Highlights

“กล่องรอดตาย” คลายวิตกผู้ป่วยโควิด-19 ระหว่างรอเตียง


วิศวฯ จุฬาฯ ออกไอเดียรับมือวิกฤตเตียงขาด ผู้ป่วยล้น ด้วยการมอบ “กล่องรอดตาย” ตัวช่วยผู้ป่วยโควิด-19 ระหว่างรอเตียง พร้อมอุปกรณ์สำคัญและแนวทางการดูแลตนเองที่บ้าน รวมถึงช่องทางการสื่อสารเพื่อติดตามอาการกับเจ้าหน้าที่ ปลดล็อกความกังวล เพื่อผู้ป่วยและสังคมรอดไปด้วยกัน


ขณะที่สถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยยังคงแพร่กระจายในวงกว้างมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยอดผู้ติดเชื้อทั่วประเทศก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ วันละกว่าหมื่นราย จำนวนเตียงที่มีทุกโรงพยาบาลรวมกันก็ยังไม่พอรองรับคลื่นผู้ป่วยที่ล้นออกมานอกโรงพยาบาล ดังปรากฏในภาพข่าว “ผู้ป่วยรอเตียง” นอนเรียงรายภายนอกอาคารโรงพยาบาลบ้าง ตามบริเวณลานจอดรถบ้าง และอีกมากที่ต้องรอเตียงอยู่ในที่พักอาศัยของตน ซึ่งแน่นอนย่อมเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อสู่สมาชิกในครอบครัวและเสียชีวิตในที่สุด

จากโจทย์ข้างต้น คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) จึงได้ร่วมกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค และภาคเอกชนผู้คอยสนับสนุนอย่างบริษัท เอนจินไลฟ์ จำกัด และ The Sharpener ออกไอเดียสร้างสรรค์ “กล่องรอดตาย” เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ระหว่างรอเตียง

ทำไมต้อง “กล่องรอดตาย”

“เหตุการณ์นี้เป็นภาวะวิกฤต ระหว่างที่ผู้ติดเชื้อรอเตียงอยู่ เขาจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือและเข้าสู่ระบบการดูแลและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด โดยกล่องรอดตายเป็นกล่องสำหรับดูแลตนเอง ไม่ให้อาการทรุดลงกว่าเดิม” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ ประธานหลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงที่มาของกล่องรอดตาย พร้อมเผยอีกว่าการตั้งชื่อ “กล่องรอดตาย” แบบตรงไปตรงมาก็เพื่อหวังให้กระทบใจคนทั่วไป ซึ่งทั้งประชาชนและสื่อมวลชนต่างให้ความสนใจและพร้อมสนับสนุนโครงการ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ ประธานหลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ ประธานหลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

กล่องรอดตายจะถูกส่งให้แก่ผู้ได้รับผลตรวจเป็นบวกจากการตรวจเชิงรุกของ สปคม. ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญในการผลักดันผู้ป่วยเข้าสู่ระบบเพื่อง่ายต่อการติดตามอาการ แต่ปัจจุบัน ผู้ป่วยยังจำกัดเฉพาะรายที่ตรวจโดย สปคม.เท่านั้น เบื้องต้น จุฬาฯ ได้ส่งกล่องรอดตายต้นแบบชุดแรกให้แก่ สปคม.แล้วจำนวน 100 กล่อง (7 กรกฎาคม 2564) และตั้งเป้าไว้ที่จำนวนอย่างน้อย 10,000 กล่อง กระจายให้ทั่วถึงผู้ป่วยรอเตียงให้ได้มากที่สุด 

มีอะไรในกล่องรอดตาย

กล่องรอดตาย 1 ชุด บรรจุอุปกรณ์จำเป็นในการดูแลตนเองระหว่างรอเตียงซึ่งเพียงพอสำหรับ 14 วัน หรือจนกว่าผู้ป่วยอาการไม่หนักจะหายดีหรือไม่ก็หาเตียงได้ อุปกรณ์เหล่านี้อ้างอิงจากกรมควบคุมโรค ได้แก่

  • ปรอทวัดไข้ 1 แท่ง
  • เครื่องตรวจวัดออกซิเจนปลายนิ้ว 1 เครื่อง
  • ยาพาราเซทตามอล 500 มก. 50 เม็ด  
  • ยาฟ้าทะลายโจร ชนิดแคปซูล 90 แคปซูล
  • เจลแอลกอฮอล์ ปริมาณไม่เกิน 100 มล.
  • หน้ากากอนามัย 15 ชิ้น
กล่องรอดตาย

“ผู้ป่วยรอเตียงหรือญาติที่เห็นรายการข้างต้นอาจใช้เป็นแนวทางจัดหาอุปกรณ์ดูแลตนเองและคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดเพื่อลดความเสี่ยงต่อการป่วยหนักและเสียชีวิต” ผศ.ดร.จุฑามาศ กล่าว 

การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการไม่หนักนั้น สิ่งที่จำเป็นมากที่สุดคือการติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ โดยปกติผู้ป่วยจะต้องวัดอุณหภูมิและค่าออกซิเจนทุกวันๆ ละ 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น เพื่อรายงานแพทย์ให้ประเมินอาการซึ่งแพทย์ก็จะคอยแนะนำการรับประทานยาหรือให้ส่งตัวไปโรงพยาบาล

นอกจากนี้ บริเวณด้านหน้ากล่องยังมี QR Code ติดไว้ให้ผู้ป่วย “สแกนมาเราพารอด”สื่อสารผ่าน Line Official ซึ่งเจ้าหน้าที่ สปคม.และกลุ่มอาสาสมัคร จะคอยแนะนำให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และซักถามติดตามอาการ

“พากันรอด” อย่างไร

“เราจะอยู่กับคุณจนกว่าจะหาย หรือจนกว่าจะได้เตียง”

กล่องรอดตายนับเป็นไอเดียต้นแบบที่ ผศ.ดร.จุฑามาศ หวังให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนนำไปประยุกต์ใช้

“ยังมีผู้ป่วยรอเตียงอีกจำนวนมาก ที่ไม่ได้อยู่ในระบบของ สปคม. หากผู้ป่วยหรือญาติได้ทราบแนวทางการจัดหาอุปกรณ์จำเป็นเหล่านี้มาใช้เพื่อคอยสังเกตอาการ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการป่วยหนักและเสียชีวิตได้” ผศ.ดร.จุฑามาศ กล่าวผู้สนใจบริจาคเพื่อสมทบทุนช่วยเหลือผู้ป่วยที่กำลังรอเตียงผ่านโครงการกล่องรอดตายสามารถบริจาคยาและเวชภัณฑ์ตามรายการข้างต้นได้ที่สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) ทุกวัน ระหว่างเวลา 9.00 – 17.00 น.

กล่องรอดตาย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 09-6991-6363 หรือ 09-3698-9336

ติดตามความเคลื่อนไหวของ “กล่องรอดตาย” ได้ที่ Facebook: Chula Alumni, EngineLife และ The Sharpener

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า