รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
15 มิถุนายน 2564
ผู้เขียน ฐนิตา หวังวณิชพันธุ์
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ให้บริการคลินิกสุขภาพเพศ พื้นที่ปลอดภัยให้คำปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพสำหรับคนข้ามเพศโดยเฉพาะ พร้อมติงผู้ใช้ยาฮอร์โมนผิดวิธีอาจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
โลกสมัยใหม่เปิดเสรีและรับรองสิทธิของคนข้ามเพศมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ปมด้านสุขภาพของคนกลุ่มนี้ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ กลับไม่เป็นที่พูดถึงหรือเป็นเรื่องที่พูดคุยกันในวงจำกัด ความรู้สึกเป็น “คนอื่น” ในร่างกายตัวเองกลายเป็นเรื่องเฉพาะคนบางกลุ่มที่สนใจศึกษา หลายหัวข้อสนทนา อาทิ อัตลักษณ์ทางเพศโดยกำเนิดที่ไม่สอดคล้องกับเพศสภาพปัจจุบัน กายเป็นชายแต่ใจปรารถนาจะเป็นหญิง หรือสลับกัน ทำนองนี้ก็ล้วนถูกปัดให้เป็นปัญหาด้านอัตลักษณ์ส่วนบุคคล ไม่ใช่ประเด็นสาธารณะที่คนทั้งสังคมพึงใส่ใจ ศูนย์บริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพเฉพาะทางที่ได้รับการออกแบบและสร้างขึ้นเพื่อคนข้ามเพศโดยเฉพาะจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนในสังคมปัจจุบัน
จากโจทย์ข้างต้นทำให้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดตั้ง “คลินิกสุขภาพเพศ” โดยร่วมมือกับคณาจารย์จากสาขาเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้บริการสารพัดปัญหาสุขภาพแบบครบวงจรเพื่อย้ำความสำคัญของคนข้ามเพศในสังคมไทยปัจจุบัน นอกจากนั้น คลินิกสุขภาพเพศแห่งนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้เฉพาะทางให้แก่แพทย์ นักเรียนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่สนใจ อีกทั้งยังเป็นศูนย์วิจัยระดับนานาชาติด้านสุขภาพของคนข้ามเพศร่วมกับ Center of Excellence in Transgender Health (CETH) แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย
“การจัดตั้งคลินิกสุขภาพเพศ เกิดขึ้นเพื่อบริการทางการแพทย์ให้แก่คนข้ามเพศโดยเฉพาะซึ่งก่อนนี้ไม่มีคลินิกเฉพาะทางด้านนี้ คนไข้จะใช้ยาฮอร์โมนอย่างไม่มีมาตรฐาน ฉีดฮอร์โมนกันเอง ไม่ก็กินยาคุมกำเนิด กินยาฮอร์โมนตามเพื่อนซึ่งเป็นการใช้ยาที่ผิดวิธี บางรายไปใช้บริการคลินิกใต้ดินที่ไม่ได้รักษาโดยแพทย์เฉพาะทางยิ่งเสี่ยงอันตราย” รองศาสตราจารย์ นพ.กระเษียร ปัญญาคำเลิศ หัวหน้าสาขาเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และผู้ก่อตั้งคลินิกสุขภาพเพศ กล่าวถึงที่มาของคลินิกสุขภาพเพศที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานภายใต้การกำกับดูแลของคณาจารย์แพทย์ จุฬาฯ ที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ อาทิ คลินิกศัลยกรรมเพื่อการข้ามเพศ คลินิกบูรณาการสุขภาพวัยรุ่น
คนข้ามเพศมีความต้องการที่หลากหลายและแตกต่างกัน การให้คำปรึกษาของแพทย์จึงต้องเน้นให้บริการเป็นรายบุคคล
อาจารย์ นพ.ธนภพ บำเพ็ญเกียรติกุล อาจารย์พิเศษสาขาเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำคลินิกสุขภาพเพศ อธิบายว่า “การให้คำปรึกษาของแพทย์ขึ้นอยู่กับผู้รับบริการแต่ละคนว่าอยากปรับเปลี่ยนร่างกายของตนเองอย่างไร เพื่อให้เขารู้สึกดีกับร่างกายของตนเอง เราจะคอยให้ข้อมูลว่าสิ่งที่เขาอยากจะเป็น ทำอย่างไรจึงจะเป็นได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสมที่สุด”
สำหรับคนข้ามเพศบางคน การได้แสดงพฤติกรรมเป็นเพศที่ตนเองต้องการ เช่น การสวมเสื้อผ้า การใช้สรรพนาม การรัดหรือเสริมหน้าอก ก็สามารถทำให้ตนเองพอใจและมีความสุขโดยที่ไม่ต้องเข้ารับยาฮอร์โมนหรือผ่าตัดแปลงเพศ ในขณะบางคนพอใจแค่การได้รับยาฮอร์โมนโดยที่ไม่ต้องผ่าตัดแปลงเพศ หรือแม้แต่คนไข้ที่เข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ แต่ละคนก็พึงพอใจส่วนที่เข้ารับการผ่าตัดไม่เหมือนกัน
การใช้ยาฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศเป็นวิธีการรักษาที่คนข้ามเพศนิยมเพื่อเปลี่ยนสรีระให้มีลักษณะแบบเพศที่ตนต้องการ คนจำนวนมากใช้โดยไม่ปรึกษาแพทย์เนื่องจากไม่ตระหนักถึงอันตรายที่ตามมาโดยเฉพาะภัยจากยาคุมกำเนิด กล่าวคือ การใช้ยาฮอร์โมนในปริมาณมากเพื่อเร่งผล หรือใช้ผิดประเภทหรือผิดขนาดอาจส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด สาเหตุของการเสียชีวิตซึ่งพบมากในกลุ่มคนข้ามเพศ
อาจารย์ นพ.อัมรินทร์ สุวรรณ สาขาเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำคลินิกสุขภาพเพศ ให้ทัศนะต่อเรื่องนี้ว่า “ร่างกายของคนข้ามเพศแต่ละคนไม่เหมือนกัน ยาที่เหมาะสมกับแต่ละคนจึงต่างกัน บางคนเหมาะที่จะรับยากิน บางคนได้ยาทา หรืออาจได้ยาแบบเดียวกันแต่ต่างโดส ซึ่งแพทย์จะแนะนำได้ดีที่สุด”
สำคัญที่สุดคือ การใช้ยาฮอร์โมนไม่ใช่วิธีที่จะใช้ได้กับทุกคน บางรายไม่อาจใช้ยาฮอร์โมนได้เลย เช่น คนไข้ที่มีโรคมะเร็งเต้านม กล้ามเนื้อหัวใจตาย หลอดเลือดหัวใจตีบ คนไข้ที่มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ มีความเข้มข้นของเลือดมากเกินไป คนไข้ที่มีค่าตับหรือค่าไขมันผิดปกติ เป็นต้น
อาจารย์ นพ.ธนภพ กล่าวว่า “คนข้ามเพศมีความต้องการที่หลากหลาย อย่างผู้ชายข้ามเพศส่วนใหญ่ที่มาตัดมดลูกรังไข่ก็เพราะเขาอยากกำจัดสิ่งที่ไม่ใช่ของผู้ชายทิ้งให้หมด มันไม่ใช่ของเขา บางคนกลับไม่คิดมากกับเรื่องนี้ ปล่อยให้อยู่ในร่างกายของเขาต่อ หรือบางคนอยากตั้งท้องหรือมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด เขาก็ไม่ตัดมดลูก ช่องคลอดหรือรังไข่ออก ขณะที่มีชายข้ามเพศเพียง 3-4 เปอร์เซ็นต์ของชายข้ามเพศทั้งหมดทั่วโลกเท่านั้นที่ผ่าตัดเพื่อสร้างอวัยวะเพศชายใหม่ ความต้องการของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน”
คลินิกสุขภาพเพศมีบริการผ่าตัดแปลงเพศสำหรับชายและหญิงข้ามเพศ โดยทำงานร่วมกับคลินิกศัลยกรรมเพื่อการข้ามเพศ จำแนกรูปแบบการผ่าตัดเป็น 3 ประเภท ได้แก่
ประกอบด้วยการตัดหน้าอกและการเพิ่มขนาดของหน้าอก
ประกอบด้วยการตัดมดลูกและรังไข่ การสร้างอวัยวะเพศชายใหม่ การสร้างช่องคลอดใหม่และการตัดอัณฑะ
หมายถึงการเสริมสะโพก การเหลาลูกกระเดือก การเหลากราม การเปลี่ยนโครงหน้าให้เป็นหญิงหรือชาย
ผู้รับบริการจะได้รับการพิจารณาก่อนรับการผ่าตัดแต่ละชนิดอย่างละเอียดตามเกณฑ์มาตรฐานของประเทศไทย โดยเบื้องต้นต้องผ่านการวินิจฉัยและยืนยันจากจิตแพทย์ว่ามีความประสงค์ที่จะแปลงเพศจริง ไม่ใช่ความปรารถนาเพียงชั่วขณะ เนื่องจากการผ่าตัดจะทำได้ครั้งเดียว หากแปลงเพศแล้วไม่อาจแปลงกลับมาดังเดิมได้ การตัดสินใจที่ผิดพลาดอาจส่งผลกระทบต่อผู้รับบริการทั้งชีวิต หากใครไม่ผ่านการวินิจฉัยของจิตแพทย์ย่อมผ่าตัดไม่ได้ นี่คือข้อห้ามสำคัญของคลินิก นอกจากนี้อาจต้องผ่านการดำเนินชีวิตในวิถีของคนข้ามเพศมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี และสำหรับการผ่าตัดบางชนิดก็ควรได้รับยาฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศแล้วอย่างน้อย 1 ปี ส่วนใครที่แพ้ยาสลบ ไม่สามารถดมยาได้ รวมทั้งใครที่ร่างกายไม่อาจผ่าตัดได้ก็จะไม่ได้รับบริการการผ่าตัดเพื่อการข้ามเพศจากทางคลินิกเช่นกัน
การเข้ารับบริการเพื่อการข้ามเพศ ทุกคนจะต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยจิตแพทย์ก่อนเสมอ คนจำนวนมากมักเข้าใจผิดคิดว่าการพบจิตแพทย์นัยว่ามีความผิดปกติทางจิต ซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่ จิตแพทย์เพียงต้องการความมั่นใจว่าผู้เข้ารับบริการแน่วแน่ในเจตจำนงของตนโดยจะไม่เสียใจภายหลัง และไม่ใช่ความสับสนอย่างที่อาจเกิดขึ้นกับคนไข้จิตเภทที่มีอาการหลงคิดว่าตนอยากแปลงเพศ อยากเป็นคนข้ามเพศ มีปัญหาบุคลิกภาพหรือเป็นผู้ที่มีความสุขทางเพศจากการแต่งกายเป็นเพศตรงข้ามเท่านั้น
“คนที่อยากมีชีวิตอยู่กับเพศเดียวกัน ครองรักเป็นคู่ชีวิตก็ไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติอะไร และตำราแพทย์ปัจจุบัน คนที่ต้องการข้ามเพศก็กำลังจะไม่ถูกจัดเป็นกลุ่มสุขภาพจิต (Mental Health) แล้ว หากแต่อยู่ในกลุ่มสุขภาพเพศ (Sexual Health) เพราะการแพทย์เชื่อว่าคนกลุ่มนี้ไม่ใช่คนที่ผิดปกติทางจิต เพียงแต่ต้องการมีชีวิตอีกเพศเท่านั้นเอง” รศ.นพ.กระเษียร กล่าว
ไม่มีการระบุชัดว่าอายุที่เหมาะสมสำหรับการเปลี่ยนแปลงนั้นคือกี่ปี ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้รับบริการเป็นสำคัญ เนื่องจากบางคนต้องการข้ามเพศในวัยรุ่น อีกคนกลับต้องการหลังอายุ 40 ปีแล้ว เพียงผู้รับบริการที่มีอายุ 18-20 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อนเสมอ ตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมเรื่องเกณฑ์การรักษาเพื่อแปลงเพศ พ.ศ.2552 ซึ่งคลินิกสุขภาพเพศจะดูแลเฉพาะคนไข้วัยผู้ใหญ่เป็นหลัก
วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปี จะได้รับการรักษาโดยพิจารณาเป็นราย ๆ ไป ซึ่งคลินิกฯ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อและจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นจากคลินิกบูรณาการสุขภาพวัยรุ่นให้บริการโดยเฉพาะ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ผู้รับบริการมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม
สำหรับบริการอื่น ๆ คลินิกสุขภาพเพศยังมีบริการให้คำปรึกษาแก้ปัญหาสุขภาพทางเพศด้วย เช่น ปัญหาจากวัยหมดระดู ปัญหาช่องคลอดแห้ง โรคทางต่อมไร้ท่อเกี่ยวกับฮอร์โมนเพศ และผลพวงจากเพศสัมพันธ์ไม่ราบรื่น เช่น ขาดอารมณ์ทางเพศ อาการเจ็บจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยสามารถทำการนัดหมายเพื่อขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้
คลินิกสุขภาพเพศ เปิดบริการทุกวันจันทร์ เวลา 13.00-15.30 น. โทรนัดหมายติดต่อหมายเลข 0-2256-5286 และ 0-2256-5298 หรือติดตามเฟซบุ๊กเพจ “คลินิกสุขภาพเพศ รพ.จุฬาลงกรณ์” https://www.facebook.com/KCMHCMG/ เพื่อทราบรายละเอียดการรักษาหรือข้อมูลสุขภาพของคนข้ามเพศ
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
คีเฟอร์น้ำเกสรดอกกุหลาบ เครื่องดื่มสุขภาพต้านอนุมูลอิสระ ผลงานนิสิตจุฬาฯ คว้าเหรียญทองระดับโลก
The Skinov’e นวัตกรรมสกินแคร์จากเปลือกกล้วยหอมทองปทุม ผลงานวิจัยจุฬาฯ ที่ทำให้สิวเป็นเรื่องกล้วยๆ
น้ำยายืดอายุกระดาษ นวัตกรรมจุฬาฯ อนุรักษ์เอกสารและภาพศิลปะโบราณให้คงสภาพอีกนานนับทศวรรษ
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้