รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
27 ตุลาคม 2564
ผู้เขียน ปริณดา แจ้งสุข
อาจารย์สาธิตจุฬาฯ เผยเคล็ดลับการสอนออนไลน์ให้สนุก ยืดหยุ่น สร้างบรรยากาศเป็นกันเอง เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งครูและนักเรียนในชีวิตวิถีใหม่ที่ท้าทาย
“จะเปิดหรือไม่เปิดโรงเรียน” เป็นคำถามสำคัญที่ทั้งครู นักเรียน และผู้ปกครองต่างลุ้นรอคำตอบ แม้ช่วงที่ผ่านมา หลายคนจะปรับตัวให้เข้ากับชีวิตวิถีใหม่และการเรียนการสอนแบบออนไลน์ได้บ้างแล้ว แต่ก็อดคิดถึงการเรียนการสอนในห้องไม่ได้ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังไม่นิ่ง การเปิดเรียนแบบออนไซต์อย่างเต็มรูปแบบก็เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกังวลใจ
“เรามีแผนจะเปิดการเรียนการสอนแบบผสมผสานที่มีทั้งการเรียนในห้องเรียนและเปิดสอนออนไลน์ไปพร้อมกัน” ดร.ภัทรภร เจนสุทธิเวชกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ หลักสูตรและการสอน โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม เผยแนวทางจัดเตรียมการเรียนการสอนเพื่อรับเปิดเทอมวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้
ดร.ภัทรภร กล่าวว่าการเรียนการสอนแบบออนไลน์มีความท้าทายหลายด้าน ครูผู้สอนทำงานหนักขึ้น ทั้งในการเตรียมบทเรียนที่จะสอน และกระบวนการสอนที่มาพร้อมกับการใช้เทคโนโลยี เพื่อกระตุ้นความสนใจของนักเรียน ส่วนนักเรียนเองก็มีความเครียดไม่แพ้ผู้สอนเช่นกัน
ในเมื่อการเรียนการสอนออนไลน์ยังจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวิถีใหม่ ดร.ภัทรภร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ นวรัตน์ สุขวัฒนาสินิทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ หลักสูตรและการสอน โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม แนะหลักคิด 7 ข้อที่จะช่วยให้การจัดการเรียนการสอนออนไลน์สนุกและมีชีวิตชีวายิ่งขึ้น ได้สาระความรู้ รวมถึงส่งเสริมทักษะทางสังคมและความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนด้วย
นักเรียนแต่ละช่วงวัยมีความแตกต่างกัน การเรียนการสอนออนไลน์สำหรับนักเรียนระดับประถม มัธยม และมหาวิทยาลัยจึงต้องใส่ใจในความแตกต่างนี้ด้วย
“เด็กประถมให้ความร่วมมือในห้องเรียนดี แต่มีปัญหาสมาธิในการเรียน ในขณะที่เด็กโตกว่าจะให้ความร่วมมือในการเรียนในห้องเรียนน้อยลง แต่ก็มีวุฒิภาวะมากพอที่จะสนใจบทเรียนมากขึ้น” ผศ.นวรัตน์ กล่าว
“การสอนเด็กเล็กคงไม่สามารถทำได้เต็มที่ทั้งคาบเรียน (50 นาที) เพราะเด็กเล็กไม่อาจมีสมาธิจดจ่ออยู่หน้าจอเป็นเวลานานได้ เด็กจะมีสมาธิในการเรียนแต่ละครั้งประมาณ 5-10 นาที หรือตามอายุของผู้เรียน ดังนั้น นอกจากเนื้อหาที่จะเรียน ครูอาจจัดให้เป็นเวลาสำหรับพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทำงานไปด้วย และมีการเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย”
สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยม ดร.ภัทรภร กล่าวว่านักเรียนมัธยมปลายส่วนมากจะกระตือรือร้นในการเรียนมากกว่านักเรียนมัธยมต้นเนื่องจากเป็นวัยที่กำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย การจัดการสอนให้นักเรียนมัธยมต้น ครูควรเน้นจัดกิจกรรม เล่นเกม เพื่อให้เด็กมีความกระตือรือร้นมากขึ้น การเข้าใจนักเรียนแต่ละวัยจะช่วยให้ครูจัดรูปแบบการเรียนการสอนได้สอดคล้องกับสไตล์การเรียนรู้ของนักเรียนให้มากที่สุด
ไม่ว่าจะเรียนออนไซต์หรือออนไลน์ กติกาในการเรียนรู้ร่วมกันเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะการเรียนออนไลน์ หนึ่งในกติกาสำคัญคือ “เปิดหน้ากล้อง”
“อย่างครูสอนชั้น ป. 2 ก็จะตกลงกับนักเรียนก่อนว่าอยากให้นักเรียนเปิดหน้าจอ เพื่อสังเกตดูว่านักเรียนสนใจเรียนอยู่ไหม หากเห็นว่านักเรียนเริ่มหลุด สนใจสิ่งอื่น ครูก็จะได้ดึงนักเรียนกลับมาสู่บทเรียน” ผศ.นวรัตน์ ยกตัวอย่าง
ดร.ภัทรภร กล่าวเสริมว่าครูอาจใช้การเช็คชื่อเป็นการสร้างกติกา “เปิดหน้ากล้อง” ได้เช่นกัน
“ปกติเวลาที่เริ่มต้นคาบเรียนก็จะมีการเช็คชื่อเพื่อดูว่าใครพร้อมหรือไม่พร้อมเรียน แต่ถ้าใครที่ยังไม่เปิดกล้องหรือมีปัญหาในการเปิดกล้องก็แจ้งเป็นรายบุคคลได้ ครูก็จะสามารถยืดหยุ่นให้ได้ตามเหตุและผล”
การกระตุ้นให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมเปิดกล้องในการเรียนนั้น ดร.ภัทรภร แนะว่า “หากนักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนและคุ้นเคยกับการเรียนออนไลน์ นักเรียนจะเปิดกล้องเรียนด้วยความเต็มใจ สิ่งสำคัญคือต้องทำให้นักเรียนรู้สึกสนุกในการเรียนรู้”
บรรยากาศการเรียนการสอนออนไลน์ของทั้งครูและนักเรียนแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความพร้อมของนักเรียน สภาพแวดล้อมในบ้าน อุปกรณ์ สัญญาณอินเทอร์เน็ต แม้กระทั่งความเป็นไปที่เกิดขึ้นในบ้าน การเรียนการสอนออนไลน์ต้องมี “ความยืดหยุ่น” และเน้นพูดคุยให้เข้าใจกัน
“ในสถานการณ์แบบนี้ ถ้าไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย ระเบียบบางอย่างอาจต้องยืดหยุ่น เช่น นักเรียนไม่จำเป็นต้องสวมชุดนักเรียน นักเรียนทานอาหารระหว่างเรียนได้ การรับประทานข้าวไปด้วยแล้วได้เรียน ก็ยังดีกว่าการที่เขารู้สึกไม่ดีกับการเรียนออนไลน์” ผศ.นวรัตน์ กล่าว
นอกจากนี้ การกำหนดคาบเรียนก็ต้องยืดหยุ่นเช่นกัน “คาบสอนของนักเรียนก็มีความสำคัญในช่วงการเรียนออนไลน์ ครูต้องยืดหยุ่นเรื่องการเข้าชั้นเรียนและการส่งงานมากกว่าในช่วงการเรียนปกติ” ดร.ภัทรภร เสริม
ที่สำคัญ โรงเรียนจำเป็นต้องสำรวจความพร้อมและการเข้าถึงเทคโนโลยีการเรียนออนไลน์ของนักเรียนด้วย
“โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ มีการสำรวจความพร้อมของนักเรียนและผู้ปกครองในเรื่องอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนนักเรียนที่ต้องการปัจจัยดังกล่าว เราสนับสนุนซิมการ์ดให้นักเรียนใช้อินเทอร์เน็ตในการเรียนรู้และสนับสนุนอุปกรณ์ในการเรียน เช่น iPad หรือ Notebook ให้กับนักเรียนและอาจารย์ เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ” ดร.ภัทรภร ให้ข้อมูล
แม้นักเรียนและครูจะพบปะกันผ่านหน้าจอ ก็สามารถสร้างบรรยากาศให้การเรียนออนไลน์เป็นกันเองได้ ทั้งนี้ ผศ.นวรัตน์ แนะว่าก่อนที่จะเริ่มการเรียนการสอนในส่วนของเนื้อหา ครูควรสร้างบรรยากาศในหน้าจอให้มีความผ่อนคลาย สบายๆ
“ครูจะเปิดห้องไว้ก่อนเวลาเพื่อให้นักเรียนเข้ามาสอบถามพูดคุยกันก่อน เป็นการสร้างความคุ้นเคย และได้เรียนรู้ลักษณะนิสัยของเด็กผ่านหน้าจอ เมื่อรู้ว่าเด็กสนใจเกี่ยวกับอะไร ก็จะสามารถนำมาเชื่อมโยงกับการสอนเพื่อให้เด็กสนใจเนื้อหาบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น”
ดร.ภัทรภร เสริมว่า “นักเรียนจะคุ้นเคยกับผู้สอนเมื่อผู้สอนไม่สอนเพียงแต่เนื้อหาที่ต้องเรียนตามหนังสือ แต่มีการสอดแทรกการพูดคุยเล่าเรื่องต่าง ๆ ที่สอดคล้องในชีวิตประจำวัน เมื่อนักเรียนคุ้นเคยและสนิทกับครูผู้สอน ก็ไม่ยากที่ครูผู้สอนจะเข้าไปนั่งอยู่ในใจของนักเรียน และทำให้นักเรียนสนใจที่จะติดตามบทเรียน”
การเรียนการสอนออนไลน์ไม่ควรเน้นการบรรยาย เพราะนักเรียนไม่สามารถจดจ่อกับบทเรียนที่หน้าจอได้นาน สิ่งที่จะช่วยให้นักเรียนมีสมาธิกลับมาอยู่ในบทเรียนก็คือ “การมีส่วนร่วมในชั้นเรียน”
“ครูควรสังเกตว่านักเรียนเข้าใจในเนื้อหาหรือไม่ โดยการตั้งคำถามให้นักเรียนตอบอยู่เสมอ ถ้าเขาอยู่หน้าจอแล้วเหลือบไปทางอื่น เราก็ต้องใช้วิธีการกระตุ้น เช่น ให้ช่วยอ่านโจทย์ให้เพื่อนๆ ฟัง ให้เด็กได้รู้สึกว่ามีส่วนร่วมอยู่ตลอดเวลา ให้เขาคาดเดาไม่ถูกว่าจังหวะไหนที่ครูจะเรียก” ผศ.นวรัตน์ แบ่งปันประสบการณ์การสอนนักเรียนชั้นประถม
ดร.ภัทรภร กล่าวเสริมว่าครูควรตรวจสอบความเข้าใจของเด็กอยู่เสมอ และสร้างแหล่งค้นคว้าข้อมูลให้กับนักเรียน เช่น การทิ้งสื่อการสอนไว้ให้ อัดคลิปวิดีโอการสอนเอาไว้ เพื่อให้นักเรียนได้กลับไปทบทวนและค้นคว้าเพิ่มเติมได้อย่างอิสระ
“บางครั้งในการสอนออนไลน์แบบสดทั้งคาบเรียน 50 นาที เด็กอาจจะไม่ได้อะไรมากนักแม้จะตั้งใจเรียน แต่ถ้าเราให้แบบฝึกหัดให้ไปทำทีหลัง เขาก็จะค่อยๆ นึกขึ้นมาได้ถึงสิ่งที่ได้เรียนวันนี้ ถ้ายังไม่เข้าใจก็สามารถค้นข้อมูลหรือดูคลิปเพิ่มเติม การสอนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีควรเน้นการเรียนรู้แบบลงมือทำ”
อย่างไรก็ตาม ดร.ภัทรภร แนะว่าวิธีการจัดการเรียนการสอนมีมากมาย ครูควรเลือกใช้ตามความถนัดและความเหมาะสมของเนื้อหาหรือวิชานั้นๆ ที่สำคัญคือเป็นวิธีที่เหมาะกับนักเรียนในห้องเรียนนั้นๆ
สิ่งที่สร้างความกดดันให้นักเรียนมากที่สุดในการเรียนออนไลน์คงหนีไม่พ้น “การบ้าน” และ “การสอบ”
“ในสถานการณ์เช่นนี้ อาจารย์และโรงเรียนต้องหารือกันเพื่อให้การวัดประเมินผลทางออนไลน์ ไม่สร้างความกดดันให้กับนักเรียนจนเกินไป หรือเป็นภาระมากเกินความจำเป็น” ผศ.นวรัตน์ กล่าว
การวัดประเมินผลไม่ได้มีแต่การสอบอย่างเดียว แต่ทำได้หลากหลายวิธี ด้วยเครื่องมือวัดผลที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น การทำใบงาน การทำกิจกรรมในคาบ การสอบก็ยังมีแต่จะเป็นไปตามระดับชั้น ถ้าเด็กโตหน่อยที่คุ้นชินในการเข้าระบบเองได้ก็จะจัดสอบบ้าง แต่ก็ไม่ได้เข้มข้นเท่ากับการสอบในการเรียนตามปกติเพื่อลดความกดดันของเด็ก
“การวัดและประเมินผลควรเน้นเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ มากกว่าการตัดสินผลการเรียน และเน้นที่การประเมินระหว่างเรียนมากกว่าการประเมินปลายภาคเรียน” ดร.ภัทรภร กล่าว
วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 เข้ามาเร่งการเรียนรู้ของทุกฝ่าย โดยเฉพาะครูผู้สอนที่ต้องปรับตัวให้เร็วและเรียนรู้เพื่อนักเรียนอยู่เสมอ
ดร.ภัทรภร เล่าว่าที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ มีการจัดชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพของอาจารย์และผู้บริหารโรงเรียนอยู่เสมอ โดยมีผู้เชี่ยวชาญมาจัดการอบรม อาทิ เรื่องการใช้สื่อเทคโนโลยี การตัดต่อวีดิโอ และแอปพลิเคชันที่เป็นประโยชน์
“การอบรมเหล่านี้ทำให้ครูเกิดการเรียนรู้ในเรื่องที่จำเป็น และยังเป็นโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกันระหว่างอาจารย์ที่อายุน้อยกว่าที่มีความเชี่ยวชาญเทคโนโลยี และอาจารย์อาวุโสที่มีเทคนิคการสอน บางครั้งนักเรียนก็เก่งด้านเทคโนโลยีกว่าครู ก็ช่วยสอนครูได้ด้วย เราสามารถเรียนรู้ไปด้วยกันได้ทั้งเด็กทั้งครู” ผศ.นวรัตน์ กล่าว
การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ยังคงมีความท้าทายอีกมาก แต่หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกัน การเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีวิตของเด็กๆ จะไม่มีวันสะดุด
“เมื่อครูต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อเรียนรู้และเตรียมการสอนออนไลน์ โรงเรียนก็สนับสนุนให้ครูมีเวลามากขึ้น โดยอาจจะลดภาระงานของครูลงบ้าง เช่น ลดการจัดกิจกรรมบางอย่างหรือการเข้าประชุมบางวาระ” ดร.ภัทรภร เสริมข้อคิดในเรื่องระบบที่จะช่วยเอื้ออำนวยให้ผู้สอนมีเวลาทุ่มเทกับการสอนมากขึ้น
ที่สุดแล้ว ผู้วัดผลการเรียนรู้ออนไลน์ที่ดีที่สุดคือนักเรียน
“โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ พยายามเปิดรับความคิดเห็นจากนักเรียนและมีการประเมินความเครียดของเด็กอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้ปรับปรุงให้เกิดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ภายใต้ข้อจำกัดมากมาย” ผศ.นวรัตน์ สรุป
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
คีเฟอร์น้ำเกสรดอกกุหลาบ เครื่องดื่มสุขภาพต้านอนุมูลอิสระ ผลงานนิสิตจุฬาฯ คว้าเหรียญทองระดับโลก
The Skinov’e นวัตกรรมสกินแคร์จากเปลือกกล้วยหอมทองปทุม ผลงานวิจัยจุฬาฯ ที่ทำให้สิวเป็นเรื่องกล้วยๆ
น้ำยายืดอายุกระดาษ นวัตกรรมจุฬาฯ อนุรักษ์เอกสารและภาพศิลปะโบราณให้คงสภาพอีกนานนับทศวรรษ
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้