหยิบยืมวัฒนธรรมและการหลอมรวม ส่งผลให้วัฒนธรรมการทอผ้าในจังหวัดน่านปัจจุบันมีความโดดเด่นเป็นของตนเอง
“แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มีวิถีชีวิต ความเชื่อ พิธีกรรม และระบบสัญญะที่แตกต่างกัน ทำให้การทอผ้า การย้อมผ้า และวิธีการแปรรูปผลิตภัณฑ์พื้นบ้านของแต่ละกลุ่มมีเอกลักษณ์เฉพาะตน ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มไม่นิยมใส่หรือทอลายผ้าข้ามกลุ่มชาติพันธุ์ จึงเป็นโจทย์ยากในการสร้างลายผ้าทอที่เป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของจังหวัดน่าน” ศ.ดร.พัดชา กล่าวถึงความท้าทายที่จะหาเอกลักษณ์ผ้าทอประจำจังหวัด
นอกจากเอกลักษณ์ที่หลากหลาย ยังมีเรื่องการพัฒนาผ้าทอให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันที่นิยมเสื้อผ้าสำเร็จรูปตามกระแสแบบ Fast fashion ต้องจัดหาช่องทางการจำหน่ายที่กว้างขึ้น และการสร้างตราสินค้าที่สะท้อนทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นที่รู้จักและน่าเชื่อถือ
“ผลิตภัณฑ์ลายผ้าทอจากภูมิปัญญาชุมชนคงความเป็นเอกลักษณ์พื้นถิ่นดั้งเดิมมากเกินไป ไม่ถูกพัฒนาตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นคนเมืองรุ่นใหม่ที่มีรสนิยมสากล” ศ.ดร.พัดชา กล่าวโดยยกตัวอย่างเสื้อลายม้ง
“ลวดลายของเสื้อลายม้งตอกย้ำสัญญะของชุมชนชาติพันธุ์มากเกินไป ทำให้ดูเป็นของที่ระลึกแบบสินค้า OTOP ไม่ใช่เสื้อผ้าหรือของที่จะใช้ในชีวิตประจำวันปกติได้ การเป็นของที่ระลึกไม่ผิดนะ แต่มันทำให้ตลาดแคบ ซึ่งทุนทางวัฒนธรรมจะอยู่ต่อไปได้ ตลาดต้องกว้างขึ้น ซึ่งหมายความว่าผลิตภัณฑ์ต้องสอดคล้องกับความต้องการของคนร่วมสมัย ใช้ได้ในหลายโอกาส เข้ากับกระแสนิยม และรูปแบบมีความเป็นตะวันตกมากขึ้น” ศ.ดร.พัดชา กล่าวย้ำ
ในโครงการนี้ ศ.ดร.พัดชา และนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญได้ลงไปทำงานกับชุมชนเพื่อร่วมกันหาอัตลักษณ์และแนวทางที่จะทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอมีความร่วมสมัยมากขึ้น เป็นที่ต้องการของตลาดในระดับสากล รวมทั้งขยายกลุ่มเป้าหมายเชิงการตลาดในวงกว้าง เพื่อขยายตลาดไปสู่กลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่
“ในเบื้องต้นทีมนักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญของเราได้ลงพื้นที่ไปวิเคราะห์เก็บข้อมูลปัญหาด้านการตลาดสิ่งทอ และความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งจัดลำดับศักยภาพของชุมชนและผู้ประกอบการ เพื่อหาอัตลักษณ์เฉพาะในแต่ละ Cluster พบว่า การสร้างมูลค่าเพิ่มของสิ่งทอในพื้นที่จำเป็นต้องใช้นวัตกรรมการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำเข้ามาช่วยให้เกิดความใหม่และทันสมัย รวมทั้งการนำสัญญะของทุนวัฒนธรรมบนลวดลายผ้า มาประยุกต์ให้เกิดความร่วมสมัยตามกระแสนิยม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคปัจจุบัน” ศ.ดร.พัดชา กล่าว
โดยมาก แนวทางการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนมักเน้นไปที่การผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด หรือดีขึ้นมา ก็จะเพิ่มเรื่องการส่งเสริมการตลาด แต่จะดีที่สุดเมื่อคำนึงถึงการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมให้ครบวงจรอย่างเป็นระบบและทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนปลายน้ำ โดยเฉพาะกลางน้ำและปลายน้ำ ซึ่ง ศ.ดร.พัดชา กล่าวว่า “เป็นเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในกระแสนิยม และการเปิดตลาดในช่องทางใหม่ ๆ ซึ่งในโครงการนี้ใช้โมเดลการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวสร้างสรรค์ด้วยวัฒนธรรมสิ่งทอ”
ศ.ดร.พัดชา อธิบายโมเดลการพัฒนาทุนวัฒนธรรมอย่างครบวงจรว่าประกอบด้วย 7 ขั้นตอนด้วยกัน ได้แก่
แม้ทีมวิจัยของโครงการฯ จะให้ความรู้และช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน แต่ก็ไม่ง่ายเลยที่จะทำให้ผู้ประกอบการในชุมชนเปิดใจยอมรับและยอมทำตามแนวทางใหม่ ๆ ที่ทีมโครงการวิจัยนำเสนอ ศ.ดร.พัดชา กล่าว
“ผู้ประกอบการบางรายยังยึดติดกับการผลิตแบบเดิม ๆ บ้างไม่กล้าทำตาม เราจึงต้องทำกรณีศึกษาของกลุ่มที่ลองทำตามโมเดลของเรา ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำแล้วประสบความสำเร็จ ขายดี เราเชื่อว่าตรงนี้จะทำให้ผู้ประกอบการคนอื่น ๆ เริ่มเปิดใจและยอมทำตามที่แนะนำของเรา”
“ทางโครงการฯ จึงทดลองนำร่องโมเดลกับ 8 กลุ่มผ้าทอใน จ.น่าน โดยระดมคณาจารย์ นิสิตประจำภาควิชานฤมิตศิลป์ และศิษย์เก่า คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ที่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงมากประสบการณ์ในวงการแฟชั่นที่เคยทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน ให้มาร่วมมือกันสร้างอัตลักษณ์ให้กลุ่มผ้าทอทั้ง 8 กลุ่มเป้าหมาย”
“เราเริ่มจากการลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้ประกอบการและหาแนวทางในการพัฒนาอัตลักษณ์ตราสินค้าใหม่ ให้มีความสอดคล้องและสามารถนำไปใช้ต่อยอดในการผลิตสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์คุณภาพร่วมสมัย ภายใต้ตราสินค้าของตนเองได้จริง ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอ 8 กลุ่ม ได้แก่ …”
กลุ่มที่ 1. กลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง เดิมก่อนเข้าโครงการฯ ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ยังไม่มีผลิตภัณฑ์เคหะสิ่งทอ (Home textile) แต่กลุ่มมีศักยภาพในการผลิตลวดลายสิ่งทอได้ตามการออกแบบของดีไซเนอร์ ทางทีมวิจัยจึงได้ช่วยพัฒนาแนวคิดและการทำผลิตภัณฑ์คอลเล็กชันของใช้ในบ้าน ประเภทเคหะสิ่งทอ โดยได้แรงบันดาลใจจากเตาเผาโบราณ บ้านบ่อสวก จ.น่าน เตาโบราณบ้านบ่อสวก เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่สำคัญในอดีตของเมืองน่าน เกิดเป็นตราสินค้า “Soul Lung”
กลุ่มที่ 2. ร้านวราภรณ์ ผ้าทอ อำเภอเวียงสา เดิมยังไม่มีการพัฒนารูปแบบของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับตามกระแสนิยม แต่มีจุดเด่นด้านการผลิตผ้านุ่นทอมือสอดดิ้นต่าง ๆ ทีมวิจัยจึงพัฒนาสร้างคอลเล็กชันเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายสตรี (Women’s wear) สำหรับออกงานกึ่งทางการ (Party-business) โดยได้แรงบันดาลใจจากความสัมพันธ์ความมืดและแสงสว่างผ่านมุมมองการพัฒนาโครงสร้างของสถาปัตยกรรมและมุมมองแฟชั่นแบบร่วมสมัย (contemporary) และมีความเรียบง่าย (Minimalism) โครงร่างเงาของเสื้อผ้าเป็น รูปทรงโคร่ง เข้ารูปแบบ ยูนิฟอร์ม ตัดต่อผ้า (Patchwork) เพื่อให้เกิดลวดลายที่แปลกใหม่ รวมถึงรายละเอียดเสื้อผ้ายูนิฟอร์มทหาร ที่เอามาจับคู่กับเสื้อผ้าแบบสมัยใหม่ โทนสีเน้นสีสันที่สดใส และผสมผสานกับสีโทนเทา (Grey scale) แสดงออกถึงความสนุกและความกล้าแสดงออก วัสดุที่ใช้เน้นผ้าคอตต้อน และผ้าไหม ทั้งนี้การสวมใส่มีทั้งรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย และรูปแบบที่ได้อิทธิพลการแต่งกายแบบสาวชนบท (Farm Girl) เน้นการสวมใส่แบบทับซ้อนหลายชั้น เกิดเป็นตราสินค้า “WORA”
กลุ่มที่ 3 ร้านรัตนาพร ผ้าเขียนเทียน อำเภอปัว เดิมยังไม่มีการพัฒนารูปแบบเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายและผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ จุดเด่นของที่นี่คือการผลิตผ้าย้อมครามและเขียนเทียนได้เอง ทีมวิจัยจึงส่งเสริมให้พัฒนาสร้างคอลเล็กชันเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและเคหะสิ่งทอ ในสไตล์มินิมอล ดีคอนสตรัคชัน (Minimal Deconstruction) โดยการย้อมครามธรรมชาติภายใต้ตราสินค้า “มนต์คราม” (Mon Karm) หมายถึง มนต์เสน่ห์ของการเขียนครามด้วยทุนทางวัฒนธรรมม้งในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์ จนเกิดเป็นเสน่ห์หลงใหลในการเขียนเทียนและการย้อมคราม พร้อมพัฒนาลวดลายรูปแบบใหม่ให้มีความทันสมัย
กลุ่มที่ 4 ร้านฝ้ายเงิน เดิมยังไม่มีการพัฒนารูปแบบเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย แต่มีจุดเด่นด้านการพัฒนาผ้าใหม่ด้วยลวดลายจากผ้าเก่าที่มีสะสมไว้ จึงได้พัฒนาเป็นคอลเล็กชันเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย แบบลำลองกึ่งออกงาน (Casual-party) และแม็กซิมอลเฟมินีน (Maximal feminine) โดยใช้ชื่อตราสินค้า ว่า “FAINGERN” โดยมีแรงบันดาลใจในการออกแบบได้มากจากแนวคิดของการผสมผสานทุนวัฒนธรรมสิ่งทอพื้นถิ่นเข้ากับโลกยุคใหม่ ส่งผลให้รูปร่างลวดลายของผ้าทอจากวัฒนธรรมไทลื้อถูกตีความใหม่ ก่อให้เกิดลวดลายแบบเรขาคณิต เช่น ลายสี่เหลี่ยมที่ทอสานขัดกัน ลายเส้นตรงแนวตั้ง และลายปั่นไกเป็นทางยาว เป็นต้น
กลุ่มที่ 5 กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านปางกอม อำเภอสองแคว เดิมยังไม่มีการพัฒนารูปแบบของผงสี แบบสำเร็จรูป สำหรับจุดเด่นคือการใช้สีย้อมจากพืชที่พบได้ในท้องถิ่น ซึ่งต่อมาก็ได้พัฒนาสร้างเป็นสีผงที่มีโทนสีเฉพาะ อันเกิดจากพืชธรรมชาติในท้องถิ่น ผลิตสินค้าภายใต้ตราสินค้า “Nana Colours” โดยมีแรงบันดาลใจในการออกแบบได้มาจากแนวคิดของการผสมผสานทุนวัฒนธรรมสิ่งทอพื้นถิ่นเข้ากับโลกยุคใหม่ที่มีการผสมผสานวัฒนธรรมสากล (Global Culture) ส่งผลให้ลวดลายดั้งเดิมของผ้าทอจากวัฒนธรรมไทลื้อถูกตีความใหม่ จากลวดลายที่เกิดจากการทอ เช่น ลายทอแบบจก ที่หลงเหลือผู้ที่สามารถทอได้เพียงน้อยนิด นำมาคิดต่อยอดให้เกิดลวดลายจากการพิมพ์และย้อม (print and dye) เช่น ลายมัดย้อมหิน ลายพิมพ์ใบไม้ ลายสนิมเหล็ก ซึ่งได้มาจากประสบการณ์การลองผิดลองถูกในการย้อมสีธรรมชาติกว่า 30 ปี ของกลุ่มย้อมสีธรรมชาติบ้านปางกอม จังหวัดน่าน
กลุ่มที่ 6 กลุ่มผ้าทอไทลื้อ บ้านเก็ต อำเภอปัว เดิมมีความเชี่ยวชาญการทอผ้าและงานด้านหัตถศิลป์ศิลปะแบบดั้งเดิมของชาวไทลื้อ ที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมสูง สินค้ามีทั้งผ้าทอ สินค้าแปรรูป และผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้าน อีกทั้งยังเชี่ยวชาญการย้อมธรรมชาติจากโกโก้ ต่อมาได้พัฒนาเป็นสินค้าเครื่องแต่งกายสำหรับกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้น (กลุ่มเจเนอเรชั่นเอ็ม และเจเนอเรชั่นวายตอนปลาย อายุระหว่าง 23-35 ปี) ที่ต้องการเสื้อผ้าสำหรับการสวมใส่ในโอกาสลำลอง โดยใช้ชื่อตราสินค้า “Lifecocoa” ซึ่งมีแนวคิดในการออกแบบจากการความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันระหว่างวัฒนธรรมและธรรมชาติที่ไร้กาลเวลาซึ่งมาพร้อมกับแนวคิดความยั่งยืน (Sustainable)
กลุ่มที่ 7 ศูนย์ผ้าทอไทลื้อ บ้านดอนมูล อำเภอท่าวังผา เดิมกลุ่มนี้ทำงานตั้งแต่การย้อม การทอผ้า และการแปรรูปสินค้าเป็นเครื่องแต่งกายสำเร็จรูป และของตกแต่งไลฟ์สไตล์ มีเอกลักษณ์ของาน คือ งานผ้าทอฝ้าย ลวดลายท้องถิ่นแบบไทลื้อ และการย้อมสีธรรมชาติ โดยกลุ่มใช้วัตถุดิบจากพืชที่พบในท้องถิ่น ได้แก่ เม็ดคำแสด เปลือกไม้ ปัญหาที่พบคือรูปแบบสินค้ามีโครงสร้างค่อนข้างหลวม ตัวใหญ่ ต่อมาได้พัฒนาการออกแบบให้ทันสมัยมากขึ้น และมีรูปทรงที่เข้ารูปแบบลำลอง (Casual) สตรีทแวร์ (Streetwear) ชัดเจน (Bold) มีชีวิตชีวา (Lively) โดยการใช้เส้นและโครงสร้างที่แปลกตา เป็นรูปร่างกึ่งเรขาคณิต และการใช้สีสันที่สะดุดตา โดยเฉพาะการใช้สีแดงและสีโทนร้อนที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบ ที่ให้ความรู้สึกสนุกสนานและกระตุ้นเร้าอารมณ์ในเวลาเดียวกัน เกิดเป็นตราสินค้า “ThaiMool”
กลุ่มที่ 8 มีสเอ โปรดักส์ มีการพัฒนาด้านรูปแบบผลิตภัณฑ์ กระเป๋าและเครื่องประดับ มีจุดเด่นด้านการพัฒนาเทคนิคการตัดเย็บกระเป๋า ร่วมกับการใช้หนังและผ้าจากชุมชนท้องถิ่น จึงได้พัฒนาต่อยอดคอลเล็กชันเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ ในรูปแบบลำลอง (Casual) สปอร์ตแวร์ (Sportswear) และสตรีทแวร์ (Streetwear) ภายใต้ตราสินค้า “Sasudee” จากแรงบันดาลใจชื่อว่า SPIRIT OF TAI LUE หรือจิตวิญญาณของชาวไทลื้อ ซึ่งมีการบอกเล่าเรื่องราวของวัฒนธรรมไทลื้อผ่านลวดลายผ้าทอซึ่งเป็นลวดลายดั้งเดิม โดยปรับรูปแบบให้มีความทันสมัย สามารถสวมใส่ได้สบายตัวเหมาะกับการเคลื่อนไหว
เมื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัยมากขึ้นแล้ว หนึ่งในแผนการเปิดช่องทางการตลาดและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน คือ การท่องเที่ยว ซึ่งทีมวิจัยได้ร่างแผนที่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ 2 เส้นทาง ตามรูปแบบกิจกรรมและจำนวนวันที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาได้ ได้แก่
ทีมวิจัยโครงการหวังว่าทั้ง 2 เส้นทางท่องเที่ยวจะมีส่วนทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้จากการขายผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยว
“ในการมาทำวิจัยช่วยชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทีมอาจารย์จากจุฬาฯ และศิษย์เก่าต้องทำตั้งแต่ปรับแนวคิดผู้ประกอบการ อบรมให้ความรู้ สอนเขียนแบบดีไซน์ใหม่ ทำตลาด พัฒนาช่องทางการขายใหม่ สอนจัดหน้าร้าน ตลอดจนหานักท่องเที่ยวมาลงในเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มันก็มีสารพัดปัญหาให้ปรับแก้ไข เช่น น้ำไม่ไหล น้ำไหลอ่อน สินค้าวางปะปนกับข้าวของในบ้าน การหาขนมพื้นถิ่นมาต้อนรับนักท่องเที่ยว”
ศ.ดร.พัดชา ยิ้มก่อนกล่าวต่อไปว่า “แต่มันคือความสุข เป็นความอิ่มใจ เมื่อได้เห็นผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนขายได้ ช่วยให้ชุมชนมีชีวิตที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันนิสิตศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ก็ได้เรียนรู้ และฝึกคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาจากการลงพื้นที่ทำงานจริงไปด้วย”
ความสำเร็จของผ้าทอไทยไม่เพียงเป็นเรื่องของคุณภาพของผ้า เช่น สีไม่ตก ไม่หด ใส่สบาย แต่สำหรับอาจารย์ด้านอุตสาหกรรมแฟชั่น ความสำเร็จยังอยู่ที่ความนิยมของผู้บริโภคด้วย
“การขายดีแสดงถึงความสำเร็จเชิงพาณิชย์ศิลป์ ที่ไม่ใช่แค่มีผู้ชื่นชมว่าผ้าผืนนี้เป็นผ้าที่สวยมากแล้วจบ ไม่มีใครจ่ายเงินซื้อ ได้แต่แขวนโชว์ ผ้าที่ประสบความสำเร็จ คือ ผ้าหรือเสื้อผ้าที่ทำให้คนทั้งโลกอยากใส่แบรนด์นี้ หรือเสื้อสไตล์นี้”
จากการคลุกคลีกับผู้ประกอบการในชุมชนที่ทำผลิตภัณฑ์จากทุนทางวัฒนธรรมมาหลายปี ศ. ดร.พัดชา ชี้ปัญหาที่ยังต้องฟันฝ่า
“ผู้ประกอบการมักค้าขายผลิตภัณฑ์ในระดับค้าปลีก คือ ขายทีละชิ้นทางหน้าร้านและออนไลน์ รายได้ไม่เป็นกอบเป็นกำ ยอดการสั่งซื้อและผลิตก็ไม่ต่อเนื่อง อีกทั้งต้องยอมรับว่า งานสิ่งทอของไทยเรายังเน้นการผลิตในระดับชุมชน ยังไม่สามารถออกแบบ ทอ หาตลาดขนาดใหญ่เพื่อขายเองทั้งหมดได้ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของตลาดการค้าเสื้อผ้าขนาดใหญ่ระดับโลกที่ยังคงติดกับแบรนด์ทางตะวันตก ซึ่งยึดโยงกับดีไซน์เนอร์ชาวตะวันตกด้วยกัน”
ศ.ดร.พัดชา เสนอทางออกในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทยให้ยั่งยืนก้าวสู่เวทีการค้าระดับนานาชาติว่า “ประเทศไทยจำเป็นต้องมี co-sale หรือคนกลางที่เป็นสะพานธุรกิจ คอยประสานคัดเลือกผลิตภัณฑ์ผ้าของไทยไปขายให้กับแบรด์ดังในตลาดต่างประเทศ เช่น คนกลางรับยอดการผลิตเสื้อผ้าจากแบรนด์ดังมาจ้างชุมชนให้ทอผ้า หรือย้อมผ้าตามสีและรูปแบบของดีไซเนอร์ชาวตะวันตก ซึ่งถ้าทำได้แบบนี้อาชีพทอผ้าของชุมชนก็จะมีความสม่ำเสมอมั่นคง”
นอกจากนี้ การได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ ก็มีส่วนช่วยหนุนอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยและผู้ประกอบการ อย่างเช่นภาครัฐที่อาจช่วยกำหนดตราสินค้าที่ใช้รับรองมาตรฐานผ้าทอไทย ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการซื้อทำให้ตลาดผ้าทอไทยเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น
สุดท้าย ศ.ดร.พัดชา ฝากความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่ ทั้งผู้ประกอบการและกลุ่มลูกค้า ให้ช่วยกันต่อลมหายใจให้ทุนวัฒนธรรมของไทย
“อาชีพการทำผลิตภัณฑ์จากรากวัฒนธรรมจะมีความยั่งยืนได้ มิได้ขึ้นอยู่กับตัวผลิตภัณฑ์ที่สวยงาม ได้มาตรฐานเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการต้องปรับแนวคิดให้ก้าวตามยุคสมัย ปรับดีไซน์ให้สามารถสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้ง่าย ปรับราคาให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ และมองหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อให้มียอดคำสั่งซื้อที่ต่อเนื่อง ที่สำคัญ คือ การมีคนรุ่นหลังมาสืบสานกิจการต่อ และการที่มีผู้คนหันมาใส่ผ้าทอไทยเพิ่มมากขึ้นก็จะมีส่วนสนับสนุนให้อาชีพนี้ไปต่อได้อย่างยั่งยืน”
ชุมชุนและผู้ประกอบการที่ต้องการคำปรึกษาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นชุมชน หรือต้องการแบ่งปันเรื่องราว “เที่ยวสร้างสรรค์” สามารถเข้ามาพูดคุยได้ที่ สถาบันการเรียนรู้และการประกอบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ Chula Creative Tourism Academy (CUCT) ทางอีเมล: creativejourneyth@gmail.com Facebook: เที่ยวสร้างสรรค์ https://www.facebook.com/creativejourneyth และเว็บไซต์ https://www.creativejourneyth.com/
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
คีเฟอร์น้ำเกสรดอกกุหลาบ เครื่องดื่มสุขภาพต้านอนุมูลอิสระ ผลงานนิสิตจุฬาฯ คว้าเหรียญทองระดับโลก
The Skinov’e นวัตกรรมสกินแคร์จากเปลือกกล้วยหอมทองปทุม ผลงานวิจัยจุฬาฯ ที่ทำให้สิวเป็นเรื่องกล้วยๆ
น้ำยายืดอายุกระดาษ นวัตกรรมจุฬาฯ อนุรักษ์เอกสารและภาพศิลปะโบราณให้คงสภาพอีกนานนับทศวรรษ
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้