Highlights

เผยเคล็ดลับปั้น “นวัตกรรุ่นเยาว์” บทพิสูจน์หลังคว้า “9 รางวัลนวัตกรรมระดับโลก”


แจ้งเกิดนวัตกรสาธิตจุฬาฯ คว้า 6 เหรียญทอง และ 3 เหรียญเงิน จากงานประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ณ สาธารณรัฐโปแลนด์ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บทพิสูจน์ทิศทางการพัฒนาคนแห่งอนาคต


เด็กเป็นนวัตกรโดยธรรมชาติ หากได้รับการปลูกฝังอุปนิสัยและส่งเสริมความคิดเชิงนวัตกรรม พวกเขาจะเปล่งศักยภาพสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เปลี่ยนโลกได้ ดังที่นักเรียนระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำให้ประเทศไทยภาคภูมิใจมาแล้วจากการคว้ารางวัล 6 เหรียญทอง และ 3 เหรียญเงิน จากงานประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ E-NNOVATE 2021 International Innovation Show ณ สาธารณรัฐโปแลนด์ ที่จะแข่งแบบออนไลน์เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ชิ้นงานแห่งความสำเร็จที่ทำให้หลายคนต้องทึ่ง อาทิ ปากกาต่อต้านโรคระบาด ระบบห้องน้ำอัจฉริยะระเบิดความสนุกสำหรับชีวิตวิถีใหม่ ชุดหมอนลดการนอนกรนเพื่อปรับสมดุลให้การนอนหลับมีคุณภาพและปลอดภัยที่สุด ชุดอุปกรณ์ช่วยออกกำลังกายในผู้ป่วยติดเตียง ชุดฝึกสมองและกระตุ้นพัฒนากล้ามเนื้อมือสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและเด็กออทิสติก ฯลฯ
(ดูเพิ่มเติมที่ https://www.chula.ac.th/news/48422/ )

กว่า 7 ปี นับตั้งแต่การก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถมศึกษา นักเรียนรุ่นแล้วรุ่นเล่าได้นำเสนอนวัตกรรมเข้าแข่งขันในเวทีระดับโลกหลายประเทศและได้รับรางวัลกลับมาทุกปี โดยเฉพาะปีนี้นับเป็นปีที่ส่งผลงานของนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันมากที่สุด ทั้งๆ ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์

“แต่ปัญหานี่เองคือโอกาส นักเรียนมีเวลาในการบ่มความคิดและพัฒนานวัตกรรมซึ่งหลายชิ้นก็ตอบโจทย์ความท้าทายของโลกในปัจจุบัน” อาจารย์จีระศักดิ์ จิตรโรจนรักษ์ ประธานศูนย์นวัตกรรมแห่งโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถมศึกษา ผู้เป็นลมใต้ปีกนวัตกรรุ่นเยาว์ทั้งหลายเผยเคล็ดลับการสร้างนวัตกร ที่ครูและผู้ปกครองสามารถนำไปใช้ดูแลเด็กๆ และนักเรียนของตนเองได้

โรงเรียนสาธิตแห่งศตวรรษที่ 21

อาจารย์จีระศักดิ์เล่าถึงที่มาของการตั้งศูนย์นวัตกรรมขึ้นในโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ว่า “เพื่อเตรียมนักเรียนให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็นความรู้และทักษะใหม่ๆ หรือวิชาชีพที่ไม่เคยมีมาก่อน รวมทั้งส่งเสริมทัศนะเชิงบวกต่อโลกและชีวิต ความคิดอ่านก้าวหน้าที่มองหาทางออกเป็นนิสัยและความเป็นไปได้อยู่เสมอ”

หัวใจสำคัญของการปั้นนวัตกรคือความเชื่อมั่นในศักยภาพของนักเรียนและครู และตระหนักถึงความ ต่างระหว่างนักเรียนแต่ละคน โดยศูนย์ฯ มีหน้าที่เสริมส่งความฝันของนักเรียนให้เป็นรูปธรรม ซึ่งรางวัลครั้งนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าศูนย์ฯ และโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ มาถูกทางแล้ว

“นวัตกรรมที่ได้รับรางวัลเป็นผลจากการปฏิรูปวิธีการเรียนรู้ โดยครูจะปล่อยให้นักเรียนเป็นคนเริ่ม ‘คิด’ กำหนดโจทย์เอง ครูเพียงคอย ‘ร่วมมือ’ ฟังการ ‘แก้’ โจทย์และแนะนักเรียนหาวิธีแก้โจทย์เองตามแต่จินตนาการของแต่ละคนซึ่งครูจะย้ำเสมอให้นักเรียนค้นหาวิธีการแก้โจทย์มากกว่าหนึ่งวิธีเสมอ ที่เหลือคือการ ‘สร้าง’ ชุดความรู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขั้นตอนนี้ใช้เวลาค่อนข้างนานเพราะต้องสำรวจ รวบรวมข้อมูลที่มีเดิมมาวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียกับวิธีที่ตัวเองพบโดยระวังการละเมิดลิขสิทธิ์คนอื่น” อาจารย์จีระศักดิ์ กล่าวถึงกุญแจสำคัญแห่งความสำเร็จ

กระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียนใหม่จะเป็นไปตามขั้นตอน “คิด-ร่วมมือ-แก้-สร้าง” โดยพ่อแม่ผู้ปกครองและครูบาอาจารย์คอยทำหน้าที่สนับสนุนทรัพยากรแวดล้อม เช่น การประสานองค์กรเครือข่ายที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับนวัตกรรมที่นักเรียนกำลังศึกษา ดังที่ศูนย์ฯ เคยประสานไปยังคณะวิศวกรรมฯ จุฬาฯ เพื่อพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมของนักเรียน

อาจารย์จีระศักดิ์ จิตรโรจนรักษ์

3 เทคนิคปั้นนวัตกรแห่งศตวรรษที่ 21

เชื่อ — พ่อแม่ผู้ปกครองและครูต้อง “เชื่อ” ศักยภาพในตัวเด็กแม้ยังไม่เห็นวี่แววแห่งความสำเร็จก็ตาม โดยจำเป็นต้องอำนวยพื้นที่อิสระทางความคิดและเคารพการตัดสินใจของนักเรียน ยอมให้เด็กกล้าเริ่มต้นวิเคราะห์ปัญหาในแบบของตน และทดลองแก้โจทย์ด้วยตัวเอง เทคนิคนี้จะบ่มเพาะเด็ก ๆ ให้เริ่มมีนิสัยของนักวิเคราะห์ตั้งแต่ยังเยาว์

สนับสนุน — เปลี่ยนการสั่งและพร่ำสอนเป็นการหนุนเสริมโดยไม่ปล่อยนักเรียนต่อสู้ตามลำพัง เนื่องจากการคิดค้นนวัตกรรมต้องทำงานเป็นหมู่คณะ ครูและผู้ปกครอง ทุกคนล้วนเป็นสมาชิกใน “ทีม” ที่จะต้องร่วมกันสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” สำหรับการลองผิดลองถูกจนกว่าภารกิจจะสำเร็จลุล่วง

ผลักดัน — หลายเรื่องที่นักเรียนสนใจแต่ผู้ปกครองและครูไม่ถนัด ก็ต้องออกไปหา เครือข่ายผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ซึ่งนับเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยกว่าเรื่องอื่นๆ หากนักเรียนได้รับแรงผลักดันจากมืออาชีพในเรื่องที่ตนกำลังศึกษา นวัตกรรมของเด็กก็จะยิ่งมีความเป็นไปได้ มีประสิทธิภาพ คุณภาพ และความสลับซับซ้อนของกลไกการทำงานเทียบชั้นมาตรฐานมืออาชีพเลยทีเดียว

เตรียมขยายผล ให้คำปรึกษาฟรี

จากความสำเร็จที่เกิดขึ้น ศูนย์นวัตกรรมพร้อมขยายแนวคิดและเพิ่มเพื่อนร่วมทางในการพัฒนาคนคุณภาพเพื่ออนาคตของชาติ

“ศูนย์ได้เตรียมให้ความช่วยเหลือแก่โรงเรียนที่สนใจปฏิรูปการเรียนรู้ตามแนวทางเดียวกัน ผู้สนใจติดต่อมายังศูนย์นวัตกรรมโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ได้ เรายินดีให้คำปรึกษาหรือประสานความช่วยเหลืออื่นๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ” อ.จีระศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

ติดต่อศูนย์นวัตกรรม โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่
FaceBook : Satit Chula Innovation Hub หรือ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม
โทรศัพท์ : 02-2182746 , 084-639-6363 (อ.จีระศักดิ์ จิตรโรจนรักษ์)
Facebook: https://web.facebook.com/SatitChula/
E-mail : satite@chula.ac.th
Line@ : SATITCHULAELEM
Youtube Channel : SATITCHULAELEM

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า