รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
1 กันยายน 2564
ผู้เขียน ปริณดา แจ้งสุข
เภสัช จุฬาฯ ชี้ประโยชน์และข้อควรระวังของฟ้าทะลายโจร ชวนเข้าใจฟ้าทะลายโจรให้มากขึ้น แนะผู้บริโภคใส่ใจ “ฉลากยา” เพื่อเลือกและใช้ยาฟ้าทะลายโจรอย่างได้ผลและปลอดภัย
“ฟ้าทะลายโจร” สมุนไพรไทยที่เป็นที่รู้จักมากขึ้นในช่วงวิกฤตโรคโควิด-19 โดยเฉพาะเมื่อกระทรวงสาธารณสุขประกาศบรรจุตัวยาฟ้าทะลายโจรเป็นหนึ่งในยาที่ใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ได้ ก็เกิดกระแสความต้องการสมุนไพรชนิดนี้อย่างมากจนทำให้สินค้าขาดตลาดในช่วงนั้น เรื่องราวข่าวสารเกี่ยวกับฟ้าทะลายโจรก็ออกมาท่วมท้นพื้นที่โซเซียลมีเดีย ทั้งสรรพคุณว่าฟ้าทะลายโจรรักษาโรคโควิดได้ บ้างก็ว่าเพียงบรรเทาอาการ อีกทั้งมีคำเตือนว่าอาจเป็นอันตรายต่อตับ ฯลฯ หลายข้อมูลที่ขัดกัน สร้างความสับสนให้ผู้บริโภค ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการใช้ยาที่ผิดและเกิดโทษได้
ดร.ภก.กิติยศ ยศสมบัติ อาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับตัวยาสมุนไพรนี้ มาให้ทุกคนทราบถึงประโยชน์และข้อควรระวังต่าง ๆ เพื่อที่จะได้สามารถใช้ยาฟ้าทะลายโจรได้อย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นในช่วงวิกฤตหรือใช้รักษาอาการโดยทั่วๆ ไปก็ตาม
ฟ้าทะลายโจร (ชื่อวิทยาศาสตร์: Andrographis paniculata (Burm.f.) Wall. ex Nees) เป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดจากแถบประเทศอินเดีย ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม แตกกิ่งเป็นพุ่มเล็ก ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปใบหอก ใบสีเขียวเข้ม เป็นมัน ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่งและซอกใบ มีความสูงประมาณเข่า (ประมาณ 30-60 ซม.) ซึ่งมีอายุอยู่ได้ประมาณ 3-5 ปี สามารถพบเห็นได้ง่าย เนื่องจากฟ้าทะลายโจรจะมีผลเป็นฝักสีเขียวอมน้ำตาล ปลายแหลม เมื่อผลแก่จะแตกเป็นหลายซีก ดีดเมล็ดออกมา คล้ายฝักต้อยติ่ง จึงเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ได้ง่ายมาก และยังมีการปลูกเป็นพืชสวนครัวอย่างแพร่หลายในประเทศไทยมาอย่างยาวนานแล้วอีกด้วย
โดยทั่วไปพืชแต่ละชนิดมักจะมีสารพฤกษเคมีอยู่เป็นร้อยชนิดอยู่แล้ว แต่สารตัวสำคัญที่ฟ้าทะลายโจรมีอยู่นั้นก็คือ กลุ่มสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolides) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสและยับยั้งการอักเสบได้ จึงนิยมนำมาใช้ในการรักษาอาการไข้หวัด ท้องเสีย เป็นต้น
ตามตำรายาแผนโบราณของไทย ฟ้าทะลายโจร มีฤทธิ์หลัก ๆ ได้แก่ ลดไข้ ฆ่าเชื้ออ่อน ๆ และลดการบีบตัวของลำไส้ ในประเทศไทยจึงนิยมใช้รักษาไข้หวัดและอาการท้องเสียแบบไม่ติดเชื้อเป็นหลัก
จริง ๆ แล้วสรรพคุณของฟ้าทะลายโจรนั้นมีอีกมาก ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ เพราะในฟ้าทะลายโจรนั้นมีสารพฤกษเคมีอยู่จำนวนมากที่เป็นประโยชน์
“ในตำรายาของบางประเทศ ใช้ฟ้าทะลายโจรได้ครอบจักรวาลมาก เช่น รักษากรดไหลย้อน แน่นหน้าอก อาการไอ เบาหวาน หรือแม้กระทั่งทาภายนอก แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ฝี บางที่ก็มีการนำไปผลิตเป็นเครื่องสำอาง เป็นต้น” อ.กิติยศ ยกตัวอย่างสรรพคุณอื่น ๆ ของฟ้าทะลายโจร ที่นำไปใช้อย่างกว้างขวาง
“อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปอาจจะไม่จำเป็นต้องรู้ลึกขนาดนั้น สิ่งสำคัญก็คือ คุณภาพของยา เราควรจะทราบว่า แม้จะเป็นฟ้าทะลายโจรเหมือนกัน แต่ยังมีกระบวนการผลิตของบริษัทต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน สัดส่วนของสารออกฤทธิ์ที่ได้รับก็อาจจะแตกต่างกันไป ซึ่งส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงที่แตกต่างกันออกไปด้วยเช่นกัน” อ.กิติยศ ชวนให้ตระหนักในการใช้ยาฟ้าทะลายโจร
ดังนั้น การอ่าน “ฉลาก” จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตรายขึ้น
“ตอนที่โควิด-19 เกิดขึ้น โรคนี้ยังไม่เคยมีมาก่อน เพราะฉะนั้นในระยะแรก การรักษาโควิด-19 ก็รักษาเหมือนไข้หวัด ก็คือรักษาตามอาการ” อ.กิติยศ เท้าความถึงช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงแรก ๆ
“เมื่อเกิดโรคใหม่ขึ้นมา การคิดค้นยาขึ้นมาใหม่สักตัวให้ทันใช้เป็นเรื่องที่ยากมาก ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดคือการนำยาที่มีอยู่แล้วมาทดสอบว่าสามารถฆ่าเชื้อได้หรือไม่” อ.กิติยศ อธิบายต่อ
จากการทดสอบโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบฤทธิ์ยับยั้งไวรัสโดยตรงและยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัสในฟ้าทะลายโจร แต่ไม่มีฤทธิ์ป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งใกล้เคียงกับงานวิจัยโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ที่วิจัยโดยการใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจร ที่มีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 5 วัน ในผู้ป่วยโควิด-19 ระดับไม่รุนแรง พบว่าฟ้าทะลายโจรอาจช่วยลดโอกาสการดำเนินโรคโควิด-19 จากระดับน้อยไปเป็นปอดอักเสบได้
กล่าวได้ว่า ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ยาหลาย ๆ ชนิดที่เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง เช่น ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เองก็เป็นยาที่มีมาแต่โบราณแล้วเช่นกัน ซึ่งฟ้าทะลายโจรก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ถูกนำมาทดสอบ เนื่องจากฟ้าทะลายโจรนั้นมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อไวรัสอยู่แล้ว และมีข้อมูลอยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้นแม้ว่าจากผลการวิจัยที่ผ่านมาจะยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าฟ้าทะลายโจรนั้นสามารถรักษาโควิด-19 ได้ แต่อย่างน้อยฟ้าทะลายโจรก็สามารถช่วยลดอาการไข้หวัดได้ จึงกลายเป็นหนึ่งในตัวยาที่นำมาใช้เพื่อรักษาอาการกันอย่างแพร่หลายนั่นเอง
ทั้งนี้ ฟ้าทะลายโจรนั้นยังสามารถใช้ได้เฉพาะในกลุ่มที่มีอาการน้อย เพื่อบรรเทาอาการ ส่วนกลุ่มที่อาการรุนแรง และกลุ่มเสี่ยง 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีโรคประจำตัว 7 โรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน) และสตรีมีครรภ์ ก็ยังไม่แนะนำให้รับประทาน เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยรองรับ
ฉลากของยาฟ้าทะลายโจรบางยี่ห้อไม่มีการระบุข้อมูลปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ บางฉลากหรือข้อมูลในแผ่นพับหรือตามโซเชียลมีเดียมีข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิด อาจเป็นการจงใจหลอกหลวง หรือด้วยความไม่รู้ของผู้ค้า ยิ่งไปกว่านั้น บางยี่ห้อเลี่ยงโดยใช้การขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม หรือเป็นประเภทอื่นที่ไม่ใช่ยา และอาจจะไม่มีสมุนไพรฟ้าทะลายโจรประกอบอยู่
สิ่งที่สำคัญในการดูฉลากยาฟ้าทะลายโจร อ.กิติยศ แนะว่า “หากบนฉลากไม่ระบุปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ไว้ ก็ไม่ควรรับประทาน”
การซื้อยาฟ้าทะลายโจร ผู้บริโภคต้องตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อดูปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ที่ถูกต้องเหมาะสมกับการบริโภค ที่สำคัญ ให้สังเกตเลขทะเบียน อย. เนื่องจากยาว่าฟ้าทะลายโจรจัดเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ฉลากต้องมีเลขทะเบียนขึ้นต้นด้วย “G”
ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่ไม่ถูกต้องได้จากเว็บไซต์ของสำนักคณะกรรมการอาหารและยา
แม้จะเป็นสมุนไพรก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นเดียวกับยาแผนปัจจุบัน ผู้ที่แพ้ฟ้าทะลายโจรอาจจะเกิดอาการผื่นคัน ลมพิษ หรือหากมีอาการแพ้อย่างรุนแรง อาจทำให้หลอดลมบวมจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากยังไม่ทราบว่าแพ้ฟ้าทะลายโจรหรือไม่ ควรจะสังเกตอาการตนเองตั้งแต่รับประทานครั้งแรก
เนื่องจากในฟ้าทะลายโจรนั้นมีสารพฤกษเคมีอยู่หลากหลายชนิด ซึ่งมีฤทธิ์ในการบรรเทาอาการที่หลากหลายมากดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ดังนั้นหากนำไปรับประทานร่วมกับยาชนิดอื่น เช่น ยาลดความดันเลือด ยารักษาเบาหวาน ยาโรคไต โรคตับ ยาต้านไวรัส เป็นต้น อาจทำให้ยาตีกัน ผู้ใช้อาจเกิดอาการหน้ามืดใจสั่นจากความดันเลือดต่ำหรือน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้
ตามที่กระทรวงสาธารณสุขระบุไว้ คือ ไม่เกิน 5 วัน เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียง เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง มือเท้าชา ดังนั้น หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลา 3-5 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไป
โดยสรุปแล้ว ฟ้าทะลายโจร ถือว่าเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่อยู่คู่คนไทยและนำมาใช้บรรเทาอาการไข้หวัดและท้องเสียมาอย่างยาวนาน เมื่อมีวิกฤตโรคระบาดอย่างโควิด-19 ขึ้น ฟ้าทะลายโจร จึงได้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญที่ถูกนำมาใช้ต่อสู้กับวิกฤตในครั้งนี้ และได้มีการพยายามศึกษาหาความเป็นไปได้ในการรักษามากมาย ฟ้าทะลายโจรช่วยบรรเทาอาการในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยได้ และมีข้อมูลการวิจัยที่พบศักยภาพในการยับยั้งเชื้อไวรัสได้ แต่ในที่สุดแล้วก็ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าการใช้ฟ้าทะลายโจรจะสามารถรักษาโควิด-19 ให้หายขาดได้
“เหรียญย่อมมีสองด้าน ทุกอย่างมีประโยชน์ก็ต้องมีโทษ สมุนไพรก็เป็นทางเลือกที่ดี หากมีข้อมูลการศึกษาอย่างเพียงพอ ก็มั่นใจได้มาก แต่ถึงแม้ว่ามาจากธรรมชาติ ก็มีโอกาสทำให้เกิดการแพ้ เกิดอาการข้างเคียง หรือว่าตีกับยาตัวอื่นเหมือนกับยาแผนปัจจุบันเช่นกัน เพราะฉะนั้นก่อนใช้ก็ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อน” อ.กิติยศ ฝากทิ้งท้าย
“หุ่นอาจารย์ใหญ่” ฝึกเจาะเลือดและฉีดยาสุนัข เสริมความมั่นใจนิสิตสัตวแพทย์
จุฬาฯ เปิดตัว “วีลแชร์เดินได้” Wheelchair Exoskeleton หุ่นยนต์สวมใส่บนร่างกายมนุษย์จุฬาฯ เปิดตัว “วีลแชร์เดินได้” นั่ง ลุกยืน และเดินได้ในตัวเดียว
“ศูนย์สุขภาวะผู้สูงอายุ จุฬาฯ” บ้านหลังที่ 2 ดูแลระหว่างวัน ตอบโจทย์ลูกหลานวัยทำงาน ตรงใจสูงวัยสุขภาพดี
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้