รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
10 มกราคม 2568
ผู้เขียน ศุภวรรณ พิพิธสมบัติ
รศ.ดร.รณพีร์ ชัยเชาวรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬา เปิดห้องแล็บ โชว์หุ่นยนต์ต้นแบบ Wheelchair Exoskeleton สำหรับผู้สูงอายุและผู้มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ให้สามารถขยับลุกจากการนั่งวีลแชร์ มายืนและเดินได้ในหุ่นยนต์ตัวเดียว
ณ ชั้น 9 อาคารจุฬาพัฒน์ 14 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เป็นแหล่งประกอบฝันของคนรักหุ่นยนต์ ที่นี่ นิสิตทุกชั้นปี ทั้งในจุฬาฯ และต่างมหาวิทยาลัย รวมถึงนักวิจัยต่างชาติ มารวมตัวกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และทดลองความคิดในการออกแบบหุ่นยนต์เพื่อการแพทย์และอุตสาหกรรม
รองศาสตราจารย์ ดร.รณพีร์ ชัยเชาวรัตน์ อาจารย์จากสำนักบริหารหลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวคิดในการสร้าง “ห้องปฏิบัติการหุ่นยนต์” ว่า “นี่เป็น Alternative Solution ของการศึกษา ผมสร้างห้องแล็บและสิ่งแวดล้อมที่มีเครื่องมือให้นิสิตได้ประกอบหุ่นยนต์ในเวลาว่างจากการเรียน เราเน้น “Proof of Concept” คือนิสิตต้องนำเสนอแนวคิดที่อยากทำในที่ประชุม แล้วค่อยทดลองทำ ก่อนที่จะนำนวัตกรรมไปทดสอบกับผู้ใช้งานจริง”
ภายในห้องแล็บแวดล้อมด้วยหุ่นยนต์แบบต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในนวัตกรรมไฮไลท์คือ “หุ่นยนต์สวมใส่บนร่างกายผสานการขับเคลื่อนด้วยล้อเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวของมนุษย์” (Transformable Wheelchair–Exoskeleton Hybrid Robot for Assisting Human Locomotion) เรียกสั้น ๆ ว่า Wheelchair Exoskeleton หรือที่บางคนชอบที่จะเรียกว่า “ไอรอนแมนพันธุ์ไทย”
“ผมอยากประดิษฐ์วีลแชร์ที่เดินได้ วีลแชร์ปกติเคลื่อนที่ได้ตามทางปกติเท่านั้น แต่ขึ้นรถเมล์ไม่ได้ ขึ้นลงบันไดไม่ได้ ผมเลยมองว่าถ้าวีลแชร์สามารถพับขึ้นมาแล้วช่วยให้ผู้นั่ง ลุกขึ้นมาเดินได้ ก็จะทำให้ผู้ที่มีปัญหาทางการเคลื่อนไหวเดินได้สะดวกขึ้น” รศ.ดร.รณพีร์กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการประดิษฐ์นวัตกรรม ซึ่งถือได้ว่าเป็นหุ่นยนต์ Wheelchair Exoskeleton ตัวแรกของโลกที่สร้างโดยฝีมือคนไทย
หุ่นยนต์ตัวนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักการวิจัยแห่งชาติในปี พ.ศ. 2564 – 2565 และล่าสุด ได้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในโครงการรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2567 จัดโดยมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์
รศ.ดร.รณพีร์กล่าวว่า Wheelchair Exoskeleton เป็นหุ่นยนต์สวมใส่บนร่างกายเพื่อช่วยการเคลื่อนไหวของมนุษย์ มีลักษณะเป็นได้ทั้งวีลแชร์และแปลงเป็นหุ่นยนต์
“ชื่อ Exoskeleton มาจาก 2 คำ คือ Exo แปลว่าข้างนอก และ Skeleton แปลว่าโครงกระดูก เมื่อรวม 2 คำนี้ด้วยกัน แปลได้ตรงตัวว่า “โครงกระดูกภายนอก” จะว่าไปแล้วไอเดียก็คล้ายกับไอรอนแมน ที่เมื่อสวมใส่แล้วจะช่วยให้ผู้สวมใส่มีพละกำลังมากกว่าเดิม ในทางเทคนิคคือการใช้เครื่องจักรกลประกอบหุ่นยนต์ให้ผู้สวมใส่สามารถออกแรงได้มากขึ้น”
จาก concept design ดังกล่าว รศ.ดร.รณพีร์ออกแบบชิ้นส่วนทุกชิ้นของหุ่นยนต์อย่างละเอียด โดยใช้โปรแกรมสามมิติจากคอมพิวเตอร์ และหาซื้อวัสดุเอง ซึ่งอาจารย์รณพีร์เลือกใช้คาร์บอนไฟเบอร์ ที่มีน้ำหนักเบาและผลิตโดยเครื่องพิมพ์สามมิติ บางชิ้นส่วนตัดโดยเครื่องกลึง CNC (Computer Numerical Control)
เมื่อผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ของหุ่นยนต์ครบแล้ว ก็นำมาประกอบเป็นตัวหุ่น ต่อไปก็เป็นเรื่องของการควบคุมการเคลื่อนไหว ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ ล้อ ซึ่งได้กลุ่มนิสิตมาเขียนโปรแกรมล้อหน้าให้สามารถวิ่งตรงและเลี้ยวโค้งได้ ส่วนที่สองเป็นมอเตอร์ควบคุมข้อต่อสะโพกกับหัวเข่า ที่อาจารย์รณพีร์เขียนโปรแกมควบคุมเอง
“หุ่นยนต์มีลักษณะเป็นหุ่นยนต์ไฮบริดแบบใหม่ ผสมผสานรถเข็นและ Exoskeleton เข้าด้วยกัน ขาช่วงล่าง สามารถเปลี่ยนโหมดการใช้งานได้ระหว่างนั่งและเดิน โดยใช้มอเตอร์ช่วยในการเคลื่อนไหวของข้อต่อสะโพกและหัวเข่า ส่วนข้อต่อข้อเท้าเป็นข้อต่ออิสระ ไม่มีการขับเคลื่อน ล้อซ้ายและขวาสามารถเก็บเข้าไปในส่วนขาส่วนล่าง เพื่อเปลี่ยนเป็นท่าเดินหรือข้ามสิ่งกีดขวาง” รศ.ดร.รณพีร์อธิบายการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์
กว่าจะเป็นหุ่นยนต์ต้นแบบ Wheelchair Exoskeleton รศ.ดร.รณพีร์ผสานความรู้ทั้งด้านวิศวกรรมศาสตร์การประดิษฐ์หุ่นยนต์และสรีรศาสตร์ของมนุษย์เข้าด้วยกัน
“การออกแบบหุ่นยนต์ประเภท Exoskeleton ต้องคำนึงถึงอวัยวะของผู้สวมใส่และหุ่นให้ไปด้วยกันได้ สวมแล้วไม่ยืดหรือไม่หด ไม่ระคายผิวหนัง ทุกครั้งที่เหวี่ยงขาจริง Exoskeleton ก็ต้องเหวี่ยงไปด้วย เวลางอหัวเข่า หัวเข่าของหุ่นยนต์ก็ต้องงอไปพร้อมกัน” รศ.ดร.รณพีร์อธิบายข้อท้าทาย
“เราใช้หลักการ Kinematics Compatibility หรือความเข้ากันได้เชิงจลศาสตร์ในการออกแบบหุ่นสวมใส่บนร่างกาย กระดูกคนเป็นกระดูกถ้วยกับกระดูกก้อนที่มาสไลด์กัน แต่กลไกมอเตอร์ หมุนรอบแกนหมุนแกนเดียว เมื่อเอามอเตอร์มาติด จะไม่สอดคล้องกับสรีระคนโดยตรง เราจึงออกแบบข้อต่อหัวเข่าให้เป็น Linkage เพื่อให้เส้นทางการเคลื่อนที่ของจุดศูนย์กลางการหมุน สามารถเลียนแบบกระดูกจริง ข้อต่อที่มีการงอขาเยอะ ๆ ก็ใช้ Four-bar Linkage เพื่อให้จุดหมุนเปลี่ยนไปตามข้อต่อได้”
นอกจากนี้ รศ.ดร.รณพีร์ ใช้ความรู้เรื่อง Biomechanic หรือชีวกลศาสตร์ ซึ่งสามารถคำนวณแรงบิดที่เกิดขึ้นจากรอบข้อเท้า หัวเข่า และสะโพกได้ เพื่อนำข้อมูลไปสร้างหุ่นยนต์ที่เหมาะสมกับสรีระของคน
รศ.ดร.รณพีร์เผยว่าต้นแบบหุ่นยนต์ Wheelchair Exoskeleton มีต้นทุนการผลิตในห้องแล็บอยู่ที่ราว 130,000 บาท ซึ่งมาจากการขอทุนสนับสนุนการวิจัย
“ผมรู้สึกว่าหุ่นยนต์มีความเสี่ยงทางธุรกิจเพราะเป็นแนวคิดใหม่ บริษัททั่วไปอาจจะยังลังเลว่าจะลงทุนดีหรือไม่ หุ่นยนต์ต้นแบบแรก เราจึงทำเองทั้งหมด ในอนาคต หากจะมีการพัฒนาหุ่นยนต์เสริมเป็นบางจุด หรือเชิงพาณิชย์ เราคงต้องการคนมากขึ้นเพื่อมาช่วยกันสร้างหุ่นยนต์ ซึ่งหมายความว่าเราต้องมีเงินจ้างคนที่มาช่วยเราทำด้วย”
สังคมสูงวัยและจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้นเรื่อย ๆ จะเป็นปัจจัยเร่งสำคัญในการผลิตหุ่นยนต์สวมใส่บนร่างกาย ซึ่งจะมีแบบใหม่ ๆ มากขึ้น รศ.ดร.รณพีร์ให้ความเห็น
“หุ่นยนต์สวมใส่ช่วยการเคลื่อนไหวในทางวิศวกรรมมีความก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ มีวัสดุใหม่ ๆ ที่เป็นทางเลือกมากขึ้นด้วย เมื่อถึงเวลาผลิตจริงในตลาด ผมมองว่าวัสดุควรมี 2 ทางเลือก คือการใช้เหล็กที่ราคาถูกลงแต่หนักกว่า และทางเลือกที่สองคือการยังคงใช้วัสดุเดิมคือคาร์บอนไฟเบอร์”
นอกจากความเชี่ยวชาญทางวิศวกรรมศาสตร์แล้ว รศ.ดร.รณพีร์เห็นว่าการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อการใช้จริงต้องมีการผนึกกำลังจากศาสตร์อื่น ๆ ด้วย
“ในแง่ความสวยงาม คงต้องการความรู้ฝั่งสถาปัตยกรรมศาสตร์มาช่วยออกแบบหุ่นยนต์ และเมื่อจะนำหุ่นยนต์ไปใช้งานจริง ฝ่ายสหเวชศาสตร์คงต้องเข้ามาช่วยแนะนำผู้สูงอายุและผู้ป่วยต่อไป”
ขณะนี้ รศ.ดร.รณพีร์ กำลังพัฒนาหุ่นยนต์ Wheelchair Exoskeleton ต้นแบบตัวที่สอง โดยแก้ไขเรื่องการนั่ง การลุกให้มั่นคงและเดินได้สะดวกกว่าเดิม และกำลังอยู่ระหว่างการยื่นขอจดทรัพย์สินทางปัญญา ขั้นตอนต่อจากนี้จะเป็นการทดสอบการใช้งานจริงกับผู้ป่วยและผู้สูงอายุ
“ที่คณะแพทย์ มีผู้ป่วยที่ต้องการเข้าร่วมการทดสอบอยู่แล้ว แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้นำไปทดสอบเพราะหุ่นยนต์ยังต้องมีการแก้ไขข้อบกพร่อง เมื่อแก้ไขเสร็จแล้ว ก็ต้องผ่านการพิจารณาด้านจริยธรรมงานวิจัยก่อน จึงจะไปทดสอบกับผู้ป่วยจริงได้ จุฬาฯ ยังยืนอยู่บนมาตรฐานจริยธรรมงานวิจัย ถ้าหุ่นยนต์มีโอกาสไม่ปลอดภัย ก็จะไม่ให้ทดสอบกับคน ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าหุ่นยนต์ใช้ได้ ก็จะเร่งกระบวนการโดยรวม หลังจากนั้นเป็นหน้าที่ทางฝั่งสหเวชศาสตร์ ที่จะมาดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยผู้สูงอายุในการใช้หุ่นยนต์สวมใส่บนร่างกายต่อไป” รศ.ดร.รณพีร์กล่าว
เมื่อใดที่กระบวนการทุกอย่างดำเนินการเสร็จสิ้น ไอรอนแมนพันธุ์ไทยตัวนี้ก็พร้อมรับใช้ผู้มีปัญหาการเคลื่อนไหวได้สวมใส่ ฮีโร่ตัวใหม่ที่ผลิตโดยคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก
สนใจเกี่ยวกับหุ่นยนต์สนับสนุนการเคลื่อนไหวของมนุษย์ และแล็บหุ่นยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ สอบถามได้ที่ ronnapee.c@chula.ac.th หรือ 08-66364617
นอกจาก Wheelchair Exoskeleton แล้ว ในแล็บของ รศ.ดร.รณพีร์ยังมีนวัตกรรมหุ่นยนต์เด่น ๆ อีกหลายตัว ซึ่งเป็นผลงานของนิสิตนักศึกษาผู้รักการประดิษฐ์หุ่นยนต์
หุ่นยนต์ทั้ง 3 ตัวเป็นต้นแบบเพื่อทดสอบความเป็นไปได้ของแนวคิดเบื้องต้นในห้องปฏิบัติการ หลังจากนี้ จะต้องทดสอบเพิ่มเติมกับผู้ใช้จริงในสภาพแวดล้อมที่กำหนด และต้องผ่านการรับรองมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง จึงจะสามารถทำเป็นธุรกิจให้ถึงมือผู้ใช้งาน
“หุ่นอาจารย์ใหญ่” ฝึกเจาะเลือดและฉีดยาสุนัข เสริมความมั่นใจนิสิตสัตวแพทย์
“ศูนย์สุขภาวะผู้สูงอายุ จุฬาฯ” บ้านหลังที่ 2 ดูแลระหว่างวัน ตอบโจทย์ลูกหลานวัยทำงาน ตรงใจสูงวัยสุขภาพดี
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้