รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
29 ตุลาคม 2567
ผู้เขียน การัณย์ภาส ลิ้มควรสุวรรณ
จากงานวิจัย “มวยไทย” โดยศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคมสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ สู่ภาพยนตร์สารคดี “หมัดสั่ง : ฟื้นประวัติมวยไทยบนสังเวียนโลก” ผลงานความร่วมมือของหลายองค์กร ดัน soft power สร้างมูลค่าเศรษฐกิจและอนุรักษ์จิตวิญญาณมวยไทยโบราณที่ใกล้สูญ
มวยไทยกำลังมาแรงและกลายเป็นอีกหนึ่งซอฟท์พาวเวอร์ที่สร้างรายได้เข้าประเทศ สนามมวยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากให้มาเชียร์และชื่นชมศิลปะการต่อสู้ของไทย ค่ายมวยหลายแห่งคึกคักด้วยชาวต่างชาติที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ เวทีจัดการแข่งขันมวยไทยเกิดขึ้นมากมายทั้งในเมืองหลวงและจังหวัดแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ กางเกงมวยเป็น “ของที่ระลึกต้องมี” จากเมืองไทย
ภาพของ “มวยไทย” ที่รู้จักกันดังกล่าวนั้นเป็นมวยไทยที่ประยุกต์ไปมาก สำหรับครูมวยหรือสำนักมวยไทยแล้ว มวยไทยยังมีเสน่ห์อีกมากที่หลายคนยังไม่รู้จัก และควรค่าที่จะนำเสนอเพื่อการอนุรักษณ์คุณค่าและสร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจยิ่งขึ้น
“มวยไทยในปัจจุบันมีการใช้กฎกติกาที่เป็นสากลมากขึ้น ทำให้เคล็ดลับหรือกลเม็ดเด็ดพราย แม่ไม้มวยไทยของแต่ละค่ายโดนตัดทอนไปเพราะเป็นสิ่งที่ผิดกติกาสากล ซึ่งหากไม่มีการอนุรักษ์และเผยแพร่ความเป็นมวยไทยอย่างเดิมเอาไว้ ภูมิปัญญาและเอกลักษณ์มวยไทยก็อาจจะสูญหายไป” ศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงข้อห่วงใยที่ทำให้ศูนย์ฯ ริเริ่มโครงการวิจัยและจัดทำภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “MUAYTHAI : POWER & SPIRIT” “หมัดสั่ง : ฟื้นประวัติมวยไทยบนสังเวียนโลก”
“มวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้และป้องกันตัวที่ทรงพลังและมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ที่สะท้อนสปิริตความเป็นไทย ทั้งในด้านความอดทน ความกล้าหาญ และการเคารพคู่ต่อสู้” ศ.ดร.สุเนตรอธิบาย
“หมัดสั่ง” เป็นภาพยนตร์สารคดีความยาว 45 นาที มีการแปลคำบรรยายเป็นภาษาต่าง ๆ ทั้งสิ้น 7ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี สเปน รัสเซีย และอาหรับ
“เราไม่อยากให้งานวิจัยตอบโจทย์คนเฉพาะกลุ่มหรือยุติอยู่บนชั้นหนังสือในห้องสมุด เราจึงนำเสนอและเผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยในรูปแบบสื่อบันเทิง อิงกับเรื่องที่เป็นกระแสในปัจจุบันและสอดรับกับแผนงาน “ซอฟต์พาวเวอร์” ของรัฐบาล” ศ.ดร.สุเนตรกล่าวและเผยอีกว่า นอกจากมวยไทยแล้ว ศูนย์ฯ ยังมีงานวิจัย “ซอฟต์ พาวเวอร์” ด้านอื่น ๆ เช่น งานวิจัย “ผัดไทย” ที่จะนำเสนอในรูปแบบละครกึ่งสารคดีเช่นกัน
หลังจากที่เปิดตัวไปเมื่อต้นปีนี้ “หมัดสั่ง” ได้รับการตอบรับที่ดี หลายประเทศที่สนใจมวยไทยได้ติดต่อขอภาพยนตร์ไปฉายในประเทศของตน นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะนำ “หมัดสั่ง” ไปเผยแพร่ในงานเทศกาลภาพยนตร์ ตลาดสารคดีโลก สถานทูตไทยในต่างประเทศ สถาบันการศึกษาในต่างประเทศ หน่วยงานการท่องเที่ยวไทยในต่างประเทศ ฯลฯ
ในภาพยนตร์สารคดี “หมัดสั่ง” สิ่งที่ผู้ชมได้เห็นคือมวยไทยในมิติที่พวกเขา “ไม่รู้จัก”
“สิ่งที่เราเผยแพร่ไม่ใช่มวยไทยที่เป็นการชกต่อยกันในเวทีต่าง ๆ แต่เรานำเสนอที่เรียกว่า “Power & Spirit” เพื่อให้ผู้สนใจเข้าถึงจิตวิญญาณของมวยไทยได้อย่างแท้จริง” ศ.ดร.สุเนตรกล่าว
“เราค้นหาสิ่งที่คนยังไม่รู้จักในมวยไทย พื้นฐานความคิดความเชื่อของมวยไทย ภูมิหลังความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ มิติทางวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้ยังไม่เป็นที่รับรู้ในเวทีนานาชาติเท่าไร”
“พาวเวอร์” คือเรื่องราวศิลปะมวยไทยในแง่การต่อสู้ มวยไทยสำนักต่างๆ ชกต่อย และมีแม่ไม้มวยอะไร สำคัญอย่างไร
“มวยไทยไม่ใช่มวยโชว์ แต่เป็นมวยที่มีการต่อสู้กันจริง ๆ ถึงเลือดถึงเนื้อกันเลยทีเดียว เสน่ห์ของมวยไทยอยู่ที่ศิลปะการใช้อาวุธ (ร่างกาย) หรือแม่ไม้มวยไทย ที่มีด้วยกันหลายท่วงท่างดงาม เช่น มณโฑนั่งแท่น หนุมานถวายแหวน เป็นต้น แม้ลีลาจะสวยงาม แต่หนักหน่วง รุนแรง นี่คือจุดเด่นที่ในสมัยก่อน มักจะมีศิลปะการต่อสู้ของต่างแดนมาขอเปรียบกับมวยไทยเป็นระยะๆ”
ส่วนจิตวิญญาณมวยไทย หรือ “สปิริต” เป็นการฟื้นความเข้าใจเรื่องการไหว้ครู รวมถึงอุปรากรของมวยไทย เพื่อให้ผู้สนใจเห็นว่าอะไรคือจิตวิญญาณหรือหลักปรัชญาของมวยไทย เช่นที่ศิลปะการต่อสู้ของชาติอื่น ๆ มี เช่น ซูโม่ ยูโด
“มวยไทยมีลักษณะที่ต่างจากวัฒนธรรมอื่น ๆ มวยไทยมีพัฒนาการและการปฏิบัติที่เป็นระบบ การปรับกฎกติกามารยาทตามแบบมวยตะวันตกทำให้เอกลักษณ์สำคัญของมวยไทยที่เรียกว่า “อุปรากรของมวยไทย” หายไป ยกตัวอย่าง เดิม มวยไทยมีการต่อยแบบคาดเชือก ก็เปลี่ยนมาต่อยแบบสวมนวมอย่างกติกาตะวันตก ทุกวันนี้เราไม่เห็นมวยคาดเชือกที่เป็นมวยไทยโบราณอีกแล้ว ซึ่งจริง ๆ การคาดเชือกของแต่ค่ายมวยก็เป็นเอกลักษณ์บ่งบอกถึงสำนักมวยนั้นๆ อย่างมวยโคราชจะคาดเชือกลงมาถึงศอก มวยไชยาจะคาดลึกมาถึงข้อมือ นี่คือเอกลักษณ์และคุณค่าของความเป็นมวยไทยโบราณ”
นอกจากนี้ ศ.ดร.สุเนตรกล่าวว่ามวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ประเภทเดียวที่มี “การไหว้ครู” และยังมีประเพณีเครื่องแต่งกายและเครื่องรางของนักมวยด้วย ไม่ว่าจะเป็น มงคล ผ้าประเจียน และดนตรีประกอบการต่อสู้
“การไหว้ครูก่อนทำการชกเป็นสิ่งแปลกตาสำหรับชาวต่างชาติ นอกจากนี้ การไหว้ครูและตลอดการต่อสู้ มวยไทยยังมีดนตรีประกอบตลอดเวลาด้วย เสียงเครื่องดนตรีที่ใช้ในเวทีมวยไทยมีเอกลักษณ์ของตัวเอง และยังเป็นส่วนเสริมให้การต่อสู้เร้าใจ”
มวยไทยอยู่ในวิถีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของสังคมไทยมายาวนาน สมัยโบราณ ชายไทยเรียนมวยเพื่อการต่อสู้และป้องกันตัวในยามออกรบ ในยามบ้านเมืองไม่มีศึกสงคราม ผู้ที่ฝึกมวยในสำนักต่าง ๆ ก็จะเปรียบ (ประลอง) มวยกันในงานเทศกาลต่าง ๆ
มวยเป็นศิลปะการต่อสู้ที่พระเจ้าแผ่นดินไทยสมัยก่อนโปรดและให้การสนับสนุน อย่างในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการคัดเลือกผู้ที่มีหน่วยก้านดีและมีฝีมือทางมวยให้มาเป็น “นักมวยหลวง” ในสังกัดกรมทนายเลือก (กรมนักมวย) ทำหน้าที่อารักขาความปลอดภัยให้พระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ ในสมัย ร.5 ยังทรงโปรดให้มี “มวยหลวง” ตามหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อฝึกสอนกีฬามวยไทยให้ผู้สนใจ และในงานเทศกาลพระราชพิธีต่าง ๆ ก็จะจัดเวทีชกมวยโดยคัดเลือกนักมวยเอกจากต่างจังหวัดเข้ามาประลองกัน“
เจ้านายของแต่ละวังจัดการเปรียบมวยกัน เรียกได้ว่ามีการประชันดนตรีที่ใด จะมีการเปรียบมวยด้วย เป็นการแสดงทั้งปัญญาและอำนาจ ความสามารถของแต่ละวังให้เป็นที่ประจักษ์กับคนทั่วไป” ศ.ดร.สุเนตรเล่า “ภายหลังการเปรียบมวยหน้าพระที่นั่งได้รับความนิยม จึงมีการสร้างสนามมวยขึ้นเพื่อให้เป็นพื้นที่ประชันฝีมือกัน สนามมวยแห่งแรกของไทยก็คือสนามมวยสวนกุหลาบ นับเป็นต้นร่างและที่มาของมวยไทยในยุคปัจจุบัน”
การส่งเสริมมวยนับตั้งแต่อดีตทำให้มวยไทยโบราณมีความหลากหลาย เกิดเป็นมวยสำนักต่าง ๆ ที่ในปัจจุบันยังคงมีผู้สืบสานอยู่ ได้แก่ มวยไชยา มวยทุ่งยั้ง (มวยท่าเสา) อุตรดิตถ์ มวยโคราช และมวยลพบุรี
“การอนุรักษ์มวยไทยเป็นเรื่องยาก เพราะมวยไทยไม่มีมาตรฐานที่ตายตัว เราไม่สามารถบอกได้ว่ามวยสำนักไหนคือต้นแบบของมวยไทย แต่ละสำนักมีแนวคิดและลีลาการชกของตัวเอง ตั้งแต่การจดมวย การย่างสามขุม และลูกไม้ต่างๆ ซึ่งไม่เหมือนกัน แต่ละที่มีข้อเด่นแตกต่างกัน”
การอนุรักษ์มวยไทยจึงไม่ใช่การหลอมมวยทุกสำนักให้เป็นหนึ่งเดียว แต่เป็นการทำความเข้าใจความหลากหลายอย่างท่องแท้
“เราสามารถร่วมมือกับครูมวยจากสำนักต่าง ๆ ให้มาร่วมกันวางบรรทัดฐานของมวยไทยในปัจจุบันได้” ศ.ดร.สุเนตรกล่าว
จาก “หมัดสั่ง” ศ.ดร.สุเนตรเผยถึงโครงการวิจัยต่อไปคือ “กว่าจะเป็นบัวขาว” งานวิจัยที่จะถอดรหัสความสำเร็จของนักมวยต้นแบบ ร้อยโทสมบัติ หรือ บัวขาว บัญชาเมฆ
“หลายคนมองว่าการเกิดขึ้นของบัวขาวเป็น “อุบัติเหตุ” ที่จะไม่สามารถหาใครมาแทนที่คุณบัวขาวได้ แต่เราเชื่อว่าเราสร้างนักมวยคุณภาพได้ เราจะถอดบทเรียนของคุณบัวขาวเพื่อให้เห็นว่าการผลิตนักมวยที่มีความสามารถรอบด้าน ยืนบนเวทีระดับโลกได้ยาวนานและเป็นแม่แบบได้นั้น อาศัยอะไรบ้าง และทำอย่างไร ลักษณะการไหว้ครูของบัวขาวเป็นอย่างไร การฝึกมวยไทยของบัวขาวใช้วิชากี่แขนง กี่สำนัก และเป็นมวยไทยโบราณเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่”ศ.ดร.สุเนตรหวังว่าสารคดี “กว่าจะเป็นบัวขาว” จะสร้างแรงบันดาลใจให้นักมวยรุ่นต่อๆ ไป และคนไทยให้ร่วมอนุรักษ์พลังและจิตวิญญาณมวยไทย
“มวยไทยก็เหมือนกับกีฬาและศิลปะการต่อสู้แขนงอื่น ๆ เราสามารถเรียนมวยไทยเป็นกีฬาได้ ไม่จำเป็นต้องเพื่อประกอบอาชีพนักมวยเท่านั้น เราเรียนมวยไทยเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีวิชาป้องกันตัวเองได้ และที่สำคัญเราจะได้เข้ารากเหง้าและวัฒนธรรมของตัวเอง เกิดเป็นความภาคภูมิใจ และถ้าเราเรียนจนสามารถเป็นครูมวยได้ ก็จะทำให้เราเป็นคนหนึ่งที่จะส่งต่อและสืบสานมวยไทยต่อไปให้คนรุ่นหลังในอนาคต”
สุดท้าย ศ.ดร.สุเนตรย้ำว่า “การอนุรักษ์คือการให้ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง หน่วยงานต่าง ๆ ควรเข้ามามีบทบาทในการช่วยกันอนุรักษ์ เช่น กระทรวงวัฒนธรรม สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ภาครัฐควรสนับสนุนการทำวิจัย การจัดตั้งสมาคมที่สัมพันธ์กับการอนุรักษ์มวยไทยโบราณ ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการขับเคลื่อนและถ่ายทอดความรู้ ซึ่งในที่นี้ รวมถึงงานวิจัยและการทำสารคดีเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ดูและเข้าใจถึงบรรทัดฐานของความเป็นมวยไทยที่แท้จริงของคนไทยต่อไป”
สำหรับผู้ที่สนใจรับชมสารคดีเรื่อง “MUAYTHAI : POWER & SPIRIT” และ งานวิจัยเรื่อง “หมัดสั่ง : ฟื้นประวัติมวยไทยบนสังเวียนโลก” สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์พหุวัฒนธรรมและนวัตกรรมทางสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 0 2218 7412 หรือที่เว็บไซต์ http://www.ias.chula.ac.th/contactus/
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้