รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
13 ธันวาคม 2567
ผู้เขียน ศุภวรรณ พิพิธสมบัติ
อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ออกแบบ “ของเล่นของแต่งบ้านสำหรับผู้สูงอายุ” นวัตกรรมสร้างสุขภาวะที่ดีทั้งกายและใจ ช่วยชะลอความจำเสื่อมและลดความเสี่ยงภาวะซึมเศร้า ล่าสุดคว้ารางวัล Creative Excellence Awards 2024 ประเภทพลังสร้างสรรค์เพื่อสังคม ย้ำความสำเร็จด้านการออกแบบเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย
การเล่นและของเล่นเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างเสริมพัฒนาการและสุขภาวะของมนุษย์ ไม่เพียงวัยเด็ก แต่คนทุกวัยด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะผู้สูงวัย ยิ่งต้องเล่น
“การเล่นจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาวะที่ดี (Well-being) ทั้งร่างกายและจิตใจ ผู้สูงอายุจะรู้สึกเพลิดเพลิน มีความสุข ไม่เหงาหรือห่อเหี่ยวเศร้าซึม” รองศาสตราจารย์พรเทพ เลิศเทวศิริ อาจารย์พิเศษสาขาวิชาศิลปศึกษา ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว
ด้วยประสบการณ์การออกแบบของเล่นสำหรับเด็กมากว่า 40 ปี และการศึกษาพัฒนาการชีวิตมนุษย์ รศ.พรเทพ กล่าวว่าของเล่นสำหรับผู้สูงวัยเป็นสิ่งจำเป็น อีกทั้งเป็นเทรนด์และโอกาสทางธุรกิจที่น่าจับตา เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มขั้น จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลง ในขณะที่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
“พัฒนาการของชีวิตมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิด วัยรุ่นและหนุ่มสาว จนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ เป็นเหมือนกราฟพาราโบลาซึ่งคล้ายระฆังคว่ำ (Bell Curves) เด็กแรกเกิดจะอยู่ช่วงปลายกราฟข้างซ้าย ผู้สูงวัยจะอยู่ในช่วงปลายกราฟข้างขวา แสดงให้เห็นต้นทางปลายทางมีจุดเริ่มต้นและจุดจบในลักษณะเดียวกัน เพียงแต่เด็กแรกเกิดจะมีพัฒนาการชีวิตที่ก้าวหน้า เติบโต ส่วนปลายทางของผู้สูงอายุเป็นพัฒนาการขาลง สภาพร่างกายเสื่อมถอย ความคิดอ่านถดถอย รู้สึกน้อยใจ หดหู่ เบื่อหน่ายชีวิตได้ง่าย” รศ.พรเทพ กล่าว
พัฒนาการขาลงของผู้สูงอายุเป็นแรงบันดาลใจให้ รศ.พรเทพ ออกแบบ “ของเล่นของแต่งบ้านสำหรับผู้สูงอายุ” 3 รูปแบบ ได้แก่ นับไทย แมนดาลาเพื่อการตกแต่ง และบล็อกและกรอบรูป ของเล่นสำหรับผู้สูงอายุเหล่านี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีทั้งในระดับชาติและนานาชาติ โดยล่าสุด รศ.พรเทพ ได้รับรางวัลความเป็นเลิศทางความคิดสร้างสรรค์ประจําปี 2567 (Creative Excellence Awards 2024) ประเภทพลังสร้างสรรค์เพื่อสังคม (Creative Social Impact Awards) ในหมวด Creative Well-Being Award จากสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) องค์กรภายใต้การกํากับดูแลของสํานักนายกรัฐมนตรี
เมื่อเอ่ยถึงของเล่น หลายคนคงนึกถึงรูปแบบและลักษณะของเล่นสำหรับเด็ก แต่ “ของเล่นสำหรับผู้สูงวัย” รูปแบบหรือหน้าตาเป็นเช่นไร?
“ของเล่นสำหรับเด็กและของเล่นสำหรับผู้สูงอายุแตกต่างกันตามประสบการณ์ชีวิต เด็กจะไม่ค่อยมีความระมัดระวัง ไม่ไตร่ตรองเหมือนผู้ใหญ่ ของเล่นสำหรับเด็กต้องออกแบบตามมาตรฐานความปลอดภัย ส่วนของเล่นสำหรับผู้สูงอายุ จะต้องออกแบบให้ผู้สูงอายุเล่นได้โดยไม่รู้สึกกระอักกระอ่วนใจว่ากำลังเล่นของเล่นสำหรับเด็ก” รศ.พรเทพ กล่าวและเสริมว่าการออกแบบของเล่นสำหรับผู้สูงวัยต้องใช้หลักการออกแบบ Empathy Design for Elderly
“ผู้สูงอายุไม่ได้ต้องการความเห็นใจ (Sympathy) แต่ต้องการความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) มากกว่า พวกเขาผ่านประสบการณ์ชีวิตมามาก พร้อมที่จะดูแลตัวเอง พร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์ ความรู้ ความคิดประเพณีวัฒนธรรม ในช่วงบั้นปลายชีวิตจึงต้องการความเข้าอกเข้าใจและความให้เกียรติ ด้วยเหตุนี้การออกแบบจึงเป็นทั้งของเล่นและเป็นของแต่งบ้านด้วย เพื่อช่วยลดความอึดอัดว่าทำไมตนเองต้องมานั่งเล่นของเล่นเหมือนเด็ก และยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับของเล่นด้วย”
ในการออกแบบของเล่นของแต่งบ้าน รศ. พรเทพ ใช้ทฤษฏีพัฒนาการเรียนรู้ของบลูม (Bloom’s Taxonomy) ซึ่งกล่าวถึงพัฒนาการ 3 ด้านของมนุษย์ ได้แก่
“ของเล่นสำหรับผู้สูงอายุออกแบบมาเพื่อคงไว้ซึ่งสมรรถนะและพัฒนาการของสูงอายุทั้ง 3 ด้าน ให้ผู้สูงอายุรู้สึกเพลิดเพลิน กระตุ้นให้คิดได้ จำได้ ถ่ายทอดได้”
นับไทย (Thai Counting) เป็นของแต่งบ้านและของเล่นที่ช่วยให้ผู้สูงอายุได้ฝึกฝนทักษะการคิดคำนวณและการจดจำ ซึ่งเป็นพัฒนาการด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) อันเกี่ยวกับสติปัญญา ความจำ ความเข้าใจ
ในกล่องของเล่น “นับไทย” จะมีตัวเลข ๑ – ๙ สร้างเป็นยูนิตสูงขึ้นทีละหน่วย และสร้างให้สอดคล้องกับขนาดที่สูงขึ้นตามจำนวน ด้านหน้าเป็นเลขไทย ส่วนด้านหลังเป็นเลขอารบิก นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบตัวเลขภาษาจีน และภาษาญี่ปุ่นด้วย ฝากล่องเก็บชิ้นส่วนตัวเลขยังสามารถเป็นกระดานเขียนได้ด้วย
“ผู้สูงวัยอาจจะเผลอนับเลขไม่ถูก จำอะไรไม่ได้บ้าง การเล่น “นับไทย” จะช่วยผู้สูงอายุได้ทบทวนความทรงจำเกี่ยวกับตัวเลขและการคำนวณ” รศ.พรเทพกล่าวและอธิบายการเล่นว่า “ถ้าตั้งโจทย์ว่าให้เอา ๓+๒ เท่ากับเท่าไร ผู้เล่นก็ต้องเอาบล็อกเลข ๓ มาต่อกับบล็อกเลข ๒ ผลลัพธ์ที่ได้คือบล็อกเลข ๕ ซึ่งมีความสูงเท่ากับความสูงของบล็อกเลข ๓ และบล็อกเลข ๒ ต่อรวมกัน”
แมนดาลาเป็นศิลปะที่สร้างสรรค์ในรูปแบบวงกลม โดยส่วนมากจะใช้การวาด แต่สำหรับ แมนดาลาเพื่อการตกแต่ง (Decorative Mandala) ผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องมีทักษะหรือฝีมือในการวาดภาพ ก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้
“ของเล่นชิ้นนี้ประกอบด้วยชิ้นส่วนตกแต่งที่ติดด้วยตีนตุ๊กแก ผู้สูงอายุสามารถเอาชิ้นส่วนต่าง ๆ ไปจัดเรียงลงบนผืนผ้าสักหลาดให้เป็นรูปแบบตามจินตนาการ และชิ้นส่วนต่าง ๆ เหล่านี้ แกะออกและติดใหม่ได้ง่าย ผู้สูงอายุสามารถออกแบบแมนดาลาได้หลายแบบ โดยเอาชิ้นส่วนต่าง ๆ มาติดซ้ำ ๆ เป็นวงกลมและขยายวงกลมไปเรื่อย ๆ เป็นการส่งเสริมจินตนาการได้ไม่รู้จบ สร้างจิตพิสัย ความสุนทรีย์ ความสุข ลดความเบื่อหน่ายในชีวิตประจำวัน” รศ.พรเทพ อธิบาย
“และเมื่อได้ชิ้นงานศิลปะที่เป็นที่พอใจแล้ว ก็สามารถนำมาตกแต่งบ้าน เป็นกรอบรูปตั้งโต๊ะ หรือแขวนก็ได้ ส่วนด้านหลังเป็นกระดานสำหรับวาดรูปด้วยมือ”
บล็อกและกรอบรูป (Blocks & Picture Frame) เป็นของแต่งบ้านและของเล่นที่มาเป็นบล็อกรูปทรงเลขาคณิต เช่น บล็อกวงกลม สี่เหลี่ยมปลายแหลม สี่เหลี่ยมมุมฉาก บล็อกแต่ละชิ้นจะมีรอยบากเพื่อให้ผู้เล่นนำชิ้นส่วนมาต่อประกอบกันให้เป็นรูปแบบต่าง ๆ ได้ เช่น นำปลายแหลมของมุมสามเหลี่ยมมาตั้งบนร่องบากของบล็อกทรงโค้ง
“เวลาต่อชิ้นส่วนเหล่านี้ ต้องมีสมาธิและมือต้องนิ่ง” รศ.พรเทพ กล่าวถึงประโยชน์ของเล่นที่จะส่งเสริมพัฒนาร่างกายและจิตใจให้ผู้สูงอายุ
เมื่อประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ เป็นกรอบรูปที่ชอบแล้ว ก็สามารถใส่รูปภาพหรือรูปถ่ายแห่งความทรงจำดี ๆ ในถาดใส่บล็อกด้านหลังก็สามารถใช้เป็นกรอบรูปได้ และเมื่อไรอยากเปลี่ยนก็เอาชิ้นส่วนต่าง ๆ มาต่อประกอบใหม่ให้เป็กรอบรูปใหม่แปลกตา ไม่น่าเบื่อ
รศ.พรเทพ กล่าวว่า “ของเล่นของแต่งบ้านสำหรับผู้สูงอายุ” เป็นของเล่นที่ผู้สูงอายุสามารถเล่นเพียงลำพังก็ได้ แต่จะดีขึ้นและดีกว่า หากมี “เพื่อนเล่น” ด้วย
“ถ้ามีคนชวนเล่นก็จะยิ่งดี ไม่ว่าจะเป็นลูกในวัยผู้ใหญ่ หรือหลานในวัยเด็ก เด็กและผู้สูงวัยเล่นด้วยกันได้ เป็นการส่งเสริมความอบอุ่นและเข้มแข็งให้สถาบันครอบครัว และฝึกการมีน้ำใจแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยอย่างมี empathy mind”
“ของเล่นของแต่งบ้านสำหรับผู้สูงอายุ” ถูกออกแบบมาให้ปลอดภัยและเหมาะกับคนทุกวัย รศ.พรเทพ กล่าวว่าวัสดุของเล่นทั้ง 3 ชนิดทำมาจาก MDF (Medium Density Fiber Board) เศษไม้บดและอัดด้วยกาวเพื่อเป็นวัสดุทดแทนไม้ และคงมาตรฐานความปลอดภัยของของเล่นสำหรับเด็กปฐมวัย (Standard Safety Toy) ตามมาตรฐานยุโรป EN71 และมาตรฐานอเมริกัน ASTM นอกจากนี้ ในการประกอบของเล่นสำหรับผู้สูงอายุ – แมนดาลาเพื่อการตกแต่ง และบล็อกกรอบรูป – รศ.พรเทพ ได้คิดค้นเทคนิคการล็อกพิเศษที่เรียกกว่า Slot Paper Joint เป็นการต่อเข้าด้วยกันโดยไม่ใช้นอตหรือตะปู ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สิ่งประดิษฐ์ของ รศ. พรเทพ ที่ได้จดอนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์ และสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
รศ. พรเทพ เผยว่าได้นำ “ของเล่นของแต่งบ้าน” ไปทดสอบความสนุกกับผู้สูงอายุในสถานพักฟื้นคนชราและเนิร์สซิ่งโฮมบางแห่ง เช่น ล่าสุด ได้นำแมนดาลาเพื่อการตกแต่ง ไปให้ผู้สูงอายุที่สวางคนิวาส สภากาชาดไทย ผลตอบรับจากผู้เล่นสูงวัยเป็นที่น่าพอใจ นอกจากนี้ รศ. พรเทพ ยังได้นำของเล่นสำหรับผู้สูงวัยไปโชว์ที่งานประกวดสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรม ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานจำนวนมาก
“ตอนนี้ สิ่งที่เราทำได้จึงเป็นเรื่องการทดสอบความพึงพอใจและประสิทธิภาพ เช่น ช่วยกระตุ้นความทรงจำ แต่การจะทดสอบว่าของเล่นมีส่วนช่วยชะลอความจำเสื่อมได้หรือไม่นั้น ต้องการทุนวิจัยค่อนข้างสูง”
ผลตอบรับจากผู้เล่นทำให้ รศ.พรเทพ เห็นทิศทางในอนาคตที่จำเป็นต้องมีการพัฒนาของเล่นสำหรับผู้สูงอายุต่อไป และอยากเห็นความร่วมมือระหว่างแพทย์ด้านสมอง แพทย์ด้านจิตเวช เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของเล่นผู้สูงอายุว่าสามารถชะลอเรื่องความจำเสื่อม ลดความซึมเศร้าได้หรือไม่
“ในอนาคต เราอาจจะได้เห็นของเล่นที่ออกแบบตามพฤติกรรมหรือตามอาการทางกายภาพของผู้สูงอายุ เช่น ของเล่นที่ช่วยเตือนไม่ให้ถูกหลอกโดย call center อุปกรณ์การแพทย์ที่ออกแบบให้เป็นของเล่นเพื่อบริหารปอดและหลอดลม กรอบรูปที่มีลูกเล่นย้ำเตือนความสุขความทรงจำของผู้สูงอายุ” รศ. พรเทพ เผยแนวคิดในการพัฒนาของเล่น
“ผู้สูงอายุยังคงมีความสามารถ มีประสบการณ์ที่จะส่งต่อให้กับสังคม เราจึงอยากให้ “ของเล่น” ช่วยคงสมรรถนะและสร้างสุขภาวะให้กับพวกเขาได้ต่อไปนาน ๆ และสุดท้ายแล้วคือการสร้างสัมพันธ์ของครอบครัวและสร้างสังคมไทยให้เข้มแข็ง”
รศ.พรเทพ สะท้อนความเห็นเกี่ยวกับตลาดของเล่นสำหรับผู้สูงอายุว่า ผู้ผลิตของเล่นเด็กนำเอาของเล่นที่มีอยู่ เพิ่มหรือขยายช่วงอายุ แต่ยังไม่ชัดเจนว่ามีผู้ผลิตรายใดจริงจังกับการออกแบบของเล่นสำหรับผู้สูงอายุ ทั้ง ๆ ที่เป็นตลาดใหญ่ (ในปี 2566 จำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยมีประมาณ 13 ล้านคนจากประชากรทั้งสิ้น 65 ล้านคน คิดเป็นผู้สูงอายุทั้งสิ้น 20% และสำหรับปี 2567 ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 21-22%)
“โมเดลธุรกิจของเล่นสำหรับผู้สูงอายุโดยภาพรวมในประเทศไทยยังไม่ชัดเจน ส่วนมากเป็นเรื่องของการบำบัด เช่น อุปกรณ์สำหรับบริหารไม่ให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่ให้นิ้วล็อก ไม่ให้ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว แต่ของเล่นสำหรับการพัฒนาทางด้านพุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัยยังไม่มีในตลาดของเล่นสำหรับผู้สูงอายุในไทย” และนี่เป็นช่องว่างที่ รศ.พรเทพ เล็งเห็นและกำลังวางแผนด้านการตลาด ปัจจุบัน ของเล่น “นับไทย” ตัวอักษรภาษาจีนมีขายแล้วที่ King Power สำหรับแมนดาลาเพื่อการแต่งบ้าน และบล็อกและกรอบรูปยังเป็นต้นแบบอยู่ รศ.พรเทพ จะนำของเล่นสำหรับผู้สูงอายุเหล่านี้ไปส่งประกวดก่อน เพื่อให้เกิดการยอมรับและรับรู้ในสมมุติฐานการออกแบบ จากนั้นจึงจะวางแผนการขยายการผลิตและการตลาดต่อไป
ในอนาคต รศ.พรเทพ วางแผนจะทำเว็บไซต์เพื่อให้ความรู้เรื่องสุขภาวะของผู้สูงอายุ และทำคอมมูนิตี้เล็ก ๆ ให้ผู้สูงอายุมาหาความรู้และกิจกรรม ในขณะเดียวกัน ก็จะมีการขายของเล่นสำหรับผู้สูงอายุในเว็บไซต์ด้วย
สำหรับผู้ที่สนใจ “ของเล่นของแต่งบ้านสำหรับผู้สูงอายุ” สอบถามข้อมูล นำไปต่อยอด หรือจำหน่าย สามารถติดต่อได้ที่ คุณสมฤทัย เลิศเทวศิริ clampittoy@gmail.com
“หุ่นอาจารย์ใหญ่” ฝึกเจาะเลือดและฉีดยาสุนัข เสริมความมั่นใจนิสิตสัตวแพทย์
จุฬาฯ เปิดตัว “วีลแชร์เดินได้” Wheelchair Exoskeleton หุ่นยนต์สวมใส่บนร่างกายมนุษย์จุฬาฯ เปิดตัว “วีลแชร์เดินได้” นั่ง ลุกยืน และเดินได้ในตัวเดียว
“ศูนย์สุขภาวะผู้สูงอายุ จุฬาฯ” บ้านหลังที่ 2 ดูแลระหว่างวัน ตอบโจทย์ลูกหลานวัยทำงาน ตรงใจสูงวัยสุขภาพดี
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้