Highlights

3 เทคนิคเพิ่มยอดขาย แปลงคุณค่าใหม่ให้สินค้าเดิม


การตลาดในปัจจุบันแข่งขันกันดุเดือดด้วยสินค้าบริการหลากหลาย อาจารย์ภาควิชาการตลาด จุฬาฯ แนะแนวทางง่ายๆ 3 วิธี ทำสินค้าและบริการให้โดดเด่น โดนใจผู้บริโภค เพิ่มมูลค่าและยอดขาย


ในยุคที่ใครๆ ก็เสนอขายสินค้าและบริการได้ เพียงเปิดหน้าร้านออนไลน์ เราจะเห็นสินค้าและบริการมากมายหลากหลายและคล้ายๆ กัน ทั้งจากผู้ขายหน้าเดิมและผู้ค้าหน้าใหม่ที่เติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงโรคระบาดโควิด-19

ผู้ค้าหน้าใหม่ที่อยากทำอาชีพเสริมเพิ่มรายได้อาจไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เราอยากเสนอขายนั้นมีอยู่มากมายแล้วในตลาด จะทำอย่างไรให้ขายของได้ ส่วนผู้ค้าหน้าเดิมก็อยากให้สินค้าตัวเองยังขายได้ไปต่อ ท่ามกลางบรรยากาศการตลาดที่แข่งขันสูงขึ้นอย่างนี้ จะทำอย่างไรให้สินค้าหรือบริการของเราเข้าตาและโดนใจผู้บริโภค? ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะ 3 แนวทางง่ายๆ ที่แบรนด์ในประเทศญี่ปุ่นทำแล้ว ช่วยสร้างความแตกต่างและความน่าสนใจให้สินค้าและบริการ โดนใจผู้บริโภคและเพิ่มยอดขาย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ

1. ชูจุดเด่นสินค้าบางอย่าง แล้วดันไปให้สุด

การมีสินค้าและบริการที่หลากหลายอาจเป็นจุดขายในอดีต แต่ในยุคที่ข้อมูลสินค้าท่วมท้น การนำเสนอสินค้าและบริการทุกอย่างที่มีในร้านก็อาจทำให้ผู้บริโภคเบลอและสำลักความเยอะได้ ผศ.ดร.กฤตนี แนะให้ผู้ขายเลือกหยิบสินค้าเด่นๆ เพียงไม่กี่อย่างขึ้นมาสร้างความแตกต่างให้ชัดเจน

 “ยกตัวอย่างธุรกิจร้านอาหาร ร้านเรามีเมนูหลายอย่างและอร่อยทุกอย่าง แต่เราจะนำเสนอสินค้าทั้งหมดไม่ได้ พฤติกรรมลูกค้าปัจจุบัน เมื่อคิดว่าจะทานอะไร เขาไม่ได้ค้นหาชื่อร้าน แต่จะเสิร์ชเมนูที่เขาอยากจะทานก่อน ถ้าเราทำเมนูได้หลายอย่างแต่เราทำไข่พะโล้อร่อยที่สุด ก็ลองเลือกนำเสนอโดยเน้นที่ไข่พะโล้อย่างเดียวและทำให้หลากหลาย เช่น เรามีไข่พะโล้ 6 ระดับ แบบไข่มะตูม ไข่สุก ไข่ดิบ ไข่พะโล้สไตล์จีน สไตล์ไต้หวัน สไตล์ไทย การทำแบบนี้จะทำให้เมนูของเราเก๋มากขึ้น ลูกค้าประทับใจได้มากขึ้น”

ผศ.ดร.กฤตนี ยกตัวอย่างศิลปินและผู้ประกอบการทำเครื่องปั้นดินเผาที่ญี่ปุ่น ที่เลือกนำเสนอเพียง “ถ้วยน้ำดื่ม” (ลักษณะคล้ายจอก) เป็นเครื่องเคลือบบางๆ สไตล์มินิมอล แล้วรีแบรนด์สินค้าให้เป็นที่จดจำสำหรับลูกค้า “แม้ศิลปินคนนี้จะมีสินค้ามากมาย แต่เขานำเสนอทั้งหมดไม่ได้ จึงเลือกโฟกัสแล้วเปลี่ยนคุณค่าใหม่ให้สินค้า หยิบจุดเด่นมานำเสนอว่าเป็นถ้วยที่สอดรับกับริมฝีปาก”  

ถ้วยดินเผาแบรนด์ iki
ถ้วยดินเผาแบรนด์ iki

แล้วสินค้าและบริการของคุณล่ะ? อะไรเป็นของเด่น ของดี ที่จะโดนใจลูกค้าและสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง?

2. สินค้าเดิม เพิ่มเติมคือวิธีใช้ที่แปลกใหม่

ยุคนี้ กระแสความนิยมมาเร็ว-ไปไว สินค้าที่เรามีขายอาจตกกระแสได้ในเวลาอันรวดเร็ว สินค้าที่เคยจำเป็นก็อาจจะไม่จำเป็นในชั่วพริบตา การทำให้สินค้าของเราอยู่ในใจผู้บริโภคต่อไป เราต้องพลิกมุมมองและนำเสนอวิธีการใช้สินค้าเดิมๆ ในรูปแบบใหม่ๆ

ผศ.ดร.กฤตนี ยกตัวอย่างแบรนด์เน็กไทจากประเทศญี่ปุ่นชื่อ “Giraffe” ที่นำเสนอวิธิใช้เน็กไทที่แตกต่างออกไป

เน็กไท แบรนด์ Giraffe
เน็กไท แบรนด์ Giraffe
(รูปภาพจาก https://giraffe-tie.com/)

“เขามีการจับคู่เน็กไทแบบ mix and match ให้ใส่อยู่ด้วยกันเพื่อเพิ่มความน่าสนใจ นำเสนอวิธีการผูกเน็กไทหลายแบบและไม่เหมือนใคร ตั้งชื่อสินค้าให้มีลูกเล่นมากขึ้น เช่น ซีรีส์เน็กไท 34 องศาแทนการบอกโทนอารมณ์เย็นๆ สบายๆ เป็นต้น นอกจากนั้นก็มีการเพิ่มเรื่องราวให้กับสินค้า ซึ่งทำให้สินค้าดูน่าสนใจและน่าใช้ขึ้นมา”  

ลองหาดูว่าสินค้าของเรามีวิธีการใช้แบบอื่นๆ ได้อีกหรือไม่? เราจะเล่นกับสินค้าของเราอย่างไรได้บ้าง?

3. ของแบบเดิม แต่ที่ต่างคือประสบการณ์ใหม่

สิ่งที่สำคัญสำหรับธุรกิจบริการ เช่น โรงแรม สายการบิน ร้านอาหาร คงหนีไม่พ้น “การสร้างประสบการณ์ที่ดีและน่าสนใจ” ให้ลูกค้า ซึ่งธุรกิจของเราจะโดดเด่นจากคู่แข่งได้ก็ต่อเมื่อเรามอบประสบการณ์ที่แปลกใหม่และแตกต่างให้ลูกค้า

ผศ.ดร.กฤตินี ยกกรณีศึกษาที่น่าสนใจคือร้านขายเต้าหู้ “Kanoya Tofu” ในจังหวัดฟุกุชิม่า ประเทศญี่ปุ่น รสชาติเต้าหู้ที่ร้านนี้ไม่ต่างจากร้านอื่นมากนัก แต่ที่พิเศษและแตกต่างจากร้านขายเต้าหู้อื่นๆ คือที่นี่เปิดให้ลูกค้าเข้ามาทำเต้าหู้ด้วยตัวเอง!

ร้านขายเต้าหู้ Kanoya Tofu
ร้านขายเต้าหู้ Kanoya Tofu

“ลูกค้าจะรู้สึกสนุกที่ได้มีประสบการณ์ในการลองกวนน้ำเต้าหู้แล้วลองหั่นเต้าหู้จริงๆ จากปกติที่ร้านนี้ขายเต้าหู้ในราคา 600 เยน เมื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ เขาสามารถขายเต้าหู้ก้อนหนึ่งได้ถึง 3,000 เยน และทำให้ลูกค้าอิ่มเอมใจด้วย” ผศ.ดร.กฤตินี เล่า

“นี่เป็นวิธีการนำเสนอบริการแบบใหม่ที่แทบไม่ต้องทำอะไรมากเลย” ผศ.ดร.กฤตินี กล่าวและแนะนำต่อไปอีกว่า “ใครที่มีห้องทำงานที่อาจจะเปิดให้เด็กๆ หรือผู้สนใจเข้ามาทดลองมีประสบการณ์บางอย่างของอาชีพเราได้ ก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่เราจะเพิ่มรายได้ให้กับสิ่งที่ทำอยู่แล้วก็ได้”

เทคนิคการทำสินค้าให้น่าสนใจและขายได้-ขายดีนั้นมีหลายรูปแบบ เราไม่จำเป็นต้องหาสินค้าหรือสร้างบริการใหม่ เพียงมองหาวิธีการหรือมุมที่จะเติมคุณค่าใหม่ๆ ให้กับของที่มีอยู่แล้ว สิ่งสำคัญคือรู้ให้ชัดว่า “ลูกค้าของเราเป็นใคร แล้วหาวิธีขายสินค้าหรือบริการในรูปแบบใหม่ๆ ที่ตรงใจลูกค้า” ผศ.ดร.กฤตินี กล่าวทิ้งท้าย

รับฟังและชมรายการ “Innovative Wisdom” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ ตอน แปลงสินค้าอย่างไรให้ขายได้ สร้างคุณค่าใหม่ให้สินค้าเดิม หรือตอนอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้ทางวิทยุจุฬาฯ https://youtu.be/94jKcXsNhwI

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า