Highlights

หุ่นยนต์ดินสอรุ่นล่าสุด “Home AI Assistance” ผู้ช่วยประจำบ้านดูแลผู้สูงอายุตลอด 24 ชั่วโมง อีกก้าวของหุ่นยนต์สัญชาติไทย


หุ่นยนต์สัญชาติไทยพร้อมก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย นิสิตเก่า จุฬาฯ ผู้ก่อตั้งบริษัท CT Asia Robotics เปิดตัว “หุ่นยนต์ดินสอ” รุ่นล่าสุด “Home AI Assistance” ผู้ช่วยประจำบ้านเพื่อการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลในยามฉุกเฉิน


ลูกหลานต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ผู้สูงอายุอยู่บ้านตามลำพัง จะหาพี่เลี้ยงหรือผู้ดูแลมาสักคนก็ยาก ไม่รู้จะไว้ใจได้ไหม ค่าใช้จ่ายก็สูง” “ผู้สูงอายุอยู่บ้านลำพังก็รู้สึกเหงา เบื่อ ปัญหาสุขภาพก็มี ไหนจะต้องไปหาหมอ กินยา บางทีก็ลืมกินยาบ้าง เวลามีปัญหาสุขภาพ จะทำอย่างไร”

คำถามและเสียงสะท้อนเหล่านี้ดังขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มขั้น จำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ เติมด้วยจำนวนผู้ป่วยติดเตียงและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงที่มากขึ้นเช่นกัน ในขณะที่ผู้ดูแล ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวหรือผู้ดูแลโดยอาชีพมีจำนวนไม่มากพอ แนวโน้มในอนาคต มนุษย์จึงอาจต้องพึ่งพา “หุ่นยนต์” ให้เข้ามาเติมเต็มคุณภาพชีวิต

คุณเฉลิมพล ปุณโณทก นิสิตเก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬา

“ในอนาคตอันใกล้ หุ่นยนต์จะมาช่วยมนุษย์ในพื้นที่ที่มีการขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ เช่นบริการด้านการดูแลสุขภาพ ผมเชื่อว่าหุ่นยนต์สามารถช่วยลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์และทำให้การดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุมีประสิทธิภาพมากขึ้น” คุณเฉลิมพล ปุณโณทก นิสิตเก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ก่อตั้งบริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด (CT Asia Robotics) กล่าวถึงวิสัยทัศน์การพัฒนา “หุ่นยนต์ดินสอ” โดยเฉพาะเวอร์ชันล่าสุด “Home AI Assistance” ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อไม่นานมานี้

“หุ่นยนต์ดินสอรุ่น “Home AI Assistance” ช่วยลดความเสี่ยงในบ้านที่มีผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่นอนติดเตียงแต่ขาดคนดูแล ผู้สูงอายุจะได้รู้สึกปลอดภัยและมั่นใจในการดูแลสุขภาพ รุ่นนี้เคลื่อนไหวในที่พักอาศัยได้ และมีฟังก์ชันเสริมที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่เบื่อ ไม่เหงา ที่สำคัญ ยังสามารถเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลและช่วยในการดูแลผู้ป่วยได้ตลอดทั้งวันทั้งคืน”

หุ่นยนต์ดินสอ Home AI Assistance เพื่อนผู้สูงอายุประจำบ้าน

ตามสโลแกน “เฝ้าและเชื่อมต่อแพทย์ 24 ชั่วโมง”’ Home AI Assistance รุ่นนี้ทำหน้าที่หลัก 2 อย่าง คือ 1) เฝ้าผู้สูงอายุและคนป่วยได้ตลอดทั้งวันทั้งคืน และ 2) เชื่อมต่อกับโรงพยาบาล

“ด้านหลังหุ่นยนต์มีข้อมูล (Data) มากมาย เชื่อมต่อไปยังโรงพยาบาล ที่โรงพยาบาลเองก็มีหน้าจอไว้มอนิเตอร์ด้วยเช่นกันเพื่อให้รู้ว่าคนไข้เป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน มีโรคประจำตัวหรือไม่ และหมอประจำตัวคือใคร” คุณเฉลิมพลกล่าวต่อ

“บ่อยครั้ง เมื่อคนสูงวัยป่วย ก็อาจจะลังเลว่าควรไปหาหมอตอนนี้เลยดีหรือไม่ ยิ่งถ้าเกิดป่วยกลางดึก อาจลำบากในการเดินทางไปโรงพยาบาล หุ่นยนต์รุ่นนี้จะเข้ามาแก้โจทย์นี้ สมมติมีกรณีที่คุณยายไม่สบาย ไอและเวียนหัวมาก ก็สามารถกดพูดคุยกับพยาบาลที่โรงพยาบาลผ่านหุ่นยนต์ได้ พยาบาลจะประเมินอาการเบื้องต้นและวินิจฉัยว่าอาการลักษณะนี้ควรนอนพัก กินยา หรือรีบส่งรถฉุกเฉินไปรับ”

“ผู้ช่วยประจำบ้าน” Home AI Assistance เป็นรุ่นที่มีการเพิ่มเติมความสามารถและความฉลาด อาทิ    

• ติดตั้งนวัตกรรมที่ชื่อ DinsawSpond เป็นระบบเรียกให้โทรกลับ เพื่อแจ้งให้แพทย์หรือลูกหลานติดต่อกลับหาผู้สูงอายุได้อย่างรวดเร็ว

• ระบบปฏิบัติการแบบ Real Time Monitoring เชื่อมต่อกับอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ เช่น Smartphone หรือ Notebook ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ช่วยให้บุตรหลานสามารถดูแลและเห็นสภาพความเป็นไปของผู้สูงอายุจากสถานที่ต่าง ๆ ได้ แจ้งเตือนกรณีมีเหตุผิดปกติผ่านแอปพลิเคชัน เช่น เมื่อผู้สูงอายุหายไปจากสายตาของหุ่นยนต์ดินสอ

• ติดตั้งอุปกรณ์เช็กสัญญาณชีพ (vital sign) ส่งข้อมูลตรงไปยังแพทย์ผู้มีหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุรายนั้น ๆ ช่วยให้แพทย์สามารถเก็บข้อมูลผู้สูงอายุได้โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเดินทางไปที่โรงพยาบาล รวมทั้งสามารถวัดไข้ได้ ช่วยเตือนการทานยาและการดูแลสุขภาพด้วย

ที่น่ารักไปกว่านั้น หุ่นยนต์ดินสอรุ่นนี้จะเริ่มเหมือนสิ่งมีชีวิตมากขึ้น เป็นเสมือนผู้ดูแลที่คอยเตือนคุณตาคุณยายให้กินยา เป็นเพื่อนคลายเหงา ชวนฟังเพลง ฟังธรรมะ ชวนเล่นเกม ๆ ฝึกความจำ ชะลอการป่วยเป็นอัลไซเมอร์ได้ มีหุ่นยนต์ดินสอ 1 ตัว ก็เพียงพอสำหรับการดูแลผู้สูงอายุตามบ้าน” คุณเฉลิมพลกล่าว

จากจินตนาการสู่นวัตกรรมหุ่นยนต์ดินสอเพื่อการแพทย์และผู้สูงวัย”

หุ่นยนต์ดินสอเป็นที่รู้จักและเข้ามาประจำการช่วยงานในโรงพยาบาลได้หลายปีแล้ว ในฐานะหุ่นยนต์ผู้ช่วยพยาบาล (OPD) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีหุ่นยนต์ดินสอ 5 ตัว ส่วนโรงพยาบาลศิริราช 30 ตัว หุ่นยนต์รุ่นนี้ช่วยให้บริการผู้ป่วย เมื่อคนไข้เสียบบัตรประชาชน เจ้าหุ่นยนต์จะเช็กให้ทันทีว่ามีประวัติเคยป่วยเป็นอะไร มีนัดตรวจกับคุณหมอวันไหน สิทธิ์ในการรักษามีอะไรบ้าง เป็นต้น

“ผมมีจินตนาการว่าหุ่นยนต์สามารถเป็นแพทย์หรือผู้ช่วยแพทย์ได้” คุณเฉลิมพลกล่าวพร้อมยกตัวอย่างหุ่นยนต์ดินสอ รุ่น 3 ว่า “เราสามารถพัฒนาหุ่นยนต์ดินสอให้ช่วยวัดค่าต่าง ๆ เช่น ความดัน อุณหภูมิร่างกาย ระดับออกซิเจน ตรวจลมหายใจ จุดกดทับ วัดคลื่นหัวใจ เฝ้าดูการหลับ แล้วส่งผลการวัดค่าต่าง ๆ เข้าแท็บเล็ตของแพทย์เจ้าของไข้เพื่อประเมินผลทางไกล นอกจากนี้ ยังมีระบบที่ส่งเสียงเตือนทันที เมื่อคนไข้มีอัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ”

ตั้งแต่สมัยเรียนที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ คุณเฉลิมพลมีความสนใจด้านเทคโนโลยี AI และมองเห็นอนาคตที่ “หุ่นยนต์” จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตมนุษย์ เมื่อสำเร็จการศึกษา คุณเฉลิมพลจึงเริ่มบุกเบิกธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์และการผลิตหุ่นยนต์ด้วยเป้าหมายที่จะให้หุ่นยนต์ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตของมนุษย์ อาทิ การใช้หุ่นยนต์ในภารกิจที่เสี่ยงอันตราย หุ่นยนต์ “บริกร” ที่เสิร์ฟอาหารในร้านอาหาร และหุ่นยนต์สำหรับดูแลผู้สูงอายุและช่วยเหลือการบริการด้านการแพทย์

“ผมมีแพชชันที่จะสร้างสิ่งที่เจ๋งและมีคุณค่าสำหรับประเทศไทย อยากเห็นประเทศไทยเป็นเจ้าของนวัตกรรม มีเทคโนโลยีและแบรนด์เป็นของตนเอง” คุณเฉลิมพลกล่าวถึงหุ่นยนต์ “ดินสอ” ชื่อแบรนด์ที่เขาตั้งใจสื่อถึงความเรียบง่ายและความเป็นไทย

“หุ่นยนต์ดินสอ” เกิดขึ้นในปี 2552 เป็นหุ่นยนต์บริการที่มีความสามารถในการมองเห็น การสื่อสาร และการเคลื่อนที่ได้อัตโนมัติโดยไม่ชนกับมนุษย์หรือสิ่งกีดขวาง ซึ่งทางบริษัทได้ผลิตหุ่นยนต์เพื่อรับคำสั่งและเสิร์ฟอาหารให้กับร้านอาหารหลายแห่ง ทั้งในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย จนในปี 2558 คุณเฉลิมพลได้เปิดตัวหุ่นยนต์ดินสอสำหรับดูแลผู้สูงอายุและสนับสนุนการบริการในโรงพยาบาล ถึงปัจจุบัน หุ่นยนต์ดินสอมีใช้ในโรงพยาบาล ทั้งมหาวิทยาลัยทางการแพทย์ของรัฐและโรงพยาบาลเอกชนมากกว่า 50 แห่ง โดยแต่ละรุ่น มีการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถและความฉลาดให้หุ่นยนต์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

คุณเฉลิมพลกล่าวถึงจุดเด่นของหุ่นยนต์ดินสอรุ่นอื่น ๆ ดังนี้

  • Dinsaw Pro4 OPD: ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานในโรงพยาบาลและสถานพยาบาล มีระบบการสื่อสารและตอบสนองที่รวดเร็ว ช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยผู้ป่วยนอก (OPD) จุดเด่นคือการเคลื่อนที่ได้อิสระและสามารถสื่อสารกับผู้ป่วยได้
  • Dinsaw Mini 3 IPD: มีขนาดเล็กกะทัดรัด เหมาะสำหรับการใช้งานในบ้านหรือสถานพยาบาลขนาดเล็ก แบ่งเบาภาระงานของพยาบาล บันทึกคำสั่งแพทย์ ให้ข้อมูลยา การสั่งอาหารสำหรับรับประทานในห้องพักผู้ป่วย ฯลฯ จุดเด่นคือความสามารถในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อัจฉริยะและระบบ AI ที่ช่วยในการสื่อสารและตอบสนองต่อคำสั่ง หุ่นยนต์รุ่นนี้ได้รับการยอมรับในหลายประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น
  • Dinsaw Mini 3 Home AI : ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานในบ้าน มีระบบ AI ที่ช่วยในการสื่อสารกับผู้สูงอายุ ช่วยเตือนการทานยา แจ้งเตือนการนัดหมายทางการแพทย์ และให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ จุดเด่นคือการเป็นผู้ช่วยที่สามารถเรียนรู้และปรับตัวตามความต้องการของผู้ใช้งาน

หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต

นอกจากโรงพยาบาลในประเทศไทย หุ่นยนต์ดินสอยังได้รับการยอมรับจากโรงพยาบาลในต่างแดน เช่น เยอรมนี สวีเดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศญี่ปุ่น ที่หุ่นยนต์ดินสอมินิ (Dinsaw Mini) ได้รับความนิยม “แสดงให้เห็นว่าเราสามารถสร้างนวัตกรรมที่มีคุณค่าและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้”

คุณเฉลิมพลเผยว่าบริษัทมีแผนการขยายตลาดหุ่นยนต์ดินสอไปยังประเทศแคนาดา ฮ่องกง เกาหลี และอินโดนีเซียในอนาคต ซึ่งทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสและศักยภาพที่ประเทศไทยจะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตหุ่นยนต์ทางการแพทย์และการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ

“ในเวทีแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ ทีมจากประเทศไทยไม่น้อยหน้าชาติใดในโลก เราต้องใช้จุดแข็งของชาติที่มีนี้ในการผลิต AI ที่จะตอบสนองความต้องการในอนาคตของประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัย นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างคุณค่าและมูลค่าให้ประเทศด้วย”

AI ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการแพทย์

เมื่อถามถึงหุ่นยนต์ดินสอรุ่นต่อไป

“เราอยากทำให้หุ่นยนต์ดินสอเป็นผู้ช่วยแพทย์ที่สามารถเข้าถึงทุกคนได้ ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือชนบท เราต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางการรักษาและทำให้การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ถ้าเราขยายการใช้งานหุ่นยนต์ดินสอให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เป็น “1 ตำบล 1 หุ่นยนต์ดินสอ” ก็คงจะดี

สุดท้าย คุณเฉลิมพลขอบคุณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ให้ความรู้และโอกาสในการพัฒนานวัตกรรม “ที่สร้างคุณค่าต่อคนอื่น” และเชิญชวนชาวจุฬาฯ ให้ร่วมเปลี่ยนสังคมไปด้วยกัน

สนใจข้อมูลเกี่ยวกับหุ่นยนต์ดินสอ เข้าไปดูได้ที่ : https://www.dinsaw.com/

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า