รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
28 มิถุนายน 2567
ผู้เขียน ฐนิตา หวังวณิชพันธุ์
หากพูดถึง “รอยแผล” ที่คนเราไม่อยากให้เกิดมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้น “รอยแผลเป็น” เพราะเป็นแผลที่หายยาก หรืออาจจะไม่มีวันหายเลยตลอดชีวิต ยิ่งถ้าเป็นแผลเป็นนูน หรือแผลเป็นที่อยู่นอกร่มผ้า เช่น บริเวณใบหน้าด้วยแล้ว ก็ยิ่งไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นเพราะจะทำให้รู้สึกเสียความมั่นใจ ผู้ที่มีแผลเป็นจึงพยายามหาวิธีรักษารอยแผล ซึ่งในปัจจุบันการรักษารอยแผลเป็นนูนก็มีอยู่หลายวิธี อาทิ ผ่าตัด ฉีดยาสเตียรอยด์ เลเซอร์ และใช้ผลิตภัณฑ์ทาเพื่อลบเลือนรอยแผล
“การฉีดยาสเตียรอยด์จะทำให้ผิวบางลง การเลเซอร์ก็ทำให้เจ็บ ส่วนผลิตภัณฑ์ลบเลือนแผลเป็น โดยมากก็นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.รมย์ฉัตร ชูโตประพัฒน์ ภาควิชาวิทยาการเภสัชกรรมและเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงปัญหาของการรักษารอยแผลเป็น ซึ่งเป็นที่มาของการวิจัยและคิดค้นนวัตกรรม “เจลทรานสเฟอร์โซมเก็บกักกรดเอเชียติก” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
“จากโจทย์ดังกล่าว เราจึงค้นคว้าดูว่ามีสมุนไพรไทยอะไรบ้างที่ดูแลเรื่องรอยแผลเป็นนูนได้ แล้วก็พบว่า “กรดเอเชียติก” ในบัวบกมีฤทธิ์ต้านการอักเสบของผิวหนังได้ดี แต่ไม่สามารถนำมาใช้ทาแผลเป็นได้โดยตรง เราจึงพัฒนาวิธีการที่จะใช้ประโยชน์จากสารสำคัญในบัวบกให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด โดยนำกรดเอเชียติกของบัวบกมาบรรจุลงในอนุภาคทรานสเฟอร์โซมในรูปแบบเจลเพื่อให้สามารถเกาะและซึมลงผิวหนังได้ดียิ่งขึ้น”
ผลงานนวัตกรรม “เจลทรานสเฟอร์โซมเก็บกักกรดเอเชียติก” ได้รับรางวัลเหรียญทอง และถ้วยรางวัลพิเศษ Special Prize for the Best International Invention จาก Korea Invention Promotion Association ในงาน Invention, Innovation and Technology Exhibition 2024 (ITEX 2024) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2567
ผศ.ภญ.ดร.รมย์ฉัตรอธิบายว่า “กรดเอเชียติก” จากพืชบัวบก มีฤทธิ์ต้านการอักเสบของผิวหนัง ฆ่าเชื้อ และทำให้แผลสมานตัวได้ดี แต่เป็นสารละลายน้ำได้ยาก เมื่อทาลงบนผิวโดยตรง สารดังกล่าวจะไม่สามารถซึมลงสู่ชั้นผิวหนังบริเวณที่เกิดการอักเสบได้ จึงจำเป็นต้องสรรหาเทคโนโลยีที่จะช่วยนำส่ง “สารเอเชียติก” จากบัวบกเข้าไปในผิวหนังบริเวณที่ต้องการรักษา ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวเรียกว่าทรานสเฟอร์โซม (Transfersomes)
“อนุภาคทรานสเฟอร์โซมเป็นเทคนิคการเก็บกักสารไว้ในอนุภาคขนาดนาโนเมตร อนุภาคมีคุณสมบัติยืดหยุ่นได้ดี ทำให้นำส่งสารจากพืชบัวบกเข้าไปในผิวหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผนวกกับการที่ทีมวิจัยได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในรูปแบบของเจล ซึ่งมีลักษณะคล้ายฟิล์มที่สามารถเกาะบริเวณแผลได้ดี ดังนั้น เมื่อกรดเอเชียติกเกาะบริเวณแผลเป็นได้นานขึ้น โอกาสที่สารจะซึมเข้าไปบริเวณแผลก็มากขึ้นเช่นกัน”
ผศ.ภญ.ดร.รมย์ฉัตรอธิบายกระบวนการของร่างกายที่พยายามจัดการกับบาดแผลและสมานแผล 3 ขั้นตอนโดยสังเขป ดังนี้
ขั้นตอนแรก เมื่อเกิดบาดแผลขึ้น ร่างกายจะพยายามทำให้เลือดหยุดไหล มีการอักเสบเกิดขึ้นเพื่อทำลายเชื้อโรคและกำจัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว
ขั้นตอนที่ 2 ร่างกายพยายามสร้างเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมาทดแทนเนื้อเยื่อที่ตายไป
ขั้นตอนที่ 3 ร่างกายพยายามปรับรูปร่างแผล เพื่อให้กลับมาใกล้เคียงของเดิมให้มากที่สุด
“หากกระบวนการสมานแผลในขั้นตอนที่ 2 ไม่เป็นไปตามปกติ เนื่องจากเกิดการอักเสบยาวนานเรื้อรังหรือรุนแรง ก็จะทำให้ร่างกายไม่สามารถสมานแผลได้ตามปกติ ส่งผลให้การทำงานของร่างกายในขั้นตอนที่ 3 ซึ่งเป็นกระบวนการปรับรูปร่างให้แผลกลับมามีรูปร่างเหมือนเดิมผิดปกติไปด้วย ร่างกายจะสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาเรื่อย ๆ ทำให้เกิดรอยแผลนูนขึ้นมา” ผศ.ภญ.ดร.รมย์ฉัตรอธิบาย
การอักเสบเรื้อรังคือจุดสำคัญที่ทำให้เกิดแผลเป็นนูน ดังนั้น หากสามารถยับยั้งการอักเสบที่มากเกินไปได้ ก็จะช่วยลดการนูนของบาดแผลได้
“เจลทรานสเฟอร์โซมเก็บกักกรดเอเชียติก” มีฤทธิ์ต้านการอักเสบบริเวณผิวหนัง ซึ่งเท่ากับว่าช่วยลดโอกาสการนูนของบาดแผลได้มาก เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เช้า-เย็นใน 2 สัปดาห์แรก ก็จะเริ่มเห็นผล ร่างกายจะปรับรูปร่างเนื้อที่นูนให้กลับมาใกล้เคียงเดิมมากที่สุด” ผศ.ภญ.ดร.รมย์ฉัตรกล่าวและแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์เจลหลังจากเกิดแผล 3 วัน หรือช่วงที่แผลแห้งสนิทแล้ว
นอกจากจะช่วยดูแลเรื่องแผลเป็นนูนแล้ว “เจลทรานสเฟอร์โซมเก็บกักกรดเอเชียติก” ยังสามารถใช้กับแผลเป็นที่มีรอยดำ อันเกิดมาจากสิว การแกะเกาแผล หรือแผลตกสะเก็ดได้ด้วย
“ปกติแผลเป็นนูนจะทำให้เรารู้สึกตึง ๆ รั้ง ๆ บริเวณแผล ผิวบริเวณนั้นจะแห้งมากขึ้น ซึ่งอาจเกิดรอยดำหรือรอยแดงตามมาได้ การใช้ผลิตภัณฑ์เจลทรานสเฟอร์โซมเก็บกักกรดเอเชียติก จะทำให้ผิวหนังบริเวณแผลเป็นนั้นยืดหยุ่นและชุ่มชื้นมากขึ้น อีกทั้งลดปริมาณเม็ดสีบริเวณที่เป็นรอยด้วย จึงสามารถช่วยดูแลปัญหารอยดำบริเวณผิวหนังที่เกิดการอักเสบได้”
ผศ.ภญ.ดร.รมย์ฉัตรกล่าวว่าเจลทรานสเฟอร์โซมเก็บกักกรดเอเชียติก จะมีประสิทธิภาพมากที่สุดเมื่อใช้กับแผลแป็นที่ไม่เกิน 1 ปี ส่วนแผลเป็นที่นานกว่า 1 ปี ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน แต่อาจต้องใช้ผลิตภัณฑ์ในระยะยาวนานกว่าจะเริ่มเห็นผล
“เราสามารถใช้เจลนี้อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ต้องการโดยไม่มีอันตรายใด ๆ เนื่องจากเจลทรานสเฟอร์โซม มีส่วนประกอบของสารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนใน CosIng EU database ว่า “มีความปลอดภัย เมื่อใช้บนผิวหนัง” ซึ่งแม้ผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย ก็สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย” ผศ.ภญ.ดร.รมย์ฉัตรกล่าวให้ความมั่นใจแก่ผู้บริโภค
อนุภาคทรานสเฟอร์โซมเป็นนวัตกรรมสำหรับการกักเก็บสาร ซึ่งนอกจากกรดเอเชียติกจากบัวบกแล้ว ยังสามารถพัฒนาไปใช้กับสารสำคัญตัวอื่น ๆ ได้อีก
“ด้วยคุณสมบัติของเจลทรานสเฟอร์โซมที่สามารถลดรอยด่างดำและเพิ่มความยืนหยุ่นของผิวหนัง เราสามารถนำไปปรับสูตรเพื่อต่อยอดกับผลิตภัณฑ์สำหรับการชะลอวัยได้เช่นกัน” ผศ.ภญ.ดร.รมย์ฉัตรกล่าวถึงอนาคตการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีทรานสเฟอร์โซมในอุตสาหกรรมการผลิตยาและเครื่องสำอาง
นวัตกรรม “เจลทรานส์เฟอร์โซมกักเก็บกรดเอเชียติก” เป็นผลงานสตาร์ทอัพโดยบริษัท บิวตี้ แพลนท์ แลบอราทอรี จำกัด ภายใต้การบริหารงานของคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และได้รับการบ่มเพาะโดย CU Innovation Hub ขณะนี้ผลงานได้ทำการจดสิทธิบัตรโดยสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่เรียบร้อย และพร้อมสำหรับการจดทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง โดยตั้งเป้าหมายการจดทะเบียนเป็นเครื่องมือแพทย์หรือยาในอนาคต ผู้สนใจร่วมทุนทางธุรกิจสามารถติดต่อได้ที่ bplab.contact@gmail.com
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
คีเฟอร์น้ำเกสรดอกกุหลาบ เครื่องดื่มสุขภาพต้านอนุมูลอิสระ ผลงานนิสิตจุฬาฯ คว้าเหรียญทองระดับโลก
The Skinov’e นวัตกรรมสกินแคร์จากเปลือกกล้วยหอมทองปทุม ผลงานวิจัยจุฬาฯ ที่ทำให้สิวเป็นเรื่องกล้วยๆ
น้ำยายืดอายุกระดาษ นวัตกรรมจุฬาฯ อนุรักษ์เอกสารและภาพศิลปะโบราณให้คงสภาพอีกนานนับทศวรรษ
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้