รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
4 กุมภาพันธ์ 2568
ผู้เขียน รัตนาวลี เกียรตินิยมศักดิ์
ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เดินทางไปแอนตาร์กติก เพื่อสำรวจสถานการณ์ภาวะโลกร้อนและขยะไมโครพลาสติก คาดอุณหภูมิขั้วโลกสูงขึ้น ทำน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ดันน้ำทะเลสูง เกิดโรคอุบัติใหม่ พฤติกรรมปลาเปลี่ยน ความเปลี่ยนแปลงส่งผลสะเทือนไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย
ในที่สุด “ฤดูหนาว” ที่หลายคนเฝ้ารอคอยก็มาถึง เกือบตลอดทั้งเดือนมกราคม 2568 หลายพื้นที่แทบทั่วประเทศไทยมีอากาศหนาวเย็น บางพื้นที่อุณหภูมิลดลงแตะ 1 องศาเซลเซียส และคนกรุงเทพฯ ได้สัมผัสกับอากาศที่เย็นที่สุดในรอบ 40 ปี!
แม้หลายคนจะรู้สึกดีใจกับลมหนาวที่เข้ามาเยือน แต่ก็เริ่มหนาว ๆ ร้อน ๆ แล้วว่าหน้าร้อนที่ใกล้เข้ามา จะเป็นอย่างไร เนื่องจากฤดูร้อนปีที่แล้ว อุณหภูมิสูงปรอทแทบแตก
“ตอนนี้สภาพอากาศแปรปรวนเร็วขึ้น หนาวก็หนาวสุดโต่ง ร้อนก็ร้อนสุดขั้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นเรื่องที่ควรจะเกิดขึ้นในอีก 100 ปีข้างหน้า” ศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ กล่าวด้วยความห่วงใย ก่อนเดินทางไปสำรวจขั้วโลกใต้เป็นเวลา 28 วัน ร่วมกับคณะสำรวจในโครงการวิจัยขั้วโลก เพื่อทำวิจัยเกี่ยวกับไมโครพลาสติกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้เป็นปราการด่านแรกที่จะบอกว่าโลกเราเป็นอย่างไร คาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยไปในชั้นบรรยากาศจะไปตกที่ขั้วโลก ขยะในทะเลก็เช่นกัน ขั้วโลกเป็นเหมือนภาชนะรองรับของเสีย ขยะจากแม่น้ำและทะเล ที่จะลอยไปที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้”
แม้เมืองไทยจะอยู่ห่างจากแอนตาร์กติกกว่า 11,000 กิโลเมตร แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในขั้วโลกจะส่งผลมาถึงประเทศไทยอย่างแน่นอน
“เรื่องนี้เราจะบอกว่าไม่เกี่ยว ไม่ได้! หรือขั้วโลกอยู่ห่างจากเรา ไม่ได้! สำคัญที่คนไทยจะตระหนักรู้ถึงภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นหรือไม่ และมากเท่าใด” ศ.ดร.สุชนา กล่าว
โครงการวิจัยขั้วโลกเป็นโครงการตามพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระราชดำริให้นักวิจัยไทยเข้าร่วมการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลก เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ขั้วโลกของประเทศให้ทัดเทียมกับนานาชาติ
“การเข้าร่วมโครงการฯ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลก การศึกษาของทีมนักวิจัยไทยจะเป็นเสมือนจิ๊กซอว์ ที่เมื่อต่อรวมกับการวิจัยจากประเทศอื่น ๆ จะทำให้เราเห็นภาพที่ใหญ่ขึ้นว่าขณะนี้เกิดผลกระทบอะไรกับโลกบ้าง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมการรองรับสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ศ.ดร.สุชนา กล่าว
โครงการวิจัยขั้วโลกมีความร่วมมือระหว่างประเทศ และภายในประเทศ โดยระหว่างประเทศ โครงการฯ มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ขั้วโลก ระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติของประเทศไทย กับหน่วยงานขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ของจีน (Chinese Arctic and Antarctic Administration : CAA) ในระดับประเทศ โครงการฯ ได้ทำบันทึกความเข้าใจระหว่างหน่วยงานไทยจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ในช่วงเวลา 10 ปี นับตั้งแต่มีโครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริฯ โครงการฯ ได้ส่งนักวิจัยไทยไปศึกษาขั้วโลกในหลายสาขา อาทิ สมุทรศาสตร์ ธรณีวิทยา ดาราศาสตร์ บรรยากาศและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ศ.ดร.สุชนา กล่าวว่าการศึกษาคงต้องดำเนินต่อไปให้ครอบคลุมทุกสาขาเพื่อศึกษาผลกระทบให้รอบด้าน ซึ่งคงจะต้องใช้เวลาราว 10 – 20 ปี
สำหรับการสำรวจขั้วโลกใต้ในปี 2568 ศ.ดร. สุชนา ร่วมเดินทางไปกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกแห่งจีน และมีนักวิจัยจากประเทศไทยไปด้วยอีก 2 คน คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุจารี บุรีกุล อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และ นายนิพัธ ปิ่นประดับ ผู้ช่วยนักวิจัย ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทีมวิจัยได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ โดยมีจุดหมายที่เมืองใต้สุดของประเทศชิลี ชื่อ ปุนตาอาเรนัส จากนั้นก็จะต่อเครื่องบินไปทวีปแอนตาร์กติก และพักที่สถานีวิจัยเกรทวอลล์ (Great Wall Station) เป็นระยะเวลา 28 วัน (ระหว่างวันที่ 29 มกราคม ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2568)
ศ.ดร.สุชนา เล่าถึงสภาพอากาศและความเป็นอยู่และการทำงานที่ขั้วโลกใต้โดยคร่าวว่า “อุณหภูมิติดลบสูงสุดในทวีปแอนตาร์กติกาคือ -93 องศาเซลเซียส ไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่ถาวร มีเพียงนักวิทยาศาสตร์ที่ไปสำรวจประมาณ 3,000 – 4,000 คนต่อปี”
คณะสำรวจจากประเทศไทยและประเทศจีนจะต้องเดินเท้าสำรวจ 5-6 ชั่วโมง เพื่อเก็บภาพ วิดีโอ และตัวอย่างดินและปลา
“เราอยากเก็บตัวอย่างดินและปลาให้มากที่สุด แต่อาจจะเก็บตัวอย่างได้ไม่เท่าที่ควร ขึ้นกับสภาพอากาศ ถ้าไปทำงานที่แอนตาร์กติก แล้วทำงานได้ 50% ก็ถือว่าเก่งแล้ว” ศ.ดร.สุชนา กล่าว นอกจากภารกิจสำรวจเรื่องภาวะโลกร้อนว่ามีผลกระทบต่อนิเวศน์วิทยาอะไรบ้าง รวมทั้งขยะทะเลและไมโครพลาสติก ศ.ดร.สุชนา ยังได้รับมอบหมายพิเศษให้เก็บข้อมูล เพื่อจัดทำหนังสือและสารคดีเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยขั้วโลกของไทย เนื่องในโอกาสที่ปี 2568 เป็นปีมหามงคล สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุ 70 พรรษา ทั้งยังเป็นวาระครบรอบ 50 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน อีกด้วย
ศ.ดร.สุชนา เคยเดินทางไปสำรวจแอนตาร์กติกมาแล้ว 2 ครั้ง คือ ในปี 2552 และ 2557 และพบการเปลี่ยนแปลงที่น่ากังวลต่อชะตากรรมของโลกและสัตว์น้ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารอย่างแน่นอน
“ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล พฤติกรรมของปลาเปลี่ยนไป เนื่องจากน้ำแข็งละลาย อุณหภูมิน้ำสูงขึ้น ปลามีพฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป ตะกละขึ้น คือเจออะไรก็กินหมด ทำให้มีโรคพยาธิเกิดขึ้นในตัวปลามากขึ้น สิ่งนี้เป็นดัชนีชี้วัดที่บอกว่า เมื่ออุณหภูมิของโลกสูงขึ้น จะมีโรคอุบัติใหม่ คือ โรคพยาธิในตัวปลา ลูกแพนกวิน ลูกแมวน้ำก็ตายเพิ่มขึ้น โดยมีอัตราการรอดอยู่ที่ 10% เท่านั้น”
ในส่วนของขยะพวกไมโครพลาสติก ศ.ดร.สุชนา อธิบายว่า “ขยะเหล่านี้ที่ปลากินเข้าไป จะเกาะอยู่ในกระเพาะ ทำให้ปลาเป็นมะเร็ง และส่งผลต่อการเติบโตของปลาด้วย”
การกำจัดขยะที่พบบริเวณขั้วโลกนั้นยากมาก ศ.ดร.สุชนา กล่าว “โอกาสที่จะขนขยะกลับมาและกำจัด ทำได้แค่ 10% เท่านั้น”
การเดินทางในครั้งที่ 3 นี้ ทิ้งช่วงจากครั้งสุดท้ายเกือบ 10 ปี ซึ่ง ศ.ดร.สุชนา คาดว่า “การไปสำรวจแอนตาร์กติกครั้งนี้น่าจะเห็นผลกระทบที่สุดโต่งมากขึ้นจากครั้งก่อน ขยะไมโครพลาสติกก็น่าจะเจอมากขึ้น”
ศ.ดร.สุชนา กล่าวว่าอุณหภูมิของโลกไม่ควรเปลี่ยนแปลงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส แต่ช่วงที่ผ่านมา ขั้วโลกอุณหภูมิเฉลี่ยสูงถึง 4 องศาเซลเซียส ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย และระดับน้ำทะเลสูงขึ้น
“นักวิทยาศาสตร์คาดกันว่าถ้าน้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลายหมด จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 5 เมตร และถ้าโลกร้อนขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกใต้ละลายหมด ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นกว่าเดิม 50 เมตร เทียบเท่ากับความสูงของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิบ้านเรา ระดับน้ำสูงขนาดนั้น เราจะอยู่อย่างไร”
“ในภาวะโรคระบาดโควิด-19 เรามีวัคซีนที่ป้องกันได้ แต่ภาวะโลกร้อน ถ้าธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปแล้ว จะไม่มีวัคซีนตัวไหนที่ช่วยเราเอาธรรมชาติกลับมาได้เหมือนเดิม”
ความตระหนักในปัญหาสภาวะโลกร้อนและผลกระทบที่ตามมา เป็นเรื่องสำคัญ ที่ ศ.ดร.สุชนา มองว่าคนไทยจำเป็นต้องเข้าใจและติดตามสถานการณ์ ซึ่งในภารกิจครั้งนี้ อาจารย์เกริ่นถึงความตั้งใจที่จะถ่ายทอดและสื่อประสบการณ์จากขั้วโลกใต้มาให้คนไทยรับรู้ “ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากจะ live กลับมา เพื่อให้คนไทยเห็นภาพและสถานการณ์จริง”
ปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาเร่งด่วน ที่ทุกคนบนโลกต้องหันมาใส่ใจและร่วมมือกันแก้ปัญหา
“การเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติเกิดมาจากน้ำมือของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำประมงมากเกินไป ทิ้งขยะในทะเล ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์ทำขึ้นทั้งนั้น เราควรช่วยกันทำให้ธรรมชาติดีขึ้น หรือไม่สูญเสียไปมากกว่านี้”
“เราต้องตระหนักว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ไม่ใช่ธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของเรา เมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ถ้าธรรมชาติได้รับผลกระทบและเกิดการเปลี่ยนแปลง เราก็จะได้รับผลกระทบด้วย เพียงแต่จะช้าหรือจะเร็วเท่านั้น” ศ.ดร.สุชนา กล่าวปิดท้าย
สถานการณ์ที่ขั้วโลกสะท้อนความหมายของประโยคที่ว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” การกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งย่อมส่งผลสะเทือนถึงอีกสิ่งหนึ่งเสมอ ปัญหาโลกร้อนและขยะไมโครพลาสติกที่ขั้วโลก ย่อมส่งผลกระทบไปทั่วโลก เราเริ่มหยุดผลกระทบได้ด้วยการหยุดทำลายสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ตอนนี้ ก่อนจะสายเกินไป
ไมโครพลาสติก คือ อนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร มักเกิดจากการย่อยสลายหรือแตกหักของขยะพลาสติกขนาดใหญ่ หรือเกิดจากพลาสติกที่มีการสร้างให้มีขนาดเล็ก เพื่อให้เหมาะกับวัตถุประสงค์การใช้งาน ส่วนใหญ่มีรูปร่างทรงกลม ทรงรี เส้นตรงหรือบางครั้งมีรูปร่างไม่แน่นอน
สถาบันไทยศึกษา จุฬาฯ เร่งจัดทำฐานข้อมูลลายผ้าขาวม้าไทย ขับเคลื่อนมรดกภูมิปัญญาไทยสู่เวที UNESCO
“หุ่นอาจารย์ใหญ่” ฝึกเจาะเลือดและฉีดยาสุนัข เสริมความมั่นใจนิสิตสัตวแพทย์
จุฬาฯ เปิดตัว “วีลแชร์เดินได้” Wheelchair Exoskeleton หุ่นยนต์สวมใส่บนร่างกายมนุษย์ นั่ง ลุกยืน และเดินได้ในตัวเดียว
“ศูนย์สุขภาวะผู้สูงอายุ จุฬาฯ” บ้านหลังที่ 2 ดูแลระหว่างวัน ตอบโจทย์ลูกหลานวัยทำงาน ตรงใจสูงวัยสุขภาพดี
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้