รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
18 ธันวาคม 2566
ผู้เขียน ธิติรัตน์ สมบูรณ์
“ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนสำรวจและทำความเข้าใจปรากฎการณ์ “มูเตลู” ไสยศาสตร์และสิ่งลี้ลับที่สะท้อนสภาพสังคม วิถีชีวิตและสภาวะจิตใจของคนเมือง ที่ต้องต่อสู้กับความเปลี่ยวเหงาและความไม่แน่นอนในชีวิต
เมื่อเอ่ยถึง “ไสยศาสตร์” ศาสตร์ลี้ลับเหนือธรรมชาติ หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่อง “งมงาย” ไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ แต่หากดูในสื่อและพื้นที่ชีวิตของผู้คนแล้ว เราจะพบว่า “ความมูเตลู” นั้นกระจายอยู่ทั่วทุกแห่งในสังคมเมือง
สี่แยกใหญ่ใจกลางเมืองอย่างแยกราชประสงค์ – แหล่งเศรษฐกิจการค้าและการชอปปิ้ง เป็นศูนย์รวมของเทพเจ้าต่าง ๆ ที่คนไทยและต่างประเทศนิยมมากราบไหว้ขอพรเพื่อความสำเร็จในการงาน โชคลาภ และความรักความสัมพันธ์
ยิ่งในช่วงกว่าทศววรรษหลังมานี้ กระแสความนิยมสิ่งศักดิ์สิทธิ์และวัตถุมงคลยิ่งเพิ่มและขยายตัว เกิดสิ่งศักดิ์สิทธิ์หน้าใหม่ ๆ อาทิ พญานาค พญาครุฑ ท้าวเวสสุวรรณ พระราหู ตลอดจนไอ้ไข่ และครูกายแก้ว ที่เป็นประเด็นถกเถียงกันในสังคม
ในสื่อโซเซียลมีเรื่องราวที่เกี่ยวกับไสยศาสตร์มากมาย อีกทั้งมีช่องทางรวบรวมและอัปเดท “เทรนด์สายมู” ในแต่ละปี และล่าสุดก็มีเว็บไซต์ที่จะพาผู้สนใจเดินทางไปในโลกออนไลน์เพื่อสักการะสิ่งเคารพอินเทรนด์ต่าง ๆ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องโหราศาสตร์ วิธีแก้ปีชง เครื่องลางของขลัง หินนำโชค น้ำมันเสริมเสน่ห์ ผ้ายันต์ของทีมฟุตบอลระดับโลก และการนำเสนอข่าวใกล้วันออกผลสลากกินแบ่งรัฐบาล อาทิ เลขทะเบียนรถของนายกรัฐมนตรี หรือเรื่องแปลก เช่น ปลาช่อนสีทอง จอมปลวกรูปเหมือนพญานาค
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพื้นที่ไสยศาสตร์ในเมืองที่หลากหลายและขยายตัวตามการเติบโตของเมือง
“การที่ไสยศาสตร์งอกงามในสังคมเมืองเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคมเมือง ที่ทำให้ผู้คนเข้าหาและพึ่งพิงไสยศาสตร์ ผู้คนกำลังแสวงหาอะไรหรือรู้สึกอย่างไรในสังคมนี้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กัญญา วัฒนกุล ศูนย์ไทยศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬางกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดประเด็นและเป้าหมายของการเสวนา “เคลือบแคลง ย้อนแย้ง แสวงหา: ไสยศาสตร์ในวิถีเมือง ในงานอักษรศาสตร์สู่สังคม ซึ่งจัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้
ในการเสวนาครั้งนี้ มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เกษม เพ็ญภินันท์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงทัศนะเพื่อทำความเข้าใจปัจจัยที่ส่งเสริมวิถีปฏิบัติต่อสิ่งเหนือธรรมชาติในบริบทเมือง
“หลายคนอาจจะมองว่าไสยศาสตร์เป็นเรื่องลี้ลับ งมงาย แต่หากทำความเข้าใจให้ลึกลงไป ก็จะเห็นว่าไสยศาสตร์เป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตเมือง ที่มีความผันผวนและเปลี่ยวเหงา ความเข้าใจหน้าที่ของไสยศาสตร์จะทำให้เราเข้าใจสภาวะจิตใจของคนที่อยู่ในเมือง” ผศ.ดร.พิพัฒน์ จากคณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กล่าว
ผศ.ดร. เกษม ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเสริมว่า “ไสยศาสตร์ไม่ใช่เรื่องโบราณล้าสมัย หากเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์มนุษย์ในทุกยุคทุกสมัยนับแต่โบราณมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่สังคมเผชิญกับความปั่นป่วนโกลาหล”
ผศ.ดร.พิพัฒน์ จากคณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กล่าวว่าเดิมที ไสยศาสตร์ไม่ใช่สิ่งงมงาย จนเมื่อสังคมเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ และความรู้ทางวิทยาศาสตร์แพร่กระจายเข้ามา
“โลกทัศน์ของคนโบราณสมัยก่อน ร.4 ไม่ได้มองไสยศาสตร์จำกัดอย่างปัจจุบัน ไสยศาสตร์ไม่ใช่ความลี้ลับหรือมนต์ดำ หากแต่เป็นศาสนาและความเชื่อที่มีองค์ประกอบเกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหารย์ ความวิเศษซึ่งเป็นความหมายของคำว่าไสยศาสตร์ การท่องมนต์และพิธีกรรม นอกจากนี้ ไสยศาสตร์ในไทยยังมีการผสมผสานความเชื่อในท้องถิ่นเข้าไปด้วย”
“ในโลกทัศน์สมัยใหม่ หลักคิดแบบคู่ตรงข้าม (binary opposition) ทำให้วิทยาศาสตร์ตรงข้ามกับไสยศาสตร์ ไสยศาสตร์จึงกลายเป็นเรื่องงมงาย เหลวไหล ไม่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ ไสยศาสตร์ก็ยังอยู่ตรงข้ามกับพุทธศาสน์ด้วย โดยไสยศาสตร์แปลว่าผู้หลับ ความเชื่อที่หลับใหล ตรงข้ามกับพุทธศาสน์ซึ่งเป็นศาสนาแห่งความตื่นรู้”
สำหรับอาจารย์ด้านปรัชญา ผศ.ดร.เกษม กล่าวว่าวิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์ ไม่ต่างกันในแง่เป็นระบบความคิดของมนุษย์
“ไสยศาสตร์เป็นภูมิปัญญา ระบบความคิดความเชื่อของมนุษย์ที่พยายามสร้างคำอธิบายให้กับสิ่งที่มนุษย์ไม่เข้าใจ เช่น ฝนตก ฟ้าร้อง ทำให้เราเข้าใจโลกเข้าใจตัวเอง ตอบโจทย์อนาคตที่เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และบางสิ่งที่เราอาจจะเข้าไปแก้ไขไม่ได้ ชุดความเชื่อทางไสยศาสตร์ทำให้เราคิดกับสิ่งเหล่านี้ได้”
ไม่ว่าโลกสมัยใหม่จะผลักไสยศาสตร์ให้เป็นคู่ตรงข้ามกับพุทธศาสน์และวิทยาศาสตร์ แต่หน้าที่และความหมายของไสยศาสตร์ในพื้นที่ชีวิตและจิตวิญญาณของมนุษย์ก็ยังคงเดิม ซ้ำในบริบทเมืองในโลกยุคนี้ กลับทวีความสำคัญ ผศ.ดร.เกษม กล่าว
“ไสยศาสตร์เป็นระบบความเชื่อของมนุษย์ที่ตอบโจทย์ความต้องการทางใจและจิตวิญญาณ หน้าที่ของไสยศาสตร์ในสังคมสมัยใหม่คือ spiritual exercise ที่ช่วยให้มนุษย์เข้มแข็งขึ้น มีความหวัง มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ในโลกที่มีความไม่แน่นอน”
ผศ.ดร. กัญญา กล่าวเสริมว่าในโลกสมัยใหม่ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อาจให้คำตอบและสะท้อนความจริงหลายอย่าง แต่สิ่งที่วิทยาศาสตร์ไม่อาจทำหน้าที่แทนไสยศาสตร์ได้คือมิติด้านความรู้สึก
“แม้มนุษย์ในปัจจุบันจะมีความรู้และความเข้าใจเชิงเหตุผล มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และเข้าใจความเป็นจริง แต่บางครั้งความจริงก็ไม่ตอบโจทย์ทางอารมณ์ เช่น ความเศร้า ความหวัง — ไสยศาสตร์ แม้จะไม่เมคเซ้นส์ (make sense) แต่ก็ทำให้อุ่นใจ”
ไสยศาสตร์ดำรงอยู่ในวิถีชนบทและบริบทเมือง หากแต่ตอบโจทย์และตอบสนองเป้าหมายและความต้องการของผู้คนต่างกัน
ผศ.ดร.เกษม กล่าวว่าในสังคมชนบท ไสยศาสตร์รับใช้ “ความเป็นชุมชน” (collective) ในขณะที่ชุมชนเมือง ไสยศาสตร์ตอบสนอง “ความเป็นปัจเจกชน”
“ไสยศาสตร์มีบทบาทค่อนข้างมากและสำคัญกับสังคมชนบท กิจกรรมของไสยศาสตร์อยู่ในโลกพิธีกรรม ประเพณี ซึ่งโยงกับกลุ่มคนที่มีความเชื่อร่วมกัน ตอบโจทย์การดำรงอยู่ของชุมชน ในบริบทเช่นนี้ พิธีกรรมสำคัญกว่าความเชื่อ บางความเชื่อ คนอาจไม่เชื่อเรื่องนั้นแล้ว แต่พิธีกรรมยังดำรงอยู่เป็นเครื่องมือยึดโยงคนในชุมชน”
ผศ.ดร.เกษม ยกตัวอย่าง “พิธีกรรมแห่นางแมว” ซึ่งยังคงมีปฏิบัติอยู่ในหลายพื้นที่ในปัจจุบัน
“แม้จะยังมีพิธีกรรมนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าชุมชนและผู้ที่ทำพิธีกรรมนี้จะเชื่อว่าแห่นางแมวแล้ว ฝนจะตก แต่พิธีกรรมช่วยตอบโจทย์สภาพจิตใจและความหวังร่วมของชุมชน”
ผศ.ดร.เกษม อ้างถึงยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ทางปรัชญา ที่ความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติ ความลี้ลับ (mysticism) ไสยศาสตร์ เกิดขึ้นมากมาย
“ยุคหลังเมืองเอเธนส์ล่มสลายและก่อนโรมเอมไพร์จะก่อตั้งขึ้น ยุคนั้นทางปรัชญามองว่าเป็นยุคที่ยุ่งเหยิงและโกลาหลที่สุด ซึ่งในยุคนี้นี่เอง ที่เกิดระบบ mysticism หรือความเชื่อเหนือธรรมชาติมากมาย นั่นหมายความว่าในยามที่บ้านเมืองปั่นป่วน ชีวิตไม่นิ่ง ผันผวนและมีความไม่มั่นคง มนุษย์จะเข้าหาสิ่งที่คิดว่านิ่งที่สุด เป็นหลักพึ่งพิงเพื่อที่จะสร้างความมั่นคงของชีวิต”
และพื้นที่ที่เผชิญกับความโกลาหลและปั่นป่วนที่สุดก็คือพื้นที่เมือง!
จึงไม่น่าแปลกใจที่พื้นที่เมืองในปัจจุบัน นอกจากจะเป็นศูนย์กลางของความเจริญทางวัตถุ เทคโนโลยี วิชาการความรู้และความหลากหลายทางวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นแหล่งรวมความเชื่อและวิถีปฏิบัติเชิงไสยศาสตร์ที่หลากหลายด้วย
“ไสยศาสตร์เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงในชีวิตของคนในสังคมเมือง” ผศ.ดร.กัญญา อธิบายเชื่อมโยงความเฟื่องฟูของไสยศาสตร์กับบริบทสังคมเมืองที่เต็มไปด้วยความไม่มั่นคง ไม่แน่นอน ไม่ปลอดภัย และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและโอกาสในชีวิต
“ในเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของเมือง ความรวยกระจุก จนกระจาย ช่องว่างทางรายได้มาก ความเหลื่อมล้ำสูง ผู้คนจำนวนมากจึงเข้าหาความเชื่อเชิงไสยศาสตร์เพื่อรับมือกับเหตุฉุกเฉินและความไม่แน่นอนของชีวิต ไม่ว่าจากสภาวการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม”
ผศ.ดร.กัญญา ยกตัวอย่าง คนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานเป็นคนงานก่อสร้างในเมือง รับค่าแรงรายวัน ซึ่งชีวิตในบริบทเช่นนี้มีความไม่มั่นคง ความไม่แน่นอน และความไม่ปลอดภัยสูง
“ลำพังรายได้ก็อาจไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายรายวันอยู่แล้ว ไม่ต้องกล่าวถึงเงินเก็บเพื่อใช้ในยามมีเหตุฉุกเฉิน เช่น ของในไซต์งานก่อสร้างหล่นลงมา เขาก็ต้องการใช้เงินในการรักษาและดูแลความเป็นอยู่ในเวลาที่ป่วย ไปทำงานไม่ได้ ในสภาวะชีวิตที่มีความเสี่ยงเยอะ ไม่มีต้นทุน ไม่มีทรัพยากรที่จะสามารถช่วยให้คนเหล่านี้รับมือกับเหตุฉุกเฉินในชีวิตได้ คนก็จะหันไปหาที่พึ่งทางใจ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เพื่อสร้างความอุ่นใจในชีวิต”
ไม่เพียงกลุ่มคนที่เข้ามาเป็นแรงงานในเมือง (blue collar) แต่คนในสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะมั่นคง (white collar) ก็พึ่งพิงไสยศาสตร์เช่นกัน
ผศ.ดร.เกษม กล่าวเสริมทัศนะในเรื่องนี้ว่า “แต่ก่อน ผมไม่คิดว่าหมอ วิศวกร กลุ่มคนที่อาชีพดูมั่นคง จะให้ความสำคัญกับการดูดวงหรือเรื่องอะไรแบบนี้ แต่กลายเป็นว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้ เหมือนกับว่ามันมีสิ่งที่วิทยาศาสตร์ไม่อาจตอบได้ แม้คนที่ดูว่าสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจมั่นคงแล้ว ก็ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต มีสิ่งที่ไม่รู้ และไสยศาสตร์ก็อาจจะช่วยให้พวกเขาอยู่กับความไม่รู้และความไม่แน่นอนได้”
ในบรรดาความปั่นป่วนไม่แน่นอนของสังคม มิติด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นปัจจัยที่ทำให้คนเดินเข้าสู่พื้นที่ของไสยศาสตร์มากที่สุด ผศ.ดร.พิพัฒน์ กล่าว
“ไสยศาสตร์ในสังคมเมืองเน้นตอบสนองความต้องการและเป้าหมายเชิงปัจเจก และวนเวียนอยู่กับเรื่องความมั่งคั่งร่ำรวย ความสำเร็จ มิติความรักความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเมืองในโลกทุนนิยมแสวงหา”
ความรู้สึกแก่งแย่งชิงดี การสั่งสมความมั่งคั่งตามกระแสทุนนิยม ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคง เมื่อรู้สึกไม่มั่นคง ก็ยิ่งแสวงหาความเชื่อ พลังเหนือธรรมชาติเพื่อบันดาลในสิ่งที่ปรารถนา
“ความปรารถนาในความมั่งคั่งทำให้เกิดสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พิธีกรรม และวัตถุมงคลใหม่ ๆ ที่เชื่อและคาดหวังว่าจะนำโชคลาภและความสำเร็จทางด้านวัตถุมาให้”
วัตถุมงคลให้โชคเป็นที่นิยม เช่นเดียวกับการใบ้หวยและนำเสนอข่าวเรื่องราวสิ่งแปลกประหลาดที่อาจจะนำไปตีเป็นตัวเลขได้ และการไหว้เทพเจ้าที่เชื่อว่าจะให้โชคลาภ
“สภาวะทางสังคมแบบไหนที่ทำให้คนหันไปหาที่พึ่งจากสิ่งเหนือธรรมชาติมากกว่าแสวงหาความช่วยเหลือจากโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ หรือจากคนในสังคมด้วยกันเอง” ผศ.ดร.กัญญา ตั้งคำถามและเสนอข้อคิดเห็นว่า “มันเป็นเพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมหรือไม่ ที่ไม่โอบไม่เอื้อ ไม่มีสวัสดิการที่จะมาช่วยเหลือผู้คนเวลาที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤตหรืออยู่ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ ถ้าเราอยากรวยเท่ากับคนรวย 10% ของประเทศ ดูเหมือนมันไม่มีทางอื่นเลย นอกจากต้องถูกลอตเตอรี่เท่านั้นหรือเปล่า”
เมืองหลวงมีผู้คนจากทั่วประเทศและประเทศใกล้เคียง หลั่งไหลเข้ามาหาโอกาสในการทำงาน การที่อยู่ห่างไกลบ้านและถูกตัดขาดจากครอบครัวและชุมชนที่คุ้นเคย ทำให้ “ไสยศาสตร์” ทำหน้าที่เป็น “ที่พึ่งทางใจ” และ “สิ่งยึดเหนี่ยว” ให้อยู่ในสังคมเมืองอันโกลาหล
“แม้ในเมืองจะมีผู้คนจากต่างถิ่นเข้ามาอยู่มากมาย แต่เมืองไม่เป็นพื้นที่รองรับความเปลี่ยวเหงา พวกเขารู้สึกถูกตัดขาดจากชุมชน จากความเชื่อที่ยึดโยงเขากับรากฐานของชีวิตและวัฒนธรรม ไสยศาสตร์จึงเป็นที่พึ่งและตอบสนองด้านจิตใจได้” ผศ.ดร.พิพัฒน์ กล่าว
ผศ.ดร.พิพัฒน์ ให้ข้อสังเกตว่าการขอพรเรื่องความรัก ความสัมพันธ์ ครอบครัว เป็นสิ่งที่เด่นชัดมากในวิถีของคนเมือง
“ในเมือง ผู้คนรู้สึกโดดเดี่ยว ก็อยากจะมีคู่ (เพื่อคลายความโดดเดี่ยว) และไสยศาสตร์พยายามตอบโจทย์ภาวะทางความรู้สึกนี้”
ความที่เมืองเป็นแหล่งรวมความหลากหลายของผู้คนและวัฒนธรรม จึงเกิดชุดความเชื่อ วิถีปฏิบัติย่อย ๆ และวัตถุทางความเชื่อมากมายและหลากหลาย เทพเจ้าและผีตนใหม่ ๆ ปรากฎขึ้นเรื่อย ๆ ให้คนเมืองได้ชอปปิ้งตามสะดวกและตามใจปรารถนา มีทั้งเทพดั้งเดิมที่เป็นเทพเจ้าฮินดู จีน และพุทธ ผีโบราณและผีใหม่ ๆ ที่หลุดมาจากโลกการ์ตูนและวรรณคดี อย่างเช่นที่มีร่างทรงโดเรมอน ร่างทรงพ่อปู่ไจแอ้นท์ และร่างทรงผีเสื้อสมุทร
“การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและภูมิหลังอันหลากหลาย ซึ่งก็มีความเชื่อมีวิธีปฏิบัติบางอย่าง จิตวิญญาณติดมากับตัวเอง พอมาเจอกันในบริบทเมือง ย่อมนำไปสู่ผสมผสานก่อให้เกิดเป็นความเชื่อหรือวิถีปฏิบัติใหม่ ๆ ขึ้นมา นำไปสู่การเติบโตของความเชื่อหรือวิถีปฏิบัติทางจิตวิญญาณรูปแบบใหม่ ๆ” ผศ.ดร.เกษม กล่าว
นอกจากนี้ คนเมืองสมัยใหม่นิยมเรียกชุดความเชื่อเชิงไสยศาสตร์ว่า “สายมู” หรือ “มูเตลู” ทำให้เรื่องนี้ดูทันสมัยขึ้น ลดความลี้ลับหรือความมืดดำ (ดาร์ค)
ไสยศาสตร์ มีทั้งคนเชื่อและไม่เชื่อ แต่แม้จะไม่เชื่อ คำพูดที่ว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” ก็ช่วยเปิดพื้นที่ให้ไสยศาสตร์และความเชื่อเหนือธรรมชาติ อยู่ได้และขยายตัวในสังคม
“คำพูดนี้ทำให้ความเชื่อใหม่ ๆ เข้าไปอยู่ในการรับรู้ของคนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว กลายเป็นกระแสของสังคมไปโดยปริยาย” ผศ.ดร.กัญญา กล่าว
ในกรณีที่มีประเด็นถกเถียงทางความเชื่อในสังคม เช่น เกิดเทพหรือผีตนใหม่ ๆ หรือวิถีปฏิบัติใหม่ ๆ คำว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” ก็ดูเหมือนจะช่วยเปิดพื้นที่ให้คนได้ทดลอง “ถ้าไม่เสียหาย ไม่ผิดกฎหมาย และศีลธรรม ก็น่าจะลองดู” และทำให้คนที่เชื่อและไม่เชื่อ อยู่ร่วมกันได้บนพื้นที่ของความเชื่อที่ต่างกัน
“ไสยศาสตร์และความเชื่อเหนือธรรมชาติไม่ได้เป็นความงมงาย แต่สะท้อนโลกทัศน์และความตระหนักที่ว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล” ผศ.ดร.กัญญา กล่าว
“โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยความผันผวน ไม่แน่นอน มีปัจจัยมากมายและซับซ้อนเกินกว่ามนุษย์จะควบคุมได้ ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ หลักเหตุผลไม่เพียงพอ และหลายครั้งก็ไม่อาจตอบสนองความต้องการของเราได้ ผู้คนต่างหาแนวทางในการตอบโจทย์การมีชีวิต และไสยศาสตร์เป็นหนึ่งในคำตอบ คู่ไปกับหลักศาสนาและหลักเหตุผล”
รับฟังคลิปเสวนา “เคลือบแคลง ย้อนแย้ง แสวงหา: ไสยศาสตร์ในวิถีเมือง” ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=u-p3ynGLfSU
คีเฟอร์น้ำเกสรดอกกุหลาบ เครื่องดื่มสุขภาพต้านอนุมูลอิสระ ผลงานนิสิตจุฬาฯ คว้าเหรียญทองระดับโลก
The Skinov’e นวัตกรรมสกินแคร์จากเปลือกกล้วยหอมทองปทุม ผลงานวิจัยจุฬาฯ ที่ทำให้สิวเป็นเรื่องกล้วยๆ
น้ำยายืดอายุกระดาษ นวัตกรรมจุฬาฯ อนุรักษ์เอกสารและภาพศิลปะโบราณให้คงสภาพอีกนานนับทศวรรษ
อาหารเป็นยา นวัตกรรมเพื่อสุขภาพของคนยุคปัจจุบัน
จุฬาฯ ชู “หมัดสั่ง” ภาพยนตร์สารคดีฟื้นจิตวิญญาณมวยไทยบนสังเวียนโลก
หุ่นยนต์ดินสอรุ่นล่าสุด “Home AI Assistance” ผู้ช่วยประจำบ้านดูแลผู้สูงอายุตลอด 24 ชั่วโมง อีกก้าวของหุ่นยนต์สัญชาติไทย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้