Highlights

จุฬาฯ น่าเที่ยว! เปิดพิกัดเที่ยวเพลินในจุฬาฯ ชมสถาปัตยกรรม พิพิธภัณฑ์ และดนตรี

ที่เที่ยวจุฬาฯ

ร่วมสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ แนะนำกิจกรรมและแหล่งเรียนรู้ในจุฬาฯ ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นการเดินชมสถาปัตยกรรม พิพิธภัณฑ์ และเพลิดเพลินกับการแสดงดนตรีไทยและสากล  


กรุงเทพมหานครเพิ่งได้รับการจัดอันดับจาก World of Statistics[1] ให้เป็นเมืองที่มีผู้มาเยี่ยมชมมากที่สุดในโลกประจำปี 2567 ด้วยจำนวนผู้มาเยือน 22.78 ล้านคน! เมื่อถามถึงเสน่ห์ของกรุงเทพฯ แล้ว หลายคนมักจะกล่าวถึงการผสมผสานความแตกต่างและความหลากหลายให้อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว ซึ่งช่วยสร้างสีสันและความมีชีวิตชีวาให้กับเมือง อย่างเช่นย่านกลางเมือง จุฬาฯ บรรทัดทอง สามย่าน และสยามสแควร์ ที่มีทั้งความล้ำสมัยและความเก่าแก่ อาคารสมัยใหม่และตึกสไตล์โคโลเนียล กิจกรรมทางวัฒนธรรมร่วมสมัยและไทยโบราณ ตลอดจนอาหารนานาชาติและไทยสตรีทฟู้ดรสเด็ด ฯลฯ จึงไม่น่าแปลกใจที่นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกจะนิยมมาแวะชอป ชิม ชมกิจกรรมและวิถีชีวิตคนเมืองในย่านนี้

และหนึ่งในเสน่ห์ของย่านนี้ที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากจะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกและอันดับหนึ่งของประเทศแล้ว จุฬาฯ ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้หลากหลายด้านที่ใคร ๆ ก็มาเข้ามาเรียนรู้ได้

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Chulalongkorn University
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุฬาฯ เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรมของชาติและวิถีชีวิตแบบไทย ๆ ที่นี่มีความงดงามทางสถาปัตยกรรมให้เดินเยี่ยมชม มีการแสดงทั้งดนตรีไทยและดนตรีตะวันตก การแสดงงานศิลปะตั้งแต่ระดับนิสิตจนถึงนานาชาติ พิพิธภัณฑ์ความรู้หลายด้าน และเมื่อเดินออกมานอกรั้วมหาวิทยาลัยก็มีร้านอาหารสตรีทฟู้ดแบบไทย ๆ ย่านบรรทัดทอง หอศิลป์ คาเฟ่ ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ วัดวาอารามทั้งพุทธเถรวาท มหายาน โบสถ์ และศาลเจ้าจีน” คุณกรรชิต จิตระทาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวถึงสีสันของจุฬาฯ และพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบ ที่อยากเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศมาสัมผัส

คุณกรรชิต จิตระทาน 
ผู้อำนวยการสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คุณกรรชิต จิตระทาน
ผู้อำนวยการสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในฐานะผู้บริหารสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ ซึ่งมีภารกิจในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม สร้างองค์ความรู้ และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม คุณกรรชิตแสดงทัศนะเกี่ยวกับการรักษารากเหง้าทางวัฒนธรรมว่า “เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของการขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ โบราณสถาน แต่เป็นการทำให้ศิลปวัฒนธรรมไทยผสมผสานและอยู่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการเรียนรู้ของผู้คน จุฬาฯ จึงพร้อมเปิดบ้านต้อนรับทุกคนให้มาเที่ยว เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมไทย”

พร้อมกันนี้ คุณกรรชิตได้ให้แนวกิจกรรมในจุฬาฯ ที่ผู้สนใจสามารถเลือกมาเยี่ยมชมและเรียนรู้ได้ตามชอบ ดังนี้

  • เพลินชมสถาปัตยกรรม งดงามและทรงคุณค่ามรดกไทย
  • พินิจ 16 พิพิธภัณฑ์ ขุมทรัพย์การเรียนรู้นอกตำรา
  • ฟังดนตรีที่จุฬาฯ จากปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ถึงออร์เคสตร้าระดับสากล

ในฐานะมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศที่ก่อตั้งมาแล้ว 107 ปี จุฬาฯ มีอาคารโบราณและร่วมสมัยสำคัญ ๆ หลายแห่ง ที่ได้รับรางวัลด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น และเปิดให้ผู้สนใจเดินเข้ามาชื่นชมกับบรรยากาศและความงามของตัวอาคารได้

แต่ก่อนที่จะทัวร์อาคารโบราณที่มีความงามทางสถาปัตยกรรม คุณกรรชิตชวนให้ผู้มาเยือนได้แวะสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า พระบรมราชานุสาวรีย์ 2 รัชกาล ที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่หน้าหอประชุมจุฬาฯ และเสาธงชาติไทย

พระบรมราชานุสาวรีย์ 2 รัชกาล
พระบรมราชานุสาวรีย์ 2 รัชกาล

 “นิสิต นักเรียนและผู้ปกครองหลายคนนิยมมาไหว้ขอพรที่อนุสาวรีย์แห่งนี้ เพี่อให้สอบผ่าน สอบได้คะแนนดี สอบติดโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ และจุฬาฯ วันที่นิยมมาไหว้ขอพรก็เป็นวันอังคาร เพราะเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระปิยมหาราช (วันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2396) และมักนำดอกกุหลาบมาเป็นเครื่องสักการะบูชา” คุณกรรชิตเล่าวิถีของผู้คนที่รู้สึกเชื่อมโยงและยังคงระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์

พระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาลสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2530 ในวาระครบรอบ 70 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเริ่มก่อรากฐานจากโรงเรียนมหาเล็ก และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้สถาปนาจุฬาฯ ขึ้นเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของชาวสยาม

ปัจจุบัน ที่นี่เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญของจุฬาฯ เช่น พิธีปฐมนิเทศเมื่อแรกเข้าเป็นนิสิตจุฬาฯ พิธีวางพานพุ่มในวันสถาปามหาวิทยาลัย และโอกาสสำคัญๆอีกหลายกิจกรรม

หอประชุม จุฬาฯ
หอประชุมจุฬาฯ

หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งอยู่ด้านหลังพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล สร้างเมื่อ พ.ศ.2480 – 2482 พระสาโรชรัตรนิมมานก์เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ โดยขยายแบบจากพระอุโบสถวัดราชาธิวาส หอประชุมเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสี ภายในเป็นโถงชั้นเดียว ด้านหน้ายกพื้นเป็นเวที ด้านหลังและด้านข้างเป็นชั้นลอยมีอัฒจันทร์ ชั้นล่างมีห้องพัก ชั้นบนเป็นห้องประชุม พร้อมระเบียง 3 ด้าน มีบันไดลงทั้งภายในและภายนอกอาคาร ด้วยการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์นี้ทำให้หอประชุม จุฬาฯ ได้รับรางวัลประเภทอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ประจำ พ.ศ. 2545


หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หอประชุม จุฬาฯ เป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นเคียงคู่มหาวิทยาลัย ชาวจุฬาฯ ทุกคนล้วนผูกพันกับสถานที่นี้ นับตั้งแต่ก้าวเข้าสู่รั้วจามจุรี เริ่มด้วยพิธีปฐมนิเทศนิสิตใหม่ พิธีไหว้ครู จนถึงพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษา นอกจากนี้ยังใช้จัดกิจกรรมในวาระสำคัญต่าง ๆ การแสดงละครเวที การแสดงดนตรี การประชุมสัมมนา ตลอดจนรับรองอาคันตุกะและพระราชวงศ์ทั้งไทยและต่างประเทศอยู่เสมอ”

กลุ่มอาคารเทวาลัย นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของจุฬาฯ ทั้งนิสิตและผู้มาเยือนมักจะถ่ายรูปกับกลุ่มอาคารเทวาลัยเพื่อเป็นที่ระลึกในการมาเรียนและมาเยี่ยมจุฬาฯ หลายคนบอกว่าที่นี่มีความสวยสง่า ขลังและศักดิ์สิทธิ์คล้าย “วัด” 

กลุุ่มอาคารเทวลัย
กลุ่มอาคารเทวาลัย

กลุ่มอาคารเทวาลัยประกอบด้วย 2 อาคาร ได้แก่ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ เป็นสถานที่จัดงานพิธีการ และรับรองอาคันตุกะของมหาวิทยาลัย และอาคารมหาวชิราวุธ ซึ่งปัจจุบันยังใช้เป็นห้องสมุด และห้องทำงานของคณะอักษรศาสตร์

อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ เป็นอาคารหลังแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2457 นายช่างชาวเยอรมัน ดร.คาร์ล เดอห์ริง (Dr.Karl Dohring) และนายช่างชาวอังกฤษ นายเอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ (Mr.Edward Healey) ร่วมกันออกแบบ โดยนำศิลปะไทยโบราณที่สุโขทัยและสวรรคโลกมาประยุกต์เป็นแบบอาคาร

เดิมที พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างอาคารนี้เพื่อเป็นตึกบัญชาการของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ต่อมา ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2459 ทรงมีพระบรมราชโองการสถาปนา “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” เป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” อาคารดังกล่าวจึงใช้เป็นอาคารเรียนสำหรับคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และได้เปลี่ยนชื่อจาก “ตึกบัญชาการ” มาเป็น “ตึกอักษรศาสตร์ 1”  

ด้วยประวัติและเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อ พ.ศ. 2530

อาคารมหาวชิราวุธ สร้างในปี พ.ศ. 2496- 2499 เพื่อเป็นอาคารเรียนของคณะอักษรศาสตร์ สถาปนิกผู้ออกแบบคือศาสตราจารย์บุญยง นิโครธานนท์ อาคารมีลักษณะคล้ายอาคารมหาจุฬาลงกรณ์ แต่มีห้องใต้ดิน ห้องใต้หลังคา และมีหน้าจั่วเป็นกระจกเพื่อรับแสงที่ส่องเข้ามายังห้องใต้หลังคา อาคารประดับด้วยลายปูนปั้นดอกบัว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา เครื่องหมายแห่งปัญญา เพื่อจะสื่อถึงหน้าที่ของครูบาอาจารย์ที่จะต้องช่วยให้บัวปริ่มน้ำ (นิสิต) ขึ้นบานเหนือน้ำ

เรือนภะรตราชา สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2460 ในสมัยรัชกาลที่ 6 เพื่อเป็นบ้านพักของผู้บริหารและอาจารย์ต่างชาติ ต่อมาเป็นอาคารเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และปัจจุบันเป็นสถานที่ใช้ในกิจกรรมการรับรองแขกของมหาวิทยาลัย

อาคารแห่งนี้ตั้งอยู่ริมถนนพญาไท เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ สองชั้นครึ่ง รูปแบบสถาปัตยกรรมโคโลเนียล มีลักษณะเด่นคือใต้ถุนสูงโล่ง เสาก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ หลังคาทรงปั้นหยามุมชันทรงมะนิลา เชิงชายที่หน้าจั่วประดับด้วยไม้ฉลุ หน้าต่างบานกระทุ้งแบบมีเกล็ดไม้ซ้อนในบาน ชั้นบนสุดมีห้องคล้ายหอสูง เรือนไม้แห่งนี้ได้รับรางวัลประเภทอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2540 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

เรือนภะรตราชา
เรือนภะรตราชา

เรือนจุฬานฤมิต สร้างขึ้นต่อเนื่องกับเรือนภะรตราชา เพื่อใช้สำหรับการประชุมและงานเลี้ยงรับรองต่าง ๆ ซึ่งเรือนนี้จะมีสวนและทางเดินเชื่อมกับเรือนภะรตราชา

เรือนจุฬานฤมิต
เรือนจุฬานฤมิต

หอประวัติจุฬาฯ หรือตึกจักรพงษ์ เดิมเป็นอาคารของสโมสรนิสิต และได้เปลี่ยนเป็นหอประวัติจุฬาฯ ซึ่งเป็นที่จัดแสดงนิทรรศการทางประวัติศาสตร์และสิ่งทรงคุณค่าของจุฬาฯ เช่น พระเกี้ยวจำลอง ภาพถ่ายโบราณ ชุดครุย จดหมายเหตุ เหรียญตราที่ระลึกการสถาปนา เป็นต้น อาคารนี้สร้างปี พ.ศ.2473 – 2475 มีลักษณะเป็นอาคารไม้สองชั้น ก่ออิฐถือปูน หน้าจั่วของอาคารทั้ง 4 ด้านมีรูปปูนปั้นเป็นจักรและกระบอง อันเป็นตราสัญลักษณ์ของราชสกุลจักรพงษ์ ซึ่งบริจาคเงินในการก่อสร้างอาคารหลังนี้

หอประวัติ จุฬาฯ ตึกจักรพงษ์
หอประวัติ จุฬาฯ

เรือนไทยตั้งอยู่ระหว่างหอพักนิสิต และอาคารจามจุรี 10 เป็นหมู่เรือนไทยภาคกลางและศาลากลางน้ำ สร้างขึ้นตามขนบการสร้างเรือนไทยโบราณ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป และจัดแสดงเครื่องดนตรีไทย ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และเครื่องจักสาน นอกจากนนี้ เรือนไทยยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม ดนตรี และนาฏยศิลป์ไทยด้วย (อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.cuartculture.chula.ac.th/services/reun-thai/)

เรือนไทย
เรือนไทย

อาคารจามจุรี 1 และจามจุรี 2 เป็นตึกคู่แฝด สีงาช้าง ตั้งโดดเด่นอยู่ใกล้ประตูใหญ่จุฬาฯ ริมถนนพญาไท ฝั่งสำนักงานอธิการบดี สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2510

จามจุรี 1 และจามจุรี 2
จามจุรี 1 และจามจุรี 2

ผู้สนใจชมความงามทางสถาปัตยกรรมของอาคารต่าง ๆ ในจุฬาฯ สามารถเข้าไปดูแผนที่ของอาคารต่าง ๆ ได้ที่ https://www.chula.ac.th/contact/map-and-directions/

Chula map
แผนที่จุฬาฯ

ภายในอาณาบริเวณ 1,153 ไร่ของจุฬาฯ มีพิพิธภัณฑ์มากถึง 16 แห่ง ซึ่งสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ ได้ซ่อมแซมอาคารและเปิดให้คนทั่วไปเข้าชมได้แล้ว โดยจัดเป็นโซนพิพิธภัณฑ์เพื่อให้ผู้สนใจเดินเที่ยวชมได้สะดวก ดังนี้  

Chula Museums Map  2024
แผนที่เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์และสถาปัตยกรรมของจุฬาฯ

โซนอาคารศิลปวัฒนธรรม(ตึกเคมี1 เดิม) มี 3 พิพิธภัณฑ์ ได้แก่

พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นพื้นที่จัดแสดงประวัติความเป็นมาของ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” สถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของไทย ที่นี่จัดแสดงในลักษณะ Modern and narrative museum (อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.chula.ac.th/museum/213/)

พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นิทรรศสถาน จัดแสดงนิทรรศการและผลงานศิลปะของศิลปินที่มีชื่อเสียง หรือแสดงผลงานของสถานเอกอัครราชทูตประเทศต่าง ๆ ศิลปินรับเชิญ และประชาคมจุฬาฯ ที่มีชื่อเสียงด้านศิลปะ โดยจะจัดเป็นนิทรรศการหมุนเวียนตลอดทั้งปี และเปิดให้คนทั่วไปเข้าชมฟรี (อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.chula.ac.th/museum/701/)

นิทรรศสถาน
นิทรรศสถาน

หอสมุดดนตรีไทย พิพิธภัณฑ์เครื่องดนตรีอันทรงคุณค่า ที่บริการสืบค้นด้านดนตรี และมีเพลงกว่า 16,000 เพลง ข้อมูลวีดิทัศน์เกี่ยวกับดนตรีและนาฏศิลป์ มากว่า 400 รายการ อีกทั้งมีมุมอ่านหนังสือและงานวิจัยทางดนตรีกว่า 1,500 เล่ม (อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.chula.ac.th/museum/705/)

หอสมุดดนตรีไทย
หอสมุดดนตรีไทย

โซนคณะอักษรศาสตร์ มี 2 พิพิธภัณฑ์ ได้แก่

หอพระไตรปิฎก คลังพระไตรปิฎกนานาชาติ ที่รวบรวมพระธรรมวินัยของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คัมภีร์พระไตรปิฎกที่บันทึกด้วยอักษรของชนชาติต่าง ๆ พร้อมพระคัมภีร์บริวารครบชุด กว่า 2,000 เล่ม อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ เปิดพื้นที่ให้สาธารณชนได้ร่วมสนทนา และอภิปรายในหัวข้อที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอีกด้วย (อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.chula.ac.th/museum/711/)

หอพระไตรปิฎก
หอพระไตรปิฏก

พิพิธภัณฑ์ไท-กะได พื้นที่จัดแสดงเครื่องแต่งกาย ผ้าปัก ผ้าทอ เครื่องประดับ สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของกลุ่มชาติพันธุ์ไท-กะได ซึ่งเป็นกลุ่มตระกูลภาษาที่ใหญ่มากตระกูลหนึ่งของโลก (อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.chula.ac.th/museum/712/)

พิพิธภัณฑ์ไท-กะได
พิพิธภัณฑ์ไท-กะได

พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา เป็นห้องนิทรรศการขนาดใหญ่ที่จัดแสดงตัวอย่างสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งแต่ละตัวอย่างได้รับการเก็บรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสมมีทั้งการจัดแสดงโครงกระดูก การสตัฟฟ์ การดอง ในแอลกอฮอล์หรือฟอร์มาลิน ที่นี่ถือเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ด้านชีววิทยาที่ครบถ้วนและเป็นระบบมากที่สุดแห่งหนึ่งของไทย (อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.chula.ac.th/museum/757/)

พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา
พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา

พิพิธภัณฑ์หอยทากของไทย นับเป็นพิพิธภัณฑ์หอยทากบกแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ที่นี่มีหอยทากที่น่าสนใจมากมาย เช่น หอยทากจิ๋วปากแตร (Pupilid Microsnails) ซึ่งมีขนาดเล็กมากจนต้องชมผ่านแว่นขยาย และหอยทากที่พบได้ยาก เช่น หอยมรกต หอยทากจิ๋วเขาวงกต เป็นต้น (อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.chula.ac.th/museum/758/)

พิพิธภัณฑ์หอยทากของไทย
พิพิธภัณฑ์หอยทากของไทย

พิพิธภัณฑ์เต่าและตะพาบ จัดเป็นพิพิธภัณฑ์เต่าและตะพาพที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่นี่จัดแสดงตัวอย่างเต่าบก เต่าทะเล เต่าน้ำจืด และตะพาบทุกชนิดที่พบในประเทศไทย รวมทั้งตัวอย่างเต่าจะทั่วโลก (อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.chula.ac.th/museum/759/)

พิพิธภัณฑ์เต่าและตะพาบ
พิพิธภัณฑ์เต่าและตะพาบ

พิพิธภัณฑ์แมลง ห้องจัดแสดงนี้รวบรวมแมลงและไรกว่า 5,000 ตัวอย่าง โดยแบ่งหมวดหมู่ตามอนุกรมวิธาน (Taxonomy) นอกจากนี้ยังจำลองที่อยู่อาศัยของแมลงต่างๆ ในธรรมชาติ เช่น รังผึ้ง รังมดและชันโรงตามธรรมชาติ (อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.chula.ac.th/museum/760/)

พิพิธภัณฑ์แมลง
พิพิธภัณฑ์แมลง

พิพิธภัณฑ์สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ห้องนิทรรศการนี้มีสัตว์ที่โดดเด่นที่สุดคือ ปูเจ้าพ่อหลวง (Potamonbhumibol Naiyanetr) ปูน้ำจืดตัวใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างสัตว์ไม่มีกระดูกสันสัน ได้แก่ กุ้งและปูที่หายากในประเทศไทย ปูมีพิษ ปูน้ำจืดและกั้งน้ำจืดชนิดใหม่ของโลกที่พบในประเทศไทย ไส้เดือนดินที่ยาวที่สุดในไทย หมึกกระดอง หมึกกล้วยที่ใหญ่ที่สุดในอ่าวไทย เป็นต้น (อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.chula.ac.th/museum/761/)

พิพิธภัณฑ์สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง
พิพิธภัณฑ์สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง

พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา จัดแสดงตัวอย่างหิน แร่ และซากดึกดำบรรพ์ สะเก็ดดาว นิทรรศการการกำเนิดโลก การสำรวจปิโตรเลียม การทำเหมืองแร่ทองคำ (อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.chula.ac.th/museum/762/)

พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา
พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา

พิพิธภัณฑ์พืชศาสตราจารย์กสิน สุวตะพันธุ์ พิพิธภัณฑ์พืชฯ แห่งนี้มีตัวอย่างพืชประมาณ 22,650 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นพืชกลุ่มไม้ดอกกว่า 16,000 ตัวอย่าง และยังมีตัวอย่างเฟิร์น ไบรโอไฟท์ ไลเคนส์ และสาหร่าย นอกจากนี้ ได้จัดแสดงตัวอย่างพืชที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและพฤกษศาสตร์พื้นบ้านด้วย (อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.chula.ac.th/museum/763/)

พิพิธภัณฑ์พืชศาสตราจารย์กสิน สุวตะพันธุ์
พิพิธภัณฑ์พืชศาสตราจารย์กสิน สุวตะพันธุ์

พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงกล้อง ภาพถ่ายเป็นการเฉพาะแห่งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย โดยจัดแสดงถึงวิวัฒนาการของกล้องถ่ายภาพ และการถ่ายภาพตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน (อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.chula.ac.th/museum/764/)

พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ
พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ

พิพิธภัณฑ์พืชมีชีวิต หรือ Living Plant Museum เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ทำการวิจัยพืชในระบบควบคุมอุณหภูมิ (Evaporative cooling system) ภายในอาคารเรือนกระจก จัดแสดงความหลากหลายและวิวัฒนาการของพืชในรูปแบบที่พืชยังมีชีวิต มีพรรณไม้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ต่ำกว่า 200 ชนิด โดยแบ่งการจัดแสดงเป็น 6 รูปแบบ ประกอบด้วย นิทรรศการความหลากหลายของพืชในป่าดิบชื้นหรือป่าฝนเขตร้อน พืชทนแล้ง พืชน้ำ พืชกลุ่มเทอริโดไฟต์ พืชเมล็ดเปลือย และวิวัฒนาการของพืชดอก (อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.chula.ac.th/news/134268/)

พิพิธภัณฑ์พืชมีชีวิต Living Plant Museam
พิพิธภัณฑ์พืชมีชีวิต

โซนคณะทันตแพทยศาสตร์ มีพิพิธภัณฑ์ 2 แห่งที่มีสิ่งล้ำค่าชมยากในประเทศไทย ได้แก่

พิพิธภัณฑสถานวาจวิทยาวัฑฒน์ จัดแสดงประวัติศาสตร์ทันตกรรมไทย อุปกรณ์ทันตกรรม ลักษณะฟันของคนไทย วัสดุทันตกรรมและวิธีการรักษาผู้ป่วยโดยทันตแพทย์รุ่นแรก ๆ นอกจากนี้ สมบัติล้ำค่าของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ หลอดยาสีพระทนต์พระราชทาน ยูนิตทำฟัน และพระเครื่องที่มีพระทนต์ของรัชกาลที่ 9 เป็นส่วนผสม (อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.chula.ac.th/museum/765/)

พิพิธภัณฑสถานวาจวิทยาวัฑฒน์
พิพิธภัณฑสถานวาจวิทยาวัฑฒน์

พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์ นับเป็น 1 ใน 11 พิพิธภัณฑ์ของโลก และเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จัดแสดงร่างกาย และชิ้นส่วนมนุษย์แบบ 3 มิติ ด้วยเทคนิคพลาสติเนชัน (Plastination) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้การแทนที่น้ำและไขมันในเนื้อเยื่อด้วยสารพลาสติกเหลว ทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่มีการเน่าสลาย และสามารถคงสภาพอยู่ได้นาน (อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.chula.ac.th/museum/766/)

พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์
พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์

โซนคณะเภสัชศาสตร์ มีพิพิธภัณฑ์สมุนไพร ที่รวบรวม อนุรักษ์ จัดแสดงตัวอย่างสมุนไพรทั้งของไทยและต่างประเทศ ตำรายา เครื่องมือในการผลิตยาตั้งแต่สมัยโบราณถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงและศึกษาหาความรู้ (อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.chula.ac.th/museum/767/)

พิพิธภัณฑ์สมุนไพร
พิพิธภัณฑ์สมุนไพร

พิพิธภัณฑ์ในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มักเปิดทำการ วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา9.00น.-16.00น. จุฬาฯ นอกจากนี้ จุฬาฯ ยังมีพิพิธภัณฑ์ในต่างจังหวัดด้วย ได้แก่ พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และพิพิธภัณฑ์ชลทัศนสถาน พิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน  ที่ตั้งอยู่บนเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี พิพิธภัณฑ์ทั้งสองแห่งเปิดทำการตั้งแต่วันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 9.00น.-17.00น.

พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์
พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์
พิพิธภัณฑ์ชลทัศนสถาน
พิพิธภัณฑ์ชลทัศนสถาน
พิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน
พิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน

ไม่ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านจากยุคสู่ยุคเพียงใด ตั้งแต่การฟังเพลงจากแผ่นเสียง เทป ซีดี เว็บไซต์ จนไปถึงแอปพลิเคชันสตรีมมิง แต่การซื้อตั๋วชมการแสดงสดยังคงเสน่ห์สำหรับผู้ที่ชื่นชอบในเสียงดนตรีอยู่เสมอ และที่จุฬาฯ ก็มีการแสดงดนตรีสดให้รับชมรับฟังเป็นประจำทุกเดือน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงดนตรีไทย ดนตรีคลาสสิก ดนตรีไทยร่วมสมัย การร้องประสานเสียง ไปจนถึงการแสดงพิเศษของคณะดนตรีจากต่างประเทศ (ติดตามการจัดกิจกรรมดนตรีได้ที่  https://www.cuartculture.chula.ac.th/activities/)

“หอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ เป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีการแสดงดนตรีระดับมาตรฐานสากล ทั้งระบบแสง สี เสียง โดยหอแสดงดนตรีแห่งนี้รองรับผู้ชมได้ถึง 240 ที่นั่ง ทุกเดือนจะมีการจัดแสดงดนตรีในชื่อ “ฟังดนตรีที่จุฬาฯ เป็นการแสดงดนตรีที่จัดขึ้นทุกวันศุกร์แรกของเดือน และกิจกรรมดนตรีอื่นๆ อีก 3-5 ครั้งต่อเดือน”  คุณกรรชิตกล่าว

การร้องประสานเตียง

นอกจากการแสดงดนตรีที่หลากหลายเป็นประจำทุกเดือนแล้ว ยังมีรายการแสดงดนตรีในวาระพิเศษซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ได้แก่ คอนเสิร์ตใหญ่ของ CU Symphony Orchestra จัดขึ้นปีละสองครั้ง ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการแสดงของวงดนตรีไทยปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ซึ่งจัดในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 26 มีนาคม ของทุกปี และเปิดให้ประชาคมจุฬาฯ และบุคคลทั่วไปได้เข้าชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

CU Symphony Orchestra
CU Symphony Orchestra

“การแสดงของวงดนตรีไทยปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์หาฟังได้ยาก แต่มีให้รับชมรับฟังที่จุฬาฯ เป็นการแสดงที่ควรมาฟังอย่างยิ่งอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต” คุณกรรชิตกล่าว พร้อมอธิบายถึงความพิเศษของการแสดงดนตรีประเภทนี้ว่า “วงดนตรีไทยปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ขาดการสืบทอดไปนานจนแทบจะสูญหาย จุฬาฯ ได้ค้นคว้าข้อมูลและเชิญครูเพลงที่เคยบรรเลง และยังมีชีวิตอยู่มาสืบต่อลมหายใจของมรดกทางดนตรีของชาติ สั่งสอนนิสิตรุ่นใหม่ จัดทำเป็นหลักสูตร เปิดการเรียนการสอนขึ้นในคณะศิลปกรรมศาสตร์ เพื่อให้นิสิตได้รับความรู้ สืบทอดและเผยแพร่มรดกทางดนตรีของชาติต่อไป”

การแสดงของวงดนตรีไทยปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์
การแสดงของวงดนตรีไทยปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์

จุดเด่นของวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์อยู่ที่เสียงดนตรีที่ทุ้มนุ่มนวล เนื่องจากในวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์จะไม่ใช้เครื่องดนตรีที่มีเสียงดัง แกร่งกร้าว เล็กแหลม หรือเสียงสูงมาก ๆ เลย  คุณกรรชิตกล่าว

กิจกรรมการเรียนรู้นอกตำราในจุฬาฯ ยังมีอีกมากและหลากหลายตลอดทั้งปี ซึ่งผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารได้ที่เว็บไซต์สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ : https://www.cuartculture.chula.ac.th/ โทรศัพท์ 0 2218 3621 และ Line: CU ART CULTURE และ Facebook : https://www.facebook.com/cuartculture

“เพียงมาเดินเยี่ยมชมอาคารและพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ฟังดนตรี และมีความสุข ชื่นชมและเห็นคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ ก็นับได้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของการสืบต่อวัฒนธรรมไทย และสิ่งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาเพื่อความยั่งยืนด้านศิลปวัฒนธรรมในอนาคต” คุณกรรชิตกล่าวทิ้งท้าย


[1] https://copenhagen.thaiembassy.org/en/content/bangkok-ranks-number-one-as-the-world-s-most-visit?cate=5d81e20015e39c1614002150

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า