Highlights

ร้อยแก้วแนวต่างโลก! (Isekai) ชุบชีวิตวรรณคดีไทยด้วยรูปแบบร่วมสมัย โดนใจคนรุ่นใหม่

ร้อยแก้วแนวต่างโลก (Isekai) ชุบชีวิตวรรณคดีไทยด้วยรูปแบบร่วมสมัยโดนใจคนรุ่นใหม่

จากร้อยกรองสู่ร้อยแก้วสไตล์แนวต่างโลก นวัตกรรมสื่อการเรียนการสอนวรรณคดีไทยของอาจารย์เอกภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ที่ชวนคนรุ่นใหม่พูดคุย ตั้งคำถามและอภิปรายตัวละครและเรื่องราวในวรรณคดีไทย เชื่อมโยงกับชีวิตและปัญหาสังคมในปัจจุบัน เปลี่ยนห้องเรียนวรรณคดีไทยให้มีความร่วมสมัย สนุก และไม่น่าเบื่ออีกต่อไป


“อ่านแล้วสนุกมากเลยวรรณคดีไทยน่าสนใจมากๆ ถ้าสมัยก่อนเราได้เรียนวิชาวรรณคดีไทยในรูปแบบนี้ เราคงจะเรียนเอกภาษาไทยและวรรณคดีไทยไปแล้วแน่ๆ” นักอ่านวัยทำงานคนหนึ่งสะท้อนความรู้สึกหลังจากที่ได้อ่านหนังสือภาพประกอบสำหรับเยาวชนเรื่อง “ขุนช้างขุนแผนตอนขุนช้างถวายฎีกาฉบับ ‘ร้อยแก้ว’ (แนวต่างโลก)” หนึ่งในผลงานนอกกรอบของผู้ช่วยศาสตราจารย์หัตถกาญจน์ อารีศิลป อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ที่พยายามปรับภาพลักษณ์วรรณคดีไทยให้ร่วมสมัยโดนใจคนรุ่นใหม่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์หัตถกาญจน์ อารีศิลป
อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์หัตถกาญจน์ อารีศิลป
อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์

“ปัญหาการไม่สนใจวรรณคดีไทยของเยาวชนอาจไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาในวรรณคดี แต่อยู่ที่วิธีการนำเสนอวรรณคดีไทยในการเรียนการสอนมากกว่า เราจะเห็นกระแสความนิยมเรื่องดัดแปลงจากวรรณคดีไทยในสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือการ์ตูน แฟนอาร์ต(Fan Art) หรือตัวละครในเกม นั่นแสดงว่าคนรุ่นใหม่ก็สนใจวรรณคดีไทย เพียงแค่เราต้องปรับภาพลักษณ์วรรณคดีไทยเสียใหม่ให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าเข้าใจและเข้าถึงได้”

ด้วยความรักในวรรณคดีไทยและความตั้งใจที่จะทำให้วรรณคดีไทยมีชีวิตอยู่ต่อไปในโลกสมัยใหม่ ผศ.หัตถกาญจน์ จับมือกับ รองศาสตราจารย์ ดร. กิตติชัย เกษมศานติ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ ภาควิชานิเทศศิลป์ สาขาการถ่ายภาพ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จัดทำหนังสือภาพประกอบสำหรับเยาวชน โดยเรื่องแรกเป็นเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา ฉบับ ‘ร้อยแก้ว’ (แนวต่างโลก)” เผยแพร่ในปี 2566 ตามด้วยเรื่องที่ 2 “พระอภัยมณี ตอน พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทร” เผยแพร่ในปี 2567

“เราเลือกวรรณคดีนิทานที่แพร่หลายในสังคมไทย มีหลายประเด็นน่าสนใจที่ชวนให้ถกถามในสังคมร่วมสมัย นอกจากนี้ เรื่องและตอนดังกล่าวก็ยังอยู่ในแบบเรียน ‘วรรณคดีวิจักษ์’ ซึ่งตามหลักสูตรการศึกษา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (พระอภัยมณี) และ ม. 6 (ขุนช้างขุนแผน) จะได้เรียน การเลือกวรรณคดีทั้งสองตอนนี้ก็เลยสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายที่เราอยากให้อ่านและชมภาพประกอบในงานของเรา โดยหวังว่าเยาวชนจะได้เห็นมุมมองที่หลากหลายในการอ่านงานเรื่องนี้ ที่ต่อยอดจากหนังสือเรียน รวมถึงคุณครูก็จะได้นำผลงานทั้ง 2 เรื่องไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในชั้นเรียนได้ด้วยค่ะ”

ร้อยแก้วแนวต่างโลกจากวรรณคดีไทย พร้อมภาพประกอบสำหรับเยาวชน
ร้อยแก้วแนวต่างโลกจากวรรณคดีไทย พร้อมภาพประกอบสำหรับเยาวชน

ผศ.หัตถกาญจน์ เล่าย้อนถึงที่มาของผลงานร้อยแก้วทั้ง 2 เรื่องว่าเป็นการต่อยอดมาจากโปรเจกต์ Thaiฤทธิ์ ที่ริเริ่มขึ้นในวิชาวรรณคดีไทยพื้นฐานของคณะอักษรศาสตร์ ในช่วงปีการศึกษา 2560 – 2562

“ห้องเรียนวรรณคดีไทยควรเป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Reading) ซึ่งจะนำไปสู่การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ให้อิสระทางความคิดกับผู้เรียน เปิดพื้นที่ให้พูดคุยถกถาม และเชื่อมต่อประสบการณ์ของตัวเองกับเรื่องราวและตัวละครในวรรณคดีได้ ให้ผู้เรียนรู้สึกว่าวรรณคดีเป็นเรื่องใกล้ตัว ซึ่งจะเป็นฐานต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking)ต่อไป” ผศ.หัตถกาญจน์ ผู้ริเริ่มโปรเจกต์ Thaiฤทธิ์ กล่าวถึงที่มาของผลงานสร้างสรรค์ (Creative Content) โดยนิสิตอักษรฯ จุฬาฯ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่านวรรณคดีไทย

“Thaiฤทธิ์” ผลงานคอนเทนต์สร้างสรรค์ (creative content)
โดยได้รับแรงบันดาลใจจากวรรณคดีไทยเพื่อสื่อสารประเด็นร่วมสมัย

ต่อมา โปรเจกต์ Thaiฤทธิ์ ก็ได้พัฒนามาเป็นวิชา “วรรณคดีไทยกับสื่อร่วมสมัย” ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 เป็นต้นมาเพื่อให้นิสิตได้ทดลองสร้างสรรค์สื่อประเภทต่างๆ เช่น การ์ตูนช่อง เกม คาแรกเตอร์ดีไซน์ จากวรรณคดีไทย

ผลงานสร้างสรรค์ ประเภท” การ์ตูนช่อง” ของนิสิตในรายวิชา “วรรณคดีไทยกับสื่อร่วมสมัย”
ผลงานสร้างสรรค์ ประเภท” การ์ตูนช่อง”
ของนิสิตในรายวิชา “วรรณคดีไทยกับสื่อร่วมสมัย” เมื่อปี 2565
ซึ่งเป็นผลงานเชิงต่อยอดในโปรเจกต์ “Thaiฤทธิ์” สร้างสรรค์โดย ขวัญปรียา อนุกูล, ธีรภัทร นิลชัย,
ฐิตารีย์ นิลรัตน์, ชนินท์ บุญเหลือง, บุณยวีร์ คุ้มกลาง และปิติพน ตันสุวรรณโสภณ

“ในห้องเรียนวรรณคดีไทยกับสื่อร่วมสมัยในปีการศึกษา 2565 เรานำเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา กลับมาอ่านใหม่ด้วยกันอีกครั้งซึ่งนิสิตสนใจกันมาก มีการพูดคุย ถกถาม และอภิปรายประเด็นต่าง ๆ ซึ่งเป็นบรรยากาศการเรียนการสอนวรรณคดีไทยที่เราอยากเห็น”

ห้องเรียนวิชาวรรณคดีไทยกับสื่อร่วมสมัยในครั้งนั้น เป็นพื้นที่สำคัญที่จุดประกายให้ผศ.หัตถกาญจน์เองได้ต่อยอดโปรเจกต์ Thaiฤทธิ์ ที่เคยริเริ่มไว้ด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนการสอนวรรณคดีไทย “ร้อยแก้ว (แนวต่างโลก)” จากวรรณคดีไทยขึ้น

“เราพยายามทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าวรรณคดีไทยไม่ได้อยู่บนหิ้ง แต่เป็นเรื่องเล่าที่จับต้องได้ เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันและปัญหาสังคมในยุคปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องการจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่รักและสานต่อวรรณคดีไทยผ่านการทำงานสร้างสรรค์ในรูปแบบต่าง ๆ”

ผศ.หัตถกาญจน์เล่าว่า ผลงานเรื่องนี้ได้รับ “แรงบันดาลใจ” มาจากเรื่องแนวต่างโลก โดยได้ขยายความเกี่ยวกับเรื่องในแนวนี้ไว้ว่า

“วรรณกรรมแนวต่างโลก (isekai) เป็นแนวเรื่องที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน พบมากในมังงะและเว็บตูน แนวเรื่องเปิดโอกาสให้ตัวละครเอกได้ทดลองใช้ชีวิตอยู่ในร่างอื่นหรือคนอื่นในดินแดนอื่นที่มีกฎกติกาของเรื่องที่แตกต่างกันออกไป เช่น เรื่อง วันทองไร้ใจ เว็บตูนโดยนักวาดชาวไทยนามปากกา Mu ที่สร้างให้ตัวละครเอกหญิงจมน้ำและเมื่อลืมตาตื่นขึ้นก็กลายเป็นว่าเธออยู่ในร่างของ “วันทอง” ตัวละครเอกในวรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน”

สำหรับผลงานร้อยแก้วแนวต่างโลกจากวรรณคดีไทย แม้ผศ.หัตถกาญจน์จะไม่ได้สร้างให้ตัวละครเอกชื่อ “พรนับพัน” และ “พรประทาน” นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา เกิดใหม่เป็นตัวละครในวรรณคดีไทย เพราะต้องการคงเส้นเรื่องตามวรรณคดีไว้เพื่อชี้ชวนให้ผู้อ่านได้ย้อนกลับไป “อ่านละเอียด” เรื่องราวตามต้นฉบับเพื่อชวนคิดในเชิงถกเถียงในประเด็นต่างๆ อีกครั้ง แต่ก็ได้สร้างเรื่องที่นำพาให้ตัวละครได้เข้าไปสัมผัสเรื่องราวในโลกวรรณคดีในระยะประชิดในฐานะผู้สังเกตการณ์ (observer) ได้เห็นภาพรวมของเรื่องราว และได้มุมมองที่หลากหลายในการตีความเรื่องราวไปด้วย

“เหมือนเราเป็นผู้อ่านในมุมมองพระเจ้าที่ล่วงรู้เหตุการณ์ ความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร และความหมายที่แฝงเร้นในวรรณคดีไทย” ผศ.หัตถกาญจน์ขยายความ

นอกจากตัวละครที่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาแล้ว ผศ.หัตถกาญจน์ ยังสร้างตัวละครหญิงนิรนามคนหนึ่ง โดยวางบทบาทให้เป็นผู้เล่าเรื่อง ชวนคุยและถกถามกับนักเรียนที่หลุดเข้าไปในโลกของวรรณคดี

“หญิงนิรนามเป็นการจำลองภาพครูผู้สอนวรรณคดีไทย ที่ในหนังสือจะทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความรู้ (facilitator) และผู้ให้คำปรึกษา (mentor) ชวนนักเรียนพูดคุยเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในวรรณคดีว่าคิดเห็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร ให้อิสระผู้เรียนในการคิด และช่วยผู้เรียนพัฒนาประเด็นว่าเนื้อหาในเรื่องยังมีจุดตรงไหนที่เป็นช่องว่างอยู่บ้าง โดยสอดแทรกองค์ความรู้จากงานวิชาการของนักวิชาการในศาสตร์ต่าง ๆ ที่เคยศึกษาและตีความวรรณคดีไทยในมิติต่าง ๆ ไว้ด้วย ซึ่งต้องขอขอบคุณนักวิชาการที่ได้ศึกษาวิจัยวรรณคดีไทยมา ณ โอกาสนี้ด้วย เพราะองค์ความรู้ที่มีมาก่อนหน้ามีส่วนสำคัญในการสร้างงานเชิงต่อยอดของเรามากๆ ค่ะ”

ร้อยแก้วแนวต่างโลกพร้อมภาพประกอบสำหรับเยาวชนเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอน ขุนช้างถวายฎีกา
ร้อยแก้วแนวต่างโลกพร้อมภาพประกอบสำหรับเยาวชนเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอน ขุนช้างถวายฎีกา

ผศ.หัตถกาญจน์ ยกตัวอย่างเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา ที่ผู้เรียนหลายคนข้องใจเรื่องโทษประหารของนางวันทอง และตั้งคำถามว่าเป็นโทษที่เกินกว่าเหตุหรือไม่

“เช่นในเรื่องก็จะแทรกแนวคิดของ อาจารย์ ดร.คริส เบเคอร์ และ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ซึ่งตั้งคำถามสำคัญในบทความที่อาจารย์เขียนไว้ว่า ‘ทำไมต้องฆ่าวันทอง?’ ไว้ด้วยในทางประวัติศาสตร์ อาจารย์อธิบายไว้ว่าโทษประหารเป็นโทษกบฏ การได้รับโทษกบฏในเรื่องก็แปลว่าพระพันวษาตั้งใจใช้การฆ่านางวันทองเพื่อข่มขู่ขุนแผน เพราะจริง ๆ แล้วพระพันวษากลัวอำนาจของขุนแผน แต่ทำอะไรขุนแผนไม่ได้ เลยใช้ความตายของนางวันทองในการปรามขุนแผนแทน ซึ่งนักวิชาการด้านวรรณคดีไทยอาจจะไม่ได้ตีความในมุมนี้ แต่พอลองตีความตามนักประวัติศาสตร์และมองเรื่องกฎหมายดู ก็ทำให้โทษประหารของนางวันทองดูมีที่มา – ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นลอย ๆ ซึ่งเราคิดว่าจะช่วยให้นักอ่านรุ่นใหม่มองเห็นแง่มุมที่ซับซ้อนที่ซ่อนอยู่ในตัวบทวรรณคดีได้มากยิ่งขึ้น” ผศ.หัตถกาญจน์ กล่าว

ร้อยแก้วแนวต่างโลกพร้อมภาพประกอบสำหรับเยาวชนเรื่อง “พระอภัยมณี” ตอน พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทร
ร้อยแก้วแนวต่างโลกพร้อมภาพประกอบสำหรับเยาวชนเรื่อง “พระอภัยมณี” ตอน พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทร

แม้ว่าจะมีวิธีการเล่าเรื่อง (storytelling) ซึ่งเพิ่มเติมตัวละครใหม่และบทสนทนาของตัวละครที่นอกเหนือไปจากวรรณคดีต้นฉบับ แต่ ผศ.หัตถกาญจน์ก็ไม่ได้นิยามผลงานตนเองไว้ว่าเป็นเรื่องแต่งหรือ fiction

“เราให้ความสำคัญกับตัวบทวรรณคดีต้นฉบับ เส้นเรื่องและเนื้อหาในวรรณคดีไทยต้นฉบับจะยังคงเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด และยังมีการอ้างอิงถึงงานวิชาการต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในการเขียนงานด้วย เราทำหน้าที่แปลเรื่องราวจาก ‘คำกลอน’ หรือ ‘ร้อยกรอง’ ที่มีรูปแบบฉันทลักษณ์ให้ออกมาเป็นภาษาสื่อสารในปัจจุบันที่ทุกคนสามารถอ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งเราเรียกงานลักษณะนี้ว่าร้อยแก้ว (prose) ในกระบวนการทำงานเราใช้มุมมองการเล่าเรื่องในการอ่านวรรณกรรมร่วมสมัยเพื่อย้อนกลับไปอ่านตัวบทวรรณคดีเก่าอีกครั้ง”

หากอ่านวรรณคดีตามขนบเดิม ตัวละครในวรรณคดีอาจจะดูแบน ๆ ไม่น่าสนใจ แต่เมื่อถอดความออกมาแล้วกลับทำให้ร้อยแก้วคล้ายบทละคร ตัวละครในวรรณคดีก็ดูจะเริ่มมีมิติและซับซ้อนมากขึ้น

“แม้ว่ายุคสมัยจะต่างกัน แต่ตัวละครในวรรณคดีไทยก็มีรัก ทุกข์ สุข โศก โกรธแค้น เหมือนกันกับคนในยุคปัจจุบัน ในฐานะมนุษย์ เราเหมือนกัน เรื่องนี้ทำให้ผู้อ่านสามารถเชื่อมโยงและเข้าใจมุมมองความคิดของตัวละครในวรรณคดีไทยได้มากขึ้น ทำให้คนอ่านรู้สึกว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวรรณคดีเป็นเรื่องใกล้ตัว หรือเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงได้กับปัญหาสังคมในปัจจุบัน”

ผศ.หัตถกาญจน์ ยกตัวอย่างการตีความและตั้งคำถามเกี่ยวกับความรู้สึกของนางวันทองในฐานะผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งที่เป็นแม่ว่าคิดและรู้สึกอย่างไรในตอนที่จมื่นไวยลูกชายเลือกที่จะบุกเรือนขุนช้างเพื่อพาแม่กลับไป แทนที่จะฟ้องเรียกร้องความเป็นธรรมตามกฎหมาย หรือความรู้สึกในฐานะที่เป็นเมีย ที่มีรักเดียวแต่ต้องอยู่กับคนอื่นอย่างเลือกไม่ได้ ไม่สามารถอยู่กับคนที่รักได้

บทที่ 1 ความในใจ จากร้อยแก้วแนวต่างโลกพร้อมภาพประกอบสำหรับเยาวชน
เรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอน ขุนช้างถวายฎีกา
บทที่ 1 ความในใจ จากร้อยแก้วแนวต่างโลกพร้อมภาพประกอบสำหรับเยาวชน
เรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอน ขุนช้างถวายฎีกา

“หากถอดความตัวบทที่นางวันทองคิดและรู้สึกออกมา จะเห็นได้ว่านางวันทองเป็นผู้หญิงที่มีเหตุผลและยึดถือความถูกต้องมากคนหนึ่ง นอกจากนี้ ยังทำให้เห็นว่า ตัวบทวรรณคดีอาจไม่ได้ให้พื้นที่กับผู้หญิงในการตัดสินใจใช้ชีวิตแบบที่ตัวเองต้องการ นางวันทองเองอยากจะเลือกทางชีวิตของตัวเอง แต่ทำไม่ได้เพราะมันมีเงื่อนไขชีวิตเต็มไปหมด ในขณะที่ชุดคุณค่าของคนปัจจุบันคิดว่าผู้หญิงมีเสรีภาพ ได้รับความรู้ โดยไม่ต้องยึดโยงกับผู้ชายเช่นที่นางวันทองต้องเผชิญ”

“แม้ชุดคุณค่าที่อยู่ในวรรณคดีจะแตกต่างจากชุดคุณค่าของคนในยุคปัจจุบัน แต่มันก็เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ผู้เรียนสามารถถกถามและวิพากษ์วิจารณ์ได้ ท้ายที่สุดผู้เรียนจะสามารถตอบคำถามได้ด้วยตัวเองว่าวรรณคดีไทย ‘มีคุณค่า’ ‘มีความหมาย’ อย่างไรต่อตัวเขา และเราเชื่อว่า การทำให้วรรณคดีไทยเป็นพื้นที่สำหรับเสรีภาพของการอ่านและการคิดของคนรุ่นใหม่จะทำให้คนในสังคมเห็นว่า วรรณคดีไทยเป็น ‘ทุนทางวัฒนธรรม’ (cultural capital) ที่เปิดกว้างให้กับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ต่อไป” ผศ. หัตถกาญจน์ กล่าว

“ร้อยแก้ว (แนวต่างโลก)” จากวรรณคดีไทยเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา” และ “พระอภัยมณี ตอนพระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทร” เปิดให้ดาวน์โหลดฟรีแล้ว สำหรับเรื่อง ขุนช้างขุนแผน มีทั้งเวอร์ชันภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ส่วนผลงานในลำดับต่อไปที่ ผศ.หัตถกาญจน์ อยากทำคือ กาพย์พระไชยสุริยา เพราะเป็นวรรณคดีที่มีเนื้อหาที่สามารถเชื่อมโยงกับบริบทสังคมร่วมสมัยได้ดี และยังเป็นผลงานของสุนทรภู่ กวีเอกของโลกด้วย

“เราตั้งใจว่าจะทำร้อยแก้วพร้อมภาพประกอบที่คู่ขนานไปกับแบบเรียนในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา อยากเลือกวรรณคดีอย่างน้อย 1 เรื่องในแบบเรียน ‘วรรณคดีวิจักษ์’ มาเขียนต่อให้ครบทุกชั้นในระดับมัธยมศึกษา เพื่อจะสร้างสรรค์เนื้อหาที่เน้นการถกถามเกี่ยวกับวรรณคดีไทย และจะทำโปรเจกต์ห้องเรียน Thaiฤทธิ์ ต่อเพื่อเปิดพื้นที่ให้นิสิตสร้างสรรค์ผลงานต่อไป”

ผศ.หัตถกาญจน์ กล่าวว่า เป้าหมายของการสร้างผลงานร้อยแก้ว (แนวต่างโลก) นี้คือการได้มีส่วนร่วมในการทำให้เยาวชนและคนไทยหวนกลับมาสนใจและเห็นคุณค่าของวรรณคดีไทยอีกครั้ง

“อยากให้มองวรรณคดีในฐานะที่เป็นเรื่องเล่าของสังคม เมื่อทุกคนได้อ่านแล้ว ก็สามารถพูดคุย ถกถามกับตัวบทได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ ไม่มีการผูกขาดวิธีการอ่านใดว่ามีคุณค่ากว่าวิธีอื่น ๆ ท้ายที่สุดแล้ว อยากให้มองว่าวรรณคดีไทยเป็น ‘เพื่อน’ – เพื่อนที่เดินทางไปด้วยกันในการใช้ชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบัน ที่เราสามารถนำไปทำความเข้าใจชีวิตและสังคม ประยุกต์และสร้างสรรค์ผลงาน ทำคอนเทนต์ออนไลน์ หรือต่อยอดในวิชาชีพ ทั้งในภาคธุรกิจหรือในแวดวงสื่อ ซึ่งจะทำให้วรรณคดีไทย ‘มีชีวิต’ ขึ้นมาอีกครั้ง โดยที่มีคนรุ่นใหม่เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการต่อ ‘ลมหายใจ’ ให้แก่วรรณคดีไทยค่ะ” ผศ.หัตถกาญจน์ กล่าวทิ้งท้าย

ผู้ที่สนใจอ่านร้อยแก้ว (แนวต่างโลก) จากวรรณคดีไทย สามารถดาวน์โหลดฟรีได้ที่

  1. ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา https://shorturl.at/jqyBN
    หรือดาวน์โหลด ฉบับภาษาไทย และ ฉบับภาษาอังกฤษ (แปล) ได้ที่นี่
  2. พระอภัยมณี ตอน พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทร https://shorturl.at/Pn4zE

นอกจากนี้ สามารถติดตามเรื่องอื่นๆ ได้ที่ Facebook Page: วรรณคดีมีชีวิต Revive Thai Literature
หรือ Youtube Channel: วรรณคดีมีชีวิต Revive Thai Literature

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า