รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
31 สิงหาคม 2564
ผลทางการแพทย์ชี้ ดนตรีบำบัดลดความดันเลือด บรรเทาความเจ็บปวดระหว่างรับการรักษาด้วยคีโม ฟอกไต กระตุ้นสมองผู้สูงวัย ศิลปกรรมฯ จุฬาฯ เปิดหลักสูตรผลิตนักดนตรีบำบัด หวังเยียวยาผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในสังคม
ในต่างประเทศ ดนตรีบำบัด (Music Therapy) ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ซ้ำยังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ตรงข้ามกับสังคมไทยที่หลายฝ่ายยังขาดความเข้าใจในกระบวนการบำบัดด้วยศาสตร์นี้ ส่งผลให้ขาดการสนับสนุนอย่างจริงจัง ไม่มีแผนการสร้างบุคลากรด้านดนตรีบำบัด ขาดแคลนทั้งคนและความรู้ คุณค่าและความหมายของดนตรีในสังคมไทยจึงไปไม่พ้นแวดวงวิชาการและบันเทิงคดี
คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เห็นความสำคัญของศาสตร์นี้ต่อสังคม ที่ผ่านมาจึงได้ศึกษาวิจัยดนตรีบำบัดกับผู้ป่วยโรคไตที่กำลังฟอกไต ผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาด้วยเคมีบำบัด ผู้ป่วยที่กำลังรอผลการวินิจฉัยโรค และผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อม เป็นต้น โดยผลการศึกษาพบว่าดนตรีบำบัดช่วยบรรเทาความเจ็บปวด ลดความดันโลหิต รักษาความปกติของอัตราการเต้นของหัวใจ คลายความกังวลให้ผู้ป่วยทั้งระหว่างได้รับการรักษาและระหว่างรอผลการวินิจฉัยโรค อันส่งผลให้ขั้นตอนการรักษาดำเนินไปอย่างราบรื่น
“ดนตรีบำบัดคือการใช้ดนตรีและวิธีการทางดนตรีในการช่วยฟื้นฟู รักษา และพัฒนาด้านอารมณ์ ร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยให้ดีขึ้น ก่อนบำบัดก็ต้องได้รับการเห็นชอบจากผู้เชี่ยวชาญโดยดนตรีจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้บำบัดกับผู้เข้ารับการบำบัด และทุกกิจกรรมบำบัด ไม่ว่าจะขับร้อง ฟังเพลงบรรเลงหรือดนตรี ล้วนถูกออกแบบมาให้เหมาะกับสภาพร่างกายและจิตใจของผู้เข้ารับการบำบัด” ศาสตราจารย์ ดร.บุษกร บิณฑสันต์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงศาสตร์แห่งดนตรีบำบัดที่ทางคณะฯ เปิดหลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีบำบัด (หลักสูตรนานาชาติ) เพื่อผลิตนักดนตรีบำบัด รองรับสังคมไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยและมีแนวโน้มการป่วยด้วยโรคเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น
หนึ่งในงานวิจัยของคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ศึกษาปฏิกิริยาทางอารมณ์และพฤติกรรมทางสังคมของผู้สูงอายุหลังการฟังเสียงเพลงจากเครื่องดนตรี “อังกะลุง” ผลสรุปว่าเสียงดังกล่าวได้กระตุ้นพลังใจและความเบิกบานให้แก่คนวัยนี้อย่างมีนัยยะสำคัญ ความกระชุ่มกระชวยกลับมาอีกครั้งเช่นเดียวกับกำลังใจและความทรงจำ วันคืนของบั้นปลายชีวิตไม่ได้ผ่านเลยไปอย่างไร้ความหมาย ความมีชีวิตชีวาถูกปลุกขึ้นภายในซึ่งทำให้คุณค่าของการมีชีวิตอยู่ได้รับการฟื้นฟู รอยยิ้มและเสียงหัวเราะเริ่มปรากฏจากทัศนคติเชิงบวก และผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นระหว่างกิจกรรมบำบัดคือชุมชนคนขิงแก่
“เพียงเสียงดนตรีอย่างเดียว ยังไม่มีนักดนตรีบำบัด ก็ช่วยรักษาผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม (Dementia) ได้ ขอเพียงหูยังได้ยินเสียง ฟังเพลงที่เขาเคยร้อง สักพักก็ร้องตามได้ เราเชื่อว่าสมองส่วนดนตรีเก็บข้อมูลไว้ได้นาน ขณะที่สมองส่วนที่ใช้ไม่ได้ก็จะหมดสภาพ สมองส่วนดนตรีจึงเป็นเสมือนกล่องข้อมูลเก่าที่รอวันเสียงดนตรีดังขึ้น กระตุ้นการทำงานของสมองส่วนนี้ให้ทำงานอีกครั้ง เซลล์สมองข้างเคียงก็จะกระชุ่มกระชวยตามไปด้วย” ศ.ดร.บุษกร กล่าว
ศ.ดร.บุษกร อธิบายว่าดนตรีบำบัดมีรายละเอียดมากกว่าการฟังเพลงเพื่อการผ่อนคลายและบันเทิง ศาสตร์นี้มุ่งเน้นทุเลาความเจ็บปวดและขจัดความวิตกกังวลของผู้ป่วย ซึ่งในการบำบัดจำต้องมีข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เข้ารับการบำบัด เช่น สภาพร่างกายปัจจุบัน ความสามารถในการขยับตัว บุคลิกภาพ พื้นฐานครอบครัว ปูมหลังชีวิต และที่สำคัญต้องรู้คือแนวดนตรีและเครื่องดนตรีที่ชื่นชอบ ซึ่งนักดนตรีบำบัดจะประมวลข้อมูลเหล่านี้จากการพูดคุยกับผู้ป่วยและคนใกล้ชิดก่อนออกแบบดนตรีในรูปแบบ Bedside Music Therapy ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันในแต่ละบุคคล
กิจกรรมดนตรีบำบัดเป็นไปได้หลากหลายแบบ ขึ้นกับความเหมาะสมและความต้องการของผู้รับการบำบัด ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานด้านดนตรีก็ได้
“อยู่ๆ เราจะไปเปิดเพลงเพื่อลดความเจ็บปวดไม่ได้ นักบำบัดต้องพูดคุยกับคนไข้และคนใกล้ตัวคนไข้ก่อน สำหรับคนไข้ที่ขยับตัวไม่ได้ ก็จะฟังดนตรีอย่างเดียว แต่ถ้าคนไหนขยับตัวได้ ก็เพิ่มเครื่องดนตรีเข้าไปให้สัมผัสซึ่งจะช่วยทำให้เกิดผลของการใช้ดนตรีบำบัดที่ดีมากยิ่งขึ้น ความสุขคือประเด็นสำคัญที่สุดในการใช้ดนตรีบำบัด” ศ.ดร.บุษกร กล่าวเน้น
ดนตรีบำบัดมี 2 รูปแบบ ได้แก่
การบำบัดแบบเดี่ยว (Individual Music Therapy) เหมาะสมกับผู้ที่ชอบเก็บตัวและผู้ป่วยที่ถูกควบคุมใกล้ชิด แต่กระนั้น ถ้าผู้ป่วยภาวะปกติสนใจการบำบัดแบบเดี่ยวก็ทำได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจและความพร้อมของผู้เข้ารับการบำบัด
การบำบัดแบบกลุ่ม (Community Music Therapy) เหมาะสมกับผู้ที่ไม่อาจใช้ดนตรีบำบัดตัวเองเพียงลำพัง ข้อดีของการบำบัดแบบกลุ่มคือโอกาสที่ผู้เข้ารับการบำบัดจะได้สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่นซึ่งการเรียนรู้ร่วมกันนี้ก็จะลดทัศนคติเชิงลบของตน คลายความเหงาได้จากการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ส่วนดนตรีที่นำมาใช้บำบัดก็จะคัดสรรจากค่าเฉลี่ยแนวดนตรีที่ทุกคนในกลุ่มนิยมฟัง
นักดนตรีบำบัดอาจทำหน้าที่คล้ายนักจิตวิทยาแต่ไม่ใช่นักจิตวิทยาเนื่องจากใช้การสื่อสารผ่านภาษาที่ไม่ใช่คำพูด (Nonverbal Communication) โดยวินิจฉัยและประเมินผู้ป่วยผ่านสีหน้าและท่าทางที่สังเกตเห็น ไม่จำเป็นต้องพูดให้กำลังใจใด ๆ เพราะทุกอย่างจะถูกสื่อผ่านดนตรี นักดนตรีบำบัดจึงต้องมีความรู้หลากหลายสาขา ทั้งระบบประสาท การทำงานของสมอง จิตวิทยา และทักษะการเขียนเพลงสำหรับการด้น (improvise) ที่พอเหมาะพอดีกับสภาพของผู้เข้ารับการบำบัด ซึ่งทักษะที่ว่านี้ต้องฝึกฝนมาต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 900 ชั่วโมง พร้อมประกาศนียบัตรรับรองความถนัดทางวิชาชีพ
“แต่นักดนตรีบำบัดที่ผ่านการฝึกฝนและได้รับใบรับรองที่ถูกต้องมีน้อยถึงน้อยมาก เราจึงเปิดสาขาวิชาดนตรีบำบัดขึ้นเพื่อสร้างนักดนตรีบำบัดที่มีคุณภาพ โดยมีผู้เชี่ยวชาญและมีชื่อเสียงด้านดนตรีบำบัดระดับโลกมาเป็นประธานหลักสูตร” ศ.ดร.บุษกร กล่าวทิ้งท้าย
ผู้สนใจหลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีบำบัด (หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค้นหาข้อมูลเพิ่มใน https://www.faa.chula.ac.th/subjectmain/indexcourse/147
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้