รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
1 ธันวาคม 2566
ผู้เขียน ศุภวรรณ พิพิธสมบัติ
แม้จะไม่ใช่มหาวิทยาลัยสงฆ์ แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เป็นแหล่งศึกษาวิจัยด้านพุทธศาสน์ศึกษาที่เข้มข้นลึกซึ้ง มีหลักสูตรต่างๆ ที่เปิดการเรียนการสอนและการวิจัยด้านพุทธศาสน์ศึกษา มีศูนย์พุทธศาสน์ศึกษาของสถาบันไทยศึกษาที่มีเครือข่ายนักวิชาการด้านพุทธศาสนาจากทุกมุมโลกมาแลกเปลี่ยนและสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย และยังมีหอพระไตรปิฎกนานาชาติและธรรมสถานเป็นแหล่งค้นคว้าและร่วมกิจกรรมทางพุทธศาสนาอีกด้วย
“พุทธศาสนา” ในความเข้าใจของคุณคืออะไร? หลักไตรลักษณ์ หนทางแห่งการดับทุกข์ นิพพาน พุทธประวัติ พระธรรม การทำบุญ นั่งสมาธิ สวดมนต์ ประเพณี พิธีกรรม?
ไม่ว่าประสบการณ์และความเข้าใจ “พุทธศาสนา” ของเราแต่ละคนจะเป็นอย่างไร ปฏิเสธไม่ได้ว่าพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ดำรงอยู่ในสังคมวัฒนธรรม ความเชื่อ รวมทั้งศิลปะในสังคมไทยนับแต่อดีต และอาจจะยิ่งทวีความสำคัญในโลกสมัยใหม่อันแสนปั่นป่วนและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
รองศาสตราจารย์ ดร.อาทิตย์ ชีรวณิชย์กุล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่าการศึกษาพุทธศาสนา กล่าวอย่างกว้างๆ มี 2 แบบ คือ แบบแรกคือศึกษาเพื่อการทำความเข้าใจและปฏิบัติตามหลักธรรมตามหลักการพุทธศาสนา ก็คือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ หรือศีล สมาธิ ปัญญา (ไตรสิกขา) กับแบบที่สองคือศึกษาในเชิงวิชาการ เรียกว่า พุทธศาสน์ศึกษา (Buddhist Studies) ซึ่งเน้นการวิจัยด้วยมุมมองและระเบียบวิธีต่างๆ
ในด้านการศึกษาเพื่อปฏิบัติ อาจารย์อาทิตย์มองว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในโลกศตวรรษที่ 21 “พุทธศาสนาเกิดมีขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรจิตใจของเราจึงจะพ้นจากความทุกข์ เข้าถึงความสุขที่แท้จริงได้ และทำอย่างไรเราจึงจะสามารถช่วยผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ได้ ไม่ว่าจะเป็นทุกข์ทางกายหรือทุกข์ทางใจ”
“ในโลกปัจจุบันที่มีปัญหามากมายและนับวันจะยิ่งซับซ้อนมากขึ้น คนมีความทุกข์มากขึ้นเรื่อยๆ ข้อปฏิบัติสำคัญอย่างหนึ่งที่คนทั่วไปมักมองข้าม ไม่ให้ความสำคัญ นั่นคือการเจริญสติ ฝึกสติให้อยู่กับปัจจุบัน สังเกตจิตใจตนเอง ให้มีสติรู้ตัว ไม่คิด พูด ทำในสิ่งที่จะเบียดเบียนตนเองและคนอื่น ซึ่งพระพุทธเจ้าสอนว่าเป็นหนทางดับทุกข์โดยตรง การเจริญสตินี้มีหลายแนวทางและสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน สำคัญอยู่ที่ว่าเราต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง การปฏิบัติจึงจะตรง”
“สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งสำหรับการศึกษาปฏิบัติในบ้านเราคือ ตอนนี้มีพุทธศาสนาหลากหลายสายการปฏิบัติ ทั้งเถรวาท มหายาน วัชรยาน เซน ฯลฯ ทั้งหมดล้วนมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือการดับทุกข์ทั้งของตนเองและผู้อื่น คนไทยโชคดีมาก ถ้าเราเปิดใจกว้าง ทำความเข้าใจ คำสอนจากหลากหลายแนวทางจะเป็นประโยชน์มากในการช่วยคนและช่วยสังคมให้ดีขึ้น”
ส่วนในด้านการศึกษาพุทธศาสนาในเชิงวิชาการหรือพุทธศาสน์ศึกษา ความมุ่งหมายและลักษณะของการศึกษาจะต่างไปจากแบบแรก เพราะเป็นการศึกษาที่เน้นการวิจัยเพื่อให้ได้คำตอบทางวิชาการ โดยใช้วิธีการต่างๆ เช่น การศึกษาชำระหรือเปรียบเทียบตัวบทคัมภีร์ การศึกษาหลักพุทธปรัชญาเปรียบเทียบกับปรัชญาสากล การศึกษาปรากฏการณ์ความเชื่อโดยใช้มุมมองทางมานุษยวิทยาหรือทางสังคมศาสตร์ ไปจนถึงการศึกษาประยุกต์เพื่อนำไปใช้ในทางการแพทย์หรือการดูแลผู้ป่วย ซึ่งการศึกษาพุทธศาสนาในเชิงวิชาการนี้เริ่มขึ้นในประเทศตะวันตกมานานนับร้อยปีแล้วและได้พัฒนาก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง”
ในประเทศไทย นอกจากมหาวิทยาลัยสงฆ์แล้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนับเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นด้านพุทธศาสน์ศึกษา เนื่องจากมีหลักสูตรที่เข้มข้นและครอบคลุมมิติต่าง ๆ เกี่ยวกับพุทธศาสนา ทั้งในแง่ปรัชญา วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรภาษาไทยและหลักสูตรนานาชาติของคณะอักษรศาสตร์ มีศูนย์พุทธศาสน์ศึกษาของสถาบันไทยศึกษาซึ่งเป็นแกนกลางในการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยพุทธศาสนากับเครือข่ายนักวิชาการจากหลายประเทศทั้งเอเชีย ยุโรป และอเมริกา มีแหล่งค้นคว้าเอกสารทางพุทธศาสนา ได้แก่ หอพระไตรปิฎกนานาชาติที่เป็นคลังพระไตรปิฎกฉบับรัชกาลที่ 5 และพระไตรปิฎกเถรวาทฉบับอักษรและภาษาต่างๆ หอสมุดกลางและศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ ซึ่งมีหนังสือที่มีคุณค่าจำนวนมาก โดยเฉพาะหนังสือเก่าหายาก มีพื้นที่สำหรับเรียนรู้ฝึกฝนพุทธธรรมในภาคปฏิบัติ ได้แก่ ธรรมสถาน นอกจากนี้ในบริเวณใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยก็มีศาสนสถานสำคัญสำหรับการศึกษาปฏิบัติพุทธศาสนา เช่น วัดปทุมวนาราม ซึ่งมีพุทธศิลป์งดงามและมีบรรยากาศสงบร่มรื่นเหมาะแก่การปฏิบัติ
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ มีหลักสูตรหลายหลักสูตรและหลายสาขาวิชาที่เปิดสอนเกี่ยวกับพุทธศาสนา ทั้งหลักสูตรที่สอนและวิจัยด้านพุทธศาสน์ศึกษาโดยตรง และหลักสูตรที่พุทธศาสน์ศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาในการศึกษา ได้แก่ ผู้สนใจพุทธศาสนาสามารถเข้าเรียนได้ เพียงต้องมีความรู้ภาษาไทยดีพอสมควรเพื่ออ่านตำรา ชาดก คัมภีร์ภาษาไทย เพื่อนำมาวิเคราะห์บริบททางสังคมได้ลึกซึ้งมากขึ้น หลักสูตรภาษาไทย ได้แก่
นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรนานาชาติ ได้แก่ หลักสูตรไทยศึกษา (Thai Studies) ซึ่งเน้นการศึกษาวิจัยทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ ความร่วมสมัยทางสังคมวัฒนธรรมไทย และพุทธศาสนาไทย เปิดรับนิสิตทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทั้งระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และไม่รับวุฒิปริญญา (Non-Degree program)
ในฐานะสถาบันด้านการวิจัยและวิชาการ จุฬาฯ ได้ก่อตั้งศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา หรือ Chulalongkorn University Centre for Buddhist Studies (CUBS) เมื่อกว่า 30 ปีมาแล้ว มีคณาจารย์ท่านสำคัญๆ ที่บุกเบิกงานของศูนย์ อาทิ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุนทร ณ รังษี ศาสตราจารย์ ดร.วิทย์ วิศทเวศย์ ศาสตราจารย์กิตติคุณปรีชา ช้างขวัญยืน ศาสตราจารย์ ดร.สมภาร พรมทา ฯลฯ ซึ่งนับแต่แรกเริ่มได้ทำหน้าที่ในการส่งเสริมการศึกษา ค้นคว้าวิจัย และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนา และยังเป็นศูนย์กลางระดมความคิดในการหาแนวทางประยุกต์พุทธศาสนา เพื่อแก้ปัญหาของสังคมไทย ตลอดจนเป็นแหล่งอ้างอิงความรู้ที่ถูกต้องทางพุทธศาสนาแก่สังคมทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ ตัวอย่างงานวิจัยที่น่าสนใจ ได้แก่ การตีความและอธิบายพระพุทธศาสนาด้วยกรอบความคิดทางวิทยาศาสตร์ , สมณศักดิ์ : ข้อดีและปัญหา , การแนะนำและแก้ไขปัญหาทางสังคมและการเมืองของพระพุทธเจ้า
“ปัจจุบัน ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษาได้ย้ายมาอยู่ในสังกัดของสถาบันไทยศึกษา ซึ่งนอกจากพันธกิจเดิมที่ทำมาอย่างต่อเนื่องแล้ว ปัจจุบันยังได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งรวมเครือข่ายนักวิชาการด้านพุทธศาสนาศึกษาจากทั่วโลกด้วย ล่าสุดในปี 2566 นี้ได้มีการจัดตั้ง Asian Association of Buddhist Studies ประกอบด้วยพันธมิตรทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง เพื่อให้เครือข่ายการวิจัยด้านพุทธศาสน์ศึกษาไปได้ไกลยิ่งขึ้น”
ทั้งคณะอักษรศาสตร์ และศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำงานร่วมมือกันตลอดมาในการพัฒนาวิชาการ การวิจัย และเผยแพร่ความรู้ด้านพุทธศาสน์ศึกษา ได้มีการสร้างเครือข่ายนักวิชาการทั้งไทยและนานาชาติ นักวิชาการที่สำคัญๆ อาทิ
แม่ชีวิมุตติยา (รองศาสตราจารย์ ดร.สุภาพรรณ ณ บางช้าง) ผู้มีผลงานวิจัยที่น่าสนใจเรื่อง The King Chulalongkorn Edition of the Pali Tipitaka: its History and Prominent Features และ The Meditation Practice during the Dvaravati Period (6th – 9th Century A.D.)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพจน์ อัศวิรุฬหการ ผู้ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดลให้ศึกษาด้านพุทธศาสน์ศึกษา ณ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์ มีผลงานวิจัยสำคัญ ได้แก่ The Ascendancy of Theravada Buddhism in Southeast Asia และ Past Lives of the Buddha: Wat Si Chum – Art, Architecture and Inscriptions
Professor Dr. Peter Skilling หรือศาสตราจารย์ ดร.ภัทร รุจิรทรรศน์ เป็นผู้ชำนาญทั้งพระไตรปิฎกภาษาบาลี สันสกฤตและทิเบต อีกทั้งเป็นอาจารย์พิเศษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
Professor Dr. Justin McDaniel แห่งมหาวิทยาลัยเพนน์ซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา เป็นผู้มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับพุทธศาสนาไทยจำนวนมาก ทั้งในด้านคัมภีร์ การศึกษาของคณะสงฆ์ และปรากฏการณ์ทางสังคมวัฒนธรรมที่เนื่องด้วยพุทธศาสนา เช่น พิธีกรรม ลัทธิบูชา เครื่องรางของขลัง ฯลฯ
Professor Dr. Soonil Hwang แห่งมหาวิทยาลัยดงกุก สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งสนใจพุทธศาสนาไทยและมีบทบาทสำคัญในการศึกษาวิจัยด้านพุทธศาสน์ศึกษากับพันธมิตรในเอเชียและยุโรป
Professor Dr. Martin Seeger ผู้ก่อตั้งวิชาไทยศึกษา มหาวิทยาลัยลีดส์ (University of Leeds) สหราชอาณาจักร ผู้ศึกษาเรื่องราวของผู้หญิงไทยในศาสนาพุทธมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี
Dr.Tomas Larsson จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ผู้ศึกษาเรื่องบทบาทและสิทธิหน้าที่ของพระสงฆ์ในสังคมไทย
นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือและความอุปถัมภ์จากองค์กรระดับนานาชาติต่างๆ อาทิ Khyentse Foundation ให้รางวัลทุนการศึกษาแก่นิสิตที่ทำวิจัยด้านพุทธศาสน์ศึกษาเป็นประจำทุกปี Henry Ginsburg Fund ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและกิจกรรมวิชาการ สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ (Ecole Française d’Extrême-Orient – EFEO) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1900 (พ.ศ.2443) ให้ความสำคัญด้านการวิจัยประวัติศาสตร์และโบราณคดี ปัจจุบัน มีสำนักงานในประเทศไทยที่จังหวัดเชียงใหม่ และที่กรุงเทพฯ ในศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี) รวมทั้งนักวิชาการพุทธศาสน์ศึกษาจากประเทศอื่นๆ อีกมาก เช่น ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน ศรีลังกา เยอรมนี สวีเดน
จุฬาฯ มีแหล่งค้นคว้าอ้างอิงด้านพุทธศาสนาที่ทรงคุณค่า ได้แก่ หอพระไตรปิฎกนานาชาติ ปัจจุบันตั้งอยู่ ณ อาคารมหาวชิราวุธ คณะอักษรศาสตร์
“การศึกษาพระไตรปิฎกเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาเถรวาทที่สืบทอดอยู่ในแผ่นดินไทย และหอพระไตรปิฎกนานาชาติ เป็นศูนย์กลางการค้นคว้าและวิจัยด้านพระไตรปิฎกที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง เป็นแหล่งส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าวิจัยด้านมนุษยศาสตร์โดยเฉพาะในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเถรวาท”
ที่นี่รวบรวมพระคัมภีร์พระไตรปิฎกที่บันทึกด้วยอักษรของชาติต่าง ๆ พร้อมพระคัมภีร์บริวารครบชุดรวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 2,000 เล่ม ประกอบด้วยพระคัมภีร์พระไตรปิฎกบาลีอักษรไทยฉบับพิมพ์ครั้งแรกของโลกในสมัยรัชกาลที่ 5 พระไตรปิฎกพร้อมด้วยอรรถกถา ฎีกาและปกรณ์พิเศษต่าง ๆ พระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรนานาชาติและภาคแปลภาษานานาชาติ พระคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานเก่าแก่และหายาก
อีกแหล่งค้นคว้าสำคัญคือห้องกรมพระจันทบุรีนฤนาถ สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาฯ เป็นห้องสมุดอนุสรณ์ที่รวบรวมหนังสือหายาก โดยการอุทิศหนังสือส่วนพระองค์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระจันทรบุรีนฤนาถ ในปี พ.ศ.2490 จำนวนกว่า 5,000 เล่ม ทั้งหนังสือภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ
หนังสือส่วนพระองค์เหล่านี้เป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่า ทั้งในด้านการศึกษาสาขามนุษยศาสตร์และประวัติการพิมพ์ในประเทศไทย หนังสือส่วนใหญ่ปรากฎบรรณสิทธิ์แสดงประวัติการครอบครอง ประกอบด้วยหนังสือหายากในหมวดศาสนา ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ ซึ่งบางเล่มเป็นหนังสือเก่าที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นเอกสารปฐมภูมิ หนังสือบางเล่มมีลายพระหัตถ์ของผู้เป็นเจ้าของ บางเล่มมีลายมือของเจ้าของเดิมที่เขียนข้อความถวายหนังสือนั้น ๆ ต่อเสด็จในกรมฯ ด้วย
หนังสือหายากเชิงพุทธศาสนาที่น่าสนใจ เช่น A catena of Buddhist scriptures from the Chinese (1871) Literary history of Sanskrit Buddhism (1923) Si-yu-ki : Buddhist records of the Western world (1906) หนังสือชุดนิบาตชาดกฉบับภาษาบาลี หรือ ชาตกฏฺฐกถาย (1924) เป็นต้น ซึ่งหนังสือเหล่านี้สามารถสืบค้นและอ่านแบบ E-book ได้
นอกจากด้านวิชาการแล้ว การเข้าใจพุทธศาสนายังมีเรื่องการปฏิบัติด้วย ที่จุฬาฯ ก็มีพื้นที่ให้ผู้สนใจพุทธศาสนาศึกษาได้ร่วมกิจกรรมทางพุทธศาสนาหลากหลาย ที่ ธรรมสถาน ซึ่งก่อตั้งและดำเนินกิจกรรมมาตั้งแต่ปี 2522 เพื่อให้เป็นศูนย์กิจกรรมทางศาสนาของมหาวิทยาลัย ดำเนินงานเพื่อส่งเสริมประเพณีอันดีงามของทุกศาสนา เป็นคลังปัญญาแหล่งสืบค้นด้านศาสนาและวัฒนธรรม และเผยแพร่คำสอนศาสนาแก่นิสิต ประชาคมจุฬาฯ และบุคคลทั่วไป ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีเป็นประจำทุกอาทิตย์และทุกเดือน ได้แก่ กิจกรรมวันสำคัญทางศาสนาและประเพณี การบรรยายธรรมทุกวันอาทิตย์-วันศุกร์ การบำเพ็ญบุญถวายสังฆทาน หล่อเทียนพรรษา เพื่อให้นิสิตและบุคลากรจุฬาฯ ได้ประกอบกิจอันเป็นกุศลและสัมมาปฏิบัติร่วมกัน (ติดตามข่าวและร่วมกิจกรรมได้ที่ http://www.dharma-centre.chula.ac.th/)
ไม่ไกลจากจุฬาฯ นิสิตโดยเฉพาะนิสิตต่างชาติ สามารถเรียนรู้วิถีพุทธแบบไทย ๆ ได้จากวัดที่อยู่โดยรอบมหาวิทยาลัย
อาจารย์อาทิตย์แนะนำวัด 2 แห่งที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัย “บนเส้นถนนพระราม 4 มีวัดหัวลำโพง พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เป็นวัดในพระพุทธศาสนาที่ผสมผสานความเชื่อแบบวิถีชาวบ้านแบบไทยและจีน ผ่านพิธีกรรมทำบุญโลงศพ สะเดาะเคราะห์ต่ออายุ เสริมมงคลให้ตัวเอง ซึ่งคนแวะเวียนเข้ามาไม่ขาดสาย เพราะมีความเชื่อว่าการทำบุญโลงศพจะเป็นการสะเดาะเคราะห์ ต่ออายุขัย ปรับเปลี่ยนดวงชะตาจากร้ายกลายเป็นดี รวมถึงยังช่วยให้แคล้วคลาดปลอดภัย”
“อีกแห่งคือวัดปทุมวนาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดราชวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ สถาปนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2400 ในสมัย ร.4 พุทธศาสนิกชนทุกคนสามารถมาฟังธรรมและนั่งสมาธิด้านในศาลาพระราชศรัทธาที่วัดปทุมวนารามได้ โดยทางวัดจะเริ่มสวดมนต์ทำวัตรเย็นในเวลา 17.00 น. เป็นประจำทุกวัน และมีกิจกรรมเจริญพระพุทธมนต์ เจริญจิตตภาวนา สดับพระธรรมเทศนา พร้อมพระภิกษุสามเณร อีกทั้งยังสามารถศึกษาพุทธศิลป์จากภาพจิตกรรมฝาผนัง และชมความงามของพระเสริมและพระแสน พระพุทธรูปศิลปะล้านช้างอันเก่าแก่ได้อีกด้วย” (ชมภาพศิลปกรรมอันงดงานในวัดปทุมวนาราม ได้ที่ https://www.cuartculture.chula.ac.th/news/17255/)
สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาสังคม ศาสนาและวัฒนธรรมไทยในระดับบัณฑิตศึกษา สามารถติดต่อ สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ ภาควิชาภาษาตะวันออก ภาควิชาภาษาไทย และภาควิชาปรัชญา และศูนย์ไทยศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯโทรศัพท์ 0-2218-4870เว็บไซต์ https://www.arts.chula.ac.th/th/อีเมล arts@chula.ac.th
ศูนย์ไทยศึกษา (Thai Studies Center) คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯโทรศัพท์ 0-2218-4530, 0-2218-4531เว็บไซต์ https://www.arts.chula.ac.th/international/thai/ อีเมล thaistudiescenter@chula.ac.th
นักวิชาการที่สนใจแลกเปลี่ยนความรู้ด้านพุทธศาสน์ศึกษา สามารถติดต่อ สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้, ศูนย์ไทยศึกษา และศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา อาคารบรมราชกุมารี ชั้น 13 โทรศัพท์ 0-2218-4654, 0-2218-4656เว็บไซต์ http://www.cubs.chula.ac.th/ อีเมล cubs@chula.ac.th
สถาบันไทยศึกษาอาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ชั้น 9 โทรศัพท์ 0-2218-7495เว็บไซต์ http://www.thaistudies.chula.ac.th/อีเมล thstudies@chula.ac.th
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้