รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
30 สิงหาคม 2564
คณะแพทยศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ Smile Robotics และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ร่วมพัฒนานวัตกรรมโคม UV-C “น้องไฟฉาย รุ่นที่ 3” ฆ่าและทำลายเชื้อไวรัส COVID-19 และเชื้อโรคอื่นๆ ได้ 99.99% ภายใน 3 นาที พร้อมสร้างความมั่นใจให้เจ้าหน้าที่ด่านหน้าแล้ว
ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 บุคลากรทางการแพทย์ถือเป็นกลุ่มคนด่านหน้าที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากต้องคลุกคลีกับผู้ติดเชื้อทุกวันต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ซึ่งเชื้อโควิด-19 สามารถล่องลอยอยู่ในอากาศได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แถมอยู่บนพื้นผิวต่างๆ ได้นานหลายชั่วโมงถึงนานนับวัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม ดังนั้น การฆ่าเชื้อสถานที่ปฏิบัติงานสำหรับบุคลากรด่านหน้าจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
คณะแพทยศาสตร์ และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ห่วงใยในเรื่องนี้ จึงได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และSmile Roboticss พัฒนา Robocovid UV-C หรือ “น้องไฟฉาย” ฆ่าเชื้อโรคและสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้บุคลากรทางการแพทย์ โดยตั้งแต่การระบาดระลอกแรก คณะนวัตกรรมได้พัฒนาหุ่นยนต์มาแล้ว 2 รุ่น จนล่าสุด เผยโฉม “น้องไฟฉายรุ่น 3” การันตีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อโรคได้เร็วและเข้มข้นกว่าเดิม
ศาสตราจารย์ นพ.สมรัตน์ จารุลักษณานันท์ ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ริเริ่มโครงการพัฒนาโคม UV-C ประสิทธิภาพสูงฆ่าเชื้อไวรัส COVID-19 เผยถึงแนวคิดจูงใจในการสร้างนวัตกรรมว่า
“ในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกแรก เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลทุกระดับล้วนมีความเสี่ยง ดังนั้นหากมีวิธีป้องกันการติดเชื้อและสร้างความปลอดภัยกับเจ้าหน้าที่ เราก็ไม่ลังเลที่จะทำ ซึ่งการสร้างสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้ปราศจากเชื้อมีความสำคัญมาก อย่างการทำความสะอาดหลังจากการใช้งานห้องต่างๆ เราก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลในเรื่องนี้ปลอดภัย ไม่ติดโรค”
ทีมจากคณะแพทยศาสตร์ นำโดย ศ.นพ.สมรัตน์ จึงได้ประสานขอความร่วมมือจากรองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.โปรดปราน บุณยพุกกณะ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวฯ จุฬาฯ เพื่อให้คิดค้นอุปกรณ์ฆ่าเชื้อโรคในห้องผ่าตัดโดยไม่เป็นอันตรายกับผู้ปฏิบัติงาน โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.บุญรัตน์ โล่ห์วงศ์วัฒน ภาควิชาวิศวกรรมโลหการ และ ดร.เจนยุกต์ โล่วัชรินทร์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เป็นส่วนหนึ่งของคณะพัฒนานวัตกรรม
“โจทย์ของนวัตกรรมนี้คือการสร้างอุปกรณ์ที่ใช้ฆ่าเชื้อช่วงที่ไม่มีคนอยู่ปฏิบัติการณ์ในห้อง เป็นการฆ่าเชื้อเบื้องต้นเพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน ก่อนที่จะมีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเข้ามาทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ เช็ดถูบนพื้นผิว ผนัง และอุปกรณ์ต่างๆ อีกครั้งด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ” ดร.เจนยุกต์กล่าว
ดร.เจนยุกต์ อธิบายว่าในทางวิศวกรรม รังสี UV-C อยู่ในช่วงความยาวคลื่น 200 – 280 นาโนเมตร หรือเรียกว่าเป็นช่วง germicidal range ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงมากในการฆ่าเชื้อ ทั้งเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา
“ความเข้มข้นของรังสี UV-C ที่ตกกระทบบนพื้นผิวมีความสำคัญกับการฆ่าเชื้อโรค เปรียบได้กับความเข้มข้นของสารเคมีที่ใช้ฆ่าทำความสะอาดเชื้อโรค ถ้ารังสีเข้มข้นมากก็ใช้เวลาน้อย ถ้าเข้มข้นน้อยก็ต้องใช้เวลามากขึ้น” ดร.เจนยุกต์ อธิบาย
“ความเข้มข้นของแสง (fluence) มีหน่วยวัดเป็นจูล/ตารางเซนติเมตร ซึ่งงานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่าปริมาณความเข้มข้นของแสง UV-C ที่ประมาณ 1.2 จูล/ตารางเซนติเมตร หรือ 1,200 มิลลิจูล/ตารางเซนติเมตร เป็นอย่างน้อยสามารถฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้เวลาประมาณ 10 นาทีต่อ 1 จุด ตรงนี้เองเป็นที่มาของจำนวนหลอด UV-C ที่เราคำนวณเพื่อติดตั้งบนตัวหุ่นยนต์ รวมถึงองศาในการติดตั้งหลอดว่าต้องเอียงกี่องศาเพื่อให้มีความเข้มข้นเพียงพอที่จะฆ่าเชื้อได้”
“น้องไฟฉาย” ตั้งแต่รุ่นแรกจนรุ่นปัจจุบันเป็นฝีมือการอออกแบบของ คุณอดิศักดิ์ ดวงแก้ว วิศวกรหุ่นยนต์แชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยโลก 2 สมัย จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และ Smile Robotics โดยออกแบบให้หลอด UV-C เป็นหลอดขนาดยาวแนวตั้ง มีความสูงเท่ากับมนุษย์ที่ปฏิบัติงานจริงๆ ติดล้อเพื่อให้สามารถเคลื่อนที่ได้และควบคุมได้จากระยะไกล
“น้องไฟฉายรุ่นแรก ตัวหลอด UV-C ถูกติดตั้งในแนวตรง การฉายแสง (projection) ลงบนพื้นหรือบริเวณที่ตัวหุ่นยนต์วิ่งผ่านยังทำได้ไม่เต็มที่ คือ แผ่ลำแสงออกมาได้ประมาณ 3 เมตรโดยรอบ คิดเป็นพื้นที่คร่าวๆ ประมาณ 20-25 ตารางเมตร จึงมีการพัฒนาสู่การผลิตในรุ่นที่ 2 ซึ่งมีการทดลองเอียงตัวหลอด UV-C เพื่อเพิ่มพื้นที่ของรังสีที่ตกกระทบบนพื้นผิวได้มากกว่า ทั้งในเชิงการควบคุมพื้นที่และปริมาณความเข้มของรังสีซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการฆ่าเชื้อโรค” ดร.เจนยุกต์ เล่าถึงหุ่นยนต์ “น้องไฟฉาย” สองรุ่นที่ผ่านมา
ไวรัสโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสที่ถูกฆ่าทำลายได้ง่ายอยู่แล้ว การทดสอบของทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ผลสอดคล้องกับการทดสอบของทางคณะแพทย์และงานวิจัยในต่างประเทศ ที่พบว่าโดสความเข้มข้นของรังสีที่ใช้กับน้องไฟฉายสองรุ่นแรกสามารถฆ่าเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ 99.99 – 99.999 % ขึ้นไป
แต่น้องไฟฉายรุ่นที่ 3 ทำได้เหนือกว่านั้น คณะผู้พัฒนาได้ปรับปรุงและพัฒนาน้องไฟฉายรุ่นที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพในการกระจายรังสี UV-C ได้เข้มข้นขึ้น ในทุกทิศทุกทาง ช่วยร่นระยะเวลาในการฆ่าเชื้อลงเหลือเพียงจุดละ 3 นาที อีกทั้งมีขนาดเล็กกะทัดรัด สะดวกในการใช้งาน เคลื่อนย้ายและการจัดเก็บ เมื่อเทียบกับทั้ง 2 รุ่นที่ผ่านมา นอกจากนี้ น้องไฟฉาย 3 สามารถควบคุมการทำงานด้วยระบบ Internet of Things (IoT) หรือผ่านเครือข่าย 4G ทาง Smart Phone ทั้งระบบ Android และ IOS
“ในการตรวจสอบประสิทธิภาพการกำจัดเชื้อที่ระยะทางต่างๆ ทั้งที่ระดับพื้นดิน ระดับ 50 เซนติเมตรเหนือพื้น บนพื้นผิววัสดุต่างๆ ทั้งแก้ว พลาสติก โลหะ มีการนำเชื้อโรคอื่นๆ ที่ถูกกำจัดหรือฆ่าได้ยากกว่าไวรัสโควิด-19 หลายเท่า มาใช้ทดสอบเป็นคู่เทียบ (surrogate) ก็พบว่าหุ่นยนต์น้องไฟฉายสามารถฆ่าเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลตอบรับจากโรงพยาบาลอื่นๆ ที่ได้นำไปใช้ก็อยู่ในระดับที่ยอดเยี่ยม” ศ.นพ. สมรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการตรวจสอบประสิทธิภาพหุ่นยนต์ไฟฉาย รุ่น 3 โดยภาควิชาวิสัญญีวิทยา ร่วมกับหน่วยแบคทีเรียวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
ปัจจุบัน “น้องไฟฉาย 3” ได้ให้บริการฆ่าเชื้อทำความสะอาดแล้วในหลายโรงพยาบาลทั่วประเทศ เช่น ในห้องทำคลอดของแผนกสูตินารีเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และมีแผนขยายและส่งมอบน้องไฟฉายให้โรงพยาบาลอื่นๆ ที่สนใจด้วย
ดร.เจนยุกต์ กล่าวทิ้งท้ายถึงอนาคตของ “น้องไฟฉาย” รุ่นต่อไปว่า “ชนิดหลอด UV-C ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันอาจมีการปล่อยก๊าซโอโซนออกมา ซึ่งถึงแม้โอโซนจะสามารถช่วยฆ่าเชื้อและสลายไปได้เอง แต่ก็ข้อกังวลเรื่องการตกค้างของโอโซนที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นผิวอุปกรณ์ได้ ดังนั้น เราจึงกำลังศึกษามองหาหลอดประเภทอื่นที่มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานที่ดีที่สุด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แม้ว่าตัวที่เราใช้อยู่ก็มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากในระดับหนึ่งอยู่แล้วก็ตาม”
ผู้สนใจสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา หรือต้องการหุ่นยนต์ “น้องไฟฉาย” ไปใช้ในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม สามารถติดต่อหรือสอบถามที่ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทรศัพท์ 0-2256-4000 ต่อ 81513
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
คีเฟอร์น้ำเกสรดอกกุหลาบ เครื่องดื่มสุขภาพต้านอนุมูลอิสระ ผลงานนิสิตจุฬาฯ คว้าเหรียญทองระดับโลก
The Skinov’e นวัตกรรมสกินแคร์จากเปลือกกล้วยหอมทองปทุม ผลงานวิจัยจุฬาฯ ที่ทำให้สิวเป็นเรื่องกล้วยๆ
น้ำยายืดอายุกระดาษ นวัตกรรมจุฬาฯ อนุรักษ์เอกสารและภาพศิลปะโบราณให้คงสภาพอีกนานนับทศวรรษ
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้