รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
28 เมษายน 2568
ผู้เขียน รัตนาวลี เกียรตินิยมศักดิ์
วิศวกรนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬา พัฒนาอุปกรณ์สแกนต้นไม้ด้วยรังสีแกมมาแห่งเดียวในประเทศไทย สแกนลำต้นและรากไม้ ชี้ตำแหน่งโพรงในต้นไม้ที่อาจเสี่ยงโค่นล้ม ตรวจสอบคุณภาพสถาปัตยกรรมที่ทำจากไม้ และมุ่งพัฒนาเครื่องมือเพื่อตรวจสอบได้ละเอียดแม่นยำยิ่งขึ้น
เมืองต้องการต้นไม้ใหญ่เพื่อให้ร่มเงา ฟอกอากาศ กรองฝุ่น และเติมทัศนียภาพงดงามและความมีชีวิตชีวาให้เมือง แต่บ่อยครั้งเราจะได้ยินข่าวเหตุต้นไม้โค่นล้มเมื่อมีพายุและลมแรง สร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินและชีวิตผู้คน
การป้องกันและเลี่ยงเหตุร้ายดังกล่าวคงไม่ใช่การโค่นหรือตัดต้นไม้ แต่อยู่ที่การตรวจสอบสุขภาพของต้นไม้อย่างสม่ำเสมอเพื่อรักษาต้นไม้ให้ยืนต้นแข็งแรงต่อไป ซึ่งการสังเกตสุขภาพต้นไม้จากภายนอกด้วยตาเปล่า – ดูกิ่งก้านใบ อาจไม่พอ เพราะ “ข้างนอกสดใส ข้างในอาจเป็นโพรง”
ดร.มนัสวี เลาะวิธี หนึ่งในทีมอาจารย์และนิสิตจากภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันพัฒนาอุปกรณ์สำหรับสแกนภายในต้นไม้โดยใช้รังสีแกมมา เพื่อตรวจสอบสุขภาพ ชี้โพรง และวัดความหนาแน่นของเนื้อไม้ เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย และนับตั้งแต่ปี 2564 ทีมวิศวกรนิวเคลียร์ จุฬาฯ ได้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวตรวจสุขภาพต้นไม้ใหญ่ในจุฬาฯ ภายใต้โครงการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามต้นไม้ขนาดใหญ่ เพื่อเฝ้าระวังในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระยะที่ 1 (Chula Big Tree Project: Phase 1) และให้บริการตรวจสุขภาพต้นไม้ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร เช่น ต้นไม้ใหญ่ในบริเวณซอยสมคิด ระหว่างเซ็นทรัลเอ็มบาสซีและเซ็นทรัลชิดลม รวมทั้งให้บริการตรวจสอบคุณภาพไม้ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารหรือสถาปัตยกรรม เช่น การตรวจสอบไม้สักที่จะใช้ทำศาลาประชาคมที่อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) และล่าสุดทางภาควิชาได้รับการติดต่อจากสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กทม. เพื่อหารือสำหรับวางแผนประยุกต์ใช้เทคโนโลยีตรวจสอบโพรงภายในต้นไม้ ในการตรวจสอบสถาปัตยกรรมที่ทำจากไม้ เช่น เสาชิงช้า
อาจารย์ ดร.มนัสวีอธิบายการเลือกใช้รังสีแกมมาสำหรับปฏิบัติการชี้โพรงต้นไม้
“รังสีแกมมามีลักษณะเหมือนแสง ถ้ามีวัตถุมาบังแสง แสงจะไม่สามารถลอดผ่านไปยังฝั่งตรงข้ามได้ ถ้าไม่มีวัตถุมาบัง แสงก็จะลอดผ่านได้ทั้งหมด รังสีแกมมาก็เช่นกัน”
อาจารย์ ดร.มนัสวีอธิบายว่าถ้าไม่มีวัตถุมากั้นระหว่างต้นกำเนิดรังสีแกมมา (Source) แล้วนำหัววัดรังสี (Radiation Detector) มาวัดปริมาณรังสี ก็จะได้ปริมาณรังสีที่ค่อนข้างมาก แต่หากมีวัตถุมาบังต้นกำเนิดรังสี ปริมาณรังสีที่ตรวจพบ จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติและความหนาของวัตถุนั้น ๆ ว่าสามารถลดทอนรังสีได้มากน้อยเท่าใด
“วัสดุโลหะและวัสดุที่มีเลขอะตอมสูง เช่น ตะกั่ว มีคุณสมบัติในการลดทอนรังสีแกมมาได้ดี หากนำมาคั่นกลางระหว่างต้นกำเนิดรังสีและหัววัดรังสี ก็จะบดบังปริมาณรังสีไปได้เกือบทั้งหมด จึงอาจจะไม่พบปริมาณรังสีที่หัววัดรังสี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความหนาของวัสดุนั้นๆด้วย” อาจารย์ ดร.มนัสวียกตัวอย่าง “แต่หากไม่มีวัตถุอะไรมาบังรังสี แสดงว่าบริเวณนั้นเป็นอากาศทั้งหมด หัววัดรังสีก็จะอ่านปริมาณรังสีได้ทั้งหมด”
ความแตกต่างของการทะลุทะลวงวัตถุนี่เอง เป็นที่มาของการใช้รังสีแกมมาในการหาตำแหน่งของโพรงในต้นไม้ หรือที่เรียกว่า การส่งผ่านรังสีแกมมา (Gamma Transmission Technique) เพื่อวัดปริมาณรังสีหลังจากที่ทะลุผ่านต้นไม้
“ต้นไม้ที่มีความหนาแน่นสูง เนื้อไม้ครบถ้วน จะบังรังสีแกมมาได้ทั้งหมด ถ้าเกิดต้นไม้มีโพรงอยู่ภายใน ก็เหมือนไม่มีวัตถุมาบังรังสี เราก็จะอ่านค่ารังสีได้ และรู้ได้ว่าบริเวณใดของต้นไม้มีโพรง” ดร.มนัสวีอธิบาย
สำหรับต้นกำเนิดรังสีแกมมาที่ใช้ในการตรวจโพรงต้นไม้ ดร.มนัสวีกล่าวว่ามาจากซีเซียม 137 แม้จะเป็นธาตุที่มาจากธรรมชาติแต่ก็หาทั่วไปไม่ได้ เพราะเป็นธาตุที่ต้องควบคุมอันตรายจากรังสี จึงต้องซื้อจากหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตจากผู้ควบคุมคือสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเท่านั้น
การตรวจสุขภาพต้นไม้ที่มีการทำอยู่ทั่วไปใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Resistograph ซึ่งต้องมีการเจาะต้นไม้ แม้จะบอกได้ว่าต้นไม้มีโพรง แต่ก็เป็นการทำลายต้นไม้และส่งผลในระยะยาว แต่การสแกนด้วยรังสีแกมมาโดยทีมวิศวกรนิวเคลียร์ จุฬาฯ เป็นการตรวจสอบโดยไม่มีการเจาะอุปกรณ์ใด ๆ เข้าไปในเนื้อไม้เลย
เครื่องมือส่งผ่านรังสีแกมมาเพื่อตรวจสุขภาพต้นไม้ ออกแบบโดยนิสิตปริญญาโท ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่
“เราต้องติดตั้ง และจัดวางต้นกำเนิดรังสีและตัววัดรังสีให้อยู่ในแนวเดียวกันรอบต้นไม้ เพื่อให้รังสีทะลุผ่านต้นไม้มาถึงหัววัดปริมาณรังสี ซึ่งเรื่องนี้ เราใช้ระดับน้ำวัด alignment หลังจากนั้นอุปกรณ์จะถูกขับเคลื่อนด้วยเฟืองเพื่อให้หัววัดรังสีและต้นกำเนิดรังสีเคลื่อนที่ตั้งแต่ก่อนที่จะเข้าถึงต้นไม้ เข้าสู่ต้นไม้ และทะลุผ่านต้นไม้อีกฝั่งไปพร้อม ๆ กัน เพราะเราต้องการวัดปริมาณรังสีที่เปลี่ยนไป” อาจารย์มนัสวีอธิบาย
อุปกรณ์ต่าง ๆ ทำงานกันเป็นระบบอัตโนมัติ เพียงกดปุ่ม ระบบจะทำงานตั้งแต่ปล่อยรังสีทะลุผ่านต้นไม้และเก็บข้อมูล ซึ่งจะได้ข้อมูล 1 ระนาบ
“พอเราเห็นว่ามีปริมาณรังสีไม่สอดคล้องกับต้นไม้เนื้อตันและสันนิษฐานว่าเป็นโพรง เราก็จะยืนยันด้วยการหมุนอุปกรณ์เป็นมุม 90 องศาที่ตั้งฉากกัน และวัดปริมาณรังสีอีกครั้งเพื่อยืนยันว่าเป็นตำแหน่งเดียวกัน รวมถึงการวัดรังสีในแนวดิ่งเพื่อให้รู้ว่าโพรงอยู่ตรงไหน มีทิศทางอย่างไร และขนาดเท่าไร”
นอกจากอุปกรณ์สแกนลำต้นเพื่อหาโพรงในต้นไม้แล้ว ตั้งแต่ปี 2567 ภาควิศวกรรมนิวเคลียร์ยังได้พัฒนาอุปกรณ์ส่งผ่านรังสีแกมมาให้สามารถดูลักษณะภายใต้ดินบริเวณรากต้นไม้ได้ด้วย
“รากมีความสำคัญมาก รากเป็นตัวที่จะบอกว่าต้นไม้สามารถยืนหยัดอยู่ได้หรือเปล่า” ดร.มนัสวีอธิบาย และเล่าว่าโครงการสแกนรากต้นไม้นี้เป็นความคิดริเริ่มของ รองศาสตราจารย์นเรศร์ จันทน์ขาว ที่มอบหมายให้นิสิตปี 4 ของภาควิชา ทดลองส่งผ่านรังสีแกมมาเพื่อวิเคราะห์ลักษณะภายใต้ดินบริเวณรากต้นไม้
“การสแกนลำต้นใช้อุปกรณ์ต้นกำเนิดรังสี (Source) 1 ตัวและหัววัดรังสี (Detector) 1 ตัว แต่การสแกนรากจะใช้อุปกรณ์ต้นกำเนิดรังสี 1 ตัว โดยมีท่อนำลงไปใต้ดินเพื่อปล่อยรังสีผ่านรากสู่หัววัดรังสี ซึ่งจะมีประมาณ 8 ตัวอยู่บนดิน เพื่อให้ครอบคลุมจำนวนมุมที่ต้องการ” ดร.มนัสวีอธิบายการสแกนรากต้นไม้ และกล่าวว่าการสแกนรากต้นไม้มีความท้าทายมากกว่าการสแกนลำตัน
“การสแกนรากต้นไม้มีความท้าทายเพราะรากมีขนาดเล็ก แม้ต้นไม้จะใหญ่ แต่รากจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 5-10 ซม.เท่านั้น และรากก็แตกแขนงไปเยอะ รังสีเลยลดทอนไม่มาก เหมือนวัดไม่ได้ว่ามีรากอยู่หรือเปล่า ทำให้ปริมาณของรังสีที่ตรวจจับได้มีความไม่แน่นอน นอกจากนี้ ดินก็เป็นตัวแปรสำคัญ เช่น ดินเหนียว ดินทราย ความร่วนและความชื้นของดิน แปลว่าปริมาณรังสีที่หายไปอาจจะถูกลดทอนด้วยดินไปก่อนที่จะมาถึงรากไม้ด้วยซ้ำ จึงเป็นเรื่องยากของการวัดรังสีในรากต้นไม้”
“สำหรับส่วนนี้ ปัจจุบัน นิสิตยังศึกษาทดลองและวิจัยว่าจะมีวิธีการเซ็ตเครื่องมืออย่างไร เพื่อให้สามารถใช้วัดลักษณะภายใต้ดินได้ การใช้หัววัดหลายหัววัดและมีการหมุนเปลี่ยนตำแหน่งหัววัดจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ และยังศึกษาเรื่องรังสีที่เข้าสู่หัววัดอาจมีทั้งแบบการทะลุผ่านและการกระเจิงจากวัตถุแล้วตกกระทบเข้าสู่หัววัดในมุมต่างๆ ก็จะให้ความแม่นยำในการวัดมากขึ้น”
สุขภาพของต้นไม้จะแข็งแรงหรือไม่ ขึ้นกับว่าโพรงอยู่ตำแหน่งใด ขนาดของโพรงมีขนาดเท่าไร “ถ้าโพรงกินขนาดมากกว่าครึ่งของเนื้อไม้แสดงว่าต้นไม้ไม่แข็งแรง” อาจารย์ ดร.มนัสวีกล่าว
แม้โพรงภายในต้นไม้จะเป็นเครื่องบ่งบอกสุขภาพต้นไม้ แต่ก็ยังมีปัจจัยและสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ที่รุกขกรใช้ในการประเมินสุขภาวะต้นไม้ เช่นเนื้อเยื่อเจริญ (Cambium)
“เนื้อเยื่อเจริญเป็นเนื้อเยื่อที่อยู่ส่วนข้างของต้นไม้ ถ้ามีความแข็งแรงพอ ถึงต้นไม้จะมีโพรงขนาดใหญ่ตรงกลางลำต้น เนื้อเยื่อเจริญก็สามารถซัพพอร์ตโครงสร้างของต้นไม้ได้ แต่ถ้าโพรงอยู่ใกล้บริเวณเนื้อเยื่อเจริญหมายความว่าความสามารถของเนื้อเยื่อเจริญที่จะค้ำยันต้นไม้ก็น้อยลงไป”
การดูแลเพื่อรักษาต้นไม้ที่มีโพรงมีหลายวิธี เช่น การใส่ยา ฉีดวัสดุทดแทนลงในโพรง และการใช้ไม้ค้ำยัน
“ตามหลักการจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาแจ้งว่าต้นไม้นี้มีลักษณะสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย หลังจากนั้น เราจะสแกนตรวจดูโพรงต้นไม้เพื่อให้ข้อมูลยืนยัน เมื่อรุกขกรเห็นข้อมูลแล้วบอกว่าต้นไม้อันตรายต้องมีการค้ำยัน ทางฝั่งวิศวกรรมโยธาจะใช้ข้อมูลเรื่องตำแหน่งขนาดโพรง เพื่อค้ำยันต้นไม้ได้ตรงตำแหน่ง และต้องค้ำยันต่อไป ไม่มีทางรักษาหายได้”
ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ยังคงพัฒนาอุปกรณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เครื่องมือสามารถนับปริมาณรังสีที่ออกมาได้แม่นยำและตรวจสอบตำแหน่งโพรงภายในต้นไม้ได้ละเอียดมากขึ้น เพื่อการบำรุงรักษาต้นไม้ให้คงอยู่ต่อไป
“เมื่อก่อนระบบอุปกรณ์เครื่องกลเป็น belt กึ่งพลาสติกกึ่งยาง ทำให้บางทีเคลื่อนที่ไม่พร้อมกัน ไม่มีความมั่งคง เวลาเคลื่อนที่ไปหนึ่งจุด ต้องกดปุ่ม 1 ครั้งเพื่อเก็บข้อมูล 30 วินาที แล้วค่อยกดปุ่มอีก 1 ครั้งเพื่อเก็บข้อมูลจุดต่อไป”
“สำหรับอุปกรณ์ปัจจุบัน เรานำเอาข้อมูลที่ไปออกหน้างานมาพัฒนาเป็นระบบเครื่องกลที่มีความมั่นคงมากขึ้น ไม่ใช้พลาสติกกึ่งยางแต่เปลี่ยนเป็นเหล็ก ทำให้เครื่องกลเคลื่อนที่ได้แม่นยำและเคลื่อนที่ในระยะสั้น ประมาณ 2 ซม. เราจึงได้ข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้น อุปกรณ์สามารถเคลื่อนที่โดยอัตโนมัติด้วย กดปุ่มเดียวก็ทำงานทั้งระบบได้เลย นอกจากนี้ยังควบคุมอุปกรณ์ได้ด้วยมือถือ โดยใช้สัญญาณ wifi ทำให้เจ้าหน้าที่มีระยะห่างจากการวัดรังสีและมีความปลอดภัยมากขึ้น”
ในอนาคต ดร.มนัสวีและทีมพัฒนาการส่งผ่านรังสีแกมมาตั้งใจจะทำให้อุปกรณ์สแกนต้นไม้วัดค่ารังสีได้ละเอียดยิ่งขึ้นและติดตั้งทำงานได้ง่ายขึ้น
“เราอยากทำอุปกรณ์ให้หมุนได้เล็กลงเรื่อย ๆ เป็น 0, 10, 20, 30 องศา มุมมีความละเอียดทำให้ทราบถึงขนาดที่แท้จริงของโพรง เราอยากออกแบบระบบเครื่องกลเป็นจานหมุนที่เปลี่ยนมุมได้และเก็บข้อมูลได้เลยโดยไม่ต้องคอยถอดเปลี่ยนมุมแต่ละมุม ข้อมูลเป็นภาคตัดขวางคล้ายกับการเข้าอุโมงค์ทำ CT Scan สแกนเพียงครั้งเดียวก็รู้ทิศทางของโพรงละเอียดขึ้น”
เทคนิคการส่งผ่านรังสีเป็นหลักการที่ใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรม เช่น รังสีนิวตรอน รังสีเอกซ์ รวมทั้งรังสีแกมมา การออกแบบเครื่องมือให้เหมาะสมกับการใช้งาน การเลือกใช้เครื่องกำเนิดรังสีที่ความทะลุทะลวงมากน้อยอย่างไร การเลือกใช้รังสีให้ตรงกับวัสดุที่จะตรวจสอบ เหล่านี้คือเรื่องที่ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์กำลังศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาบุคลากรและสร้างประโยชน์ให้กับสังคมต่อไป
หน่วยงานที่สนใจการสแกนต้นไม้ด้วยรังสีแกมมา สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ โทร. 0-2218-6781Email: nutech.chula@gmail.com Facebook: https://m.facebook.com/NuclearChulaEngineering/
(Thai University Uses Gamma Rays to Inspect Large Trees)
นักวิจัย จุฬาฯ พัฒนา “ปะการังสู้โลกร้อน” เพื่อทางรอดระบบนิเวศทางทะเล
เปิดตัวตำราอาหาร “สุขภาพดี วิถีสำรับไทย” จับคู่เมนูเด็ด อร่อยคงเอกลักษณ์ ครบถ้วนโภชนาการ
จุฬาฯ แนะนำทุนสำหรับนิสิตปริญญาตรี สร้างโอกาสการศึกษาและคุณภาพชีวิต
AR จำลองกระเพาะของสัตว์เคี้ยวเอื้อง สื่อการสอนยุคดิจิทัลเพื่อนิสิตสัตวแพทย์
ปฏิวัติความหวานกับ Arto Sucrose-reduced Technology ลดน้ำตาลในผลไม้ได้ถึง 65% แถมเพิ่มพรีไบโอติก ตอบรับเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ
ศสอ. เดินหน้าภารกิจ End of Waste จุดจบ “ของเสียอันตราย” ตั้งแต่ครัวเรือน-โรงงาน
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้