รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
13 ธันวาคม 2567
ผู้เขียน เมธาพร ไตรกิจวัฒนกุล
จุฬาฯ ชวนเปิดประสบการณ์การเรียนรู้กับพิพิธภัณฑ์ในจุฬาฯ ยามค่ำคืน“Night Museum at Chula” ตื่นตากับกิจกรรม “Science meets Art – Art meets Science” ผสานความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปะ พร้อมทั้งการแสดง ดนตรี แสง สี เสียง สร้างการเรียนรู้และแรงบันดาลใจ เข้าชมฟรีระหว่าง 13 – 15 ธันวาคมนี้
การทำอะไรนอกกรอบความคุ้นชินเดิม ๆ สร้างความรู้สึกตื่นตัวและกระตุ้นการเรียนรู้ได้มาก อย่างเช่นการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน ที่ได้รับความนิยมจากผู้เข้าชมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์หลายแห่งจึงเริ่มเปิดพื้นที่นอกเวลา (ราชการ) ต้อนรับผู้สนใจให้มาเพลิดเพลินกับการเรียนรู้ในบรรยากาศสบาย ๆ ยามเย็น-ค่ำ
“เมื่อเราเปลี่ยนบรรยากาศการชมพิพิธภัณฑ์จากช่วงกลางวันเป็นกลางคืน มุมมองและการรับรู้ของผู้ชมจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง แสง สี เสียงที่ออกแบบเฉพาะสำหรับเวลากลางคืนช่วยสร้างอารมณ์และแรงบันดาลใจที่แตกต่างออกไป” รองศาสตราจารย์ ดร.วิเชฏฐ์ คนซื่อ หัวหน้าภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสีสันและบรรยากาศที่จะเกิดขึ้นในงาน “Night Museum at Chula” ซึ่งในปีนี้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 ธันวาคม
จุฬาฯ ริเริ่มจัดกิจกรรม “เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ในมหาวิทยาลัยยามค่ำคืน” เป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2559 ไม่เพียงเพื่อสร้างเสริมการเรียนรู้และแรงบันดาลใจ แต่ยังเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวและกลุ่มเพื่อนได้อีกด้วย รศ.ดร.วิเชฏฐ์ กล่าว
“เวลาทำการในช่วงกลางวันมักตรงกับเวลาทำงานหรือเวลาเรียนของผู้คนส่วนใหญ่ ทำให้หลายคนและหลายครอบครัวไม่มีโอกาสไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ด้วยกัน ดังนั้น การที่พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมในเวลาเย็นไปจนถึงกลางคืน จึงเป็นการเปิดโอกาสให้หลายคนได้ใช้เวลาหลังเลิกเรียนและเลิกงานมาเที่ยวและเพลิดเพลินกับการเรียนรู้ร่วมกัน”
สำหรับ “Night Museum at Chula” ในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Science meets Art – Art meets Science” เพื่อสะท้อนการบูรณาการความงดงามของวิทยาศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ รศ.ดร.วิเชฏฐ์ กล่าว
“วิทยาศาสตร์และศิลปะดูเหมือนจะเป็นศาสตร์ที่แตกต่างกัน แต่แท้จริงแล้วมีจุดร่วมที่สามารถส่งเสริมซึ่งกันและกันได้ ในงาน เราตั้งใจนำเสนอเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย และเน้นสร้างความรู้สึกดื่มด่ำผ่านการเชื่อมโยงประสาทสัมผัสทั้งห้า”
รศ.ดร.วิเชฏฐ์ ยกตัวอย่างกิจกรรมในงาน อาทิ การแสดงโขนที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันของธรรมชาติและมนุษย์ การออกแบบท่ารำและเครื่องแต่งกายที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสัตว์ป่าและพืชพรรณ การเชื่อมโยงระหว่างโครงสร้างและสมบัติทางธรณีวิทยาของหินกับความเชื่อเกี่ยวกับหินศักดิ์สิทธิ์ หินสีมงคล หรือการสอนถ่ายภาพและเทคนิคการพิมพ์ภาพในห้องมืดกับการจัดแสดงผลงานภาพถ่ายที่สะท้อนความงดงามของแสงและธรรมชาติ เป็นต้น
“เราหวังว่างาน Night Museum at Chula จะสร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าชม ได้เกิดความรู้สึกเชื่อมโยงกันผ่านการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในบรรยากาศที่อบอุ่นและน่าประทับใจ” รศ.ดร.วิเชฏฐ์ กล่าว
หลายหน่วยงานในมหาวิทยาลัยได้จัดเตรียมนิทรรศการและกิจกรรมสุดพิเศษมากมายเพื่อต้อนรับผู้สนใจ โดยบางส่วนของไฮไลท์ในงาน อาทิ
ชวนชมนิทรรศการ “Beauty and the Beast” นำเสนอผีเสื้อและแมลงสาบในฐานะตัวแทนแห่งวิวัฒนาการและการปรับตัว พร้อมสัมผัสความงดงามของดนตรีคลาสสิกจากวงแชมเบอร์ในบรรยากาศที่เชื่อมโยงธรรมชาติและศิลปะ นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการ “ของดีควรดู” ที่ชวนชมพิพิธภัณฑ์ในจุฬาฯ รวมถึงหอประวัติจุฬาฯ ที่บอกเล่าเรื่องราวผ่านภาพถ่ายและวัตถุทรงคุณค่า ปิดท้ายด้วยกิจกรรมจิตวิทยา “มิติแห่งการรับรู้” ที่เชื่อมศิลปะและธรรมชาติเพื่อเปิดมุมมองใหม่ให้ผู้เข้าชมได้เข้าใจการรับรู้ของตัวเอง
จัดแสดงสัตว์น้ำที่นำทรัพยากรชายฝั่งมาให้ผู้ร่วมงานสัมผัสใกล้ชิด พร้อมกิจกรรม Touch Tank ที่เหมือนยกทะเลมาไว้กลางกรุงเทพฯ และดาวเด่นในงานอย่าง Decorator Crab หรือ ปูนักตกแต่ง สัตว์ทะเลหายาก ที่ผู้เข้าชมสามารถถ่ายรูปกับเจ้าปูได้
มีการแสดงและการขับร้องประสานเสียงทีมคอรัสจากบทเพลง The Lion King ผสานการแสดงที่โดดเด่นด้วยตัวละคร “กินรี” สัญลักษณ์แห่งความงามในธรรมชาติ ตามด้วยละครเวทีสั้น “รักษ์สัตว์โลก” ที่ผสมผสานศิลปะและความรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การแสดงโขนสดตอน “ตามกวาง” ถ่ายทอดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ เสริมด้วยดนตรีไทยโบราณใน “Music in Museum” ซึ่งพาผู้ชมดื่มด่ำกับเสียงเพลงท่ามกลางธรรมชาติวิทยา และการแสดงระบำสัตว์เพื่อสะท้อนจิตวิญญาณในความหลากหลายทางชีวภาพ ปิดท้ายด้วยการแสดงโปงลางที่จะสร้างความบันเทิงสนุกสนานให้ผู้ชม
ชวนร่วมสำรวจธรรมชาติในเงามืดกับงาน “Biodiversity Night: Exploring Nature in the Shadow” ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพในบรรยากาศยามค่ำคืน พร้อม Night Walk Tour ชมพิพิธภัณฑ์พร้อมไกด์ผู้เชี่ยวชาญ และถ่ายภาพสุดพิเศษที่ Photo Corner Under the Stars
สำหรับนิทรรศการเด่น ได้แก่ “ปีก-THE WING” สำรวจวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตมีปีก, ผลงานภาพวาดทางวิทยาศาสตร์โดย Estelle Cruz, The Dark Dwellers สัตว์ในเงามืด, การผ่าตัดจระเข้ใน “Inside the Animal Body”, และการลิ้มลองอาหารจากแมลงใน “Are You Hungry?” พร้อมเสวนา “Citizen Science” ที่ชูบทบาทวิทยาศาสตร์ภาคประชาชนในงานอนุรักษ์ธรรมชาติ และกิจกรรม DIY งานศิลป์รักษ์โลก สร้างกระเป๋าผ้าและเข็มกลัดเป็นของที่ระลึกสุดพิเศษ
นิทรรศการ “The Dark Room Art” จะพาผู้ชมเข้าสู่โลกแห่งการสร้างภาพถ่ายผ่านกระบวนการดั้งเดิม การใช้แสงในห้องมืดจนถึงการค้นพบศิลปะในการถ่ายทอดความทรงจำบนแผ่นกระดาษ ภายในนิทรรศการจัดแสดงผลงานภาพที่เกิดจากเทคนิคหลากหลาย อาทิ ฟิล์มขาวดำ การพิมพ์ด้วยแสง และการสร้างภาพแบบไซยาโนไทป์ที่สะท้อนความหลากหลายระหว่างศิลปะและวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม “Darkroom Demonstration” ที่ผู้เข้าชมจะได้ชมขั้นตอนการอัดและขยายภาพขาวดำในห้องมืด พร้อมเปิดโอกาสให้ทดลองใช้เครื่องมือและสร้างภาพด้วยตนเอง ซึ่งจะมอบประสบการณ์อันล้ำค่าและแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ศาสตร์แห่งการถ่ายภาพในมุมมองใหม่
เปิดมุมมองเกี่ยวกับบทบาทของธรณีวิทยาในสังคมไทย กับงาน “Geological Creative Power in Thai Society” ผ่านกิจกรรมหลากหลาย เช่น “Sacred Stones and Thai Beliefs” ที่เล่าถึงความเชื่อเกี่ยวกับหินศักดิ์สิทธิ์, “The Dinosaurs of Thailand” การจัดแสดงกระดูกไดโนเสาร์ไทย, “Geo-Economics” ที่เผยความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติในเศรษฐกิจ และการจัดแสดงหิน “หมูสามชั้น” นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสนุก ๆ เช่น DIY กระเป๋าหนึ่งเดียวในโลก, ฐานทดสอบความหนัก, อัญมณีประจำราศี และการตักไข่ไดโนเสาร์ชิงรางวัลพิเศษ
สัมผัสความงดงามของพืชพรรณที่เชื่อมโยงกับชีวิตมนุษย์ในงาน “เสน่ห์แห่งพฤกษา: คน-พืช-แมลง” นิทรรศการ “นักล่าผู้สง่างามแห่งพงไพร” ที่นำเสนอพืชกินแมลง, “สายพันธุ์ข้าวในท้องตลาด” บอกเล่าความสำคัญของข้าว และ “Botanical Illustration” ศิลปะพืชที่งดงามเหนือกาลเวลา พร้อมสนุกกับกิจกรรม DIY เครื่องหอมจากพืช และนิทรรศการ “From Garden to the Table” ที่เชื่อมโยงสวนธรรมชาติกับจานอาหารสุดพิเศษ
กิจกรรม “ชวนพี่น้องมองดาว” ณ ใจกลางจุฬาฯ พบกับการตั้งกล้องโทรทรรศน์ 4 ตัวที่ลานพระบรมรูปสองรัชกาล และที่บูธคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อชมดวงดาวอย่างใกล้ชิด พร้อมกิจกรรมถ่ายภาพดวงจันทร์ผ่านมือถือ นอกจากนี้ยังมีสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT)
งาน “Senses of Micro: สัมผัสแห่งจุลินทรีย์ โลกเล็กที่ทรงพลัง” สำรวจบทบาทสำคัญของจุลินทรีย์ผ่านนิทรรศการ “Senses of Micro” กับประสบการณ์สัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ “The Microbial Gallery” ชมศิลปะจากมุมมองจุลชีววิทยา, “Magic in the Kitchen” รสชาติจากอาหารหมัก, “A New Dimension of Scent” กลิ่นจากจุลินทรีย์, และ “Sounds of the Lab” บรรยากาศเสียงในห้องแลป ร่วมกิจกรรม “Paint Your Own Microbe” วาดจุลินทรีย์ในเพลต และ “Science Lab Photo Booth” ถ่ายภาพห้องแลป และพลาดไม่ได้กับการเสวนาช่วงค่ำ “Unpacking the Senses from Microbes” เจาะลึกสี กลิ่น และรสชาติของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
“เสน่ห์แห่งชีวเคมี: Charm of Biochemistry” เชิญผู้สนใจเข้าสู่โลกแห่งปฏิกิริยาเคมีในระดับโมเลกุลที่ขับเคลื่อนชีวิตบนโลก ชมนิทรรศการแบคทีเรียเรืองแสง และโปรตีน GFP สีเขียวจากแมงกะพรุน และพลาดไม่ได้กับ Charm of Healthy Gelato เจลาโต้สูตรสุขภาพที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ
กิจกรรม “ปริศนาท้าทาย: สนุก คิด พิชิตความรู้” ค้นพบความลับในการทายวันเกิดที่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ พร้อมประลองไอเดียออกแบบสะพานที่ยาวที่สุดในโลกโดยใช้แค่แท่งไม้
งาน “มหัศจรรย์วัสดุศาสตร์ สีสันและความลึกลับ” พบกับเวิร์กชอปสร้างสรรค์ เช่น การระบายสีปูนปาสเตอร์หอม และกิจกรรม DIY พวงกุญแจ Shrink Plastic เป็นของที่ระลึกไม่เหมือนใคร
เปิดโลก “เพริศพราย Chemistry: ปรุงสารให้เป็นแสงสี” ดื่มด่ำกับศาสตร์แห่งเคมีที่เต็มไปด้วยแสงสี และเพลิดเพลินกับกิจกรรมสุดพิเศษ เช่น การสาธิตปฏิกิริยาเคมีรอบตัว, การทดลองนาโนเทคโนโลยีที่สร้างแสงระยิบระยับ และสารเรืองแสงที่เปล่งประกายในที่มืด
สำรวจความงดงามและความลี้ลับของโลกใต้ทะเลที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมทั้งเรียนรู้ถึงบทบาทสำคัญของมหาสมุทรที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน และตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลเพื่อความยั่งยืนของโลกในอนาคต
Night Museum at Chula เปิดประตูแห่งการเรียนรู้ตั้งแต่ 16.00 น. ไปจนถึงเวลา 22.00 น.โดยมีนิสิตจุฬาฯ คอยอำนวยความสะดวกและเป็นไกด์นำเที่ยวให้กับผู้เข้าชมตลอดงาน
“งานนี้ไม่เพียงเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์สำหรับผู้เข้าชม แต่ยังเป็นโอกาสให้นิสิต จุฬาฯ ได้แสดงศักยภาพด้วย”
รศ.ดร.วิเชฏฐ์ กล่าวว่านิสิตจุฬาฯ มีบทบาทในทุกขั้นตอนของการจัดงาน ตั้งแต่การลงทะเบียนผู้เข้าชม การนำเสนอข้อมูล แนะนำนิทรรศการในฐานะไกด์พาทัวร์ ไปจนถึงการเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมและวิทยากรในงานจัดแสดง
“งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของมหาวิทยาลัยที่ส่งเสริมให้นิสิตเรียนรู้จากประสบการณ์ และพัฒนาทักษะ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ และสร้างคุณค่าให้แก่สังคมในอนาคต”
ขอเชิญร่วมสัมผัสประสบการณ์พิเศษในงาน “Night Museum at Chula เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์จุฬาฯ ยามค่ำคืน” ระหว่างวันที่ 13 – 15 ธันวาคม 2567 เวลา 16.00 – 22.00 น. ณ พิพิธภัณฑ์ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การเดินทาง รถไฟฟ้าใต้ดิน: ลงสถานีสามย่าน / รถโดยสารประจำทาง: ลงป้ายสนามหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 0-2218-3634-5, 0-2218-3624
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/NHMCU
“หุ่นอาจารย์ใหญ่” ฝึกเจาะเลือดและฉีดยาสุนัข เสริมความมั่นใจนิสิตสัตวแพทย์
จุฬาฯ เปิดตัว “วีลแชร์เดินได้” Wheelchair Exoskeleton หุ่นยนต์สวมใส่บนร่างกายมนุษย์จุฬาฯ เปิดตัว “วีลแชร์เดินได้” นั่ง ลุกยืน และเดินได้ในตัวเดียว
“ศูนย์สุขภาวะผู้สูงอายุ จุฬาฯ” บ้านหลังที่ 2 ดูแลระหว่างวัน ตอบโจทย์ลูกหลานวัยทำงาน ตรงใจสูงวัยสุขภาพดี
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้