รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
11 สิงหาคม 2564
ผู้เขียน เมธาพร ไตรกิจวัฒนกุล
อาจารย์และนิสิตภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ พัฒนาเครื่องมือตรวจเชื้อโควิด-19 จากกลิ่นสารเคมี ที่จำเพาะของแบคทีเรียที่อยู่ในเหงื่อได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ใช้ง่าย เก็บตัวอย่าง 15 นาที รู้ผลใน 30 วินาที เริ่มทดลองตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อตามชุมชนแล้ว
จากความสำเร็จของ “สุนัขดมโควิด-19” โครงการความร่วมมือระหว่างคณะสัตวแพทยศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัทเชฟรอนประเทศไทย สํารวจและผลิต จํากัด ที่ใช้สุนัขดมกลิ่นตรวจเหงื่อเพื่อคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการในชุมชน วันนี้ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เผยนวัตกรรมล่าสุด “เครื่องมือตรวจกลิ่นเหงื่อผู้ติดเชื้อโควิดแบบพกพา” (Portable sweat test for COVID detection) หวังเสริมทัพสุนัขดมกลิ่นในการเร่งตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
“ที่ผ่านมา เราได้ร่วมงานกับ “รถดมไว” ลงพื้นที่ตรวจเชื้อโควิด-19 ในชุมชนที่มีผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เราจึงลองนำตัวอย่างการคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากสุนัขดมกลิ่นมาตรวจดูว่า จริงๆ แล้วสารที่น้องหมาแยกแยะได้ว่าผู้ใดติดเชื้อนั้นคือสารหรือกลิ่นอะไร” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชฎิล กุลสิงห์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงที่มาของการพัฒนานวัตกรรม
“จากการศึกษาสารตัวอย่าง เราพบว่าผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 จะมีสารเคมีบางชนิดที่ชัดเจนมากและแปลกไปจากสารอื่นๆ เราจึงนำข้อค้นพบนี้มาพัฒนาเป็นเครื่องมือตรวจกลิ่น ที่น่าจะมาจากสารอะโรมาติกที่ผลิตจากแบคทีเรียบางชนิดในเหงื่อของผู้ติดเชื้อโควิด ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการตรวจเชื้อโควิด-19 จากสารเคมีเหล่านี้”
กลิ่นเหงื่อในคนอาจมีได้มากกว่า 100 กลิ่น แต่ละคนมีกลิ่นจำเพาะที่ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นที่มาจากแป้ง โรลออน และกลิ่นของแบคทีเรียที่กินอาหารในเหงื่อหรือสารคัดหลั่งใต้ผิวหนัง แบคทีเรียเหล่านี้จะขับสารออกมาเป็นกลิ่นที่ปนมากับเหงื่อ
“สำหรับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 แบคทีเรียจะตอบสนองต่อเชื้อไวรัสอย่างไม่เป็นปกติและผลิตบางกลิ่นที่ต่างออกไป ซึ่งจากการศึกษา เราพบว่ามีหลายกลิ่นสำคัญที่มีลักษณะจำเพาะอาจจะบ่งบอกว่าเป็นกลิ่นของผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19” ผศ.ดร.ชฎิล อธิบาย
เครื่องมือตรวจกลิ่นเหงื่อผู้ติดเชื้อโควิด-19 พัฒนามาจากเครื่องตรวจวัดทางเคมีวิเคราะห์แบบพกพาที่หาซื้อได้ตามท้องตลาด ซึ่งมีการใช้ตรวจวัดสารเคมีที่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ อยู่แล้วโดยทั่วไป แต่สำหรับการตรวจเชื้อโควิด-19 ผศ.ดร.ชฎิล ได้ใส่วัสดุที่เป็นตัวกรองจำเพาะเข้าไปที่ตัวเครื่องมือเพื่อให้สามารถเลือกตรวจวัดค่าสารสำคัญที่บ่งบอกถึงการมีเชื้อไวรัสโควิด-19
“ชุดตรวจประกอบด้วยขวดแก้วและแท่งสำลี ซึ่งผู้ตรวจคัดกรองจะได้รับกันคนละชุด เวลาตรวจก็นำแท่งสำลีไปหนีบไว้ที่รักแร้ของผู้รับการตรวจ ทิ้งแท่งสำลีไว้ประมาณ 15 นาที จากนั้นนำแท่งสำลีที่ดูดซับเหงื่อแล้วมาใส่ในขวดแก้ว ฆ่าเชื้อขวดแก้วด้วยรังสี UV ก่อนนำมาตรวจวัดด้วยเครื่องมือ ซึ่งขั้นตอนนี้ เจ้าหน้าที่จะใช้สายดูดตัวอย่างในปริมาณที่เหมาะสมและใช้ความดันอัดเข้าไปในเครื่องตรวจเพื่อตรวจสอบผล” ผศ.ดร.ชฎิล เล่าขั้นตอนการเก็บตัวอย่างเหงื่อเพื่อตรวจเชื้อโควิด-19
ข้อดีของการตรวจด้วยวิธีการนี้คือสามารถนำมาดัดแปลงเพื่อตรวจพบเชื้อไวรัสกลายพันธุ์หรือจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ ได้
“แม้ว่าเชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์อย่างไรก็ตาม กลิ่นสารเคมีในเหงื่อของผู้ติดเชื้อไวรัสจะแสดงผลแตกต่างจากกลิ่นของผู้ที่ไม่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่แล้ว เครื่องมือตรวจกลิ่นน่าจะสามารถรับมือกับสารเคมีที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามการกลายพันธุ์ได้ สิ่งที่ต้องทำคือการเปลี่ยนวัสดุกรองให้สัมพันธ์กับไวรัส” ผศ.ดร.ชฎิล เสริม
จากการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องมือตรวจกลิ่นเหงื่อผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบพกพากับคนจำนวน 2,000 คน พบว่าเมื่อทำการทดลองตรวจกลิ่นเพื่อคัดกรองผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 นี้ควบคู่กับการตรวจ PCR (Polymerase Chain Reaction) จะพบว่าผลการตรวจสอดคล้องสัมพันธ์กันโดยมีความไว 95% และความจำเพาะถึง 98% อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.ชฎิล แนะว่าหากเครื่องตรวจกลิ่นแสดงผลเป็นบวก ผู้รับการตรวจก็ควรไปตรวจแบบ PCR เพื่อยืนยันผลที่แน่นอนอีกที
ปัจจุบันเครื่องมือตรวจกลิ่นเหงื่อผู้ติดเชื้อโควิดแบบพกพายังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา แต่ก็ได้ทดลองใช้งานจริงแล้ว โดยทางจุฬาฯ ร่วมมือกับกรมควบคุมโรคและหน่วยงานภาครัฐเข้าไปตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อในแหล่งชุมชนต่างๆ
“เครื่องมือนี้ช่วยหนุนการตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชนและคลัสเตอร์ที่เกิดขึ้นใหม่ในแต่ละวัน และยังทำงานร่วมกับ “รถดมไว” เพื่อช่วยตรวจคัดกรองแทนสุนัขดมกลิ่นในช่วงที่สุนัขพักเหนื่อยได้อีกด้วย” ผศ.ดร.ชฎิล กล่าวทิ้งท้าย
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
คีเฟอร์น้ำเกสรดอกกุหลาบ เครื่องดื่มสุขภาพต้านอนุมูลอิสระ ผลงานนิสิตจุฬาฯ คว้าเหรียญทองระดับโลก
The Skinov’e นวัตกรรมสกินแคร์จากเปลือกกล้วยหอมทองปทุม ผลงานวิจัยจุฬาฯ ที่ทำให้สิวเป็นเรื่องกล้วยๆ
น้ำยายืดอายุกระดาษ นวัตกรรมจุฬาฯ อนุรักษ์เอกสารและภาพศิลปะโบราณให้คงสภาพอีกนานนับทศวรรษ
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้