Highlights

GoodWalk Thailand ออกแบบ “เมืองเดินได้ เมืองเดินดี” ฟื้นเศรษฐกิจ สร้างคุณภาพชีวิตคนเมือง 

PIC_GoodWalk Thailand ออกแบบ “เมืองเดินได้ เมืองเดินดี” ฟื้นเศรษฐกิจ สร้างคุณภาพชีวิตคนเมือง 

จุฬาฯ จับมือ สสส. ออกแบบ “เมืองเดินได้-เมืองเดินดี” ใช้ดัชนี GoodWalk Score เลือกพื้นที่นำร่อง พัฒนาเป็นย่านเดินได้ เดินดีในกรุงเทพ และอีกหลายเมืองทั่วประเทศ มั่นใจเมืองเดินได้จะช่วยลดมลภาวะ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและการท่องเที่ยว เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและสุขภาวะคนเมือง


ในงาน GoodWalk Forum Thailand 2023 โดยโครงการ “เมืองเดินได้-เมืองเดินดี” มีการเผยตัวเลขค่าเฉลี่ยบางอย่างที่น่าสนใจ  

คนกรุงเทพฯ ใช้เวลาในการเดินทางโดยรถยนต์คิดเป็น 800 ชั่วโมงต่อปี!

ค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยรถยนต์ของคนเมืองคิดเป็น 20 % ของรายจ่ายทั้งหมด

ระยะการเดินเท้าสูงสุดที่คนเมืองยอมเดินคือ 800 เมตร หรือราว 10 นาที

44 % ของคนกรุงเทพฯ มีภาวะอ้วน

ตัวเลขเหล่านี้บอกอะไร?

PIC-800 hours in car/year

กรุงเทพเป็นมหานครแห่งรถยนต์ ยิ่งตัดถนน รถยนต์ยิ่งเพิ่มปริมาณ และราคาที่คนเมืองต้องจ่ายคือฝุ่นพิษ PM2.5 การจราจรติดขัด การใช้เวลาบนท้องถนนนาน ๆ การสูญเสียทางเศรษฐกิจ อีกทั้งปัญหาสุขภาพกายและใจ ฯลฯ

แนวคิดและแนวทางการพัฒนาเมืองจึงต้องเปลี่ยน! จากงบตัดถนน ปรับมาให้ความสำคัญกับการออกแบบ “เมืองเดินได้” เพื่อส่งเสริมให้ “การเดิน” อยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของคนเมืองมากขึ้น

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องล้าหลังหรือขวางการเจริญของเมืองแต่อย่างใด หลายประเทศ ทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป และเอเชีย หันมาให้ความสำคัญกับการเดินมากขึ้น และนำแนวคิดเรื่อง “เมืองเดินได้” มาเป็นทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง อย่างเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ที่ใช้เวลานับ 10 ปี ทวงคืนพื้นที่หรือถนนบางส่วนให้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับเดินเท้า เพื่อแก้ปัญหาการจราจรและลดมลภาวะ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนเมือง 

ประเทศไทยก็ตอบรับกระแสการพัฒนา “เมืองเดินได้” เช่นกัน โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง (Urban Design and Development Center, Center of Excellence in Urban Strategies, หรือ UDDC-CEUS) ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินโครงการ “เมืองเดินได้ เมืองเดินดี GoodWalk Thailand” มาตั้งแต่ปี 2557 จนปัจจุบัน

รองศาสตราจารย์ ดร.นิรมล เสรีสกุล
ผู้อำนวยการของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC-CEUS) จุฬาฯ
รองศาสตราจารย์ ดร.นิรมล เสรีสกุล
ผู้อำนวยการของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง

(UDDC-CEUS) จุฬาฯ

“เมืองเดินได้-เมืองเดินดี ไม่ใช่แค่เรื่องปรับปรุงคุณภาพทางเท้า หรือขยายทางเท้า แต่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาเมืองของประเทศไทย ที่ตอบโจทย์ความท้าทายอันหลากหลายของเมือง ทั้งสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม สุขภาวะ การเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และสังคมผู้สูงอายุ” รองศาสตราจารย์ ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC-CEUS) จุฬาฯ กล่าวถึงความสำคัญของโครงการฯ ในงาน “GOODWALK FORUM THAILAND 2023 ก้าวสู่ทศวรรษแห่งการพัฒนาเมือง ด้วยยุทธศาสตร์เมืองเดินได้-เมืองเดินดี” เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ในงานมีการนำเสนอองค์ความรู้ และบทเรียนจากประสบการณ์การพัฒนาเมืองเดินได้-เมืองเดินดีในกรุงเทพมหานครและเมืองในภูมิภาคต่าง ๆ ที่ทีมโครงการฯ ได้ดำเนินการมาตลอดระยะเวลา 9 ปี เริ่มตั้งแต่การศึกษาและสำรวจพื้นที่ เพื่อทำดัชนีประเมินศักยภาพ “เมืองเดินได้ เดินดี” พัฒนาเป็นแผนที่ Goodwalk Score เพื่อระบุพื้นที่ที่จะนำร่องออกแบบ ปรับปรุงให้เกิดการเชื่อมต่อจุดหมายต่าง ๆ จนเป็นพื้นที่ตัวอย่างรูปธรรม “ย่านเดินได้ ย่านเดินดี” เช่น ย่านจุฬาฯ –สามย่าน บรรทัดทอง สยามสแควร์ สะพานลอยฟ้าเจ้าพระยา ฯลฯ 

ชีวิตดีขึ้นเมื่อ “เมืองเดินได้ เมืองเดินดี”

งานวิจัยหลายชิ้นในต่างประเทศชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างและสภาพแวดล้อมของเมืองส่งผลต่อวิถีชีวิตและกิจกรรมทางกายของคนเรา ซึ่งการพัฒนาเมืองให้เป็น “เมืองเดินได้-เมืองเดินดี” นั้นมีประโยชน์หลายประการ ได้แก่

  • ผู้คนสุขภาพดีขึ้น ถ้าย่านที่อยู่นั้นดี มีพื้นที่ที่สามารถเดินได้สะดวก ปลอดภัย ก็จะมีส่วนสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนออกมาเดินและทำกิจกรรมทางกาย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมสุขภาพของผู้คนให้ดีขึ้น

    รศ.ดร.นิรมล อ้างอิงข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกที่ประมาณการว่า ในแต่ละปี การเสียชีวิตของประชากรโลกเกือบ 1.9 ล้านคน มาจากการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ (และได้แนะนำให้ผู้คนมีกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์)

    “ดังนั้น การจัดโครงสร้างของเมืองที่เอื้อให้ผู้คนได้เดินมากขึ้น ก็จะช่วยส่งเสริมสุขภาพของคนเมือง ให้มีกิจกรรมทางกายมากขึ้น 2-3 เท่า ช่วยลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน และโรคอ้วน ซึ่งสัมพันธ์กับอัตราการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด”

  • เศรษฐกิจดีขึ้น โดยเฉพาะ SMEs ย่านชุมชนในเมืองที่มีทางเท้าไปถึง จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ กระจายรายได้ของเมืองสู่ผู้ประกอบการขนาดเล็ก (SME) ในย่านนั้น ๆ ซึ่งจะช่วยรักษาทั้งเศรษฐกิจเดิมและเพิ่มเศรษฐกิจใหม่ นอกจากนี้ ราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในย่านเดินได้จะมีมูลค่าสูงกว่าย่านที่เดินไม่ได้อีกด้วย

    นอกจากนี้ ผลการวิจัยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า 49 เปอร์เซ็นต์ของคนรุ่นใหม่ที่เรียกว่า Gen Me มีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่จะเลือกย่านที่อยู่อาศัยก่อนเลือกงาน และพวกเขามักจะเลือกอยู่ในย่านที่เดินได้-เดินดี นั่นหมายความว่าการออกแบบและปรับพื้นที่ให้เป็นย่านเดินได้-ย่านเดินดี จะมีส่วนยกระดับ สร้างมูลค่าเพิ่มให้พื้นที่นั้นด้วย

  • บ่มเพาะนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ (cultural creative incubation) เมื่อเมืองเดินได้ เดินดี ผู้คนก็ออกมาทำกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น ดึงดูดกลุ่มผู้มีความสามารถพิเศษและเหล่าศิลปินให้มาแสดงความสามารถ บรรยากาศเช่นนี้จะเป็นแหล่งบ่มเพาะนวัตกรและนวัตกรรมได้เป็นอย่างดี

  • เกิดพื้นที่ความสัมพันธ์ทางสังคมสำหรับทุกคน (Inclusive Society) เมื่อผู้คนออกมาเดินกันมากขึ้น ก็นำไปสู่การมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น เกิดความรู้สึกผูกพันกับถิ่นที่อยู่ของตัวเอง รู้จักคนในละแวกเดียวกัน สร้างความปลอดภัยในชุมชน นอกจากนี้ ยังมีนัยยะในการส่งเสริมความเท่าเทียมกันในสังคม นอกจากนี้ การมีพื้นที่เดินได้-เดินดี ก็จะช่วยตอบโจทย์ผู้สูงวัย (หัวใจยังแอคทีฟ) ที่จะไม่เหงาติดบ้านอีกต่อไป แต่มีพื้นที่ปลอดภัยนอกบ้านให้ออกมาสนุกกับการใช้ชีวิตในรูปแบบต่าง ๆ

คุณอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC-CEUS) จุฬาฯ
คุณอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
รองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง
(UDDC-CEUS) จุฬาฯ

“ในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีคนสูงวัยออกมาเดินในพื้นที่สาธารณะมากนัก เพราะทางเดินไม่ดี เดินลำบาก เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ นี่อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตราการอยู่ติดบ้าน ติดเตียงของคนสูงวัยในเมืองไทยสูงมากที่สุดในทวีปเอเชีย” คุณอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC-CEUS) จุฬาฯ ให้ข้อสังเกต

เมืองเดินได้ เมืองเดินดี เป็นอย่างไร

โครงการฯ ได้พัฒนาเว็บไซต์ GoodWalk (http://goodwalk.org/) ให้เป็นช่องทางนำเสนอเรื่องราว ข่าวสาร มุมมองเกี่ยวกับเมืองเดินได้ เมืองเดินดี ทั้งในและต่างประเทศ โดยไฮไลต์ของเว็บไซต์คือแผนที่ GoodWalk Score ที่มีการจัดอันดับพื้นที่ “เดินได้” และ “เดินดี” ในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด

“เมืองเดินได้คือพื้นที่หรือย่านของเมืองที่จุดหมายปลายทางในชีวิตประจำวันของผู้คนอยู่ในระยะที่เดินเท้าถึง หรือประมาณ 500-800 เมตร” รศ.ดร.นิรมล ให้คำนิยาม “เมืองเดินได้”

สำหรับเกณฑ์ในการวัดและให้คะแนน “เมืองเดินได้” นั้นมีการกำหนดแหล่งที่เป็นจุดหมายปลายทางที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของผู้คนไว้ 6 ข้อ ได้แก่ 1) แหล่งงาน 2) สถานศึกษา 3) อุปโภค-บริโภค 4)นันทนาการ 5) ธนาคาร/ธุรกรรม และ 6) ขนส่งสาธารณะ

ในกรุงเทพมหานคร พื้นที่ที่ได้ระดับคะแนน “เดินได้” สูงสุด คือ ย่านสยามสแควร์ ข้าวสาร และเขตบางรัก ตามลำดับ

ส่วน “เมืองเดินดี” รศ.ดร.นิรมล ให้นิยามว่า “เป็นเมืองที่มีการออกแบบคุณภาพการเดินให้น่าเดิน เดินสะดวก ปลอดภัย ความกว้างทางเท้าเพียงพอ ไม่มีสิ่งกีดขวาง แสงสว่างเพียงพอ สภาพแวดล้อมเอื้อต่อการเดิน ความร่มรื่นของทางเท้า เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเป็นเกณฑ์ในการให้คะแนนและจัดอันดับของเมืองเดินดี”

ในกรุงเทพมหานคร “ถนนเดินดี” จากการเกณฑ์ดังกล่าว ได้แก่ ถนนราชวงศ์ ถนนจักรพงษ์ ถนนลาดหญ้า ซอยสยามสแควร์ 7 ถนนพระราม 1 ฯลฯ

แผนที่ GoodWalk Score
5 ยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการเดิน

นอกจากกรุงเทพมหานครแล้ว เว็บไซต์ GoodWalk ยังมีการประเมินค่าการเดินดี ในต่างจังหวัดด้วย เช่น ในจังหวัดเชียงใหม่ ย่านที่เข้าข่ายเดินได้-เดินดี ได้แก่ ย่านช้างเผือก ย่านท่าแพ ตลาดวโรรส เป็นต้น

ผู้สนใจสามารถเข้าไป GoodWalk (http://goodwalk.org/) เพื่อค้นหาคะแนน Goodwalk score ในย่านที่คุณอยู่อาศัย หรือค้นหาจุดหมายปลายทางที่คุณอยากไปในระยะที่เดินถึงจากตำแหน่งทีคุณอยู่ ค้นหาย่านที่ตรงใจ เดินได้ เดินดี ฯลฯ  

เดินสร้างความเข้าใจ ร่วมสร้าง “เมืองเดินได้-เมืองเดินดี”

กรุงเทพมหานครเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยการตลาดรถยนต์ จนกลายเป็นเมืองแห่งรถยนต์ แต่การพัฒนาเมืองให้เป็น “เมืองเดินได้-เมืองเดินดี” อาศัยเวลา โดยฉพาะอย่างยิ่งเวลาในการทำความเข้าใจกับผู้คนให้เห็นถึงประโยชน์ของเมืองเดินได้  

“ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เมืองเดินได้-เมืองเดินดีเป็นจริงคือผู้บริหารเมือง ที่มีวิสัยทัศน์ กล้าตัดสินใจ กล้าที่จะเปลี่ยน อีกปัจจัยคือทุกคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่นั้น ๆ ต้องยอมรับว่า ทุกการกระทำที่จะเปลี่ยนแปลงเมือง ย่อมกระทบต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเสมอ เราต้องใช้เวลาทำความเข้าใจให้คนเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ที่ได้รับจากการเปลี่ยนแปลง จนสามารถออกเป็นนโยบายยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง” คุณอดิศักดิ์ รองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาฯ กล่าว

ที่ผ่านมา โครงการฯ ใช้ข้อมูลจากแผนที่ GoodWalk Score ในการเลือกพื้นที่ที่จะพัฒนาอย่างลงลึกให้เป็นรูปธรรม ซึ่งสิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อจากนี้ คือการเดินเข้าหาผู้คนที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเข้าใจในประโยชน์ของเมืองเดินได้ เมืองเดินดี ที่สำคัญ โครงการฯ เน้นการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคีพัฒนา และภาคประชาชนในพื้นที่ ทั้งในเรื่องการสำรวจ และออกแบบพื้นที่ย่านต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ และเมืองในจังหวัดอื่น ๆ ให้เป็นพื้นที่หรือย่านเดินได้และเดินดี

“เป้าหมายของโครงการนี้ไม่ใช่แค่การศึกษาและออกแบบพื้นที่เท่านั้น แต่เป็นถ่ายทอดและแบ่งปันองค์ความรู้ไปยังสถานศึกษาและคนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้

ย่านจุฬาฯ – Sandbox เมืองเดินได้-เมืองเดินดี

กรุงเทพมหานครมีโอกาสพัฒนาเป็นเมืองเดินได้-เมืองเดินดีสูงมาก คุณอดิศักดิ์ กล่าว

“นโยบายของผู้ว่ากรุงเทพฯ ทั้งสมัยก่อนหน้าและสมัยปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับการขนส่งสาธารณะระบบราง ทำให้คนเดินมากขึ้น แต่การเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองเดินได้ทั้งเมืองนั้น เป็นไปได้ยาก เพราะมีหลายพื้นที่ถูกปิดล้อม บางที่ถูกทิ้งรกร้าง และมีปัญหาทับซ้อนเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทางโครงการฯ จึงใช้แนวคิด “การฝังเข็มเมือง” หรือการพัฒนาพื้นที่ขนาดเล็กเป็นย่าน ๆ ที่เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและสังคมในระดับเมืองใหญ่” 

หนึ่งในย่านที่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงคือย่านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากการศึกษาและสำรวจพื้นที่ พบว่าย่านปทุมวัน สยาม สามย่าน เป็นพื้นที่ที่มีค่าดัชนีเดินได้มากที่สุดในกรุงเทพและประเทศไทย เนื่องจากเป็นย่านที่มีจุดหมายปลายทางในชีวิตประจำวันในระยะที่เดินถึง ไม่ต้องพึ่งรถยนต์ในการเดินทาง ทางโครงการฯ จึงได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วนในมหาวิทยาลัย ทำผังแม่บท CU2040 Masterplan: ผังแม่บทจุฬาฯ ศตวรรษที่ 2 “ปรับ-เปลี่ยน-เปิด” เพื่อทุกคน

รองศาสตราจารย์ ดร.จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ รองอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สินและกายภาพ จุฬาฯ กล่าวถึงการดำเนินการให้จุฬาฯ เป็นพื้นที่เดินได้-เดินดี

“จุฬาฯ เป็น sandbox นำร่องที่สำคัญ มีการทำทางเท้าที่มีหลังคาคลุมเชื่อมต่ออาคารต่าง ๆ มีการใช้รถบัสไฟฟ้า ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า มีระบบ car sharing และ bike sharing ที่ไม่ก่อให้เกิดรอยเท้าคาร์บอนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการเชื่อมต่อการเดินทางตั้งแต่ต้นทางและปลายทาง (First and Last Mile Connectivity)”

นอกจากนี้ จุฬาฯ ยังผลักดันให้พื้นที่สยามแสควร์ สวนหลวง สามย่าน เป็นย่านที่ทั้งเดินได้และเดินดี ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงทางเท้า โครงสร้างกันแดดกันฝน การเชื่อมต่อพื้นที่โดยรอบ การสร้างจุดชะลอความเร็วรถยนต์ ตลอดจนการปิดถนนบริเวณสยามแสควร์ เป็น walking street ที่ส่งเสริมการเดินเท้าไปพร้อม ๆ กับกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ อาทิ การแสดงดนตรี Street Performance ตลาด ถนนคนเดิน และรวมถึงการให้ความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ในเทศกาลหนังกรุงเทพฯ กลางแปลง

เดิน เปลี่ยนเมือง

นอกจากย่านจุฬาฯ แล้ว ทีมโครงการฯ ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ในโครงการกรุงเทพฯ 250 เพื่อพลิกเมืองเก่าให้น่าอยู่ มีประสิทธิภาพ เพื่อให้กรุงเทพเป็นมหานครระดับโลก ฉลองวาระ 250 ปีกรุงเทพฯ ในปี 2575

ทีมโครงการฯ ร่วมฟื้นฟู 17 เขตเมืองชั้นในของกรุงเทพฯ หรือคิดเป็น 60% ของกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองเดินได้ ได้แก่ ย่านราชดำเนินกลาง ย่านท่าช้าง-ท่าเตียน ย่านบ้านหม้อ ย่านบางขุนนท์-ไฟฉาย ย่านกะดีจีน-คลองสาน ย่านถนนโยธี-ราชวิถี ย่านชุมชนซอยโปโล-ร่วมฤตี ย่านตลาดน้อย ย่านสะพานปลา-ยานนาวา-ถนนตก ย่านวงเวียนใหญ่ และฟื้นฟูเมืองโซนที่อยู่อาศัยในย่านจรัญสนิทวงศ์ ยานาวา-บางคอแหลม

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมฟื้นฟูเมืองโซนประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ และธนบุรี และเมืองโซนกลางพาณิชยกรรมปทุมวัน-บางรัก และพาณิชยกรรมตากสิน และยังมีโครงการพัฒนาทางเดินริมน้ำต่อเนื่องในย่านกะดีจีน โครงการสะพานเขียวกรุงเทพฯ และแผนพัฒนาพื้นที่หรือย่านโดยรอบ ที่เชื่อมต่อระบบรางและขนส่งสาธารณะร่วมกับกรุงเทพมหานครด้วย

โครงการสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา
โครงการสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา

หนึ่งในผลงานตัวอย่างรูปธรรมที่โดดเด่นและเป็นที่น่าภูมิใจคือการปรับปรุงสะพานด้วน หรือโครงสร้างรถไฟฟ้าลาวาลินที่สร้างไม่เสร็จ ให้เป็นสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา

“พื้นที่นี้เป็นจุดเชื่อมต่อการสัญจรโดยเท้าและจักรยานของคน ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี และยังรองรับการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เดินเล่น นั่งพักผ่อน ชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นและตก รวมทั้งปลูกต้นไม้สร้างร่มเงาความร่มรื่น ให้นักท่องเที่ยวสามารถข้ามไปฝั่งธนบุรีได้สะดวก สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับคนฝั่งธนบุรี” คุณอดิศักดิ์ กล่าว

ทางเดินยกระดับ Sky walk เชื่อมต่อย่านราชวิถี-โยธี
ทางเดินยกระดับ Sky walk เชื่อมต่อย่านราชวิถี-โยธี

อีกหนึ่งจุดสำคัญที่ขณะนี้ ทางโครงการฯ และกรุงเทพมหานคร กำลังสำรวจคือย่านราชวิถี –โยธี เพื่อทำทางเดินยกระดับ Sky walk เชื่อมต่อพื้นที่ให้บริการทั้งสองฝั่งถนนและย่านโดยรอบ รศ.ดร.นิรมล กล่าว

“ย่านนี้เป็นย่านสำคัญ เนื่องจากมีโรงพยาบาลชั้นนำและโรงเรียนแพทย์ถึง 7 แห่ง ด้วยความที่สมัยก่อน จอมพล ป. พิบูลสงคราม อยากจะให้ย่านนี้เป็น Medical metropolis จึงเป็นโอกาสดีในการฟื้นฟูย่าน ให้มีทางเดินยกระดับเพื่อรองรับการใช้งานของผู้คนได้มากขึ้น ทางเดินกว้างขึ้น ปลอดภัย มีหลังคา ไม่เปียก ไม่ร้อน ลดการใช้รถยนต์ เพิ่มการใช้ขนส่งสาธารณะ เชื่อมต่อกลุ่มอาคารโรงพยาบาลและพื้นที่ค้าขาย ซึ่งเปรียบเหมือนเส้นเลือดฝอยที่สำคัญในการหล่อเลี้ยงหมุนเวียน เศรษฐกิจ สุขภาวะและชุมชนที่ดี”

เดินหน้าโปรโมทการท่องเที่ยวด้วยวิถี “เมืองเดินได้-เมืองเดินดี”

แนวทางการพัฒนาเมืองเดินได้-เดินดี นอกจากจะใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองหลวง แล้ว ยังสามารถใช้พัฒนาเมืองรองในระดับภูมิภาคได้เช่นกัน

“ความท้าทายอยู่ที่โจทย์ของแต่ละเมือง ซึ่งไม่เหมือนกัน แต่ละเมืองมีเรื่องราวอัตลักษณ์เมือง ต้นทุนเมืองและต้นทุนทางวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดควบคู่กับการพัฒนาเมืองที่ส่งเสริมการเดินเท้าได้ ยิ่งเมืองที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ก็ยิ่งจำเป็นต้องสนับสนุนเดินเท้า” รศ.ดร.นิรมล กล่าว  

ทีมวิจัยของโครงการฯ ร่วมมือกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่นที่มีความเข้าใจเมือง ลงสำรวจพื้นที่พิจารณาจุดขายและจุดแข็งของแต่ละเมือง รวมถึงทำประชาคมเพื่อรับฟังเสียงจากคนในพื้นที่ เปิดโอกาสให้เข้ามาร่วมตัดสินใจร่วมกัน มีความเข้าใจและยอมรับการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน จากนั้นจึงร่วมออกแบบเมืองเชื่อมต่อการเดินเท้าให้กลายเป็นเมืองเดินได้-เมืองเดินดี โดยแบ่งออกเป็นเส้นทางมรดกวัฒนธรรม เส้นทางเศรษฐกิจ เส้นทางการเรียนรู้ และเส้นทางสีเขียว เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีและกิจกรรมทางสังคมให้กับคนในชุมชน

ตัวอย่างของเมืองต้นแบบที่ทางโครงการฯ ลงไปร่วมพัฒนา ได้แก่ เมืองลำพูนซึ่งเป็นเมืองโบราณสถาน เมืองร้อยเอ็ดที่มีงานเทศกาล เมืองนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นเมืองวัดพระธาตุ และเมืองระยองซึ่งเป็นเมืองเก่า

“ผลลัพธ์ที่ได้คือโอกาสจากเศรษฐกิจใหม่ของเมืองที่สามารถดึงดูดลูกหลานกลับมาเปิดร้านค้าขายที่บ้านเกิด อีกทั้งเทศบาล สำนักงานจังหวัดหลายแห่ง และประชาชนในหลายพื้นที่ เห็นด้วยและต้องการที่จะใช้ยุทธศาสตร์แนวคิดเมืองเดินได้-เดินดีเป็นแนวทางหลักในการขับเคลื่อนเมืองของพวกเขา”

โอกาสจากเศรษฐกิจใหม่ของเมือง จ.ลำพูน
โอกาสจากเศรษฐกิจใหม่ของเมือง จ.ลำพูน

รศ.ดร.นิรมล เผยว่าล่าสุด โครงการฯ ได้ร่วมพัฒนาเมืองรอง 33 เมืองในแต่ละภูมิภาคร่วมกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมสุขภาวะ สังคม ส่งเสริมเศรษฐกิจ พัฒนาธุรกิจรายย่อยของย่าน พัฒนาสู่เมืองเดินได้-เดินดี และตอบโจทย์ของแต่ละเมืองได้มากที่สุด

แผนที่เมืองเดินได้-เดินดี 33 เมือง

จากการดำเนินงาน 9 ปี หลายเมืองเริ่มออกเดินแล้ว ทีมโครงการฯ มั่นใจและเห็นเค้าลางความเป็นไปได้ในการพัฒนา “เมืองเดินได้-เมืองเดินดี” ทั้งในเมืองหลวงและเมืองในระดับภูมิภาค แต่สิ่งที่ยังเป็นโจทย์ท้าทายคือมุมมองของหน่วยงานภาครัฐ

 “หน่วยงานราชการยังไม่เห็นและยอมรับให้แนวทาง เมืองเดินได้ เมืองเดินดี ให้เป็นการพัฒนาเมืองในประเทศไทย ทำให้ไม่มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนเมืองเดินได้-เมืองเดินดี ส่วนใหญ่ในการพัฒนาเมืองยังเป็นเรื่องงบทำถนน งบปรับปรุงถนน” รศ.ดร.นิรมล กล่าว

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ UDDC-CEUS และภาคีพัฒนา ยังคงเดินหน้าผลักดันให้แนวคิดการพัฒนาเมืองเดินได้-เดินดี เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองของประเทศไทย ทั้งนี้ รศ.ดร.นิรมล หวังว่าองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่โครงการณ นำเสนอในรูปแบบหนังสือ อาทิ Walkable City “เมื่อกรุงเทพฯ ออกเดิน” หนังสือ Walkable 101 “เมืองเดินได้ เมืองเดินดี ร้อยเอ็ด” และมาตรฐาน Complete Streets เมืองเดินได้-เมืองเดินดี จะเป็นเอกสารอ้างอิงแนวคิดนี้เพื่อให้ได้รับการยอมรับในวงกว้าง และสามารถเป็นหนึ่งในนโยบายและแนวทางหลักของการพัฒนาเมืองในประเทศไทยได้ในอนาคต

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร เมืองเดินได้-เมืองเดินดี ได้ที่
เว็บไซต์
http://www.goodwalk.org/
Facebook: https://www.facebook.com/GoodwalkThailand
Facebook: www.facebook.com/uddcbangkok

หรือ สอบถามเกี่ยวกับโครงการนี้ได้ที่ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง(UddC) อีเมล info@uddc.net

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า