รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
27 ธันวาคม 2567
ผู้เขียน สุรเดช พันธุ์ลี
จุฬาฯ เปิดศูนย์ดูแลสุขภาวะผู้สูงอายุที่คณะพยาบาลศาสตร์ เพื่อรองรับสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยผสานความร่วมมือสหสาขาวิชาชีพ ดูแลผู้สูงอายุอย่างครบวงจร เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย ห่างไกลโรค พึ่งพาตัวเองได้
การออกไปทำงานในแต่ละวันและต้องปล่อยให้คุณแม่วัย 80 ปีอยู่บ้านเพียงลำพัง ทำให้คุณเกรียงศักดิ์ คุณวิรามกุล อดรู้สึกกังวลใจไม่ได้ “คุณแม่จะหกล้ม หรือรู้สึกเหงาบ้างหรือเปล่า ผมอยากให้คุณแม่ได้ทำกิจกรรมนอกบ้านและพบปะกับผู้สูงวัยด้วยกันบ้าง” ผู้ประกอบการธุรกิจวัย 47 ปี กล่าว
จนเมื่อรู้ข่าวว่ามี “ศูนย์ส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ” ที่ชั้น 10 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาฯ คุณเกรียงศักดิ์รีบพาคุณแม่ไปสมัครรับบริการ และไปทำงานด้วยความสบายใจมากขึ้น เช้าวันพุธ พฤหัส ศุกร์ ก่อนไปทำงาน คุณเกรียงศักดิ์จะแวะไปส่งคุณแม่ที่ศูนย์ ฯ และหลังเลิกงานในตอนเย็น ก็จะมารับคุณแม่เพื่อกลับบ้านไปด้วยกัน
“ช่วงเวลา 2 เดือนที่คุณแม่มาใช้บริการที่นี่ ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนคือคุณแม่มีความสุขมากขึ้น มีชีวิตชีวายิ่งขึ้น กิจกรรมที่คุณแม่ชอบเป็นพิเศษคือ การเต้นรำและร้องเพลง รวมทั้งคลาสที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ”
คุณกฤษธญาพัทธ์ อนันท์วีระกุล เป็นอีกคนที่พาคุณแม่วัย 86 ปี มารับบริการที่ศูนย์ส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ จุฬาฯ
“การที่มีศูนย์ดูแลคุณแม่ช่วยเติมความสุขให้ลูกหลานจริง ๆ คุณแม่ได้ทำกิจกรรมหลายอย่าง เช่น ออกกำลังกาย ร้องเพลง เราได้เห็นรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของคุณแม่เวลาทำกิจกรรม ที่ศูนย์ ฯ จะส่งภาพมาทางกรุ๊ปไลน์ สิ่งนี้ทำให้เรามีความสุข คุณแม่ได้เจอเพื่อนเก่าสมัยเรียนมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้เจอกันมานานตั้งแต่เรียนจบ แต่มาเจอกันที่ศูนย์ ฯ และได้ทำกิจกรรมด้วยกัน คุณแม่มีความสุขมาก”
“ศูนย์ส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ” คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาฯ ไม่เพียงแต้มรอยยิ้มให้ผู้สูงอายุ แต่ยังเติมความสุขให้กับลูกหลานวัยทำงานอีกหลายคนสบายใจได้ว่าฝากญาติผู้ใหญ่ที่รักและห่วงใยไว้ในความดูแลของพยาบาลวิชาชีพ นิสิตและนักกิจกรรมบำบัดที่จะช่วยให้ช่วงระหว่างวันของผู้สูงอายุมีความสุข สนุกสนาน แทนการอยู่บ้านเงียบ ๆ เหงา ๆ โดยลำพัง
ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2566 โดยมีประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 หรือ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด และผู้สูงวัยที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ ประกอบกับโครงสร้างครอบครัวที่เล็กลง และสภาพเศรษฐกิจที่บีบให้คนวัยทำงานต้องออกทำงานนอกบ้าน – ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ลูกหลานวัยทำงานต้องหาตัวช่วย ธุรกิจให้บริการดูแลผู้สูงอายุจึงเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี สถานดูแลและให้บริการสำหรับผู้สูงอายุในปัจจุบันเน้นไปที่ผู้สูงอายุ 2 กลุ่ม กล่าวคือ กลุ่มผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรง (Active Aging) และช่วยเหลือตัวเองได้ และกลุ่มที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย หรือติดเตียง
“เรายังขาดศูนย์ที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุกลุ่มเปราะบางที่พอช่วยเหลือตัวเองได้ แต่เริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นและเริ่มติดบ้านมากขึ้น ผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง ต้องพึ่งพาลูกหลานและคนในครอบครัวในการดูแลอย่างใกล้ชิด ผู้สูงอายุที่อยู่บ้านตามลำพังในช่วงที่ลูกหลานออกไปทำงาน มีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยสุขภาพ เช่น พลัดตก หกล้ม หรือเกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งอาจทำให้ผู้สูงอายุที่สุขภาพแข็งแรงตามวัย กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงได้ในเวลาต่อมา” รองศาสตราจารย์ ร้อยเอกหญิง ดร.ศิริพันธุ์ สาสัตย์ คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ (Center for Health and Well-being Promotion for Older People: CHWPOP) คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงที่มาและเป้าหมายในการเปิดศูนย์ฯ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของทีมผู้บริหารของคณะฯ ที่ให้ความสำคัญกับการจัดบริการเพื่อรองรับสังคมสูงวัย
“เราต้องการดูแลและพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุกลุ่มนี้ให้กลับไปอยู่ในกลุ่มผู้สูงวัยที่ยังแข็งแรงตามเดิม หากไม่สามารถทำได้ก็จะช่วยชะลอการเสื่อมถอยของร่างกาย ให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ และไม่เข้าไปสู่ภาวะพึ่งพิงและติดเตียง”
“ปัจจุบัน การจัดบริการสำหรับผู้สูงวัยแบบมาเช้ากลับเย็น (day care service) ได้รับความสนใจมากขึ้น มีศูนย์บริการเช่นนี้ที่ตั้งขึ้นโดยหน่วยงานเอกชนและภาครัฐมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ละแห่งมีอัตราค่าบริการแตกต่างกัน และบริการที่หลากหลายต่างกันไป อย่างไรก็ดี แม้จะมีสถานที่ให้บริการผู้สูงอายุมากขึ้น แต่ผู้ดูแลผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยยังขาดความรู้และทักษะในการดูแลผู้สูงอายุอย่างถูกวิธี” รศ.ร.อ.ดร.ศิริพันธุ์ กล่าว
“เราเป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่ดำเนินการโดยคณะพยาบาลศาสตร์ในมหาวิทยาลัยที่ให้บริการเต็มรูปแบบเพียงศูนย์เดียวในประเทศไทย เรามีความพร้อมทั้งด้านองค์ความรู้ด้านการพยาบาลผู้สูงอายุจากการศึกษาวิจัย มีหลักสูตรการเรียนการสอนด้านการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ และมีบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะในการดูแลผู้สูงอายุ” รศ.ร.อ.ดร.ศิริพันธุ์ กล่าวถึงจุดเด่นของศูนย์ส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาฯ
“การบริการที่ศูนย์ ฯ ครอบคลุมการดูแลสุขภาพกาย จิตสังคม จิตวิญญาณ และสิ่งแวดล้อม เราใช้การวิจัยเป็นฐานและทำงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพในจุฬาฯ เพื่อนำผลการวิจัยไปทดลองใช้ และสร้างนวัตกรรมการดูแลผู้สูงอายุที่ยั่งยืน นอกจากนี้ เราตั้งใจจะพัฒนาต้นแบบธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะเปราะบางในเขตเมือง โดยยึดผู้สูงอายุเป็นศูนย์กลาง”
ที่ศูนย์ฯ มีบริการวิชาการและวิจัยด้านผู้สูงอายุ การจัดการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุให้บุคลากรทางด้านสุขภาพ กับประชาชนผู้สนใจทั่วไป และที่สำคัญ ศูนย์ ฯ ยังเป็นตัวอย่างการจัดบริการดูแลผู้สูงอายุในรูปแบบการดูแลระหว่างวัน (Day Care) เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและครอบครัว
ตั้งแต่ศูนย์ฯ เปิดให้บริการเมื่อเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา มีหลายหน่วยงานเข้ามาศึกษาดูงานและเรียนรู้กับศูนย์ฯ จากทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน ศูนย์ฯ เปิดให้บริการผู้สูงอายุวันละ 15 คน และให้บริการ 3 วันต่อสัปดาห์ คือ วันพุธ พฤหัสบดี และศุกร์ ซึ่งผู้สูงอายุที่สนใจเข้ามารับบริการที่ศูนย์ ฯ จำเป็นต้องได้รับการประเมินสุขภาพก่อน
“เราจะประเมินว่าผู้สูงอายุเริ่มเข้าสู่ภาวะเปราะบางและมีแนวโน้มที่จะติดบ้านหรือติดเตียงหรือไม่ มีปัญหาสุขภาพอะไรบ้าง เช่น ภาวะเปราะบาง (ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง เดินช้าลง น้ำหนักลดโดยไม่ได้ตั้งใจ รู้สึกอ่อนเพลียไม่มีแรง และมีโรคประจำตัวหลายโรค) ภาวะสมองเสื่อม ภาวะซึมเศร้า ภาวะเสี่ยงต่อการหกล้ม ภาวะโภชนาการ ภาวะกลั้นปัสสาวะ/อุจจาระไม่ได้ และระดับการช่วยเหลือตัวเอง” รศ.ร.อ.ดร.ศิริพันธุ์ อธิบาย
จากนั้นทางศูนย์ฯ จะประมวลผลข้อมูลเพื่อวางแผนให้การดูแลผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม พร้อมให้คำแนะนำต่าง ๆ เช่น ปรับปรุงพฤติกรรมทางด้านสุขภาพ การเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การกระตุ้นสมอง และการให้ความรู้ คำปรึกษา และฝึกทักษะการดูแลผู้สูงอายุให้กับผู้ดูแล เป็นต้น
รศ.ร.อ.ดร.ศิริพันธุ์ เล่าว่าที่ศูนย์ส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ มีกิจกรรมมากมายที่จะช่วยพัฒนาทักษะและสมรรถนะผู้สูงอายุรอบด้าน เช่น มีการให้ความรู้สู่สุขภาพทุกวัน แนะนำเพื่อนใหม่ กิจกรรมกระตุ้นสมองและความทรงจำในอดีตทุกวัน โดยที่ทุกวันพุธบ่ายมีดนตรีบำบัด ทุกวันพฤหัสบดี มีกิจกรรมการประกอบอาหาร ส่วนวันศุกร์มีกิจกรรมฝึกกายฝึกจิตแบบชี่กง
“กิจกรรมเหล่านี้ช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิต” รศ.ร.อ.ดร.ศิริพันธุ์ กล่าวและยกตัวอย่างกิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะ อาทิ ดนตรีบำบัดช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของร่างกาย การทำงานสมองและประสาทสัมผัส และเสริมสร้างสมาธิและความผ่อนคลาย กิจกรรมศิลปะบำบัดและเกม ที่รวมถึงกิจกรรมงานฝีมือและงานประดิษฐ์ ทำให้เกิดความเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย ส่งเสริมจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังเป็นฝึกสมาธิ การประสานสัมพันธ์ของมือกับตา บริหารกล้ามเนื้อมัดเล็ก การทำงานร่วมกับผู้อื่น และสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง และสำหรับผู้ที่มีความจำเริ่มเสื่อมลง กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้ช่วงความจำดีขึ้น ปรับปรุงประสิทธิภาพทางปัญญาและการรับรู้ เสริมสร้างอัตลักษณ์ของผู้สูงอายุและชีวิตที่มีความหมาย ลดอาการซึมเศร้า และช่วยส่งเสริมทักษะทางสังคม นอกจากกิจกรรมหลากหลายแล้ว ที่ศูนย์ฯ ยังมีการจัดพื้นที่และสร้างบรรยากาศภายในให้ผู้สูงอายุรู้สึกเสมือนอยู่ “บ้านหลังที่ 2”
ในศูนย์ฯ มีห้องน้ำ ห้องประกอบอาหาร ห้องออกกำลังกายที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ ห้องกระตุ้นประสาทสัมผัสที่หลากหลาย เช่น การมองเห็น การได้ยิน การรับกลิ่น และการสัมผัส ทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ส่งเสริมทางด้านอารมณ์ และเพิ่มพฤติกรรมทางบวก ช่วยให้นอนหลับสบาย มี“ห้องสภากาแฟ” ที่มีการตกแต่งห้องให้ผู้สูงอายุได้พูดคุยระลึกถึงเรื่องราวในอดีต เป็นการกระตุ้นความทรงจำ และอารมณ์ด้วยประสบการณ์ชีวิตในอดีต และเมื่อถูกกระตุ้นบ่อย ๆ ทำให้เกิดความทรงจำซ้ำได้ ช่วยให้มีความจำและการเรียนรู้ดีขึ้น และนอกจากนี้ทางศูนย์ฯ ยังมีพื้นที่สีเขียวให้ผู้สูงอายุได้ปลูกต้นไม้ ด้วย
รศ.ร.อ.ดร.ศิริพันธุ์ อธิบายว่ากิจกรรมทั้งหลายและการออกแบบพื้นที่ในศูนย์ฯ มาจากความร่วมมือของคณาจารย์จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาในจุฬาฯ เช่น การออกแบบที่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้สูงอายุ โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
การใช้ดนตรีบำบัดในผู้สูงอายุโดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ อาหารที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุโดยนักกำหนดอาหารจากคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ ความรู้เรื่องการออกกำลังกายโดยผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาฯ ด้านการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้สูงอายุ ทางศูนย์ฯ จะร่วมมือกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งเพื่อจัดรถรับส่งผู้สูงอายุในการเดินทางมายังศูนย์ได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
บุคลากรที่ให้บริการในศูนย์ฯ เป็นอาจารย์และพยาบาลวิชาชีพที่เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงอายุ และนิสิตปริญญาโทที่ฝึกปฏิบัติงานด้านการดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะ รวมทั้งมีการเชิญวิทยากรภายนอกมาให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุในเรื่องต่าง ๆ เช่น สมองเสื่อมป้องกันได้ การใช้ไอทีให้ปลอดภัย สมุนไพรกับสุขภาพ ฯลฯ ทุกเดือนจะมีการประเมินภาวะสุขภาพ และให้คำแนะนำแก่ญาติและผู้ดูแลผู้สูงอายุเพื่อนำไปใช้ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน
รศ.ร.อ.ดร.ศิริพันธุ์ เผยถึงกลุ่มเป้าหมายของศูนย์ส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย จุฬาฯ ว่าเน้นไปที่อาจารย์และบุคลากรจุฬาฯ ที่เกษียณ ญาติผู้ใหญ่ของคณาจารย์และบุคลากร จุฬาฯ ตลอดจนผู้สูงอายุที่พักอาศัยโดยรอบมหาวิทยาลัย และผู้สูงอายุที่สามารถเดินทางมาที่ศูนย์ฯ ได้ด้วยตนเองหรือญาติพามาส่ง เช่น คุณสมปอง วัย 82 ปี ที่เดินทางมาด้วยตนเองโดยรถขนส่งสาธารณะ และบางโอกาสจะมีหลานมารับ-ส่งที่ศูนย์ฯ
“ช่วงเวลาที่ได้ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ศูนย์ฯ เป็นเวลาแห่งความสุขและความอบอุ่นใจ ได้เพื่อนและความสนุกสนาน ไม่เหงา ชอบทุกกิจกรรมที่จัดให้ และยังได้ความรู้เรื่องการออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพกายและใจด้วย การเดินทางไปกลับก็สะดวกสบาย เดินทางไป-กลับเองด้วยรถไฟฟ้า BTS แต่บางครั้งก็หลานมารับ-ส่ง”
ส่วนคุณพูนสิน วัย 82 ปี กล่าวว่าลูกชายเป็นคนชวนให้มาใช้บริการที่นี่ และประทับใจทุกกิจกรรมที่ศูนย์ฯ จัดขึ้นเพื่อผู้สูงอายุ “มาที่นี่ ได้เจอเพื่อน ๆ วัยเดียวกัน ทำให้ไม่เหงา ชอบทุกกิจกรรมที่นี่โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมทำอาหารทุกวันพฤหัส ได้ทำอาหารและชิมอาหารจากฝีมือตัวเอง มีอาจารย์มาบรรยายให้ความรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพ ประทับใจอาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่ให้การดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี”
ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 กิจการประเภทการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง จากกระทรวงสาธารณสุข ด้านการตอบรับจากผู้สูงอายุที่มาใช้บริการอยู่ในระดับดีมาก โดยผลการประเมินได้คะแนนสูงถึง 4.98 จากคะแนนเต็ม 5
ถ้าผู้สูงอายุเริ่มเหงา ไม่อยากออกไปไหน อยากให้ผู้สูงวัยมีชีวิตชีวา ได้เพื่อนใหม่ และสามารถดูแลตัวเองให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขอเชิญที่ศูนย์ส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาฯ เปิดให้บริการสัปดาห์ละสามวันคือวันพุธ พฤหัสบดี และศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น. ค่าใช้จ่ายครั้งละ 500 บาทต่อวัน รวมอาหารกลางวันและอาหารว่าง
ผู้สนใจสามารถจองล่วงหน้าได้ที่โทร. 06-1238-2322
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: ศูนย์ส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาฯ https://www.facebook.com/profile.php?id=61557551364383&mibextid=ZbWKwL
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้