รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
21 มกราคม 2565
คนไทยจำนวนมากป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับหู ทั้งที่ไม่ทราบสาเหตุ และมีเหตุจากการสัมผัสเสียงดังต่อเนื่อง เครียดจัดอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดเสียงรบกวนในหู แพทย์จุฬาฯ เผยแนวทางการรักษาและนวัตกรรมเครื่องช่วยฟังที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“เวียนหัว บ้านหมุน มีเสียงดังในหูตลอดเวลา ความสามารถทางการได้ยินลดลง” เหล่านี้เป็นอาการส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับ“หู” ซึ่งคนไทยจำนวนไม่น้อยกำลังประสบปัญหาอยู่ จากข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อ 31 ธันวาคม 2563 ประเทศไทยมีผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินมากถึง 391,785 คน สูงเป็นอันดับ 2 รองจากผู้มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย และกลุ่มเฟซบุ๊ก“ชมรมคนหูดับ เส้นประสาทหูเสื่อม” ที่มีสมาชิกกว่า 6,600 คนแล้ว
หลายโรคเกี่ยวกับหูเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุและยังไม่มีหนทางรักษาให้หายขาด หลายโรคมีสาเหตุจากพฤติกรรม อารมณ์ และสภาพแวดล้อมที่อาจหลีกเลี่ยงและป้องกันได้หากมีอาการผิดปกติในการได้ยินแล้ว ควรรีบมาพบแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกทางและทันท่วงทีเพื่อเพิ่มโอกาสฟื้นประสิทธิภาพการได้ยินให้กลับมาอีกครั้ง และหากยังได้ยินเสียงต่างๆ เป็นปกติดีอยู่ ก็ควรใส่ใจดูแลหูให้ดีๆ
“หู” เป็นอวัยวะสำคัญ มีหน้าที่หลักในการได้ยินเสียงและการทรงตัวของร่างกายหากการทำงานของหูผิดปกติย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน บั่นทอนคุณภาพชีวิตทำให้เกิดความเครียดและวิตกกังวล จิตตก ท้อแท้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พญ.ภาณินี จารุศรีพันธุ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคทางหู ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับส่วนประกอบของหูว่ามี 3 ส่วน ได้แก่
1. หูชั้นนอก ได้แก่ ส่วนของใบหู รูหู และเยื่อแก้วหู
2. หูชั้นกลาง เป็นเหมือนห้องสี่เหลี่ยม มีกระดูก 3 ชิ้น คือ กระดูกค้อน ทั่ง และโกลนทำหน้าที่หลักเกี่ยวกับการได้ยิน
3. หูชั้นใน อยู่ลึกสุด ไม่สามารถมองเห็นได้จากการส่องตรวจหู ประกอบด้วยส่วนที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินและการทรงตัว
ผศ.พญ.ภาณินีกล่าวว่าปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 ที่ทำให้ประสาทหูเสื่อมคือการสัมผัสเสียงที่ดังมากๆ อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน นอกจากนี้ยังเกิดจากศีรษะได้รับการกระแทกบ่อยๆ รวมถึงการรับประทานยาบางชนิดที่อาจส่งผลต่อการได้ยินและการทรงตัว
ผู้ป่วยโรคทางหูที่มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีอาการที่แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ
ทั้งสองกลุ่มอาการบ่งชี้โรคทางหูที่พบได้บ่อย 4 โรค ได้แก่
1. น้ำในหูไม่เท่ากัน เกิดจากการที่ร่างกายสร้างน้ำในหูชั้นในมากผิดปกติหรือมีการระบายน้ำในหูได้น้อยลง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ที่เป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากันจะมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน เป็นเวลา 20 นาทีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 12 ชั่วโมง และมีอาการบ้านหมุนมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป มีระดับการได้ยินลดลงในหูข้างที่เป็นโรค โดยจะสูญเสียการได้ยินเสียงที่ความถี่ต่ำ (เสียงทุ้ม) มีเสียงรบกวนในหูในลักษณะต่างๆ เสียงรบกวนในหูอาจจะดังบ้าง เบาบ้าง มีอาการแน่นหู หูอื้อ ระดับการได้ยินขึ้นๆ ลงๆ
2. ตะกอนหินปูนในหูหลุดพบมากกว่าอาการน้ำในหูไม่เท่ากันเกิดจากผลึกหินปูนในหูชั้นใน ซึ่งมีส่วนประกอบเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต ทำหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาการทรงตัวของร่างกาย มีการเคลื่อนหลุดออกจากตำแหน่งเดิม ทำให้เวลาที่เราเคลื่อนไหวร่างกายในท่าต่างๆ หินปูนที่หลุดออกมาจะกลิ้งไปตามการขยับของศีรษะ ส่งผลให้เกิดอาการเวียนหัว บ้านหมุนสัมพันธ์กับการขยับศีรษะระยะเวลาในการเกิดอาการบ้านหมุนส่วนใหญ่ไม่เกิน 1 นาที
3. การสูญเสียการได้ยินแบบประสาทหูเสื่อมเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับการได้ยินลดลง ส่วนหนึ่งเป็นความเสื่อมที่เกิดขึ้นตามวัยและยากที่จะฟื้นตัวกลับมาเหมือนเดิม เกิดจากความเสื่อมสภาพของเซลล์ประสาทหูชั้นในทำให้การได้ยินลดลง และบางรายอาจมีอาการเสียงรบกวนในหู (Tinnitus) ซึ่งมีกลไกการเกิดที่ค่อนข้างซับซ้อน
“คนไข้ที่ได้ยินเสียงรบกวนในหูซึ่งเป็นเสียงที่ไม่มีความหมาย เช่น เสียงวี้ด เสียงซ่า เสียงคล้ายจิ้งหรีด ฯลฯ กลไกการได้ยินปกติเกิดจากเมื่อเสียงภายนอกเข้ามาในหู หูชั้นในจะเปลี่ยนพลังงานเสียง ให้เป็นกระแสประสาทส่งไปยังสมองส่วนที่เกี่ยวกับการได้ยิน สมองจะรับรู้และแปลความหมายเสียงนั้น ถ้าหูชั้นในมีการเสื่อมสภาพจะไม่สามารถเปลี่ยนพลังงานเสียงให้เป็นกระแสประสาทที่ดีได้ ทำให้สมองส่วนที่เกี่ยวกับการได้ยินได้รับกระแสประสาทที่มีผิดเพี้ยนหรือไม่ครบถ้วนไป เมื่อสมองรับรู้ว่าเกิดความผิดปกติขึ้น สมองจะทำงานเพิ่มขึ้น (Hyperactivity) เพื่อแก้ปัญหา ส่งผลให้เกิดการสร้างเสียงรบกวนสะท้อนกลับมาให้ได้ยิน ซึ่งบางคนได้ยินเสียงรบกวนดังในหูตลอดเวลา บางคนได้ยินเป็นครั้งคราว” ผศ.พญ.ภาณินี อธิบาย
“ในเวลาที่มีความเครียด เหนื่อย พักผ่อนน้อย หรืออยู่ในที่เงียบๆ เช่น เวลานอน อาจจะทำให้เสียงรบกวนในหูดังเพิ่มขึ้น” นอกจากนี้ยังมีเสียงดังในหูอีกแบบหนึ่งซึ่งดังเป็นจังหวะและบุคคลรอบข้างอาจได้ยินหรือตรวจพบเสียงรบกวนด้วย ได้แก่ เสียงดังในหูตามจังหวะชีพจรซึ่งเกิดจากโรคที่เกี่ยวกับเส้นเลือด หรือเสียงที่เกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณหูมีการกระตุก ซึ่งผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจรักษา
4. ประสาทหูดับฉับพลันเป็นอีกหนึ่งโรคทางหูที่สร้างความวิตกกังวลแก่ผู้ป่วยอย่างมาก มักจะเกิดกับหูข้างใดข้างหนึ่งที่ได้ยินเสียงเบาลงทันทีในระยะเวลา 72 ชั่วโมง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด มีทั้งทฤษฎีเกี่ยวกับการอุดตันของหลอดเลือดเส้นเล็กๆ ที่ไปเลี้ยงที่หูหรือเกิดจากไวรัสโจมตีเส้นประสาทเกี่ยวกับการได้ยิน ถ้ามีประวัติศีรษะกระแทกพื้น อาจเกิดการฉีกขาดของโครงสร้างในหูชั้นใน ผู้ป่วยไม่ถึง 10% เกิดจากเนื้องอกในหูส่วนที่เกี่ยวกับการได้ยินและการทรงตัว ผู้ที่ประสาทหูดับฉับพลันมีโอกาสหายได้ถ้ามาพบแพทย์โรคหูและได้รับการรักษาในเวลาที่รวดเร็ว
สำหรับขั้นตอนการรักษา ผศ.พญ.ภาณินี อธิบายว่าจะเริ่มจากการสอบถามลักษณะอาการและซักประวัติโดยละเอียดถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค จากนั้นแพทย์ก็จะทำการตรวจหู คอ จมูก และหากมีปัญหาการได้ยินอาจมีการตรวจการได้ยิน ตรวจดูการทำงานของหูชั้นกลาง ถ้าคนไข้มีอาการเวียนศีรษะหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัวก็จะต้องมีการตรวจระบบประสาทและระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
“แนวทางการรักษาแตกต่างกันไปขึ้นกับโรคของผู้ป่วย สำหรับการรักษาผู้ป่วยประสาทหูดับฉับพลันคือการให้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ในรูปแบบต่างๆ เช่น ยากิน การฉีดยาเข้าเส้นเลือดหรือฉีดเข้าไป ในหู จะช่วยเพิ่มโอกาสในการได้ยินให้กลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียง การรักษาทางเลือกเสริมซึ่งมีให้บริการในโรงพยาบาลบางแห่งคือการใช้ตู้อัดแรงดันออกซิเจน 100% (Hyperbaric Oxygen Therapy)”
ผศ.พญ.ภาณินี เน้นว่า “ถ้าเริ่มรู้ตัวว่ามีปัญหาการได้ยินลดลงหรือมีเสียงรบกวนในหูควรรีบมาพบแพทย์”
ผู้ที่ประสาทหูเสื่อมมีความสามารถได้ยินเสียงลดลงแต่ยังไม่ถึงขั้นหูหนวก สิ่งที่ช่วยได้คือเครื่องช่วยฟังซึ่งทำหน้าที่เหมือนลำโพงที่รับเสียงเข้ามาแล้วขยายพลังงานเสียงเข้าไปในหูชั้นในได้มากขึ้น ถ้าประสาทหูเสื่อมและมีเสียงรบกวนในหูด้วย การใส่เครื่องช่วยฟังจะทำให้เสียงรบกวนลดลงได้
เครื่องช่วยฟังมีหลายราคา ตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักแสน นอกจากนี้ยังมีเครื่องช่วยฟังที่ฝังอยู่ในกะโหลกศีรษะ และการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมสำหรับผู้ที่หูหนวก 2 ข้าง ทำให้สามารถกลับมาได้ยินเสียงได้อีกครั้ง
“ผู้ที่มีปัญหาด้านการได้ยินจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้บริการ “เครื่องช่วยฟัง” ที่ครบวงจร มีการติดตามคนไข้และดูแลเครื่องช่วยฟังให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีการผ่าตัดฝังเครื่องช่วยฟังชนิดต่างๆ ในกะโหลกศีรษะ”
ผศ.พญ.ภาณินีกล่าวเพิ่มเติมว่าปัจจุบันกำลังศึกษาวิจัยเรื่องเสียงรบกวนในหูว่ามีผลกระทบทำให้คนไข้เกิดอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวลมากน้อยเพียงใด โดยศึกษาวิจัยในกลุ่มคนไข้โรคหูที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
“ผลการวิจัยจะช่วยทำให้เราสามารถแนะนำคนไข้ได้ว่าเมื่อมีความวิตกกังวลและความเครียดจากเสียงดังในหู ควรจะได้รับการดูแลอย่างไร เป็นการยกระดับการดูแลคนไข้ให้ครอบคลุมมากขึ้น” ผศ.พญ.ภาณินี กล่าวเสริมทิ้งท้ายว่า “การดูแลคนไข้ ไม่ใช่แค่การตรวจรักษาและสั่งยาเท่านั้น สิ่งสำคัญคือ การอธิบายให้คนไข้รู้ถึงอาการป่วย การดำเนินของโรค และแนวทางการรักษา เพื่อให้คนไข้มีความเข้าใจ ดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
ฝ่ายโสต ศอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ชั้น 10 อาคาร ภปร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
– คลินิกในเวลาราชการ วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น. โทรศัพท์ 0-2256-5223-27
– คลินิกนอกเวลาราชการ วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 16.30 – 20.00 น. และวันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 08.00 – 12.00 น. โทรศัพท์ 0-2256-5193
ช่องทางการสื่อสารแชร์ประสบการณ์ทางออนไลน์สำหรับผู้ที่ประสบปัญหาโรคทางหู
Facebook: ชมรมคนหูดับ เส้นประสาทหูเสื่อม
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
คีเฟอร์น้ำเกสรดอกกุหลาบ เครื่องดื่มสุขภาพต้านอนุมูลอิสระ ผลงานนิสิตจุฬาฯ คว้าเหรียญทองระดับโลก
The Skinov’e นวัตกรรมสกินแคร์จากเปลือกกล้วยหอมทองปทุม ผลงานวิจัยจุฬาฯ ที่ทำให้สิวเป็นเรื่องกล้วยๆ
น้ำยายืดอายุกระดาษ นวัตกรรมจุฬาฯ อนุรักษ์เอกสารและภาพศิลปะโบราณให้คงสภาพอีกนานนับทศวรรษ
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้