Highlights

นักวิจัยจุฬาฯ ชี้พนันออนไลน์ ภัยใกล้ตัวในช่วงโควิด 19


นักวิจัยจุฬาฯ เผยพนันออนไลน์พุ่งช่วงโควิด 19
เป็นห่วงเยาวชน
​​เตือนรัฐหาวิธีรับมือโดยเร็ว


ในยุคที่โควิด 19 แพร่ระบาดส่งผลกระทบถึงชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคน เศรษฐกิจตกต่ำ มีคนตกงานจำนวนมาก แต่จากตัวเลขการสำรวจผู้เล่นพนันออนไลน์ในปี พ.ศ. 2564 กลับมีจำนวนผู้เล่นเพิ่มขึ้นเท่าตัวอย่างน่าตกใจ รวมถึงวงเงินหมุนเวียนในการเล่นที่สูงถึงแสนล้านบาท

​รศ. ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์​ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมวิจัย ได้ศึกษาภาพรวมการเล่นพนันทุกประเภทในปี 2564​ และได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่พบเพิ่มขึ้นของการเล่นพนั​น​ออนไลน์ ​

รศ. ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์​
ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน
คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“สิ่งที่น่ากังวลของพนันออนไลน์คือมันเข้าถึงผู้คนง่าย​ ถ้าอยากจะเล่นพนันออนไลน์ จะเล่นเมื่อไหร่ก็เล่นได้ ยิ่งในช่วงโควิดที่ทุกคนอยู่กับบ้าน ทำงานที่บ้าน และออกไปทำกิจกรรมข้างนอกไม่ได้ พอมีเวลาว่างหรืออยากคลายเครียด ใช้เวลากับหน้าจอมือถือ จอคอมพิวเตอร์มากขึ้น และแทบทุกคนคงเคยเห็นป๊อปอัปโฆษณาชักชวนเล่นพนันออนไลน์เด้งขึ้นมา เราจะเจอการชี้ชวนไปเล่นตลอดเวลา​​​​ และมีโปรโมชั่นต่างๆมาจูงใจเราได้ตลอดเวลา​” รศ. ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์​ ชี้ให้เห็นถึงภัยที่น่ากลัวของพนันออนไลน์

จากบ่อนออฟไลน์สู่คาสิโนออนไลน์

รศ. ดร.นวลน้อย อธิบายว่า เมื่อพูดถึงพนันออนไลน์ จะขอเฉพาะเจาะจงถึงคาสิโนออนไลน์ เพราะมีการเปลี่ยนรูปแบบจากการเล่นที่บ่อน ที่ต้องเดินทางไปเจอหน้าเจอตา มีช่วงเวลาเล่น ไปสู่การเล่นออนไลน์ ที่มีทั้งการเล่นเสมือนจริงแบบไลฟ์สดจากคาสิโนและมีตัวแทนเล่น และการเล่นผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เช่น เกม Slot Machine จากการสำรวจในปีพ.ศ. 2562 และปีพ.ศ. 2564 ส่วนใหญ่รูปแบบการเล่นไม่ค่อยแตกต่างกันมาก เกมที่มีผู้เล่นมากที่สุดคือบาคาร่ากับป๊อกเด้ง รองลงมาคือพวก slot machine การเล่นส่วนใหญ่จะเหมือนเล่นในบ่อนการพนันทั่วไป จะแตกต่างก็ตรงที่พนันออนไลน์สามารถเล่นต่อเนื่อง เล่นได้ทุกที่ตลอดเวลา จนทำให้ติดพัน

ส่วนการเล่นพนันอย่างอื่น เช่น ทายผลพนันบอล หวยออนไลน์ มีให้เห็นอยู่แล้ว และการเล่นบางประเภทก็ทำออนไลน์กันมานานแล้ว ไม่จำเป็นต้องเจอหน้ากัน ลักษณะการเล่นเหมือนเดิม แค่มีช่องทางเพิ่มขึ้น ซึ่งจำนวนเกมกำหนดตายตัวตามการแข่งขัน และการออกรางวัล

พนันออนไลน์: ภัยน่ากลัวที่ระบาดไม่แพ้โควิด 19

รศ. ดร.นวลน้อย​ กล่าวว่า​ ปัญหาการเล่นพนันคาสิโนออนไลน์ที่เห็นชัดที่สุด และมีความรุนแรงมากขึ้น​ คือ จำนวนผู้เล่นเพิ่มมากขึ้น​ จากเดิมมีการสำรวจจำนวนผู้เล่นพนันคาสิโนออนไลน์ในปีพ.ศ. 2562 มีจำนวนผู้เล่นประมาณ 8 แสนกว่าคน แต่ในปีพ.ศ. 2564​  มีจำนวนผู้เล่นเพิ่มเป็นประมาณ 1.9 ล้านคน แสดงให้เห็นว่าในช่วงโควิดมีผู้เล่นเพิ่มขึ้นชัดเจนประมาณ 1.1 ล้านคน ซึ่งจากการสัมภาษณ์พบว่า ส่วนหนึ่งเป็นผู้เล่นกลุ่มใหม่ ​ อีกส่วนหนึ่งมาจากส่วนผู้เล่นที่เดิมเล่นออฟไลน์​แล้วโดนปิดช่วงโควิดจึงเปลี่ยนมาเล่นออนไลน์แทน

นอกจากนี้วงเงินหมุนเวียนในการเล่นก็มากขึ้นด้วย​ เดิมปีพ.ศ. 2562 มีการประมาณการวงเงินของการเล่นพนันคาสิโนออนไลน์อยู่ที่ 2 หมื่นล้าน พอรอบใหม่ในปีพ.ศ. 2564​ ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็นประมาณแสนล้าน​ แสดงให้เห็นว่านอกจากจำนวนผู้เล่นจะมากขึ้นแล้ว​ จำนวนความถี่ของการเล่นก็เพิ่มมากขึ้นด้วย

ส่องพฤติกรรมนักพนันออนไลน์

รศ. ดร.นวลน้อย​ เผยว่า จากการสอบถามผู้เล่นพนันคาสิโนออนไลน์​ถึงสาเหตุว่าทำไมถึงเล่นคาสิโนออนไลน์​ ​ประมาณ 90% ของผู้เล่นตอบว่า สะดวกง่าย เล่นได้ทุกที่ทุกเวลา รองลงมาคือรูปแบบการพนันที่หลากหลาย​ การโอนเงินฝากถอนเงินจากระบบได้อย่างรวดเร็ว​ เพื่อนชวน​ มีโปรโมชั่นจูงใจ ปกปิดเป็นความลับ และมั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกจับ ​ตามลำดับ

รศ. ดร.นวลน้อย​ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า​​ 99% ของผู้เล่น เล่นผ่านมือถือเป็นส่วนใหญ่ และเล่นผ่านอุปกรณ์พวกแท็ปเลต PC เป็นส่วนน้อย ซึ่งคนหนึ่งอาจจะเล่นหลายอุปกรณ์ ถ้าอยู่บ้านอาจจะเล่นผ่านแลปทอป PC​ แต่พอออกไปข้างนอกเล่นผ่านมือถือเพราะสะดวกง่าย ไปไหนก็เล่นได้ ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขของสำนักงานสถิติที่มีการสำรวจอยู่ทุกปีว่า ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่มีมือถือ แต่คนที่มีคอมพิวเตอร์หรือแลปทอปนั้นยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยกว่ามาก อย่างไรก็ตาม คนที่สนุกกับการเล่นคาสิโนออนไลน์มักจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่​่ช่วงอายุน่าจะน้อยกว่าคนที่จะเล่นในออฟไลน์ เพราะมีความคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีพวกนี้อยู่แล้ว

Big data หลุมพรางโปรโมชั่นชวนเล่นพนันออนไลน์

รศ. ดร.นวลน้อย​ กล่าวว่า​ การเล่นพนันออนไลน์จะส่งผลกระทบ​รุนแรงกว่าการเล่นออฟไลน์​ เพราะคนที่เล่นออฟไลน์ไม่มีใครมาจับพฤติกรรมของแต่ละคนมากเท่าไหร่ แต่เมื่อเข้าไปสู่การเล่นออนไลน์​ เขาสามารถรู้พฤติกรรมของผู้เล่นทุกคนได้เลย กลายเป็นข้อมูล​ Big data เพื่อนำมาใช้​ในการทำโปรโมชั่นจูงใจให้ผู้เล่นเล่นต่อและเล่นมากขึ้น​ สมมติว่าเราเคยเข้าไปเล่นแล้ว และไม่ได้เข้าไปเล่นอีก​ แต่ตราบใดที่เรายังเล่นเน็ต เราก็ยังจะถูกเชิญชวนตลอดเวลา​ เพื่อจูงใจให้กลับไปเล่นอีก

รศ. ดร.นวลน้อย​ ชี้ว่า จุดอ่อนที่สำคัญคือ​ การเข้าถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ​ที่​สะดวกสบาย สามารถเล่นออนไลน์​ ผ่านเว็บไซต์ มีทั้งเว็บในประเทศ​และในต่างประเทศ​​ ที่มีเจ้าของเป็นทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงมีหลากหลายรูปแบบ ทำให้ตามจับปราบปรามได้ยาก ทำได้แค่ตามบล็อก ซึ่งพอถูกบล็อกอันเดิม เขาก็ไปเปิดเว็บไซต์ใหม่ และยิ่งถ้าเป็นเว็บไซต์จดทะเบียนในต่างประเทศ ยิ่งตามได้ยาก

เฝ้าระวังพนันออนไลน์ ภัยใกล้ตัวช่วงเรียนออนไลน์

รศ. ดร.นวลน้อย​ ตั้งข้อสังเกตว่า ในตอนนี้ ปัญหาพนันคาสิโนออนไลน์ยังไม่ได้เอามาวิเคราะห์เชื่อมโยงกับส่วนต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางการจัดการที่เหมาะสม​ 

สิ่งที่ควรให้ความสนใจอันดับแรก คือ เด็กและเยาวชน อาจจะต้องมีการบล็อกไม่ให้สามารถเข้าถึงเว็บไซต์พนันเหล่านี้ ควรจะต้องมีโปรแกรมมาช่วยพ่อแม่ผู้ปกครอง​ คล้ายกับตอนที่มีปัญหาเรื่องเยาวชนติดเกม รวมไปถึงต้องพยายามสอนให้เขาคิดแบบมีเหตุมีผล​ โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นที่ชอบความท้าทาย อยากเอาชนะ ต้องทำให้เขารู้สึกว่า การที่เขาไปลองหรือชนะในเกมเหล่านั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่เท่หรือน่าภูมิใจอะไรเลย และยังมีสิ่งที่มีความสำคัญมากกว่า มีกิจกรรมอื่นๆ ที่เราสามารถชนะและภูมิใจได้อย่างยาวนานกว่านั้น 

รศ. ดร.นวลน้อย​ ชี้ว่า ปัญหาของเด็กไทยคือ เรามีพื้นที่หรือกิจกรรมให้เด็กไปสร้างสรรมากแค่ไหน ถ้ามีมาก ก็จะสามารถดึงเขาออกจากกิจกรรมประเภทเกม หรือการพนัน​ออกไปได้ ​เพราะเด็กหรือวัยรุ่นเป็นกลุ่มที่มีพลังมากที่สุด​ เขาต้องปลดปล่อยพลังของตัวเองออกมา ผู้ใหญ่จึงต้องพยายามหาเวที​ หรือกิจกรรมสร้างสรรค์อย่างอื่นให้เขาทำ 

แนวโน้มพนันออนไลน์หลังโควิด 19

รศ. ดร.นวลน้อย คาดการณ์ว่า สำหรับคนที่เคยเล่นแบบออฟไลน์อยู่แล้วมาเล่นออนไลน์ เพราะโควิดทำให้เล่นไม่ได้​ กลุ่มนี้จะมีบางส่วนที่จะเล่นต่อไป และบางส่วนที่กลับไปเล่นแบบเดิม เพราะว่า​คุ้นเคย​และมีสังคมคนเล่นพนันเข้ามาเกี่ยวข้อง​ด้วย​ พอเล่นออนไลน์แล้ว เหมือนเล่นอยู่ตัวคนเดียวที่หน้าจอ ส่วนคนที่ยังเล่นออนไลน์ต่อก็อาจจะเป็นเพราะตัวเองต้องทำงาน และเล่นในเวลาอื่นได้ ไม่ต้องเดินทาง​ แต่คนรุ่นใหม่ที่เริ่มเล่นพนันจากการเล่นออนไลน์ก็จะไม่ได้เลิก​ เนื่องจากตัวเองก็สนใจอยากที่จะเล่นอยู่แล้ว และยังไม่เคยมีประสบการณ์การเล่นในบ่อน ก็คงไม่ไป​ ก็ยังคงเล่นออนไลน์ต่อไป

รศ. ดร.นวลน้อย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จริงๆ การพนันออนไลน์นั้นเริ่มเติบโตมาสักพักแล้ว แต่คงจะกล่าวได้ว่า ช่วง โควิด 19 ที่ต้องมีระยะห่างทางสังคม การทำงานจากที่บ้าน และการเคร่งครัดของเจ้าหน้าที่ต่อการลักลอบเล่นพนันในบ่อนมีมากขึ้น เป็นต้นเหตุที่ทำให้ตัวเลขจำนวนผู้เล่นคาสิโนออนไลน์โตแบบก้าวกระโดด ดังจะเห็นได้จากตัวเลขการสำรวจในปี พ.ศ. 2564 ที่เพิ่มขึ้นถึง 135% จากข้อมูลการสำรวจในปี พ.ศ. 2562 นอกจากนี้ เทรนด์ในรอบประมาณ 5-10 ปีที่ผ่านมา ในตลาดการพนันทั่วโลกมีการพูดถึงการเติบโตของการพนันออนไลน์ที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผนวกกับมีสถานการณ์โควิด 19 จึงเป็นตัวเร่งให้เติบโต ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารการวิเคราะห์ในต่างประเทศที่พบปัญหาแบบเดียวกันว่าอัตราการเติบโตของการพนันออนไลน์ยิ่งพุ่งสูงขึ้นอย่างมากมาย แต่ถ้าไปเทียบกับออฟไลน์ก็ยังมีสัดส่วนน้อยกว่ากัน เพราะออนไลน์เพิ่งเติบโตมากในช่วง 10 ปีนี้เอง

ถึงเวลายกเครื่อง “กฎหมายการพนัน” อย่างจริงจัง

รศ. ดร.นวลน้อย​ แนะว่า รัฐควรมีการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง​ และต้องคิดในบริบทใหม่ เพราะเศรษฐกิจสังคมมันเปลี่ยนไปเยอะ ต้องมีแนวทางการป้องกันอันตรายที่จะตามมาจากการพนันที่ชัดเจน เพราะปัญหาการพนันมีสารพัดรูปแบบ 

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายหรือบทลงโทษสำหรับการเล่นพนันออนไลน์โดยเฉพาะ มีเพียงกฎหมายที่เกี่ยวกับการพนันที่​ออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.​ 2478 ที่ถึงแม้ว่าจะมีการปรับปรุง​ แต่ก็ยังล้าสมัย และไม่ชัดเจนในเรื่องการ​จัดการ​ บทลงโทษก็อ่อน​ ​ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องในเชิงนโยบายควรมีการคุยกันเรื่องนี้มากขึ้น กำหนดมาตรการหรือวิธีการจัดการให้ชัดเจน​ ครอบคลุม และทันท่วงที ยกตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้การปราบปราม หรือบล็อกเว็บไซต์พนันออนไลน์นั้น​ ไม่สามารถทำได้ทันที ต้องมีคำสั่งศาล ทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ 

รศ. ดร.นวลน้อย​ กล่าวเสริมว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาที่เผชิญกันทั่วโลก ในบางประเทศจะมีการนำกฎหมายทางการเงินเข้ามาพิจารณาด้วย เพราะเมื่อเล่นเสร็จแล้วก็ต้องมีการโอนเงินกัน​ ซึ่งตรงนี้สามารถเอาผิดกันได้​ หรือถ้าในประเทศที่การพนันออนไลน์ถูกกฎหมายก็จะนำไปพิจารณาเรื่องการเก็บภาษี ในกรณีของไทย ถึงแม้ว่าจะมีการเล่นผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์และมีการโอนเงิน​​ แต่น่าจะมีการเปิดบัญชีในไทย หรือไม่ก็อาจจะเป็นการจ่ายเงินรูปแบบอื่นผ่านการซื้อสินค้าหรือมีอะไรที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นก็ต้องตามดูกันต่อไป

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า