Highlights

“หุ่นอาจารย์ใหญ่” ฝึกเจาะเลือดและฉีดยาสุนัข เสริมความมั่นใจนิสิตสัตวแพทย์

หุ่นฝึกฉีดยาสุนัข

อาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ พัฒนาหุ่นฝึกการเจาะเลือดและฉีดยาสุนัข ทำจากวัสดุรีไซเคิล ถอดดูโครงสร้างกล้ามเนื้อ หลอดเลือด เส้นประสาท และอวัยวะได้เพื่อการเรียนกายวิภาค หนึ่งในสื่อการสอนเสริมสร้างทักษะหัตถการให้กับนิสิตสัตวแพทย์


หุ่นจำลองสุนัขพันธุ์ไทยสีเทาดำนอนนิ่งอยู่บนโต๊ะ นิสิตสัตวแพทย์ จุฬาฯ กำลังจดจ่อแทงเข็มเพื่อฝึกทักษะการเจาะเลือด แล้วเสียงเห่าก็ดังขึ้น พร้อมไฟกระพริบที่กล่องจับสัญญาณ นิสิตรู้ทันทีว่าตำแหน่งที่แทงเข็มเข้าไปนั้นยังไม่ถูกจุด ต้องลองแทงเข็มใหม่อีกครั้ง ถ้าไม่มีเสียงเห่า แสดงว่าผ่าน!

หากเป็นสุนัขจริง ทั้งเจ้าตูบและนิสิตสัตวแพทย์มือใหม่คงเครียดไม่น้อย เสียงร้องของสุนัขอาจทำให้นิสิตขาดความมั่นใจในการใช้เข็มไปเลยก็ได้ แต่เมื่อมีหุ่นสุนัขขนาดเท่าตัวจริงมาเป็นครูฝึก นิสิตสัตวแพทย์ดูจะผ่อนคลาย และสนุกท้าทายกับการฝึกทักษะการเจาะเลือดและฉีดยามากขึ้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิงภาวนา เชื้อศิริ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิงภาวนา เชื้อศิริ
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ (เสื้อสีฟ้า)

ในการสอนวิชากายวิภาคและฝึกทักษะการเจาะเลือดและฉีดยาในการลงพื้นที่จริง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิงภาวนา เชื้อศิริ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สังเกตเห็นสีหน้าของนิสิตสัตวแพทย์ดูห่อเหี่ยว บ้างกังวลใจว่าจะสอบผ่านหรือไม่ บ้างก็กังวลว่าจะฉีดยาได้ถูกจุดหรือเปล่า อาจารย์จึงพยายามคิดค้นสื่อการสอนรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้นิสิตสนุกและมีความสุขในการเรียนมากขึ้น

หุ่นฝึกการเจาะเลือดและฉีดยาสุนัขที่ทำจากวัสดุเหลือใช้ในรูปแบบโต้ตอบได้ เพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นหนึ่งในนวัตกรรมสื่อการสอนที่ ผศ.สพ.ญ.ภาวนา คิดค้นขึ้นเพื่อสร้างสัตวแพทย์ผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญให้สังคม

“หุ่นฝึกตัวนี้ช่วยแก้ปัญหาได้หลายข้อ โดยเฉพาะการเจาะเลือดและฉีดยาสุนัข ซึ่งเป็นเรื่องที่นิสิตสัตวแพทย์ทุกคนต้องปฏิบัติให้ได้ ถ้าทำไม่ถูกต้องจะเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อวิชาชีพ ทำให้สัตวแพทย์ขาดความมั่นใจ” ผศ.สพ.ญ.ภาวนา กล่าวถึงแรงบันดาลใจการประดิษฐ์หุ่นตัวนี้ “นิสิตสามารถใช้หุ่นนี้ฝึกทบทวนทักษะหัตถการ ลดอาการบาดเจ็บให้กับสุนัขจริงถ้าฉีดไม่ถูกต้อง และลดการใช้สัตว์ทดลองได้”

หุ่นตัวนี้ยังเป็นตัวช่วยชั้นดีในการเรียนวิชากายวิภาคด้วย ผศ.สพ.ญ.ภาวนา กล่าวสะท้อนถึงปัญหาในการเรียนว่า “ร่างอาจารย์ใหญ่ที่ใช้ในการเรียนการสอน บางทีก็ไม่เพียงพอ บางทีตัวก็เล็กเกินไป ใหญ่เกินไป สุนัขบางตัวป่วยด้วยโรค บางตัวผ่าตัดทำหมัน บางตัวอวัยวะไม่มีคุณภาพพอที่จะใช้ในการเรียนการสอน เราไม่สามารถคุมปัจจัยเหล่านั้นได้ นิสิตก็ต้องเรียนไปตามนั้น นอกจากนี้ เวลาเรียนกายวิภาคผ่าร่างสัตว์จะค่อย ๆ ตัดไปเรื่อย ๆ พอถึงชั่วโมงสุดท้าย ก็แทบไม่เหลืออะไรให้ทบทวน กว่าจะขึ้นไปเรียนทางคลินิกปฏิบัติจริงก็อาจหลงลืมที่เคยได้เรียนมา การมีหุ่นที่ถอดออกมาดูโครงสร้างกล้ามเนื้อเนื้อ หลอดเลือด เส้นประสาท และอวัยวะภายในได้ก็มีส่วนช่วยให้นิสิตได้ทบทวนความรู้ด้านกายวิภาคของสุนัข”

ตั้งแต่ปี 2566 ผศ.สพ.ญ.ภาวนา เริ่มพัฒนานวัตกรรมหุ่นฝึกนี้โดยผ่านการวิจัยและทดลองนำมาใช้เปรียบเสมือนเป็น “หุ่นอาจารย์ใหญ่” ในการเรียนและฝึกทักษะของนิสิตสัตวแพทย์ ซึ่งได้ผลตอบรับจากนิสิตในระดับ “พึงพอใจมาก”  

หุ่นอาจารย์ใหญ่ฝึกการเจาะเลือดและฉีดยาสุนัขได้รับรางวัล
หุ่นอาจารย์ใหญ่ฝึกการเจาะเลือดและฉีดยาสุนัขได้รับรางวัลเหรียญทองและประกาศนียบัตรจากสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสาธารณรัฐโครเอเชีย จากเวทีนวัตกรรมระดับนานาชาติ (International Trade Fair – Ideas, Inventions and New Products – iENA 2024)

ผศ.สพ.ญ.ภาวนา เล่าว่าหุ่นฝึกการเจาะเลือดและฉีดยาสุนัขเป็นโครงการที่ได้ทุนวิจัยของคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬา ในกรอบวงเงิน 100,000 บาท และใช้เวลาเพียง 6 เดือนในการประดิษฐ์

หุ่นเจาะเลือดและฉีดยาสุนัขถอดแบบมาจากสุนัขพันธุ์ไทย
หุ่นเจาะเลือดและฉีดยาสุนัขถอดแบบมาจากสุนัขพันธุ์ไทย

“หุ่นฝึกตัวนี้ทำจากวัสดุรีไซเคิล จึงช่วยลดต้นทุนการผลิต และยังช่วยลดการก่อขยะและมลพิษได้อีกทางหนึ่งด้วย เราสามารถใช้หุ่นซ้ำได้หลายครั้ง ซ่อมแซมก็ได้ นับเป็นสื่อการสอนที่หมุนเวียนกลับมาใช้ได้ตลอด” ผศ.สพ.ญ.ภาวนา กล่าวถึงจุดเด่นของนวัตกรรม พร้อมทั้งอธิบายส่วนประกอบของหุ่นฝึกการเจาะเลือดและฉีดยาสุนัข 4 ส่วนหลัก  

หุ่นสุนัขมีลักษณะทางกายภาพเหมือนสุนัขจริง หล่อปั้นและถอดแบบมาจากสุนัขพันธุ์ไทยสีเทาดำ ท่ายืนสี่เท้า หางชี้ ขนาด น้ำหนักและส่วนสูงเท่ากับตัวจริง หุ่นฝังเซนเซอร์ที่ทำจากกระป๋องน้ำอัดลมให้สอดคล้องกับตำแหน่งที่ใช้เจาะเลือดและฉีดยา ภายในตัวหุ่นประกอบด้วยโพลียูรีเทนโฟม เม็ดโฟม และฝาขวดพลาสติก โดยมีซิลิโคนชนิดพิเศษเป็นตัวประสาน ภายนอกใช้ผ้าชนิดพิเศษที่มีขนด้านนอกแต่งสีให้เหมือนสุนัขจริง ติดซิปและตีนตุ๊กแกเพื่อถอดประกอบได้ เมื่อเปิดออกมาจะเห็นลักษณะทางกายภาพที่สำคัญ ได้แก่ กล้ามเนื้อ หลอดเลือดและเส้นประสาท เพื่อให้นิสิตได้เรียนกายวิภาคสุนัขไปได้ด้วย

กล่องจับสัญญาณ 1 กล่อง เมื่อเจาะเลือดและฉีดยาในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง ตัวเซนเซอร์ในหุ่นจะทำงานร่วมกับกล่องจับสัญญาณแจ้งเตือน แล้วหลอดไฟ LED จะกระพริบ พร้อมมีเสียงเห่าดังขึ้น

กล่องจับสัญญาณทำงานร่วมกับตัวเซนเซอร์ในหุ่นสุนัข
กล่องจับสัญญาณทำงานร่วมกับตัวเซนเซอร์ในหุ่นสุนัข

กล่องฟังเสียงบรรยาย ให้นิสิตเปิดฟังเสียงอาจารย์บรรยายบอกขั้นตอนที่ถูกต้องในการเจาะเลือดและฉีดยา

กล่องฟังเสียงบรรยายเสมือนมีเสียงอาจารย์อธิบายขั้นตอนการเจาะเลือดและฉีดยาอยู่ใกล้ๆ
กล่องฟังเสียงบรรยายเสมือนมีเสียงอาจารย์อธิบายขั้นตอนการเจาะเลือดและฉีดยาอยู่ใกล้ๆ

ส่วนที่ 4 อุปกรณ์เจาะเลือดฉีดยา

อุปกรณ์เจาะเลือดฉีดยา ประกอบด้วยปากคีบ เข็มฉีดยา และหลอดฉีดยา ที่มีการติดตั้งฉนวนจับสัญญาณไว้ตั้งแต่โคนเข็มฉีดยาและแนวข้างหลอดฉีดยา เพื่อแจ้งไปที่กล่องจับสัญญาณว่าการเจาะเลือดหรือฉีดยา ผิดหรือถูกตำแหน่ง

อุปกรณ์ฉีดยาติดตั้งฉนวนจับสัญญาณ
อุปกรณ์ฉีดยาติดตั้งฉนวนจับสัญญาณ

ผศ.สพ.ญ.ภาวนา อธิบายการใช้งานหุ่นเพื่อการเจาะเลือดและฉีดยาว่า นิสิตผู้ใช้งานจะต้องปลดตะขอของหุ่นจำลองที่แขวนหุ่นไว้ แล้วนำหุ่นลงมาอยู่ในท่านอนตะแคงซ้าย ซึ่งการฝึกเจาะเลือดและฉีดยาสามารถทำได้ 6 จุดด้วยกัน คือ

เมื่อเจาะเลือดและฉีดยาถูกต้องจะไม่มีสัญญาณเตือนและเสียงสุนัขเห่า
เมื่อเจาะเลือดและฉีดยาถูกต้องจะไม่มีสัญญาณเตือนและเสียงสุนัขเห่า
  1. ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อสะโพก (Hamstring muscle) สำหรับฉีดยาลดอาการอักเสบต่าง ๆ
  2. ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหลัง (Epaxial muscle) สำหรับฉีดยาฆ่าพยาธิหนอนหัวใจตัวแก่
  3. ฉีดยา และเจาะเลือดผ่านหลอดเลือดดำใหญ่ที่คอ (External jugular vein)
  4. ฉีดยา เจาะเลือดและให้สารน้ำผ่านหลอดเลือดดำขาหน้า (Cephalic vein)
  5. ฉีดยา เจาะเลือดและให้สารน้ำผ่านหลอดเลือดดำขาหลัง (Lateral saphenous vein)
  6. การฉีดยาชั้นใต้ผิวหนัง (Subcutaneous injection) เหมาะกับการฉีดวัคซีนและให้น้ำเกลือในปริมาณมาก
สัตวแพทย์และผู้ช่วยสามารถใช้หุ่นฝึกฝนท่าทางที่ถูกต้องในการเจาะเลือดและฉีดยา
สัตวแพทย์และผู้ช่วยสามารถใช้หุ่นฝึกฝนท่าทางที่ถูกต้องในการเจาะเลือดและฉีดยา

นอกจากฝึกการเจาะเลือดและฉีดยาให้ถูกจุดแล้ว ทั้งสัตวแพทย์และผู้ช่วยสัตวแพทย์ยังสามารถฝึกท่าทางที่ถูกต้องในการเจาะเลือดและฉีดยา รวมทั้งการจับและบีบหลอดเลือดให้โป่งขึ้น เพื่อลองวางนิ้ว ใช้เข็ม และหลอดฉีดยาได้

หุ่นฝึกการเจาะเลือดและฉีดยาสุนัขเป็นหุ่นต้นแบบ ตอนนี้มีแค่ตัวเดียว ซึ่งนอกจากการเรียนการสอนที่คณะสัตวแพทย์ฯ จุฬาฯ แล้ว ผศ.สพ.ญ.ภาวนา นำหุ่นตัวนี้ไปใช้ในคลินิกโรงพยาบาลสัตว์ราชครู และคลินิกบ้านรักษาสัตว์ จ.ลำปาง เพื่อให้สัตวแพทย์จบใหม่ได้ฝึกฝนก่อนเจาะเลือดและฉีดยากับสุนัขจริง และในอนาคต มีแผนจะนำหุ่นไปใช้ที่ห้องฝึกปฏิบัติการทักษะทางคลินิก (CUVET Skill Lab Center) คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งสัตวแพทย์สามารถใช้หุ่นอธิบายสื่อสารกับเจ้าของสัตว์ว่าหมอจะฉีดยาหรือเจาะเลือดส่วนไหน เพื่อให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงเข้าใจการรักษามากขึ้น

สำหรับการผลิตเพิ่ม ผศ.สพ.ญ.ภาวนา กล่าวว่าสามารถทำได้ทันที เนื่องจากมีต้นแบบที่ใช้งานอยู่แล้ว และต้นทุนการผลิตซ้ำก็จะถูกลงจากตัวต้นแบบด้วย อย่างไรก็ดี หุ่นฝึกไม่อาจทดแทนการเรียนรู้จากร่างจริงของอาจารย์ใหญ่ในทุกด้านได้ทั้งหมด

“หุ่นตัวนี้นำมาช่วยสอนเสริมมากกว่า ถ้านิสิตเรียนโดยไม่ผ่านร่างจริง ก็เหมือนขาดการสังเกต หรือการใช้ประสาทสัมผัสไป อาจไม่เห็นการขยับและการตอบโต้มากกว่าเสียงเห่าร้อง เช่น การกระตุกดึงขากลับ หนังกระตุก ร่างอาจารย์ใหญ่และหุ่นยังคงต้องไปด้วยกัน แต่หากมีการผลิตหุ่นให้ตอบโต้ได้มากขึ้น ในอนาคตก็อาจมีการใช้ร่างอาจารย์ใหญ่ น้อยลงก็เป็นได้”

ในอนาคต ผศ.สพ.ญ.ภาวนา กล่าวว่าจะทำหุ่นจำลองสุนัขสายพันธุ์อื่น รวมทั้งแมว สัตว์ exotic และปศุสัตว์ เพื่อตอบโจทย์ทางคลินิกมากขึ้น

หุ่นจำลองอวัยวะหนูขาวใหญ่ (Rattus norvegicus)  ผลิตจากวัสดุเหลือใช้ ในรูปแบบมีปฏิสัมพันธ์เพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง
หุ่นจำลองอวัยวะหนูขาวใหญ่ (Rattus norvegicus)  ผลิตจากวัสดุเหลือใช้ ในรูปแบบมีปฏิสัมพันธ์เพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง

จากความสำเร็จของหุ่นฝึกการเจาะเลือดและฉีดยาสุนัข ผศ.สพ.ญ.ภาวนา ได้รับทุนจากศูนย์นวัตกรรมเรียนรู้ จุฬาฯ ให้ต่อยอดเป็น Simulation จำลองบรรยากาศห้องพยาบาลให้นิสิตสัตวแพทย์ได้ฝึก เช่น ซักประวัติ ตรวจร่างกาย วิธีการล้างมือ เลือกอุปกรณ์ ฝึกการผูกปาก ฝึกจัดท่าสุนัข โกนขน เช็ดแอลกอฮอล์ ฝึกการฉีดยาและเจาะเลือด ซึ่งปัจจุบันได้นำไปใช้เป็นบทเรียนออนไลน์ CU myCourseVille Mooc ที่นิสิตสัตวแพทย์ จุฬาฯ นำเอาไปใช้ฝึกได้ 

“นิสิตรุ่นใหม่พร้อมในการเรียนรู้สิ่งใหม่ นอกจากหุ่นจำลอง เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น Simulation, Hologram หรือ เทคนิคอื่น ๆ เราสามารถเรียนไปพร้อมกันได้ อาจารย์เองก็พยายามศึกษานวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่แต่เทคโนโลยีบางอย่าง เราไม่สามารถผลิตได้เอง ก็ต้องขยายเครือข่าย เช่น ไปหาผู้ที่ทำงานด้านวิศวกรรมหรือสถาปัตยกรรม ให้มาช่วยจำลองสถานที่ต่าง ๆ เหมือน VR และให้ฝึกทักษะหัตถการได้ด้วย”

Simulation จำลองสถานการณ์จริงในห้องพยาบาล
Simulation จำลองสถานการณ์จริงในห้องพยาบาล

กว่า 25 ปีของการเป็นอาจารย์ ผศ.สพ.ญ.ภาวนา ยังคงคิดค้นสื่อการสอนรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อนิสิตอยู่เสมอ

“เราทำด้วยความสนุก นิสิตสนุก เราก็มีความสุข สุขภาพกายและใจก็ดีขึ้น อาจารย์อยากจะทำต่อไปเพื่อให้นิสิตจุฬาฯ เป็นสัตวแพทย์ที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต”

สถาบันหรือหน่วยงานใดสนใจนำหุ่นไปทำเวิร์คชอปหรือจัดแสดงนิทรรศการ สามารถติดต่อได้ที่ทางอีเมล์ Pawana.U@chula.ac.th หรือติดต่อที่ CU Vet Enterprise โทร 0 2218 9658

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า