Highlights

ทางออกวิกฤตราคาโกโก้ไทย “ศูนย์นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาโกโก้ไทยเพื่อความยั่งยืน จุฬาฯ” เติมหวังให้เกษตรกรและธุรกิจโกโก้ไทย


จุฬาฯ ตั้งศูนย์นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาโกโก้ไทยเพื่อความยั่งยืน กู้วิกฤตราคาโกโก้ตกต่ำด้วยความรู้ที่ถูกต้องให้เกษตรกร ตั้งแต่การปลูก เก็บเกี่ยว จนถึงการหมัก ส่งเสริมธุรกิจแปรรูปในพื้นที่ ย้ำโกโก้ไทยยังไปต่อได้ แต่ต้องเน้น “ตลาดคุณภาพ” งานคราฟที่อวดเอกลักษณ์กลิ่นและรสโกโก้ไทย 


การแปรปรวนของสภาพอากาศและภาวะโลกร้อนมีส่วนทำให้ประเทศทางฝั่งแอฟริกาและอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและครองตลาดโกโก้มายาวนาน เก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อยลง อุตสาหกรรมโกโก้จึงหันมาสนใจการผลิตจากฟากฝั่งประเทศในเอเชีย เช่นประเทศไทย ที่มีภูมิประเทศและอากาศเหมาะสมกับการปลูกโกโก้ –  ภูมิประเทศอยู่ในเส้นศูนย์สูตรบวก-ลบ 20 องศา อุณภูมิไม่ต่ำจนเกินไป และมีความชื้นพอดี 

ดังนั้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โกโก้ (CaCao) จึงกลายเป็น “พืชเศรษฐกิจใหม่ ราคาดี มีอนาคต” ที่เกษตรกรไทยให้ความสนใจหันมาปลูกกันอย่างกว้างขวาง อย่างเช่นที่จังหวัดน่าน เกษตรกรหลายรายทำสวนโกโก้กันแทบทุกอำเภอ จนจังหวัดน่านได้ชื่อว่าเป็น “ จังหวัดโกโก้” กันเลยทีเดียว 

แต่แล้ว ราคาโกโก้ที่ดีในตอนต้นกลับดิ่ง ไม่มีคนรับซื้อ ผลผลิตถูกคัดทิ้งเป็นจำนวนมาก

เกิดอะไรขึ้นกับตลาดโกโก้? เกษตรกรที่ลงทุนปลูกโกโก้ไปแล้วจะทำอย่างไร? โกโก้ยังเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ อนาคตดีอยู่หรือ? วิกฤตราคาโกโก้ตกต่ำจะมีทางออกอย่างไร? เหล่านี้เป็นโจทย์ที่ทำให้สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญศิภรณ์ ณ น่าน ริเริ่มจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาโกโก้ไทยเพื่อความยั่งยืน (The Innovation Center for Research and Development of Sustainable Thai Cacao (ISTC) ในปี 2566 เพื่อหาทางออกช่วยเกษตรกรและหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศเศรษฐกิจโกโก้ในประเทศไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญศิภรณ์ ณ น่าน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญศิภรณ์ ณ น่าน 
ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาโกโก้ไทยเพื่อความยั่งยืน

ผศ.ดร.ธัญศิภรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาโกโก้ไทยเพื่อความยั่งยืนกล่าวสะท้อนปัญหาและโอกาสในวิกฤตโกโก้ว่า “โกโก้ยังคงเป็นพืชที่มีอนาคตอยู่ มีบริษัทที่รับซื้อผลผลิต และผลิตโปรดักซ์จากโกโก้อยู่ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นหลัก ๆ แล้วมาจากการที่เกษตรกรขาดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโกโก้ ตั้งแต่เรื่องการเพาะปลูกดูแล การเก็บเกี่ยว ไปจนถึงการหมัก เรียกได้ว่าสิ่งที่เกษตรกรทำ ๆ กันมาบนความไม่รู้ เกษตรกรอยากได้ผลผลิตดี ราคาสูง แต่ไม่ดูแลต้นพันธุ์ ผลผลิตจึงออกมาไม่ดี ไม่เป็นที่ต้องการของผู้รับซื้อ โกโก้ก็ขายไม่ได้ เป็นเหตุให้เกิดวิกฤตราคาตกต่ำ”

ศูนย์ ISTC ดำเนินการภายใต้โครงสร้างของบริษัท ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจามจุรี จำกัด มีเป้าหมายที่จะทำให้พืชเศรษฐกิจใหม่สร้างความยั่งยืนให้เกษตรกร ชุมชนและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยมีภารกิจหลักในการศึกษาวิจัย พัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี และยกระดับการจัดการคุณภาพผลผลิตและผลิตภัณฑ์โกโก้ไทย ซึ่งเน้นไปที่งานให้บริการข้อมูลและองค์ความรู้เพื่อเพิ่มสมรรถนะและศักยภาพ “คนโกโก้” ในทุกหน่วยธุรกิจโกโก้ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ควบคู่ไปกับ “การพัฒนาคุณภาพเมล็ดโกโก้และผลิตภัณฑ์จากโกโก้ไทย”นอกจากนี้ยังมีการให้บริการด้านการรับรองคุณภาพด้วยนวัตกรรมการจัดการคุณภาพผลผลิตโกโก้ และระบบรับรองมาตรฐานคุณภาพเมล็ดโกโก้ เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานโกโก้ไทยในเวทีโลก

ย้อนวิกฤตโกโก้ เริ่มต้นก็เจ๊งแล้ว

“โกโก้คือพืชราคาดีและมีอนาคต” เป็นข้อความรณรงค์ที่จูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกโกโก้ ซึ่งจากการสำรวจของศูนย์ ISTC พบว่าเกษตรกรตัดสินใจหันมาปลูกโกโก้ด้วยข้อมูลจูงใจ 4 ประการ คือ 

  1. โกโก้เป็นพืชอายุยาว 70 ปี
  2. ให้ผลผลิตทั้งปี 
  3. โรคและแมลงน้อย-ดูแลง่าย ไม่ต้องเอาใจใส่มาก
  4. การประกันราคาที่ 5 บาท และมีตลาดรองรับ

“แรงจูงใจเหล่านี้โดยเฉพาะด้านราคาทำให้เกษตรกรหันมาปลูกโกโก้กันแทบทั่วประเทศ ซึ่งตอนที่ผลผลิตล็อตแรกออกมา มีการปั่นราคาโกโก้ขึ้นไปทีเดียว 7 เท่าของราคาประกัน มีการรับซื้อผลโกโก้ในราคากิโลกรัมละ 35 บาท ราคาดีขนาดนี้ เกษตรกรจึงหันมาปลูกกันใหญ่ โค่นไร่สวนอย่างอื่นเพื่อที่จะเอาพื้นที่มาปลูกโกโก้ อย่างที่จังหวัดน่าน เกษตรกรหันมาปลูกโกโก้กันแทบทั้งจังหวัดจนกลายเป็นจังหวัดที่มีโกโก้มากที่สุดในประเทศไทย” ผศ.ดร.ธัญศิภรณ์กล่าว

ผลโกโก้ที่ออกมาจำนวนมาก แต่ไม่ได้คุณภาพ
ผลโกโก้ที่ออกมาจำนวนมาก แต่ไม่ได้คุณภาพ

แต่ไม่นานหลังจากนั้น โกโก้ก็ราคาตกอย่างหนัก ไม่มีคนรับซื้อ ผลผลิตขายไม่ออกและโดนคัดทิ้งเนื่องจากผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งจากการสุ่มผลโกโก้จากเกษตรกรจำนวน 100 กิโลกรัม ปรากฎว่าผลที่ใช้ได้ มีไม่ถึง 15% 

“นั่นหมายความว่าคนรับซื้อต้องทิ้งผลผลิต 85% คนรับซื้อก็เสี่ยงจากการรับซื้อผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ คนปลูกก็เสี่ยงที่จะขายไม่ได้ทั้งหมด ความไม่รู้ ในการส่งเสริมการปลูก การเก็บผลผลิต และการทำธุรกิจ ทำให้เกษตรกร ผู้รับซื้อและใครก็ตามที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจนี้ เริ่มต้นก็เจ๊งแล้ว” ผศ.ดร.ธัญศิภรณ์กล่าว

ฟื้นชีพพืชเศรษฐกิจใหม่ด้วยงานวิจัย ปลูกความรู้ให้เกษตรกร

ผศ.ดร.ธัญศิภรณ์กล่าวว่าประเทศไทยมีการปลูกโกโก้มานานกว่า 40 ปีแล้ว แต่องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับโกโก้ตั้งแต่กระบวนการผลิต เก็บเกี่ยว หมัก ยังเป็นเรื่องใหม่ในหมู่เกษตรกร ดังนั้น การแก้วิกฤตโกโก้ไทยจึงต้องกลับมาที่องค์ความรู้ งานวิจัย และ “เริ่มต้นใหม่” ด้วยการปลูกความรู้ที่ถูกต้องให้เกษตรกร ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของศูนย์ ISTC 

แต่การเปลี่ยนความเชื่อและวิถีเดิมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

“พื้นที่ประเทศไทยมีการปลูกโกโก้เยอะมาก เกือบ 20,000 ไร่ที่ขึ้นทะเบียน แล้วยังมีที่ไม่ขึ้นทะเบียนอีกมาก แต่ด้วยกำลังที่เรามี ในปีแรกนี้ ศูนย์ฯ เริ่มต้นได้เพียงกับ 200-300 ครอบครัวในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ น่าน เชียงใหม่ เชียงราย เลย  พิษณุโลก และนครศรีธรรมราช” ผศ.ดร.ธัญศิภรณ์กล่าว

“เราอยากให้ความรู้กับเกษตรกรโกโก้ทั้งประเทศ แต่เกษตรกรไม่ค่อยเปิดรับความรู้ใหม่ ๆ เท่าไร ยังยึดติดกับวิธีและความเชื่อเดิมของตนเองที่ว่าโกโก้เป็นพืชที่ปลูกเลี้ยงแบบปล่อยให้โตเองตามธรรมชาติได้ ไม่ต้องดูแลมาก และเมื่อผลออกก็เก็บขายได้เลย ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด จนเมื่อมีคนที่เริ่มทำตามที่เราบอก แล้วได้ผลผลิตดี ราคาดี เกษตรกรก็เริ่มหันมาสนใจเรียนรู้จากเรามากขึ้น” 

เวลาและความรู้เป็นสิ่งที่เกษตรกรผู้สนใจปลูกโกโก้ต้องมี ผศ.ดร.ธัญศิภรณ์กล่าวเน้น

 “เกษตรกรต้องมีความรู้ในการเลือกพื้นที่ที่เหมาะจะปลูกโกโก้ เช่น พื้นที่นั้นต้องมีระบบน้ำ เกษตรกรต้องมีเวลาดูแลเอาใจใส่โกโก้ ให้น้ำและปุ๋ย และมีความรู้ความเข้าใจในการปลูกการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ถูกต้อง”

ผศ.ดร.ธัญศิภรณ์กล่าวว่าปัจจุบัน ศูนย์ ISTC กำลังพัฒนาแอปพลิเคชันที่แสดงข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกพื้นที่ที่เหมาะกับการปลูกโกโก้ สำหรับผู้ที่สนใจปลูกโกโก้เป็นอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่ เกษตรกรที่ปลูกอยู่ และคนที่เลิกปลูกไปแล้วและอยากกลับเข้ามาในแวดวงโกโก้อีกครั้ง

นอกจากการปลูกแล้ว เกษตรกรยังขาดความรู้เกี่ยวกับการเก็บผลโกโก้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากต่อคุณภาพผลผลิตและราคาที่จะได้รับซื้อ

ผศ.ดร.ธัญศิภรณ์อธิบายว่า “คาเคา” กับ “ผลโกโก้” คือสิ่งเดียวกันในภาษาอังกฤษ ผลที่เก็บมาจากต้นและยังไม่ผ่านกระบวนการหมักจะเรียกว่า “คาเคา” หรือ “คาเคาพอท” แต่พอผ่านกระบวนการหมักแล้ว จะเรียกว่า “เมล็ดโกโก้”

 “เวลาเก็บผลโกโก้ ต้องเลือกลูกที่ได้คุณภาพที่สุด แต่ด้วยความไม่รู้ เกษตรกรคิดว่าผลแบบไหนก็เก็บได้ เก็บมาขายได้หมด ซึ่งในความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย”

ผศ.ดร.ธัญศิภรณ์เผยผลงานวิจัยที่พบว่าผลโกโก้ที่เก็บวันแรกกับผลที่เก็บไว้ผ่านไป 7-15 วัน มีคุณภาพต่างกัน 

“คุณภาพของผลโกโก้ที่เก็บวันแรกนั้นจะดีที่สุด ยิ่งเก็บผลโกโก้ออกจากต้นนานเท่าไร คุณภาพจะแย่ลงไปเรื่อย ๆ ทำให้เกิดวิกฤตโกโก้ขายไม่ได้ ซึ่งตรงนี้เป็นความรู้ที่เกษตรกรไม่รู้ ไม่มีใครบอก” 

ผลโกโก้ที่เก็บวันแรกและได้คุณภาพ
ผลโกโก้ที่เก็บวันแรกและได้คุณภาพ
ผลที่เก็บไว้นานและไม่ได้คุณภาพ
ผลที่เก็บไว้นานและไม่ได้คุณภาพ

“นอกจากนี้ ปุยขาว ๆ ที่เห็นอยู่ในเมล็ดข้างในคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้การหมักเมล็ดโกโก้ได้ผลดี ยิ่งปุยขาวฟู ยิ่งจะทำให้ผลผลิตเมล็ดโกโก้ที่ผ่านการหมักได้คุณภาพดี ความฝาด ความขมจะลดลง กลิ่นรสก็จะมีเอกลักษณ์เฉพาะ กล่าวได้ว่าคุณภาพของเมล็ดโกโก้จะดีก็ขึ้นอยู่กับการหมักที่สมบูรณ์ และการหมักที่สมบูรณ์ก็ขึ้นอยู่กับปุยขาวที่อยู่ในเมล็ดสดตอนเก็บ ถ้าดีสมบูรณ์ก็จะทำให้ผลผลิตดีตามไปด้วย” 

ส่งเสริมธุรกิจแปรรูปเบื้องต้น (การหมัก) ในพื้นที่ คงคุณภาพโกโก้

จากการให้ความรู้ “คนโกโก้ที่ต้นน้ำ” (เกษตรกร) ศูนย์ ISTC ยังมองการแก้ไขปัญหาโกโก้ทั้งระบบ โดยให้ความสำคัญกับ “คนโกโก้ที่กลางน้ำ” (คนแปรรูปเบื้องต้น) ด้วย

“เกษตรกรจะอยู่ได้ คนแปรรูปต้องอยู่ให้ได้ก่อน” ผศ.ดร.ธัญศิภรณ์กล่าว พร้อมเผยวิจัยของศูนย์ฯ ที่ชี้ว่าความสำเร็จและความคุ้มค่าของโกโก้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการแปรรูปเมล็ดโกโก้เบื้องต้น หรือการหมัก ในพื้นที่

“คนปลูกโกโก้มีเยอะเต็มประเทศ แต่คนแปรรูปผลผลิต (การหมัก) ที่ได้คุณภาพและขายได้นั้นยังไม่มี และนี่คือกลุ่มคนที่เราต้องให้ความรู้ และทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาธุรกิจในพื้นที่”

ผศ.ดร.ธัญศิภรณ์อธิบายว่าพื้นที่ใดมีการปลูกโกโก้ พื้นที่นั้นจะต้องมีการแปรรูปขั้นต้นอย่างน้อยให้เป็นเมล็ดแห้งเพื่อคงคุณภาพโกโก้ 

“เพราะถ้าเก็บเกี่ยวผลผลิตโกโก้ที่น่าน แล้วมีผู้มารับซื้อและส่งไปโรงงานแปรรูปที่เชียงราย การขนส่งที่ใช้ระยะเวลาจะทำให้คุณภาพโกโก้ลดลง ซึ่งไม่คุ้ม” 

คัดเกรด A สร้างมาตรฐานโกโก้ไทย

การเก็บเกี่ยวส่งผลต่อคุณภาพการหมัก ที่เป็นตัวทำให้เกิดต้นทุนและความคุ้มค่าของเมล็ดโกโก้ ดังนั้น ศูนย์ ISTC จึงได้สร้างมาตรวัดคุณภาพของผลโกโก้ (Grading System) เพื่อให้เป็นมาตรฐานที่ทุกคนรับรู้และยอมรับว่าผลโกโก้แบบใดที่จะได้การรับซื้อ ระดับความสุกของผลเป็นแบบใด พร้อมกับมีการแบ่งเกรดผลโกโก้

“ผลที่ศูนย์ฯ รับซื้อเพื่อนำไปหมักและผลิตเป็นเมล็ดโกโก้ จะเลือกเฉพาะผลที่เป็นเกรด A เท่านั้น”  

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ธัญศิภรณ์อธิบายว่าการคัดเลือกผลผลิตเกรด A มาทำการหมักเพื่อให้เป็นผลโกโก้แห้งเป็นขั้นตอนที่จะทำให้โกโก้ไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เฉพาะถิ่น และมีทั้งคุณค่าและมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งเมื่อนำไปผลิตเป็นช็อกโกแลต ก็จะมีราคากิโลกรัมละหลายพันบาท

“เมล็ดโกโก้แห้งที่ผ่านการหมักของทางศูนย์ฯ จึงมีคุณภาพและได้ราคาในท้องตลาด แตกต่างอย่างมากกับโกโก้ที่ส่งตามโรงงานอุตสาหกรรม เราอยากให้ผู้ที่ได้ชิมโกโก้ของเรามีภาพจำว่าโกโก้ของเรามีเอกลักษณ์ มีกลิ่นและรสที่ดี” 

            ส่วนผลผลิตโกโก้ที่ตกเกรด ทางศูนย์ ISTC กำลังวิจัยหาวิธีเพิ่มมูลค่าโดยการนำมาทำเป็นอาหารให้กับวัวเนื้อ

เพิ่มมูลค่าด้วยเรื่องเล่าอัตลักษณ์โกโก้ไทยที่หลากหลาย

แม้จะมีภูมิประเทศที่เป็นเกาะ พื้นที่น้อยและอากาศเย็น ซึ่งไม่ค่อยเหมาะกับการปลูกโกโก้ แต่ไต้หวันก็ปลูกโกโก้ได้ แม้จะยากและมีผลผลิตน้อย แต่ไต้หวันสามารถขายโกโก้ได้ราคาดีถึงมากกว่า 1,200 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ประเทศไทยที่ภูมิประเทศและอากาศเหมาะสมกว่า พื้นที่ปลูกก็มากกว่า แต่ราคาผลผลิตโกโก้ของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 170-300บาท ต่อกิโลกรัมเท่านั้น 

“มีเสียงชื่นชมว่า “โกโก้ไต้หวันกัดไปคำหนึ่ง กลิ่นดอกไม้ฟุ้งออกจมูก” คำพูดนี้สะท้อนคุณภาพการปลูกและการหมักที่สมบูรณ์ ซึ่งทำให้เกิดอัตลักษณ์และเรื่องเล่าที่สร้างมูลค่าในตลาดได้”  

โกโก้ไทยก็มีศักยภาพ มีอัตลักษณ์และเรื่องเล่าที่โดดเด่นได้เช่นกัน ผศ.ดร.ธัญศิภรณ์กล่าวว่าโกโก้เป็นพืชที่มีอัตลักษณ์แตกต่างกันตามพื้นที่ปลูก แม้จะเป็นสายพันธุ์เดียวกัน (ที่นิยมปลูกในไทยคือสายพันธุ์ชุมพร1) แต่เมื่อนำไปปลูกต่างพื้นที่ ผลผลิตที่ได้ก็ต่างกัน ทั้งกลิ่นและรสชาติ นอกจากพื้นที่ปลูกแล้ว กระบวนการหมักด้วยจุลินทรีย์ในพื้นที่ที่ต่างกัน (จุลินทรีย์มีส่วนสำคัญในขั้นตอนการหมัก) ก็ทำให้กลิ่นและรสที่ได้จากการหมักต่างกันไปอีกด้วย

“จุดอ่อนของโกโก้คือเป็นพืชที่ข้ามพันธุ์กันได้ง่าย ต้นเดียวกัน ปลูกในสวนเดียวกัน ผลผลิตหน้าตาไม่เหมือนกัน เรื่องนี้ควบคุมยาก แต่เราสามารถปรับปรุงคุณภาพให้เป็นแบบเดียวกันได้ โดยการเสียบยอด ติดตา ให้เป็นแบบเดียวกัน ทั้งตัวผลผลิตและคุณภาพของผลโกโก้ จนเกษตรกรสามารถสร้าง Single Origin ของเมล็ดโกโก้ที่ดีได้ พร้อมทั้งมีเอกลักษณ์การหมักของตนเอง เป็นเสน่ห์ที่เราสามารถเล่าได้ (Story Telling) เพื่อสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์”

ผศ.ดร.ธัญศิภรณ์กล่าวว่าศูนย์ ISTC ถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูก การจัดการต้นโกโก้ ไปจนถึงนวัตกรรมการหมักที่มีคุณภาพ และมีการใช้เครื่องอิเล็กทรอนิกโนส (จมูกอิเลคทรอนิค) ช่วยแยกกลิ่นรสจากการหมักด้วย ทั้งหมดนี้เพื่อสืบสานกลิ่นรสที่ดีและสร้างเอกลักษณ์ให้กับโกโก้ไทย

“ทิศทางของโกโก้ไทยควรมุ่งไปที่งานคุณภาพ ตลาดคุณภาพ เน้นการขายงานคราฟ ขายงานกลิ่น ซึ่งมีมูลค่าสูง และเมื่อผนวกกับการเล่าเรื่อง (Story Telling) ก็จะทำให้โกโก้ไทยโดดเด่นและได้ราคา เพราะนักชิม นักเล่นงานคราฟให้ความสนใจและพร้อมที่จะจ่าย นี่คืออีกขั้นของการเพิ่มมูลค่าของโกโก้ไทย นอกจากนี้เราก็พยายามส่งเมล็ดโกโก้ไทยเข้าประกวดในเวทีโลก เพื่อสร้างชื่อให้โกโก้ไทยในรูปแบบการประกวดด้วยเช่นกัน”

คุณภาพคืออนาคตและความยั่งยืนโกโก้ไทย

การผลิตโกโก้ในระดับอุตสาหกรรมมีความเสี่ยง ผศ.ดร.ธัญศิภรณ์กล่าว หลายประเทศทั่วโลกที่ผลิตโกโก้ในระดับอุตสาหกรรมจะเน้นการผลิตด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด ด้วยกลไกราคาและการกดราคาผลผลิต ทำให้โกโก้ไม่อาจเป็นพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจได้จริง โดยเฉพาะกับเกษตรกร  

โกโก้ไทยยังมีอนาคต แต่เราต้องเข้าไปอยู่ในกลุ่มตลาดคุณภาพเท่านั้น ผลผลิตโกโก้ของไทยจะเป็นงานที่ผู้บริโภคซื้อเพราะต้องการดื่มด่ำกับศิลปะ ประเทศไทยและตลาดโกโก้ของไทยควรไปต่อด้วยแนวทางนี้” ผศ.ดร.ธัญศิภรณ์กล่าว พร้อมเน้นว่าคุณภาพโกโก้ไทยต้องยืนอยู่บนฐานขององค์ความรู้ การวิจัยและการพัฒนานวัตกรรม และการพัฒนาสมรรถนะ “คนโกโก้” ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ 

 “ต้นโกโก้มีอายุถึง 70 ปี เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ซึ่งเมื่อเรามีความรู้วิธีการปลูก การเก็บเกี่ยว การหมักที่ดีและได้คุณภาพ เราจะควบคุมราคาที่เหมาะสม และผลผลิตอยู่ในตลาดที่เหมาะสม เหล่านี้คือสิ่งที่จะทำให้โกโก้เป็นพืชเศรษฐกิจของเราในอนาคตอย่างแท้จริง”  

ศูนย์ ISTC ส่งเสริมระบบนิเวศธุรกิจโกโก้

ปัจจุบันศูนย์ ISTC เป็นผู้รับซื้อผลผลิตและทำการคัดเกรดโกโก้ เกษตรกรที่ร่วมโครงการมีหน้าที่ที่ดูแลต้นพันธุ์ให้ถูกต้องตามหลักการ เก็บเกี่ยวอย่างถูกวิธี และหมักผลผลิตให้ถูกต้องก่อนที่จะนำผลผลิตมาส่งให้กับทางศูนย์เพื่อคัดเกรดผลผลิต จากนั้นทางศูนย์ก็จะนำส่งผลิตผลให้พาร์ทเนอร์ในการสร้างผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตต่อไป

“เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกับศูนย์ฯ และดำเนินการตามแนวทางและองค์ความรู้ที่เราให้ ผลผลิตของเกษตรกรจะได้ราคาดีกว่าราคาตลาด เพราะผลผลิตมีคุณภาพ ขายได้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมั่นใจได้ว่าถ้าเดินตามแนวทางนี้ โกโก้ก็จะเป็นพืชที่ทำรายได้ให้อย่างมั่นคงและยั่งยืนแน่นอน” 

เกษตรกรและผู้ที่สนใจการปลูกโกโก้สามารถติดต่อขอความรู้หรือเรียนรู้การปลูกโกโก้และการเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมถึงเรียนรู้การหมักที่ถูกต้องได้ที่ศูนย์นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาโกโก้ไทยเพื่อความยั่งยืน (ISTC) ซึ่งมีพื้นที่อยู่ใน 6 จังหวัด ได้แก่ น่าน, เชียงราย, เชียงใหม่, เลย, พิษณุโลก และนครศรีธรรมราช นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังเปิดรับสมาชิกที่สนใจรับความรู้และข่าวสาร อีกทั้งร่วมกิจกรรมออกร้านและพบปะทำความรู้จักกันระหว่างสมาชิก สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/cusarcocoa เบอร์โทร. 092 538 4328

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า