รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
2 พฤศจิกายน 2564
ผู้เขียน ธิติรัตน์ สมบูรณ์
“ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน” งานวิจัยจากจุฬาฯ สะท้อนแรงงานยุคใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 แต่กลับไร้หลักประกันและการคุ้มครองสวัสดิภาพ วอนรัฐเร่งปฏิรูปกฎหมายแรงงาน
“นี่ไม่ใช่เพียงเรื่องอาชีพไรเดอร์ แต่เป็นโมเดลการจ้างงานในอนาคต” บางส่วนจากวงเสวนาวิชาการ “ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน” จัดโดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นวิกฤตแรงงานกลุ่มใหม่ หรือ Gig worker ที่แม้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่กลับขาดการคุ้มครองสวัสดิภาพใดๆ และถูกเอารัดเอาเปรียบจากฝ่ายนายจ้าง
อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิชาการศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำวิจัย “ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน ว่าด้วยสภาพการทำงานและหลักประกันทางสังคมของแรงงานส่งอาหารบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19” เผยปัญหาความเหลื่อมล้ำและไร้หลักประกันการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการใส่ใจจากทุกฝ่ายรวมถึงผู้บริโภค
รูปแบบความสัมพันธ์ด้านแรงงานระหว่างฝ่ายนายจ้างหรือแพลตฟอร์มออนไลน์กับลูกจ้างไรเดอร์แตกต่างไปจากรูปแบบการจ้างงานเหมาจ่ายที่คุ้นเคย และเปลี่ยนจากสถานประกอบการเป็นแพลตฟอร์มบนโทรศัพท์มือถือ (smartphone) ซึ่งหากมีปฏิสัมพันธ์กันบ้าง ก็เพียงการรับส่งคำสั่งทางออนไลน์เท่านั้น ค่าจ้างหรือรายได้จึงมาจากการทำงานรับจ้างส่งของตามคำสั่ง นั่นหมายถึง ยิ่งไรเดอร์ได้รับคำสั่งมากเพียงใด ก็หมายถึงจำนวนรายได้ที่เพิ่มขึ้นของไรเดอร์คนนั้นในแต่ละวัน
ด้วยเหตุนี้เอง รายได้ของไรเดอร์แต่ละคนจึงไม่แน่นอน ขึ้นลงตามสถานการณ์ในแต่ละวันที่ไม่อาจกำหนดได้ล่วงหน้า ซ้ำร้ายอำนาจต่อรองของไรเดอร์กลับต่ำเนื่องจากต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มเป็นประตูหลักของแหล่งรายได้ และถึงแม้คู่แข่งในสนามการค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์จะมีจำนวนไม่มาก แรงงานไรเดอร์เหล่านี้ก็ยังไม่มีทางเลือกที่ดีกว่า เนื่องจากแพลตฟอร์มแต่ละแห่งล้วนกำหนดเงื่อนไขการให้ค่าจ้างแก่ไรเดอร์ได้เอง ไม่มีกลไกรัฐกำหนดมาตรฐานค่ารับจ้างแต่อย่างใด มิพักต้องพูดถึงสวัสดิการแรงงานหรือการคุ้มครองสิทธิประโยชน์
อรรคณัฐ นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษาเผยว่าลักษณะการจ้างงานที่ยังไม่มีเกณฑ์การคุ้มครองแรงงานกลุ่มนี้ที่ได้มาตรฐานเหมือนแรงงานกลุ่มอื่นๆ ได้กลายเป็นโอกาสทองให้นายจ้างแพลตฟอร์มเอาประโยชน์อย่างต่อเนื่องจากไรเดอร์ ขณะที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็ยังเพิกเฉยต่อปัญหา
“1 ใน 3 ของไรเดอร์เคยประสบอุบัติเหตุระหว่างทำงาน ทำให้ต้องลาหยุดเพื่อพักรักษาตัว แต่การหยุดของแรงงานกลุ่มนี้กลับส่งผลกระทบต่อรายได้และการประเมินผลงานประจำเดือนเพื่อประกอบการต่อสัญญาจ้าง ส่วนประกันอุบัติเหตุ ฝ่ายนายจ้างก็จำกัดให้เฉพาะผู้ทำผลงานดีเท่านั้น เพราะฉะนั้น รูปแบบการจ้างงานลักษณะนี้จึงสร้างปัญหาในตัวมันเองเพราะไม่อาจให้หลักประกันสวัสดิภาพแรงงานเหล่านี้ได้เลย”
อรรคณัฐ กล่าวต่อไปว่าในอนาคต รูปแบบการจ้างงานแบบนี้จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมใช้บริการ แต่กฎหมายคุ้มครองลูกจ้างที่มีอยู่นั้นยังคลุมเครือ ไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่าสถานะแรงงานกลุ่มนี้เป็นแบบใด นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ทั้งเรื่องสวัสดิการและหลักประกันสังคม
ไรเดอร์จัดเป็นแรงงานอิสระหรือ “ฟรีแลนซ์” (freelancer) ประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่ผูกสถานะตัวเองกับองค์กรบริษัทใด โดยได้ค่าตอบแทนเป็นเงินรับจ้างตามเงื่อนไขในสัญญาจ้าง ไม่ใช่ค่าตอบแทนเหมาจ่ายรายเดือนเหมือนข้าราชการหรือพนักงานบริษัททั่วไป ลักษณะนี้เองที่ทำให้แรงงานกลุ่มใหม่นี้อยู่นอกกฎเกณฑ์ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
นักวิจัยจากสถาบันเอเชียศึกษาระบุว่าหากกลไกรัฐไม่ปรับปรุงเกณฑ์การคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงานให้ทันสมัยตามลักษณะเศรษฐกิจและความนิยมการจ้างงานในปัจจุบันที่เรียกว่า “Gig Economy” (การจ้างงานในระยะสั้น เช่น รูปแบบงานอิสระ ฟรีแลนซ์) ปมปัญหานี้ก็อาจขยายผลกระทบไปไกลกลายเป็นภัยต่อความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
“ฟรีแลนซ์ไรเดอร์ได้ค่าจ้างต่างจากฟรีแลนซ์จำพวกดีไซเนอร์อย่างมากเพราะใช้ทักษะความสามารถแตกต่างกันชัดเจน ฉะนั้น เวลาเกิดอุบัติเหตุกับไรเดอร์ พวกเขาจะเข้าไม่ถึงประกันสังคม ต้องดูแลตัวเอง ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง หากอ้างกฎหมายประกันสังคมมาตรา 33 หรือมาตรา 39 ที่ระบุคุ้มครองแรงงานแต่ในสถานประกอบการเท่านั้น ยิ่งหมดหวัง ทั้งๆ ที่ไรเดอร์เป็นแรงงานอิสระแบบหนึ่งที่แม้จะมีต้นสังกัดแต่กลับไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของแรงงาน ขณะที่มาตรา 40 สวัสดิการไม่จูงใจให้สมัคร” อรรคณัฐ กล่าว
ด้วยเหตุนี้ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันกับแรงงานไรเดอร์ ไม่ว่าจะตกงานหรือร่างกายไม่อาจทำงานได้ปกติ ย่อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ในระยะยาวจึงจำเป็นต้องยกเครื่องกฎระเบียบการคุ้มครองแรงงานโดยไม่ลืมคำนึงถึงแรงงานกลุ่มใหม่นี้ที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
ในต่างประเทศ วัฒนธรรมการรวมกลุ่มของแรงงานยังคงส่งผลโดยแต่ละกลุ่มจะช่วยเหลือกันและกันโดยอำนาจต่อรองจากฝ่ายสหภาพแรงงานยังทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แม้แต่หน่วยงานรัฐก็ยังให้ความคุ้มครองโดยทำหน้าที่ฟ้องร้องบริษัทเอกชนหากพบมูลว่ามีการจ้างงานโดยไม่เป็นธรรม เพราะฉะนั้น โอกาสที่บริษัทเอกชนคิดจะเอาเปรียบแรงงานกลุ่มนี้จึงน้อยลง
“สถานการณ์ไรเดอร์ไทยตอนนี้ อาจพูดได้ว่ายังไม่มีเจ้าภาพหลักในการลุกขึ้นมาปกป้องหรือแก้ไขกฎหมาย ฉะนั้น เฉพาะหน้า กระทรวงแรงงานน่าจะต้องมาขยับก่อน เอาให้ชัดว่าแรงงานกลุ่มนี้คืออะไร เป็นลูกจ้างประเภทไหน จะออกแบบหลักประกันทางสังคมให้ครอบคลุมกลุ่มนี้อย่างไรให้สอดคล้องกับหลักคุ้มครองแรงงาน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมทั้งหลักประกันสุขภาพที่เหมาะกับแรงงานกลุ่มนี้พึงเป็นเช่นไรที่จะไม่เป็นภาระแก่ประเทศในระยะยาว”
อรรคณัฐ สรุปผลการวิจัยโดยเน้นเสนอให้รัฐเริ่มต้นปฏิรูปกฎหมายแรงงาน อีกทั้งวอนทุกฝ่ายให้บูรณาการความร่วมมือเพื่อคลี่คลายปัญหา โดยเฉพาะผู้บริโภคที่ใช้บริการแรงงานเหล่านี้ ต้องเริ่มตระหนักและเข้าใจสถานการณ์การจ้างงานและเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันให้เกิดการดูแลสวัสดิภาพของเหล่าไรเดอร์
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้