รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
15 สิงหาคม 2567
ผู้เขียน ศุภวรรณ พิพิธสมบัติ
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ พัฒนา Halal Route แอปพลิเคชันชี้พิกัดแหล่งร้านอาหาร ที่พัก มัสยิด ทิศละหมาด และสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ที่สอดคล้องตามหลักการท่องเที่ยววิถีอิสลาม หวังช่วยนักท่องเที่ยวมุสลิมเดินทางในประเทศไทยอย่างสบายใจ และยังเป็นการหนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เติบโต พร้อมรับกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิมที่มีจำนวนมากขึ้น
การท่องเที่ยวฮาลาล หรือการท่องเที่ยววิถีอิสลาม เป็นทิศทางการท่องเที่ยวที่น่าจับตา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมราว 168 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวก่อนการเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ถึง 5% นักท่องเที่ยวมุสลิมจำนวนมหาศาลเหล่านี้ไปเที่ยวที่ไหนกัน?
ผลจากการจัดอันดับจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวมุสลิมทั่วโลกโดย Mastercard-Crescent Rating Global Muslim Travel Index หรือ GMTI 2024 เผยว่าประเทศไทยเป็นอันดับที่ 32 ที่นักท่องเที่ยวมุสลิมนิยมไป
ประเทศไทยมีเสน่ห์หลายอย่าง นอกจากธรรมชาติ ศิลปะ และวัฒนธรรมอันงดงามแล้ว ความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่ผู้คนหลายเชื้อชาติและศาสนาอยู่ร่วมกันได้ ก็เป็นจุดขายสำคัญเพราะสังคมมีลักษณะเปิดและเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวทุกชาติและศาสนา อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญที่นักท่องเที่ยวมุสลิมพบเวลาท่องเที่ยวในประเทศไทย คือ การหาร้านอาหารฮาลาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาล การหาโรงแรมที่พัก หรือสถานที่ท่องเที่ยวที่มีพื้นที่บริการ (เช่น การละหมาด) ถูกต้องตามหลักวิถีอิสลาม
“ประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติปีละประมาณ 30 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนักท่องเที่ยว 100 คน จะเป็นชาวมุสลิมอยู่ 20 คน ถือเป็นจำนวนที่เยอะและมีแนวโน้มจะเติบโตมากขึ้นทุกปี อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจึงควรให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ แต่ปัจจุบันการจัดการท่องเที่ยวที่รองรับวิถีการท่องเที่ยวฮาลาลยังไม่เพียงพอ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเงื่อนไขในการปรับเปลี่ยนการให้บริการให้ได้มาตรฐานฮาลาลมีความยุ่งยากและมีรายละเอียด การจัดการบริการนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมจึงไม่ค่อยแพร่หลายนัก” รองศาสตราจารย์ ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงปัญหาที่นำไปสู่การพัฒนาแอปพลิเคชัน “Halal Route”
“คำว่า วิถีฮาลาลไม่ได้มีแค่เรื่องอาหาร แต่มันครอบคลุมการใช้ชีวิตในทุก ๆ ด้านของชาวมุสลิม แอปพลิเคชันนี้จะเชื่อมโยงการเดินทางท่องเที่ยวทั่วไทยให้พี่น้องมุสลิมจากทั่วโลกเดินทางพร้อมปฏิบัติศาสนกิจได้ตามหลักศาสนาอิสลาม”
หลังจากที่แอปพลิเคชัน Halal Route เปิดตัวให้ผู้สนใจดาวน์โหลดได้ฟรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ.2020) ก็มีการอัปเดตและอัปเกรดอย่างต่อเนื่อง และได้รับการรีวิวที่ดีจากผู้ใช้งาน รศ.ดร.วินัยมั่นใจว่าแอปพลิเคชัน “Halal Route” จะช่วยผู้ประกอบการไทยให้เข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมได้มากยิ่งขึ้น และในขณะเดียวกัน ก็ช่วยพี่น้องเพื่อนชาวมุสลิมให้เดินทางท่องเที่ยว กิน พักผ่อนทั่วประเทศไทยได้อย่างสบายใจสอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลาม
การท่องเที่ยวฮาลาล หรือ การท่องเที่ยววิถีอิสลาม (Halal Tourism) คือการจัดการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลามและค่านิยมของชาวมุสลิม ซึ่งครอบคลุมทั้งการเดินทาง ท่องเที่ยว กิน พักอาศัย เช่น การไม่บริโภคเนื้อสุกร-สัตว์มีพิษ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ละหมาดวันละ 5 เวลา เป็นต้น ซึ่งการจัดบริการ บรรยากาศและสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลามจะส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมมายังประเทศไทย
รศ.ดร.วินัย แนะ 6 เรื่องที่ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวพึงรู้และให้ความสำคัญในการจัดการท่องเที่ยวฮาลาล ได้แก่
คุณอิรฟัน แวหะมะ เจ้าหน้าที่บริการวิทยาศาสตร์ในทีมพัฒนา Halal Route App กล่าวว่า“Halal Route เป็นแอปพลิเคชันที่รวบรวมข้อมูลสำหรับการค้นหาร้านอาหารฮาลาล มัสยิด สถานที่ละหมาด เวลา-ทิศละหมาด สถานที่ท่องเที่ยว หมู่บ้านหรือชุมชนมุสลิม โรงแรมที่พัก ฯลฯ”
“แอปนี้เชื่อมโยงกับ Google Map ช่วยนำทางนักท่องเที่ยวไปยังสถานที่ที่ต้องการได้อย่างแม่นยำ แถมรองรับ 3 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ และอารบิก เพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวมุสลิมสามารถใช้ชีวิต และท่องเที่ยวสไลต์ฮาลาลในประเทศไทยได้สะดวกสบาย และอุ่นใจยิ่งขึ้น” คุณอิรฟันกล่าวพร้อมเผย 8 ฟีเจอร์เด็ดในแอปพลิเคชัน ดังนี้
“ทางทีมวิจัยได้เพิ่มช่องทางสื่อสารอีกหลายแพลตฟอร์มเพื่อแนะนำร้านอาหารฮาลาล รีวิวเมนูอาหารฮาลาลอร่อย ๆ โรงแรมมีคุณภาพ มัสยิดในเส้นทางท่องเที่ยวในแต่ละภาค บอกเล่ากิจกรรมที่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิม พร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ศาสนาอิสลามด้วย”
กดติดตาม เพิ่มเพื่อนได้ที่
ดร.อาณัฐ เด่นยิ่งโยชน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ย้ำจุดเด่นของแอปพลิเคชัน Halal Route ว่าอยู่ที่ข้อมูลที่เชื่อถือได้และครอบคลุมการท่องเที่ยวไทยวิถีฮาลาลมากที่สุดในปัจจุบัน
“ร้านอาหารและสถานที่ที่ปรากฎในแอปพลิเคชันล้วนมีการเยี่ยมชมสถานที่จริง และถูกตรวจสอบตามมาตรฐานที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานหรือองค์กรที่เชื่อถือได้ เช่น การรับรองจากองค์กรศาสนาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอาหารฮาลาล รวมถึงระบบบริหารจัดการเพื่อรับประกันและรับผิดชอบต่อสภาพฮาลาล (ระบบ HAL-Q) เป็นต้น” ดร.อาณัฐกล่าวให้ความมั่นใจ
คุณอิรฟันหนึ่งในทีมพัฒนา Halal Route App เล่าเสริมถึงการทำงานเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้แอปพลิเคชันว่า “ผมและทีมงานไปตรวจคุณภาพร้านและชิมอาหารของแต่ละร้านด้วยตัวเอง บางครั้งก็พาเพื่อนและนักวิจัยต่างชาติที่มาศึกษาดูงานที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลไปทานข้าวร่วมกัน ร้านอาหารฮาลาลอร่อย ๆ ในกรุงเทพและประเทศไทยมีหลายร้านมาก” (อ่านต่อที่ “3 ร้านดังเมนูเด็ดสไตล์ฮาลาลกลางกรุง”)
นอกจากการตรวจสอบคุณภาพของร้านอาหารและบริการโดยทีมงานของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลแล้ว ดร.อาณัฐกล่าวว่า ผู้ใช้แอปพลิเคชันเองก็มีส่วนช่วยในการตรวจสอบคุณภาพด้วยเช่นกัน
“ในแอปมีฟังก์ชันให้ผู้ใช้งานสามารถเขียนรีวิว แสดงความคิดเห็นการใช้บริการร้านอาหารและสถานที่ต่าง ๆ ถือเป็นการตรวจสอบคุณภาพร้านค้า เป็นประโยชน์ยิ่งสำหรับผู้ใช้งานคนอื่น ๆ ในการตัดสินใจเลือกบริการร้าน และเดินทางไปสถานที่ต่างๆ ได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น”
ดร.อาณัฐเผยว่าปัจจุบัน แอปพลิเคชัน Halal Route มีผู้ประกอบการร้านอาหารอยู่ในฐานข้อมูลจำนวนกว่า 1,100 ราย และยังคงมีการอัปเดตข้อมูลสถานที่และบริการใหม่ ๆ อยู่เสมอ ทั้งนี้ ข้อมูลร้านอาหารและบริการต่าง ๆ ในแอปพลิเคชันครอบคลุมเส้นทางหลัก 6 เส้นทางในกว่า 40 จังหวัด จากเหนือจรดใต้ของประเทศไทย ที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไป
แอปพลิเคชัน Halal Route เปิดใช้งานมากกว่า 4 ปีแล้ว มียอดการดาวน์โหลดแอปฯ กว่าหนึ่งหมื่นราย สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการและโอกาสตลาดการท่องเที่ยวฮาลาล ซึ่งในอนาคต รศ.ดร.วินัยเผยว่าศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ มีแผนเพิ่มขีดความสามารถให้แอปพลิเคชัน Halal Route สามารถกดสั่งอาหารได้และกดตัดบัตรชำระเงินได้
“ทีมนักวิจัยจะช่วยกันทบทวนข้อมูลร้านอาหารที่มีอยู่เดิม เพื่อปรับปรุงข้อมูลสถานที่ รูปภาพ เมนูอาหาร รวมถึงสำรวจร้านใหม่ ๆ มัสยิด สถานที่ละหมาด นอกจากนี้ ในปีนี้ เราจะเพิ่มข้อมูลที่จำเป็นสำหรับชาวมุสลิม ได้แก่ สถานบริการด้านสุขภาพที่เป็นมิตรต่อผู้ป่วยชาวมุสลิม กิจกรรมพิเศษที่ถูกจัดขึ้นทั่วไทยที่มีความเหมาะสมสำหรับนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมจากทั่วโลก เช่น งานวิ่งมาราธอน กิจกรรมทางประเพณีของไทยในวาระต่าง ๆ เป็นต้น”
“สำหรับทีมผู้พัฒนา Halal Route แอปพลิเคชันนี้ไม่ใช่เครื่องมือนำทาง สั่งอาหาร หรืออำนวยความสะดวกสบายให้นักท่องเที่ยวชาวมุสลิมเท่านั้น แต่จะมีส่วนสำคัญในการหนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยวิถีฮาลาลให้เติบโตแบบก้าวกระโดด”
“และที่สำคัญ แอปพลิเคชัน Halal Route จะเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงชุมชนชาวมุสลิมจากทั่วโลกที่มีโอกาสมาเยือนไทย ได้มาพูดคุย ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมถึงแบ่งปันประสบการณ์ความประทับใจในมุมต่าง ๆ ของประเทศไทยด้วย“ รศ.ดร.วินัยกล่าวทิ้งท้าย
แอปพลิเคชัน Halal Route พร้อมให้ดาวน์โหลดฟรีแล้ว ทั้งระบบ IOS และ Android
สำหรับบุคคลทั่วไป เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Halal Route แล้วลงทะเบียนเข้าสู่ระบบโดยใช้หมายเลขโทรศัพท์ หรืออีเมล เมื่อเข้าสู่ระบบแล้วก็พร้อมใช้งานได้เต็มรูปแบบ ตั้งแต่ค้นหาร้านอาหารไปถึงสถานที่ละหมาด นอกจากนี้ ผู้ใช้งานสามารถกดเลือกภาษาที่ต้องการได้ที่เมนู “บัญชีของฉัน” (My account) ซึ่งระบบมี 3 ภาษาให้เลือก ได้แก่ ไทย อังกฤษ อารบิก
สำหรับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว หากสนใจจะฝากร้านบนแอปพลิเคชัน Halal Route สามารถติดต่อทางเพจเฟซบุ๊ก Halal Route โดยจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับเพื่อขอข้อมูลและติดต่อเข้าตรวจสอบพื้นที่สถานประกอบการ รวมถึงวัตถุดิบต่าง ๆ ก่อนจะนำข้อมูลขึ้นระบบของแอปพลิเคชัน ซึ่งหลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้ว ร้านอาหารแห่งนั้นจะได้รับป้ายสัญลักษณ์ Halal Route เป็นสัญลักษณ์การผ่านการรับรองมาตรฐานฮาลาล (อ่านต่อที่ แบบประเมินคุณภาพร้านอาหารฮาลาล)
Information Box
จากการสำรวจและตรวจคุณภาพ ร้านอาหารฮาลาลรสชาติเด็ดโดนใจและได้คุณภาพมีอยู่หลายร้านด้วยกัน ในที่นี้ ทีมพัฒนา Halal Route App ขอแนะนำ 3 ร้านสุดประทับใจในเขตกรุงเทพให้ทุกคนได้ไปลิ้มลองกัน
1.Fahana Italian ย่านพระรามเก้า ใกล้ห้างสรรพสินค้า The Nine
ร้านอาหารมุสลิมสไตล์อิตาเลียน ร้านดังเปิดมาตั้งแต่ปี 2547 นับว่าเป็นรายแรก ๆ ที่สร้างทางเลือกใหม่ให้กับมุสลิมด้วยอาหารอิตาเลียนฮาลาล ทางร้านพิถีพิถันในการเลือกวัตถุดิบที่เน้นคุณภาพส่งตรงจากต่างประเทศ
เมนูเด็ด: สเต็กปลากะพงฟาฮาน่าซอสเห็ดหอม ผักโขมอบชีส สปาเก็ตตี้เส้นดำซีฟู้ด สปาเก็ตตี้ขี้เมาทะเล พิซซามีนาร่า พิซซาโฟว์ชีส ลาซานญาเนื้อ พาสต้า 3 สไตล์ ซี่โครงแกะเปปเปอร์ ทีโบนสเต็ก สลัดแซลมอนกุ้งกรอบ ฯลฯ ราคาประมาณ: 101 – 250 บาทวันเวลาทำการ: เปิดทุกวัน เวลา 10.30 น. – 21.00 น.หมายเลขโทรศัพท์: 0-2369-2366
2. อาอีซะฮ์ รสดี ย่านบางลำพู
ร้านเก่าแก่ย่านบางลำพู เปิดขายมาตั้งแต่ปี 2518 เป็นอาหารฮาลาลจากอินโดนีเซียที่มีสูตรอาหารจากบรรพบุรุษส่งต่อรุ่นสู่รุ่น ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวทั้งชาวตะวันตก ไทย จีน ร้านนี้ถือเป็นอาหารอิสลามรสชาติดี เข้มข้น
เมนูเด็ด: ข้าวหมกเนื้อ ข้าวหมกไก่ ก๋วยเตี๋ยวแกงไก่ สเต๊ะเนื้อราคาประมาณ: 60 บาท – 130 บาทวันเวลาทำการ: เปิดวันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 08.30-18.00 น.หมายเลขโทรศัพท์: 08-1307-0654
3. ฌาบีบี เฮ้าส์ (Shabeebee House) ย่านสวนหลวงสแควร์ ซอยจุฬาฯ 12
ร้านโรตี ชา ชิค ๆ ชิล ๆ ตกแต่งสไตล์โมเดิร์น ตั้งอยู่ใจกลางกรุงใกล้มาบุญครอง เซ็นเตอร์ จุดเด่นอยู่ที่ความแยบยลในการนำเอาอาหารมุสลิมที่เราคุ้นเคยมาปรับโฉมให้ดูเข้ากับยุคสมัย เติมแต่งลูกเล่นเพื่อสร้างสีสันเป็นเสน่ห์ให้แต่ละเมนู
เมนูเด็ด: โรตีมัสมั่นเนื้อ มะตะบะ ข้าวหมกไก่ฌาบีบี ขนมจีนน้ำยาปู ชานมราคาประมาณ: 70 บาท – 350 บาทวันเวลาทำการ: เปิดทุกวันเวลา 11.00 น. – 02.00 น.หมายเลขโทรศัพท์: 09-9359-5979
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้