Highlights

แพทย์จุฬาฯ วิจัยสำเร็จ! โมเลกุลมณีแดง ย้อนวัย ต้านเซลล์ชรา


แพทย์จุฬาฯ วิจัยสำเร็จใช้โมเลกุลมณีแดง (REjuvenating DNA by GEnomic Stability Molecules (RED-GEMs)) เปลี่ยนเซลล์แก่ชราในสัตว์ทดลองให้อ่อนเยาว์ขึ้น เล็งทดสอบในมนุษย์อีก 2 ปีข้างหน้า รักษาโรคต่างๆ ที่เกิดจากเซลล์แก่ชราและคืนความอ่อนเยาว์ ตอบโจทย์สังคมสูงวัย


ยาอายุวัฒนะหรือยาชะลอความแก่เป็นยอดปรารถนาของมนุษย์มายาวนาน ตำนานในหลายวัฒนธรรมต่างบอกเล่าเรื่องราวที่สะท้อนความพยายามของมนุษย์ในการที่จะอยู่ยงคงกระพัน แบบ “สาวหรือหนุ่มสองพันปี” ทั้งอายุยืนและอ่อนวัยอยู่เสมอ

ในวันนี้ ตำนานเหล่านั้นดูจะใกล้ความเป็นจริงขึ้นมาทุกที ด้วยสิ่งที่เรียกว่า “โมเลกุลมณีแดง” หรือ REDGEMs อันย่อมาจาก REjuvenating DNA by GEnomic Stability Molecules ซึ่ง ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิวัฒน์ มุทิรางกูร หัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค้นพบจากผลงานการวิจัยวิทยาศาสตร์พันธุกรรมในโครงการ “การพัฒนานวัตกรรมใหม่ในทางการแพทย์ที่มีมูลค่าและคุณค่าสูง : ฟื้นฟูภาพดีเอ็นเอโดยโมเลกุลที่ทำให้จีโนมเสถียร และการตรวจกรองมะเร็งจากโปรตีนหรืออาร์เอ็นเอในเม็ดเลือดขาว” และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง13

โมเลกุลมณีแดงมีคุณสมบัติในการย้อนวัยที่ดีเอ็นเอ เป็นกลไกสำคัญที่จะใช้แก้ปัญหาสุขภาพในสังคมสูงวัยได้และมีศักยภาพในการเพิ่มรายได้ให้ประเทศไทยด้วย” ศ.นพ.อภิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอณูพันธุศาสตร์และสภาวะเหนือพันธุกรรม กล่าว

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอณูพันธุศาสตร์และสภาวะเหนือพันธุกรรม
ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิวัฒน์ มุทิรางกูร

โมเลกุลมณีแดงย้อนวัย และ DNA แก่ชรา

การค้นพบ “Replication independent endogenous DNA double strand breaks 1” ซึ่งมีลักษณะเป็นข้อต่อดีเอ็นเอ (DNA gap) ที่มีปริมาณน้อยในเซลล์ชรา เป็นกุญแจดอกสำคัญที่ไขความรู้สู่การต้านวัยชรา

“ในดีเอ็นเอจะมีรอยแยก (Youth DNA Gap) อยู่บริเวณที่มีดีเอ็นเอแมดทิเลชัน (DNA methylation) อันเป็นที่มาของโมเลกุลมณีแดง ซึ่งมีบทบาทในการช่วยปกป้องดีเอ็นเอและป้องกันความแก่ชราในยีนส์” ศ.นพ.อภิวัฒน์ อธิบาย

“เมื่อมนุษย์อายุมากขึ้น รอยแยกดีเอ็นเอจะลดลง ทำให้เกิดแรงตึงทั่วสายของดีเอ็นเอ ดีเอ็นเอไม่สามารถหมุนตัวได้อย่างปกติและถูกทำลายได้ง่าย เราจึงพบรอยโรคในดีเอ็นเอของเซลล์ที่แก่ชราแล้วเยอะขึ้น ซึ่งรอยโรคดีเอ็นเอนี้จะส่งสัญญาณให้เซลล์หยุดการแบ่งตัวตามปกติ และเข้าสู่ความแก่ชรา รวมถึงอาจนำไปสู่การกลายพันธุ์และมะเร็งได้”  

แสดงเปรียบเทียบดีเอ็นเอนเด็กและผู้สูงวัย
ทฤษฎีต้นน้าของความชรา และการแก้ไขแบบเบ็ดเสร็จ

นอกจากนี้ ศ.นพ.อภิวัฒน์ เสริมว่ารอยโรคในดีเอ็นเอของเซลล์แก่ชรายังสัมพันธ์กับการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น ความดันโลหิตสูง กระดูกผุ สมองเสื่อม รวมถึงเป็นเหตุให้ร่างกายเสื่อมประสิทธิภาพในการซ่อมแซมตัวเอง มีผลให้แผลของผู้ป่วยเบาหวานหรือแผลไฟไหม้หายยาก เป็นต้น

“โมเลกุลมณีแดงช่วยเพิ่มข้อต่อดีเอ็นเอ ลบรอยโรคของดีเอ็นเอ แก้ไขความชราของเซลล์ได้” ศ.นพ.อภิวัฒน์ อธิบายสรรพคุณของโมเลกุลมณีแดง (RED GEMs)  

ต้านวัยชรา ในหนูทดลองได้สำเร็จ!

ศ.นพ.อภิวัฒน์ เล่าถึงการวิจัยโมเลกุลมณีแดงกับหนูทดลอง 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกเป็นหนูอายุ 7 เดือน กลุ่มที่สองเป็นหนูอายุ 30 เดือน กลุ่มที่ 3 เป็นหนูที่อายุ 30 เดือนที่ได้รับโมเลกุลมณีแดง

“นักวิจัยจะย้อมเซลล์ชราให้เป็นสีน้ำเงิน จะเห็นว่าหนูวัย 7 เดือนไม่ค่อยมีเซลล์ชรา ในขณะที่หนูที่ชราแล้ว (30 เดือน) จะมีเซลล์ชราเต็มตับ ส่วนหนูชราที่ได้รับมณีแดงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 2 เดือน เซลล์ชราในตับจะลดลง” ศ.นพ.อภิวัฒน์ เผย

“การทดลองนี้ไม่ใช่การทำลายเซลล์ชรา แต่เป็นการเปลี่ยนเซลล์ที่ชราแล้วให้กลับมาเป็นเซลล์ที่ทำงานได้ตามปกติ นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าสมองของหนูชราที่ได้รับมณีแดงกลับมาดีขึ้น”

รูปประกอบการวิจัยโมเลกุลมณีแดง
ภาพเซลล์ชราในตับหนู 3 ตัว

ในการทดลองยังพบด้วยว่าโรคที่พบในเซลล์ชรา เช่น โปรตีนที่พบในเซลล์ชรา (senescence associated proteins) ไขมันในช่องท้อง (visceral fat) พังผืดในตับ (liver fibrosis) ลดลง ในขณะที่รอยแยกดีเอ็นเอ (Youth-DNA-GAP) เพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่าเซลล์มีความอ่อนวัยขึ้น นอกจากนี้ การทดลองมณีแดงกับหนูที่เป็นแผลไฟไหม้และหนูที่มีแผลเบาหวาน ก็ได้ผลน่าพอใจ คือ แผลสมานเร็ว และทำให้เนื้อหมูนุ่มแน่นขึ้น

ศ.นพ.อภิวัฒน์ กล่าวว่าเมื่อเปรียบเทียบผลการศึกษายาต่างๆ ในต่างประเทศ ยังไม่พบยาอะไรที่สามารถย้อนวัยได้สมบูรณ์เท่าโมเลกุลมณีแดง

ศักยภาพและโอกาสของโมเลกุล มณีแดง ยาต้านแก่

จากการวิจัย ศ.นพ.อภิวัฒน์ กล่าวว่าโมเลกุลดีเอ็นเอมีศักยภาพและโอกาสในการส่งเสริมสุขภาพในหลายด้าน อาทิ

  1. ช่วยเพิ่มข้อต่อดีเอ็นเอ ทำให้ดีเอ็นเอชราคืนความหนุ่มสาว ลบรอยโรคในดีเอ็นเอ
  2. รักษาโรคที่มีกลไกมาจากเซลล์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะเสื่อมสภาพที่พบในคนแก่ชราหรือแก่ชราเร็วจากโรคบางชนิด เช่น เบาหวาน และโรคที่ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ หัวใจวาย ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดแข็ง การเสื่อมสมรรถภาพในอวัยวะต่าง ๆ เป็นต้น
  3. รักษาโรคที่อวัยวะเสื่อมสภาพจาก อาทิ ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ปอดพังจากบุหรี่ ตับสมองพังจากสุรา ไตพังจากสารพิษ เป็นต้น
  4. อาจใช้ป้องกันและรักษามะเร็งได้ (โดยการแก้ไขความแก่ชราของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่ทำลายเซลล์มะเร็ง และป้องกันมะเร็งจากการลดโอกาสเกิดการแตกทำลายของเอ็นเอ อันนำไปสู่การกลายพันธุ์ของยีน)
  5. ชะลอการเสื่อมของร่างกายในเด็กที่มีความผิดปกติของยีนซ่อมแซมดีเอ็นเอ
  6. ใช้เสริมความงาม ช่วยให้ผิวพรรณและรูปร่างอ่อนกว่าวัย
  7. ใช้เพิ่มผลิตผลทางการเกษตร เช่น ยึดอายุ การให้นมในวัว การให้ไข่ในไก่ หรือทำให้เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ นุ่มแน่นขึ้น เป็นต้น
  8. ใช้ป้องกันความพิการแต่กำเนิด เนื่องจากความพิการแต่กำเนิดอาจมีกลไกจากความไม่เสถียรของจีโนม
ผลการวิจัยการใช้โมเลกุลมณีแดง
ศักยภาพของมณีแดง

ก้าวต่อไปของยาอายุวัฒนะ “โมเลกุลมณีแดง”

หลังจากประสบความสำเร็จในการทดลองใช้โมเลกุลมณีแดงในหนูทดลองจนเป็นที่น่าพอใจแล้ว ทีมวิจัยวางแผนจะนำมณีแดงไปทดสอบในสัตว์ใหญ่ อย่าง ลิงแสม เพื่อดูผลการรักษาในระยะยาว ก่อนที่จะเริ่มการทดสอบในมนุษย์ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า

“ปัจจุบัน เรายังเปิดรับองค์กรและผู้ร่วมทำวิจัยในระดับ Translational research หรือระดับสูงขึ้นไปถึงระดับคลินิก เทคโนโลยีในการผลิตมณีแดงนั้นไม่ยากและต้นทุนไม่สูง ผมหวังว่าโมเลกุลมณีแดงเป็นกลไกสำคัญที่จะใช้แก้ปัญหาสุขภาพในสังคมสูงวัย มณีแดงมีศักยภาพเชิงวิทยาศาสตร์การแพทยที่สามารถเพิ่มรายได้ให้ประเทศไทยด้วย” ศ.นพ.อภิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

ผู้สนใจร่วมสนับสนุนต่อยอดการวิจัยโมเลกุลมณีแดง ติดต่อที่ ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ชั้น 11 อาคารแพทยพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่อีเมล์: apiwat.mutirangura@gmail.com หรือโทร : 0-2256-4751, 0-2256-4278

อ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่ https://bit.ly/30nlYpS

การรับบริจาคเข้ากองทุนมณีแดง​
ร่วมบริจาคเพื่อสนับสนุนกองทุนมณีแดงเพื่อแก้ไขความไม่เสถียรของดีเอ็นเอ

รายการอ้างอิง

1. ค้นพบรอยแยกดีเอ็นเอ
Pornthanakasem W, Kongruttanachok N, Phuangphairoj C, Suyarnsestakorn C, Sanghangthum T, Oonsiri S, Ponyeam W, Thanasupawat T, Matangkasombut O, Mutirangura A: LINE-1 methylation status of endogenous DNA double-strand breaks. Nucleic Acids Research 2008, 36(11):3667-3675.

2. ที่มา มณีแดง Molecular Scissors
Thongsroy J, Matangkasombut O, Thongnak A, Rattanatanyong P, Jirawatnotai S, Mutirangura A: Replication-Independent Endogenous DNA Double-Strand Breaks in Saccharomyces cerevisiae Model. Plos One 2013, 8(8).

3. บทบาทรอยแยกดีเอ็นเอปกป้องดีเอนเอและป้องกันความชราในยีสต์
Thongsroy J, Patchsung M, Pongpanich M, Settayanon S, Mutirangura A. Reduction in replication-independent endogenous DNA double-strand breaks promotes genomic instability during chronological aging in yeast. FASEB J. 2018:fj201800218RR.

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า