Highlights

สถาบันภาษาไทยสิรินธรจัดสอบ CU-TFL สร้างมาตรฐานวัดสมรรถภาพการใช้ภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติ

สถาบันภาษาไทยสิรินธรจัดสอบ CU-TFL วัดระดับภาษาไทย

สถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาฯ จัดสอบ CU-TFL ทดสอบสมรรถภาพการใช้ภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติ ตามเกณฑ์มาตรฐานสากล ดึงหลายมหาวิทยาลัยในประเทศเข้าร่วมเพื่อสร้างมาตรฐานระดับชาติ พร้อมทั้งจัดสอบในต่างประเทศด้วย เช่น ที่ไต้หวัน จีน และญี่ปุ่น  


TOEFL และ TOEIC เป็นการทดสอบสมรรถภาพภาษาอังกฤษที่รู้จักกันดี โดยเฉพาะผู้ที่จะเรียนต่อต่างประเทศ หรือทำงานกับบริษัทและองค์กรที่ต้องการการรับรองทักษะความสามารถด้านภาษาอังกฤษ ภาษาไทยเองก็มีเช่นกัน ดูตัวอย่างแบบทดสอบทักษะการอ่านภาษาไทยของ CU-TFL ด้านล่างนี้และไม่ว่าคุณจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติที่กำลังเรียนภาษาไทย ลองทำแบบทดสอบกันดู

Quiz


เรื่องผิวหนังอักเสบเมื่ออากาศเย็น ผิวหนังจะเสียน้ำมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาผิวแห้งหยาบ เป็นขุย แตก เมื่อผิวแห้งมากจะรู้สึกคัน ยิ่งอากาศหนาวมากๆ จะยิ่งแสบร้อนและคัน หากดูแลไม่ดีอาจเกิดแผลอักเสบจากการเกาจนเลือดออก และมีสิ่งสกปรกเข้าแผลจนเกิดการติดเชื้ออักเสบขึ้นได้ การป้องกันคือดื่มน้ำมากขึ้น ทามอยส์เชอร์ไรเซอร์หรือน้ำมันมะกอกหลังอาบน้ำ จะช่วยให้ผิวชุ่มชื้นได้นาน … สาเหตุที่ทำให้ผิวเสียน้ำคือข้อใด

ก. สิ่งสกปรกในอากาศ
ข. ความแห้งของอากาศ
ค. ความชื้นในอากาศ
ง. อุณหภูมิของอากาศ

** ดูเฉลยที่ท้ายบทความ

CU-TFL (Chulalongkorn University Thai Proficiency Test of Thai as a Foreign Language) หรือแบบทดสอบสมรรถภาพการใช้ภาษาไทยสำหรับผู้พูดภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศ เป็นแบบทดสอบที่ออกแบบและจัดสอบอย่างเป็นมาตรฐานโดยสถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2556 จนปัจจุบัน

แบบทดสอบ CU-TFL จัดขึ้นเพื่อทดสอบการใช้ภาษาไทยในทักษะการฟัง การอ่าน การเขียน และการพูด ผู้ทดสอบสามารถสอบทุกทักษะหรือเลือกสอบแยกแต่ละทักษะได้ เมื่อทดสอบแล้ว ผู้ทดสอบจะได้รับใบรับรอง และผลการวัดระดับจากสถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาฯ” รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ อรุณมานะกุล ผู้อำนวยการสถาบันภาษาไทยสิรินธร กล่าว

รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ อรุณมานะกุล 
ผู้อำนวยการสถาบันภาษาไทยสิรินธร
รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ อรุณมานะกุล
ผู้อำนวยการสถาบันภาษาไทยสิรินธร

ที่ผ่านมา ผู้ที่มาทดสอบสมรรถภาพภาษาไทยส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่ใช้ภาษาไทย และอยากจะสอบเพื่อวัดความสามารถของตัวเอง บางส่วนมาสอบเพื่อนำใบรับรองไปใช้ในการปรับเงินเดือนในหน่วยงาน และอีกกลุ่มหนึ่งเป็นนักศึกษาต่างชาติที่เรียนภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง และมาทดสอบภาษาไทยเพื่อใช้ในการสมัครงานหรือเรียนต่อ

รศ. ดร.วิโรจน์ เล่าจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสถาบันและดำเนินการทดสอบ CU-TFL ว่า “เมื่อปี 2542 ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ปราณี กุลละวณิชย์ ตั้งศูนย์ภาษาเพื่อการสื่อสาร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ สำหรับการทดสอบภาษาไทยเพื่อวัดว่านิสิตแรกเข้ามีความสามารถในการใช้ภาษาไทยทั้งทักษะการอ่านและการเขียนได้ดีแค่ไหน”

การอ่านตัวอักษรไทยสำหรับคนต่างชาติ
การอ่านตัวอักษรไทย

“หลังจากเก็บข้อมูลแรกเข้าของนิสิตมาระยะหนึ่ง พบว่าความสามารถในการใช้ภาษาไทยของนิสิตไม่ถึงระดับที่คาดหมาย จึงได้เปิดรายวิชา “การเขียนย่อหน้า” และ “การอ่านภาษาไทยระดับอุดมศึกษา” ขึ้นเพื่อให้นิสิตได้เรียนเสริมทักษะภาษาไทย ในขณะเดียวกัน ก็เปิดบริการทางวิชาการอบรมความรู้ภาษาไทยให้กับบุคคลภายนอกด้วย จนต่อมามีความต้องการแบบทดสอบสมรรถภาพการใช้ภาษาไทย ศ.กิตติคุณ ดร.ปราณี จึงได้พัฒนามาตรฐานการทดสอบภาษาไทยขึ้น”  

จากความตั้งใจในการพัฒนามาตรฐานการทดสอบภาษาไทย ศ.กิตติคุณ ดร.ปราณี ได้ตั้งทีมศึกษาเกณฑ์ทดสอบภาษาไทยจากหลายมาตรฐาน ได้แก่ CEFR (Common European Framework of Reference for Languages) เป็นกรอบมาตรฐานสากลจากฝั่งยุโรป ที่ใช้ในการอธิบายความสามารถทางภาษาทั้ง 4 ทักษะ (ฟัง พูด อ่าน เขียน) ACTFL (American Council on the Teaching of Foreign Languages) และ ILR (Interagency Language Roundtable) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาและกำหนดมาตรฐานสมรรถภาพทางภาษาจากสหรัฐอเมริกา  

“กระบวนการออกข้อสอบของเราจะมีการกลั่นกรองข้อสอบเพื่อให้ได้คุณภาพ มีคนออกข้อสอบ พอออกข้อสอบเสร็จ จะให้กรรมการชุดเล็กพิจารณาดูว่าข้อสอบนั้นใช้ได้ คำถามคำตอบอ่านแล้วเข้าใจหรือไม่ มีตัวลวงเหมาะสมหรือไม่ หรือว่าง่ายไป”

“พอผ่านชุดนี้เรียบร้อย แก้ไขเสร็จก็จะส่งข้อสอบให้กับกรรมการชุดใหญ่ดูในภาพรวม และดูรายละเอียดในแต่ละข้อว่าใช้ได้หรือไม่ มีการตรวจสอบ 2 รอบ เมื่อผ่านชุดใหญ่แล้วก็นำข้อสอบไปให้อาสาสมัครทำข้อสอบ แล้วนำผลจากการสอบมาประเมินดูว่าข้อสอบแต่ละข้อใช้ได้หรือไม่ เช่น ถ้าบางข้อทุกคนทำได้หมดก็อาจจะง่ายเกินไป หรือบางข้อทุกคนตอบผิดหมดก็ต้องมาวิเคราะห์ข้อสอบกันใหม่ ทั้งหมดเป็นกระบวนที่เราทำก่อนจะเอาข้อสอบแต่ละข้อไปใช้ในการสอบจริง มีขั้นตอนและมีค่าใช้จ่ายพอสมควร สถาบันฯ ไม่ได้คิดว่างานพวกนี้ทำเพื่อได้กำไรแต่ทำเพื่อที่จะสร้างมาตรฐานการวัดระดับทักษะของภาษาไทยเอง” รศ. ดร. วิโรจน์ เล่าถึงกระบวนการออกข้อสอบซึ่งทางสถาบันเริ่มดำเนินการทดสอบตั้งแต่ปี 2553 และเปิดให้มีการจัดสอบด้วยข้อสอบมาตรฐานในปี 2556 เป็นต้นมา 

การทดสอบ CU-TFL วัดสมรรถภาพภาษาไทยของผู้ทดสอบ ทั้งทักษะฟัง พูด อ่าน เขียน โดยมีรายละเอียดการทดสอบทักษะต่าง ๆ ดังนี้  

  • การฟัง การทดสอบใช้เวลา 1 ชั่วโมง เป็นข้อสอบปรนัย มีเทปให้ฟังและตอบคำถามเพื่อทดสอบว่าฟังรู้เรื่องแค่ไหนและสามารถตอบคำถามได้
  • การอ่าน ใช้เวลาทดสอบ 1 ชั่วโมง เป็นการอ่านระดับง่ายไปจนถึงระดับยากเพื่อดูว่าผู้ทดสอบอ่านเข้าใจ จับใจความ ตีความได้ จนไปถึงอ่านเรื่องที่ซับซ้อนได้
  • การเขียน การทดสอบใช้เวลา 1 ชั่วโมง เป็นการวัดความสามารถในการแสดงความคิดเห็น การใช้ภาษาได้ถูกต้อง การลำดับความคิด การมีเหตุผลในการเขียน
  • การพูด ใช้เวลาประมาณ 45 นาที ขึ้นอยู่กับความสามารถในการพูดของผู้ทดสอบ การทดสอบการพูดมีผู้ให้คะแนน 2 คน คนแรกเป็นผู้ที่คุยกับผู้ทดสอบเป็นหลัก ส่วนอีกคนเป็นผู้สังเกตการณ์ที่จะฟังการตอบและให้คะแนน

ผลการทดสอบแต่ละทักษะ (ฟัง พูด อ่าน เขียน) แบ่งเป็น 5 ระดับ เช่น สมรรถภาพการฟังภาษาไทยแบ่ง 5 ระดับคือ

  1. ระดับฝึกฟัง (Novice)
  2. ระดับกลาง (Intermediate)
  3. ระดับดี (Advanced)
  4. ระดับดีมาก (Superior)
  5. ระดับดีเด่น (Distinguished)

“การตีความว่าผู้ทดสอบอยู่ระดับใดขึ้นอยู่กับข้อสอบที่เราออกแบบ ถ้าทำข้อนี้ได้ ข้อนี้เป็นตัววัดความสามารถอะไร และจะได้คะแนนเท่าไร สุดท้ายนำมาคำนวณรวมและบอกมาเป็นระดับ”

ตัวอย่างการวัดระดับผู้ทดสอบการฟัง เช่น ผู้ที่ทดสอบการฟังได้ในระดับกลาง (Intermediate) คือผู้ที่เข้าใจข้อความระดับประโยค และอาจเข้าใจการสนทนาสั้น ๆ หรือเข้าใจเรื่องเล่าสั้น ๆ เกี่ยวกับเรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ ต้องเป็นการพูดที่ชัดถ้อยชัดคำและใช้ภาษามาตรฐานด้วย ส่วนผู้ที่ทดสอบการฟังในระดับดี (Advanced) คือผู้ที่สามารถจับใจความสำคัญของเรื่องที่ฟัง ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการนำเสนอที่ชัดเจน และพูดด้วยความเร็วปกติ

ในส่วนเกณฑ์การให้ รศ. ดร.วิโรจน์ กล่าวว่าคะแนนของ CU-TFL เหมือนกับ CEFR และ ACTFL “สถาบันภาษาไทยสิรินธรใช้เกณฑ์การวัดระดับเหมือน ACTFL จากอเมริกาคือการใช้คะแนนระดับบวก (Plus) เช่น ผู้ทดสอบอยู่ในระดับ Intermediate แต่ทำได้ค่อนข้างดีกว่า intermediate ทั่วไป ผู้ทดสอบมีบางอย่างทำได้เหมือนกับระดับ Advanced แต่ยังทำไม่ได้ทั้งหมด เราก็จะให้คะแนนระดับบวก (Plus) เพื่อให้รู้ว่าใกล้จะได้ระดับ advanced แล้ว ใบรายงานผลจะบอกระดับและคะแนน แต่ตัวสำคัญคือการวัดระดับสมรรถภาพเหมือนกับการตัดเกรดว่าได้เกรดอะไร”

สถาบันภาษาไทยสิรินธรจัดสอบ CU-TFL เป็นประจำปีละ 5 ครั้ง และในขณะนี้ สถาบันฯ กำลังอยู่ระหว่างทำ MOU กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ร่วมกันตั้งศูนย์ทดสอบสมรรถภาพการใช้ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ  เพื่อพัฒนาการทดสอบให้เป็นมาตรฐานระดับประเทศ

“ในช่วงแรก สถาบันฯ จะออกข้อสอบให้ และให้มหาวิทยาลัยเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นศูนย์ทดสอบโดยใช้ชุดข้อสอบเดียวกัน วันเวลาสอบเดียวกัน ซึ่งสถาบันฯ จัดการฝึกอบรมผู้ออกข้อสอบและผู้จัดสอบทุกปี”

นอกจากนี้ รศ. ดร.วิโรจน์ กล่าวว่าสำหรับมหาวิทยาลัยที่มี MOU ร่วมกัน ก็สามารถส่งอาจารย์เข้าร่วมฝึกอบรมได้ เพื่อบุคลากรจะได้เข้าใจในหลักการการออกข้อสอบและการวัดผลของสถาบันฯ และจะได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกรรมการออกข้อสอบ ที่จะไม่จำกัดเฉพาะบุคลากรของจุฬาฯ เท่านั้น

ไม่เพียงการจัดการทดสอบในประเทศ แต่แบบทดสอบ CU-TFL ยังบินไปไกลยังต่างประเทศด้วย ซึ่งที่ผ่านมา มีการเปิดสนามทดสอบที่ประเทศไต้หวัน จีน และญี่ปุ่น

“ประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่ทำธุรกิจค้าขายกับประเทศไทย โดยเฉพาะประเทศจีนทางใต้ที่ติดกับประเทศไทย มีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนภาษาไทยด้วย แล้วอยากได้การทดสอบที่เป็นมาตรฐานเพื่อวัดความสามารถของนักศึกษา แทนที่จะจัดสอบเอง มหาวิทยาลัยในประเทศจีนเลือกการสอบ CU-TFL ให้เป็นการจัดสอบต่อเนื่อง ผู้ทดสอบภาษาไทยสามารถไปสมัครกับหน่วยงานในต่างประเทศ เมื่อได้จำนวนประมาณ 30 คน สถาบันภาษาไทยสิรินธรจะบินไปจัดสอบให้ กลับมาตรวจ และส่งใบรับรองผลไปให้”

รศ. ดร.วิโรจน์ กล่าวว่าการจัดสอบในต่างประเทศมีมาตั้งแต่ปี 2556 โดยที่ไต้หวัน มีการสอบทุกปี ปีละ 2 ครั้ง ญี่ปุ่นปีละครั้ง ส่วนประเทศจีนมีการจัดสอบเป็นระยะ ๆ

“ในปีนี้ ทางจีนมีนโยบายส่งเสริมภาษาต่างประเทศ มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งติดต่อมาที่สถาบันฯ เพื่อขอให้ไปจัดสอบ ขณะนี้กำลังเจรจากันอยู่ และอาจจะมีไปสอบที่เฉิงตูในโอกาสครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีนด้วย” รศ. ดร.วิโรจน์ กล่าว

การทดสอบ CU-TFL มีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา รศ. ดร.วิโรจน์ เล่าถึงแผนงานในอนาคตว่า “เราอาจจะจัดทำข้อสอบให้มีมากกว่า 1 ระดับ ผู้เข้าสอบสามารถเลือกได้ว่าอยู่ระดับไหนและไปสอบระดับนั้นเลย ข้อดีคือไม่ต้องทำข้อสอบจำนวนมาก จะได้มุ่งเป้าไปที่ระดับที่ต้องการ ชุดแรกอาจจะเป็นระดับเบื้องต้นถึงกลาง ชุดที่สองคือคนที่อยู่ระดับกลางจนถึงระดับสูง เพื่อแยกกลุ่มให้ชัดเจน เพราะบางคนเรียนภาษาไทยและมีความรู้ภาษาไทยค่อนข้างดีอยู่แล้ว กลุ่มนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมาทำข้อสอบระดับเบื้องต้นอีก”

ในฐานะเป็น “ผู้จัดการทดสอบสมรรถภาพภาษาไทย” สถาบันภาษาไทยสิรินธรจึงไม่ได้เปิดการเรียนการสอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติ แต่มีคอร์สฝึกอบรมให้ครูผู้สอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ เพื่อจะได้รู้จักแนวการวัดมาตรฐานภาษาไทยของสถาบันฯ แล้วไปออกแบบหรือจัดการเรียนการสอนให้ตรงเป้าหรือสอดคล้องกับการวัดสมรรถภาพทางภาษาไทยของสถาบันฯ

ตัวอย่างแบบเรียนภาษาไทย
ตัวอย่างแบบเรียนภาษาไทย

สถาบันภาษาไทยสิรินธรเปิดการเรียนรายวิชาภาษาไทยให้กับนิสิตทั่วไป สำหรับบุคคลทั่วไป (ผู้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่) สถาบันฯ มีการฝึกอบรมภาษาไทย เช่น การเขียนบันทึก จดหมาย การเขียนรายงานการประชุม การเขียนสื่อสร้างสรรค์ และการพูดภาษาไทยในที่สาธารณะ เป็นต้น

ชาวต่างชาติที่สนใจทดสอบ CU-TFL และผู้ที่สนใจเรียนภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร สามารถติดต่อได้ที่เว็บไซต์ https://www.sti.chula.ac.th/

เฉลยแบบทดสอบทักษะการอ่านภาษาไทย เรื่องผิวหนังอักเสบ
คำตอบที่ถูกต้อง : ง. อุณหภูมิของอากาศ

Information Box


เรียนภาษาไทย รู้แน่น รู้จริง กับ CTFL ศูนย์ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ อักษรฯ จุฬาฯ

ชาวต่างชาติที่ต้องการเรียนภาษาไทยสามารถเรียนรู้ได้กับศูนย์ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ Center for Thai as a Foreign Language (CTFL) ที่มีแนวการสอนและการจัดการหลักสูตรอย่างเป็นระบบ และสอดคล้องกับแนวทางการทดสอบสมรรถภาพการใช้ภาษาไทย โดยสถาบันภาษาไทยสิรินธร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกียรติ เทพช่วยสุข ผู้อำนวยการศูนย์ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ จุฬาฯ กล่าวว่า “CTFL มีหลายหลักสูตรที่เปิดสอนภาษาไทยให้แก่บุคคลทั่วไปชาวต่างชาติ หลักสูตรที่ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง คือ หลักสูตร Intensive Thai ซึ่งสอนภาษาไทยตั้งแต่ระดับต้นไปจนถึงระดับสูง และจัดแนวทางการสอนให้เข้ากับมาตรฐานการเรียนรู้ CEFR ที่กำหนดว่าผู้เรียนระดับใดจะต้องเรียนรู้อะไรบ้าง ทั้งคำศัพท์และไวยากรณ์ และกำหนดความสามารถทั้งด้านการฟัง การพูด การอ่าน การเขียนของผู้เรียนแต่ละระดับ”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกียรติ เทพช่วยสุข ผู้อำนวยการศูนย์ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกียรติ เทพช่วยสุข
ผู้อำนวยการศูนย์ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ

หลักสูตร Intensive Thai เน้นฝึกทักษะการฟัง-พูดก่อนจะขยับไปที่ทักษะการอ่านและเขียน ผศ. ดร.เกียรติ อธิบายเกี่ยวกับการเรียนทักษะทางภาษาว่า “การเรียนรู้ภาษาเริ่มต้นจากการฟัง พูด อ่าน เขียน ที่ CTFL เราให้ความสำคัญในเรื่องการสื่อสารก่อน นั่นคือฟังแล้วค่อยพูด การฟังเป็นทักษะแรกที่มนุษย์สามารถทำได้ สามารถฝึกได้ง่าย ถ้าเข้าหูเรา ตีความได้ เราก็จะสามารถเข้าใจ การพูดเป็นทักษะที่ใช้มากพอกับการฟัง ถ้าเราฝึกการฟังและพูดให้ได้ก่อน เราก็จะสามารถต่อยอดเป็นการอ่านและการเขียนต่อได้”

ผศ. ดร.เกียรติ ยกตัวอย่างหลักสูตรภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่เปิดสอน ได้แก่

  • Intensive Thai คือ การเรียนภาษาไทยแบบเข้มข้น มีการฝึกทั้ง 4 ทักษะ ฟัง พูด อ่าน เขียน มีทั้งหมด 9 ระดับ
  • Communicative Thai for Beginners สำหรับการเรียนแค่ฟังพูดระดับต้นเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันมีทั้งหมด 3 ระดับ
  • Academic Thai for Advanced Learners ภาษาไทยขั้นสูงสำหรับงานวิชาการมีทั้งหมด 3 Module
  • Reading and Writing Thai การอ่านและเขียนภาษาไทย มีทั้งหมด 3 ระดับ สำหรับผู้ที่มีพื้นฐาน สามารถฟังและพูดภาษาไทย

นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังเปิดหลักสูตรส่วนตัวและเป็นกลุ่มให้ชาวต่างชาติที่สนใจเรียนภาษาไทยในด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ภาษาไทยเพื่อธุรกิจ ภาษาไทยเพื่อการทำงาน และภาษาไทยกับวัฒนธรรมไทย

“ที่ศูนย์ฯ อาจารย์ผู้สอนได้รับการคัดเลือกและฝึกอบรมอยู่เป็นระยะ ๆ ผู้เรียนจึงมั่นใจได้ว่าถ้ามาเรียนกับเรา ก็จะได้เรียนกับอาจารย์ผู้มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านภาษาศาสตร์ ภาษาไทย และการสอนภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะ”

ศูนย์ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ คณะอักษรศาสตร์ ยังมีหลักสูตรปริญญาโท ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศที่เปิดสอนให้แก่นิสิตชาวต่างชาติที่ต้องการพัฒนาทักษะภาษาไทยไปสู่ระดับสูงเพื่อนำไปใช้ในการวิชาการและวิชาชีพแขนงต่างๆ

ผู้สนใจสมัครเรียนภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ สามารถติดต่อได้ที่เว็บไซต์ https://ctfl.arts.chula.ac.th/

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า