รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
4 ตุลาคม 2564
ผู้เขียน ขนิษฐา จันทร์เจริญ
สองบัณฑิตสถาปัตย์ จุฬาฯ พัฒนานวัตกรรม Squeezium และ Rehabit จูงใจให้ผู้สูงวัยลุกขึ้นมาขยับเขยื้อนร่างกายเสริมสร้างความแข็งแรง การันตีความคิดสร้างสรรค์ด้วยรางวัลเหรียญทองและSpecial Award จากการประกวด The 7th World Invention Innovation Contest จากเวที Korea Invention Academy (KIA)
การออกกำลังกายและการเล่นเป็นกิจกรรมสำคัญสำหรับมนุษย์ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใด โดยเฉพาะเมื่ออายุมากขึ้น การออกกำลังกายและการเล่นก็ยิ่งจำเป็นเพื่อรักษาสุขภาพร่างกาย ความคิดและจิตใจให้แข็งแรงและมีชีวิตชีวาอยู่เสมอ แต่การจูงใจผู้สูงวัยให้ลุกขึ้นมาออกกำลังกายนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ด้วยสภาพร่างกายที่ไม่คล่องแคล่วเหมือนเดิม ความเจ็บป่วยที่อาจทำให้ท้อจนไม่อยากเคลื่อนไหว
สองบัณฑิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พยายามแก้โจทย์นี้ด้วยนวัตกรรม Squeezium และ Rehabit ซึ่งล่าสุดคว้ารางวัลเหรียญทองและ Special Award จากการประกวด The 7th World Invention Innovation Contest จากเวที Korea Invention Academy (KIA) ซึ่งจัดโดย Korea Invention News
“ข้อมูลจากศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุและฝ่ายเวชศาสตร์ฟื้นฟูโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่าผู้สูงอายุมักขาดแรงจูงใจในการออกกำลังกาย ไม่รู้สึกสนุกกับการออกกำลัง รวมถึงออกกำลังกายไม่ถูกต้อง ไม่ถูกวิธี ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้” ชนิดาภา สว่างวโรรส บัณฑิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้สร้างนวัตกรรม Rehabit กล่าวถึงแนวคิดนวัตกรรมจากการเรียนวิชา “Design for Ageing” ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งร่วมมือกับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ
“เราจึงออกแบบนำกลไกของเกมมาประยุกต์ใช้กับการออกกำลังกายเพื่อกระตุ้นให้ผู้สูงอายุรู้สึกท้าทายและอยากออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องและถูกต้อง นอกจากนี้ยังส่งข้อมูลการออกกำลังกายให้บุคลากรทางการแพทย์ตรวจสอบได้ออีกด้วย” ชนิดาภา กล่าว
จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งในต่างประเทศที่ระบุว่าการบีบมือด้วยแรงที่เหมาะสมจะมีส่วนช่วยลดความดันโลหิตได้ จินต์จุฑา ประทีปถิ่นทอง บัณฑิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จึงพัฒนา Squeezium อุปกรณ์บีบมือลักษณะเหมือน Joy Stick ใช้ร่วมกับแอปพลิเคชันแนะนำและวางแผนการออกกำลังกายด้วยวิธีที่ถูกต้อง
“ผู้เล่นเพียงบีบมือเพื่อบังคับลูกโป่งที่ลอยอยู่ (ในหน้าจอ) ให้หลบสิ่งกีดขวาง ถ้าบีบมือด้วยแรงที่ถูกต้องคือ 30 % ของแรงบีบ ลูกโป่งก็จะหลบสิ่งกีดขวางได้ แต่หากยังใช้แรงไม่พอ แอปพลิเคชันก็จะแนะนำวิธีการให้จนกว่าจะใช้แรงได้ถูก แล้วก็จะผ่านด่าน ได้เพิ่มระดับการเล่นขึ้นไปเรื่อยๆ โดยเชื่อว่ารูปแบบเกมอย่างนี้จะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกเพลิดเพลินขณะออกกำลังกาย”
สำหรับผู้ที่ไม่ชอบเล่นเกม Squeezium ก็เป็นเหมือนเทรนเนอร์ส่วนตัวที่จะแนะนำการออกกำลังกายที่เหมาะสมให้ โดยหน้าจอของอุปกรณ์จะแสดงผลความแรงหรือเบาระหว่างที่บีบมือคล้ายเส้นกราฟขึ้นลง นอกจากนี้อุปกรณ์นี้ยังสามารถตั้งเวลาเตือนให้เราออกกำลังกายได้ครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อีกด้วย
“หวังให้นวัตกรรมนี้เป็นทางเลือกกับผู้ที่เริ่มมีภาวะความดันโลหิตสูง แต่ยังไม่อยากทานยา การออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องอาจช่วยได้ ซึ่งอุปกรณ์นี้จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง” จินต์จุฑา กล่าวเสริมว่า Squeezium ใช้งานง่าย เพียงแค่ผู้สูงอายุเปิดแอปพลิเคชัน ก็จะมีคำแนะนำการใช้งานเป็นภาพเคลื่อนไหวให้ผู้สูงวัยทำตามและสนุกกับการออกกำลังกายได้ด้วยตัวเอง
Rehabit มีหน้าตาคคล้ายอุปกรณ์ออกกำลังกายดิจิทัลทั่วไปที่เป็นสายรัดเหมือนนาฬิกาข้อมือ และมีแอปพลิเคชันบันทึกข้อมูลการออกกำลังกาย แต่ ชนิดาภา สว่างวโรรส ผู้สร้างสรรค์ Rehabit กล่าวว่า ผลงานของเธอมีความโดดเด่นกว่านั้นและสามารถจูงใจผู้สูงอายุให้สนุกกับการออกกำลังกายได้
“Rehabit เป็นมากกว่าอุปกรณ์เก็บข้อมูลการออกกำลังกายอย่างที่เราคุ้นเคย เพราะมีแอนิเมชันเสมือนเป็นเทรนเนอร์ส่วนตัวคอยแนะนำและบอกท่าทางการออกกำลังกายที่เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งข้อมูลการออกกำลังกายเหล่านี้เป็นคำแนะนำของแพทย์และนักกายภาพบำบัดจากศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ” ชนิดาภา อธิบายจุดเด่นของ Rehabit
นวัตกรรมนี้ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อนด้วยส่วนประกอบ 2 ส่วน คือ เซนเซอร์สำหรับสวมใส่เพื่อเก็บข้อมูลระหว่างออกกำลังกาย และแอปพลิเคชันแนะนำการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุอย่างถูกต้องด้วยภาพแอนิเมชั่น
“อุปกรณ์นี้นอกจากจะแนะนำการออกกำลังกายที่ถูกต้องและเหมาะสมแล้ว ยังประมวลผลการออกกำลังกายของผู้ใช้ด้วยว่าเป็นอย่างไร และเก็บข้อมูลการออกกำลังกายเพื่อให้แพทย์และนักกายภาพบำบัดติดตามความคืบหน้าของคนไข้ได้อีกด้วย”
นวัตกรรมทั้ง 2 ชิ้นนำหลักการ Gamification มาประยุกต์ใช้กับการออกกำลังกายเพื่อสร้างความรู้สึกสนุก เพลิดเพลิน และท้าทายเหมือนได้เล่นเกมเก็บคะแนนไปด้วย เมื่อทำได้ครบตามเป้าหมายที่กำหนดก็จะมีสิ่งกระตุ้นให้ผู้สูงอายุรู้สึกถึงความแปลกใหม่อยู่เสมอ หลังจากเล่นเกมเสร็จก็สามารถแชร์ผลงานไปโชว์เพื่อนๆ หรือคนในครอบครัว ซึ่งจะยิ่งสร้างแรงจูงใจให้อยากออกกำลังกายได้อย่างต่อเนื่อง
“เราตั้งใจออกแบบอุปกรณ์เพื่อกระตุ้นกิจกรรมออกกำลังกายผ่านแอปพลิเคชันและการเล่นเกมต่างๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุหันมาใส่ใจสุขภาพด้วยการออกกำลังกายมากขึ้น เราหวังว่านวัตกรรมเหล่านี้ตอบโจทย์บริบทของผู้สูงอายุไทย” นวัตกรทั้งสอง จินต์จุฑาและชนิดาภา กล่าว
ตอนนี้ นวัตกรรม Squeezium และ Rehabit อยู่ในขั้นสร้างต้นแบบ (prototype) ซึ่งจะนำไปให้ผู้สูงวัยได้ทดลองใช้เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมกับการใช้งานยิ่งขึ้น ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการผลิตเพื่อจำหน่ายให้ผู้สนใจในระยะต่อไป และในอนาคต ทั้งสองมีแผนเพิ่มรูปแบบของเกมให้หลากหลายขึ้นและออกแบบอุปกรณ์ที่เข้าถึงผู้สูงอายุในวงกว้างและหลากหลายกลุ่มขึ้น รวมถึงกลุ่มคนเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส ผู้ที่อาศัยอยู่ในชนบท และบุคคลทั่วไปทุกเพศทุกวัยด้วย
“ศูนย์สุขภาวะผู้สูงอายุ จุฬาฯ” บ้านหลังที่ 2 ดูแลระหว่างวัน ตอบโจทย์ลูกหลานวัยทำงาน ตรงใจสูงวัยสุขภาพดี
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้