Highlights

หน้ากากอนามัยใช้แล้ว การกำจัดขยะติดเชื้อที่ต้องจัดการให้ถูกวิธี จุฬาฯ วอนทุกฝ่ายร่วมมือ


อาจารย์วิศวฯ จุฬาฯ เสนอการกําจัดขยะติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัยและชุดตรวจ ATK ที่ใช้แล้ว ลดการใช้และเลือกใช้หน้ากากแบบใช้ซ้ำได้ แยกใส่ถุงขยะติดเชื้อก่อนนำส่งสู่ระบบการกําจัดขยะติดเชื้อที่ไม่สร้างมลพิษ ลดปัญหาขยะติดเชื้อล้นโลก


การรณรงค์สวมหน้ากากอนามัยได้ผลเป็นอย่างดี ผู้คนสวมหน้ากากเป็นนิสัยและใช้กันทุกวันเมื่อต้องอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคได้ แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือปริมาณขยะหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งเฉพาะประเทศไทยก็คาดว่าจะมีหน้ากากอนามัยใช้แล้วที่ถูกทิ้งเป็นขยะราว 1.5 ถึง 2 ล้านชิ้นต่อวัน

ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

เผยผลวิจัยที่ชี้ว่าเชื้อโควิด-19 สามารถมีชีวิตอยู่บนพลาสติกประเภทพอลิเอทิลีนที่เป็นส่วนประกอบของหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง (Disposable mask) ได้นานถึง 7 วัน 

“เราไม่รู้ว่าสารคัดหลั่งที่ติดบนหน้ากากมีเชื้อโควิด-19 ติดมาหรือไม่ ทำให้เราต้องประเมินไว้ก่อนว่าหน้ากากอนามัยที่ผ่านการใช้แล้วเป็นขยะติดเชื้อทั้งหมด ซึ่งจำเป็นต้องมีวิธีการกำจัดที่เหมาะสม เพราะถ้าทำไม่ถูกต้อง นอกจากจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคแล้ว ยังส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวด้วย โดยเฉพาะระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งมีการคาดการณ์เมื่อปี 2563 ว่ามีหน้ากากอนามัยใช้แล้วเกือบ 1.6 พันล้านชิ้นถูกทิ้งในมหาสมุทร” ศ.ดร.พิสุทธิ์ เน้นความสำคัญของการจัดการปัญหาขยะติดเชื้อ พร้อมเสนอหลัก 5C 1S ที่ทุกฝ่ายสามารถร่วมกันแก้ปัญหาได้ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางอย่างครบวงจร

Revealer the results of research on the use of masks and developing the concept of reducing infectious waste
ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล
รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

Conserve  & Share รู้ใช้หน้ากากและใส่ใจสังคม 

ศ.ดร.พิสุทธิ์ อธิบายแนวคิด “Conserve” ว่าหมายถึงการเลือกใช้หน้ากากอนามัยแบบที่สามารถใช้ซ้ำได้ อย่างหน้ากากอนามัยที่ทำด้วยผ้า และการลดการเดินทางออกไปอยู่ในพื้นที่สาธารณะเพื่อลดการเกิดขยะติดเชื้ออย่างขยะหน้ากากอนามัยได้

“มีผลวิจัยที่บอกว่าการใส่หน้ากากอนามัยสองชั้นจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ แต่การใช้หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง(แบบหน้ากากทางการแพทย์) ทั้งสองชั้น นอกจากจะสิ้นเปลืองแล้ว ยังก่อให้เกิดขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้น” 

ศ.ดร.พิสุทธิ์ กล่าวถึงคำแนะนำจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) ในเรื่องการใช้หน้ากากอนามัยสองชั้นว่า “ให้เอาหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งอยู่ข้างใน แล้วสวมทับด้วยหน้ากากผ้าที่มีความกระชับแนบกับใบหน้าอยู่ด้านนอกจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรคสูงถึง 80%” 

The chart shows the effectiveness of using a double mask.
แผนภูมิแสดงประสิทธิภาพของการใช้หน้ากากสองชั้น

ส่วนแนวคิด “Share” คือการคิดถึงคนอื่นและใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นหน้ากากอนามัยใช้แล้วให้ถูกต้อง 

“ควรพับหน้ากากที่ใช้แล้วก่อนทิ้งเสมอเพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อโรคให้ผู้อื่น”

ศ.ดร.พิสุทธิ์ ยกตัวอย่างการแชร์ข้อมูลในโลกโซเซียลที่แนะให้ทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้วในขวดน้ำดื่มพลาสติก หรือขวด PET 

งดใช้ขวดน้ำพลาสติก PET ในการบรรจุหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว
งดใช้ขวดน้ำพลาสติก PET ในการบรรจุหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว

“เรื่องนี้ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่งด้วยเหตุผลสำคัญ 3 ประการ ประการแรก ขวดพลาสติก PET รีไซเคิลได้ แต่เมื่อนำมาใส่ขยะติดเชื้อก็จะทำให้ขวดพลาสติกนั้นกลายเป็นขยะติดเชื้อไปด้วย ต้องถูกกำจัดแบบขยะติดเชื้อและไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ 

“ประการที่สอง เมื่อต้องกำจัดขยะขวดพลาสติกติดเชื้อ ก็ต้องกำจัดด้วยการเผา และการเผาขวดพลาสติกก็เท่ากับสร้างมลพิษเพิ่มมากขึ้น ประการสุดท้าย ขวดพลาสติกมีราคา ผู้คัดแยกขยะที่อยากขายขวดก็ต้องเอาหน้ากากอนามัยใช้แล้วออกจากขวดก่อน ซึ่งเป็นการกระจายเชื้อโควิด-19 ได้” 

Contain & Convey แยกและเก็บขยะติดเชื้อให้มิดชิด ก่อนส่งกำจัด

วิธีการจัดการขยะติดเชื้อ อย่างหน้ากากอนามัยและชุดตรวจ ATK ที่ใช้กันตามบ้านจะต้องคัดแยกออกจากขยะมูลฝอยประเภทอื่นๆ อย่างเด็ดขาด ศ.ดร.พิสุทธิ์ เน้น

“การทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วลงไปกับขยะทั่วไปจะทำให้ขยะทั่วไปกลายเป็นขยะติดเชื้อไปด้วยทั้งหมด เป็นการเพิ่มปริมาณขยะติดเชื้อให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งต้องกำจัดโดยวิธีกำจัดขยะติดเชื้อแทนการกำจัดขยะแบบปกติ”  

ศ.ดร.พิสุทธิ์ แนะการแยกและทิ้งชุดตรวจ ATK เป็น 2 ส่วน 

  1. ส่วนที่ไม่เป็นขยะติดเชื้อ ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ที่ใส่ชุดตรวจ เช่น กล่องกระดาษใส่ชุดตรวจ หลอดน้ำยาที่บรรจุน้ำยาชุดตรวจ ซึ่งสามารถกำจัดได้เหมือนขยะมูลฝอยทั่วไป และส่วนใหญ่จะเป็นขยะรีไซเคิล 
  1. ส่วนที่เป็นขยะติดเชื้อ ได้แก่ ไม้สำลีปั่น หลอดผสมน้ำยา และแถบวัดผล ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้เมื่อใช้แล้วต้องจัดการทิ้งให้ถูกต้องคือเอาไม้สำลี หลอดผสมน้ำยา แถบวัด ใส่ถุงพลาสติกแล้วเขียนหน้าถุงว่า “ขยะติดเชื้อ” ก่อนนำไปทิ้งในถังสีแดง ที่มีสัญลักษณ์ขยะติดเชื้อโดยเฉพาะ
How to dispose of the ATK test kit.
วิธีการทิ้งชุดตรวจ ATK

ศ.ดร.พิสุทธิ์ แนะว่าควรทิ้งขยะติดเชื้อในบรรจุภัณฑ์ที่ระบุชัดเจนว่าเป็นขยะติดเชื้อ เช่น ถุงแดงที่เป็นถุงขยะสำหรับขยะติดเชื้อโดยเฉพาะเพื่อให้ขยะติดเชื้อเข้าสู่ขบวนการจัดการได้เหมาะสมยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ รถขนส่งขยะติดเชื้อ (Convey) ก็ต้องมีการออกแบบเป็นพิเศษโดยมีคุณสมบัติ อาทิ 

  • ตัวถังรถปิดทึบ ผนังบุด้วยวัสดุทนทาน ทำความสะอาดง่าย 
  • มีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายกับผู้ขับขี่และผู้ปฏิบัติงานประจำยานพาหนะมูลฝอยติดเชื้อ
  • ทำความสะอาดรถขนขยะติดเชื้ออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
  • ติดข้อความสีแดงที่สามารถมองเห็นชัดเจนที่ภายนอกตัวถังว่า “เฉพาะขนมูลฝอยติดเชื้อ” 

“สิ่งเหล่านี้เป็นขั้นตอนการขนขยะติดเชื้อเข้าสู่กระบวนการกำจัดที่ถูกต้องและจะช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” ศ.ดร.พิสุทธิ์ กล่าว 

Combustion & Complete เผาขยะติดเชื้อโรคอย่างปลอดมลพิษ 

วิธีการกำจัดขยะติดเชื้อที่ดีที่สุดคือการเผา ซึ่งต่างจากการเผาขยะอื่นๆ ทั่วไป ศ.ดร.พิสุทธิ์ อธิบายว่าขยะติดเชื้อต้องผ่านการเผา 2 ขั้นตอนด้วยกัน โดยเริ่มที่เตาเผาแรกที่อุณหภูมิอย่างน้อย 760 องศาเซลเซียสเพื่อฆ่าเชื้อโรค แล้วต่อด้วยเตาเผาที่สองเพื่อกำจัดมลพิษที่เกิดจากเตาเผาแรก 

“การเผาไหม้ขยะที่อุณหภูมิสูงจะก่อให้เกิดมลพิษเสมอ เราจึงต้องใช้เตาเผาที่สองที่อุณหภูมิสูงถึง 1000 องศาเซลเซียสเพื่อเผาก๊าซพิษที่หลงเหลืออยู่ หลังจากเผาขยะติดเชื้อ อากาศที่หลงเหลืออยู่ในเตาเผาสุดท้ายต้องต่อเข้ากับระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ เพื่อให้อากาศที่จะปล่อยออกมาสะอาด ปลอดมลพิษ” ศ.ดร.พิสุทธิ์ เล่าถึงกรรมวิธีในการกำจัดขยะติดเชื้อ

Chart of the correct method of disposing of infectious waste
แผนภูมิการวิธีการกำจัดขยะติดเชื้อที่ถูกต้อง

นอกจากนี้ การจัดการขยะติดเชื้ออย่างครบวงจรยังมีเรื่องการกำจัดเถ้าหนัก เถ้าลอย ที่เกิดจากการเผาไหม้ทั้งสองเตาเผา โดยเถ้าหนักก็ใช้วิธีกลบฝัง ส่วนเถ้าลอยก็ไปใช้ทำเป็นอิฐมวลเบา 

“ทั้งหมดคือกระบวนการกำจัดขยะติดเชื้อที่มีขั้นตอนที่สมบูรณ์แบบโดยที่ไม่มีการปล่อยมลพิษหรือของเสียออกมาสู่โลกของเรา”

ศ.ดร.พิสุทธิ์ กล่าวย้ำว่าทุกฝ่ายล้วนมีส่วนช่วยลดปัญหาขยะติดเชื้อได้ตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งคือพวกเราทุกคนที่ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย เลือกใช้หน้ากากที่ใช้ซ้ำได้ แยกขยะติดเชื้อและทิ้งให้ถูกวิธี จากนั้นการจัดการที่เหลือก็เป็นส่วนที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันทำให้เหมาะสมและครบวงจร  

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า