Highlights

ชุดตรวจโรคฉี่หนู รู้ผลไว ลดเสี่ยงตาย


แพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดตัวชุดแถบตรวจโรคฉี่หนูแบบรวดเร็ว ราคาประหยัด ใช้งานง่าย ลดปัญหาผลตรวจล่าช้า เสี่ยงพิการจากอวัยวะภายในล้มเหลวและอาจถึงแก่ชีวิต หวังกระจายสู่โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ


โรคฉี่หนูเป็นภัยที่มาพร้อมกับฤดูฝน อาการในระยะแรกไม่จำเพาะ อาจคล้ายคลึงกับโรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ ทำให้ผู้ติดเชื้อพลาดโอกาสได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อีกทั้งการวินิจฉัยโรคโดยทั่วไปใช้เวลานานราว 1-2 สัปดาห์ หรือใช้เครื่องมือราคาแพง ทำให้ผู้ติดเชื้อโรคฉี่หนูไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมได้อย่างทันท่วงที อาจทำให้อาการรุนแรง เสี่ยงต่อภาวะอวัยวะภายในล้มเหลว และเสียชีวิตได้

คณะผู้วิจัยนำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พญ.กนิษฐา ภัทรกุล ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้พัฒนานวัตกรรมชุดแถบตรวจโรคแบบแลทเทอรรัลโฟลว์ (lateral flow strip test) สำหรับตรวจคัดกรองโรคฉี่หนู ให้ใช้ง่าย รู้ผลไว เพื่อช่วยผู้ป่วยให้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องพ้นจากอันตรายถึงชีวิต

โรคฉี่หนู ภัยร้ายที่มาจากน้ำและสัตว์ใกล้ตัว

รองศาสตราจารย์ ดร.พญ.กนิษฐา ภัทรกุล ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “โรคฉี่หนูถือเป็นภัยร้ายในฤดูฝน คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าโรคฉี่หนู หรือ เลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) มี ‘หนู’ เป็นพาหะเท่านั้นและพบได้เฉพาะในท้องนาหรือพื้นที่น้ำท่วม ที่จริง โรคนี้เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีขนาดเล็กมาก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ชื่อ ‘เลปโตสไปรา’ (Leptospira) ที่อยู่ในไตของสัตว์รังโรคซึ่งมีหลากหลายชนิด เช่น หนู สุกร แพะ แกะ โค กระบือ สุนัข และแมว สัตว์เหล่านี้อาจแสดงหรือไม่แสดงอาการป่วย แต่ปล่อยเชื้อนี้ออกมาในปัสสาวะและเกิดการปนเปื้อนน้ำและดิน เชื้ออาจมีชีวิตนานนับเดือนในพื้นที่ชื้นแฉะหรือมีน้ำท่วมขัง เช่น แอ่งน้ำ ร่องน้ำ น้ำตก แม่น้ำ ลำคลอง”

รองศาสตราจารย์ ดร.พญ.กนิษฐา ภัทรกุล ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คำแนะนำในการป้องกันการติดเชื้อ รศ.ดร.กนิษฐา ชี้ว่าเราควรเริ่มที่การรักษาความสะอาดที่พักอาศัยอยู่เสมอและหลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าย่ำหรือแช่เท้าในบริเวณน้ำขัง เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียอาจไชเข้าสู่ร่างกายผ่านผิวหนังที่เปื่อยยุ่ยจากการแช่น้ำนานๆ รอยบาดแผล แม้แต่รอยถลอกบนผิว หากเลี่ยงไม่ได้หรือต้องทำงานในแหล่งน้ำขังก็ต้องสวมชุดปิดมิดชิดป้องกันบริเวณที่สัมผัส เช่น สวมรองเท้าหุ้มข้อ และถ้าจำเป็นต้องสัมผัสกับสัตว์ดังกล่าวก็ต้องใช้อุปกรณ์ป้องกัน เช่น ใส่ถุงมือ นอกจากนี้ เชื้อก่อโรคฉี่หนูยังมีโอกาสเข้าสู่ร่างกายคนผ่านเยื่อบุตาหรือปาก หากสัมผัสน้ำที่ปนเปื้อน เช่น การว่ายน้ำ หรือดื่มน้ำ เพราะฉะนั้นจึงต้องระมัดระวังและให้ความสำคัญด้านสุขอนามัย

อาการป่วยและแนวทางการรักษาโรคฉี่หนู

อาการของผู้ติดเชื้อ ส่วนใหญ่จะเริ่มแสดงให้เห็นภายใน 1-2 สัปดาห์ หลังรับเชื้อ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้

ระยะแรกหรือระยะเฉียบพลัน ในช่วงสัปดาห์แรกหลังรับเชื้อ เชื้ออยู่ในกระเสเลือด ผู้ป่วยมีอาการไม่จำเพาะ เช่น ไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน และมีผื่นขึ้น อาการป่วยระยะนี้รักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ

ระยะที่สอง เชื้อแพร่กระจายไปตามอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดภาวะอักเสบของร่างกายได้หลายระบบ เช่น ไตอักเสบจนเกิดไตวายเฉียบพลัน ตับอักเสบ เกิดตัวเหลืองตาเหลือง ปอดอักเสบมีเลือดออกในปอด ไอเป็นเลือด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ตาอักเสบ ซึ่งอาจทำให้อวัยวะภายในล้มเหลวและทุพพลภาพ ซึ่งอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ การรักษาระยะนี้ หากมีอาการรุนแรงแพทย์จะใช้ยาปฏิชีวนะแบบฉีดทางหลอดเลือดดำควบคู่กับการรักษาตามอาการกรณีมีภาวะแทรกซ้อนในอวัยวะภายใน เช่น ล้างไตหากไตวาย ใช้เครื่องช่วยหายใจหากมีภาวะหายใจล้มเหลว กรณีมีอาการรุนแรงอาจเสียชีวิตได้สูงถึง 25-40%

อาการและการป้องกันโรคฉี่หนู

การตรวจวินิจฉัยโรคฉี่หนู “ยิ่งเร็ว ยิ่งรอด”  

ปัจจุบันวิธีมาตรฐานในการวินิจฉัยโรคฉี่หนูต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในห้องปฏิบัติการอ้างอิงเท่านั้น โดยตรวจหาแอนติบอดีของเชื้อในเลือด ซึ่งแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงราว 1,200–1,500 บาทต่อตัวอย่าง และกว่าจะรู้ผลใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ นอกจากนี้ การตรวจแบบรวดเร็วอื่นๆ เช่น ชุดแถบตรวจที่มีจำหน่ายในปัจจุบันเป็นการตรวจหาแอนติบอดี แต่ในระยะแรกร่างกายยังไม่สร้างแอนติบอดี จึงมักให้ผลลบ การตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อก็ต้องอาศัยน้ำยาและเครื่องมือราคาแพง ดังนั้น ผู้ป่วยจึงอาจไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง ทำให้เสียโอกาสในการรักษาตั้งแต่เริ่มแรก

“การรู้ว่าติดเชื้อตั้งแต่ระยะแรกจึงดีที่สุด”  รศ.ดร.พญ.กนิษฐา กล่าวถึงความสำคัญของนวัตกรรมชุดแถบตรวจโรคฉี่หนู (lateral flow strip test for leptospirosis) เป็นการตรวจหาแอนติเจนของเชื้อเลปโตสไปราในเลือด จึงสามารถตรวจหาเชื้อได้ตั้งแต่ในระยะแรกของโรค ชุดแถบตรวจฯได้ร่วมพัฒนากับคณะนักวิจัย ได้แก่ ผศ.ดร.นพ.อมรพันธุ์  เสรีมาศพันธุ์ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ รวมทั้ง ศ.ดร.ธนาภัทร ปาลกะ ภาควิชาจุลชีววิทยา และ ผศ.ดร.โรจน์ฤทธิ์ โรจนธเนศ ภาควิชาเคมี ทั้งสองท่านจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ตลอดจน ศ.ดร.พญ.ธารารัชต์ ธารากุล จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ชุดแถบตรวจโรคฉี่หนู “ง่ายได้ผลเร็ว”

รูปลักษณ์ของชุดแถบตรวจโรคฉี่หนูเป็นแท่งคล้ายที่ตรวจครรภ์ โดยมีจุดเด่น คือ ใช้งานง่าย ภายใน 15-20 นาทีก็รู้ผล ราคาชุดละไม่เกิน 200 บาท และอ่านผลตรวจได้ด้วยตาเปล่าซึ่งช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ตั้งแต่ระยะเฉียบพลันได้อย่างรวดเร็ว

“ชุดแถบตรวจฯ จะรายงานผลด้วยสีที่เป็นอนุภาคทองคำระดับนาโนเมตร หากติดเชื้อ แถบตรวจจะปรากฏสีม่วงหรือสีแดงสองเส้นบนเส้นทดสอบ (T) และเส้นควบคุม (C) หากไม่ติดเชื้อ แถบตรวจจะปรากฏเพียงเส้นเดียวบนเส้นควบคุม (C)” รศ.ดร.กนิษฐา กล่าว และย้ำการใช้ชุดแถบตรวจโรคฉี่หนูต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ โดยนำไปใช้วินิจฉัยร่วมกับประวัติการป่วย ผลการตรวจร่างกาย ผลตรวจห้องปฏิบัติการอื่นๆ และความเสี่ยง เช่น อาชีพ สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย และประวัติการสัมผัสแหล่งน้ำขัง

ชุดแถบตรวจโรคฉี่หนู (lateral flow strip test for leptospirosis)

ชุดแถบตรวจโรคฉี่หนู ความหวังของโรงพยาบาลชุมชน

นวัตกรรมชุดแถบตรวจฯ ได้รับทุนสนับสนุนจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และส่วนหนึ่งของทุนนักวิจัยแกนนำประจำปี 2556 จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีระดับ 5 และได้ยื่นขออนุสิทธิบัตรแล้ว

ปัจจุบัน คณะผู้วิจัยและเครือข่ายอยู่ระหว่างการขอรับทุนสนับสนุนการกระจายชุดแถบตรวจฯ ไปใช้จริงตามโรงพยาบาลจังหวัดและโรงพยาบาลชุมชน

“ชุดแถบตรวจโรคนี้ได้ผ่านการทดสอบความแม่นยำในการคัดกรองโรคเบื้องต้นในระดับห้องปฏิบัติการแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบความไวและความจำเพาะในภาคสนาม โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลชุมชนในเครือข่าย” รศ.ดร.กนิษฐา กล่าวและเสริมท้ายว่า “ทีมผู้วิจัยหวังว่านวัตกรรมนี้จะช่วยยกระดับศักยภาพโรงพยาบาลในต่างจังหวัด โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชน ให้มีความพร้อมในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยและรักษาได้เอง เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ทันท่วงที”

โรงพยาบาลชุมชนหรือผู้ประกอบการด้านอุปกรณ์การแพทย์ที่สนใจร่วมพัฒนาชุดแถบตรวจโรคฉี่หนู โปรดติดต่อสอบถามได้ทางอีเมล Kanitha.pa@chula.ac.th หรือ Kpatarakul@gmail.com หรือ ที่ศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ ชั้น 2 อาคารอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 0-2649-4000 ต่อ 3686 และ 08-0272-7745

อีเมล: cmic.chula@gmail.com 
LineID: cmicmdu
เว็บไซต์:  https://cmic.md.chula.ac.th

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า