รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
31 มกราคม 2565
ผู้เขียน นิธิกานต์ ปภรภัฒ
อาจารย์สาขาจิตวิทยาองค์กร จุฬาฯ ชี้ Workation ช่วยลดความเครียดพนักงานได้ จุดประกายความคิดใหม่ๆ และกระชับสัมพันธ์ทีมและองค์กร ทั้งนี้ พนักงานและองค์กรต้องเข้าใจเทรนด์การทำงานนี้ให้ชัดเจนและสร้างข้อตกลงร่วมกันเพื่อผลลัพธ์ “งานดี คนมีสุข”
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้คนปรับตัวสู่ชีวิตวิถีใหม่และรูปแบบการทำงานที่เปิดกว้างหลากหลายขึ้น ตั้งแต่การทำงานที่ออฟฟิศ สู่การทำงานที่บ้าน (work from home) จนถึง workation เทรนด์การทำงานที่ทำให้หลายคนรู้สึกอิสระว่าจะทำงาน “ที่ไหน เมื่อไรก็ได้” แต่เป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่?
ก่อนจะรับเทรนด์นี้มาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีการทำงานขององค์กร อ.ดร. เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนทำความเข้าใจ workation ให้ชัดว่าคืออะไร จะเป็นประโยชน์อย่างไรกับพนักงานหรือองค์กร รวมทั้งมีข้อควรคำนึงถึงและพึงระวังอะไรบ้าง
เมื่อดูจากคำสมาสระหว่าง work และ vacation แล้ว หลายคนอาจเข้าใจว่า workation หมายถึงการทำงานในช่วงวันหยุด (ถ้าเช่นนั้นยังจะเรียกว่าวันหยุดได้อยู่หรือ?) ในเรื่องนี้ ดร.เจนนิเฟอร์ อธิบายว่า workation ไม่ได้หมายถึงการทำงานในช่วงวันหยุดพักผ่อน หรือการทำงานไปด้วยพักผ่อนไปด้วย แต่หมายถึงการเปลี่ยนบรรยากาศการทำงานจากสำนักงาน (office) หรือ ที่พักอาศัย (work from home) ไปทำงานในสถานที่อื่นๆ ซึ่งพนักงานก็ยังคงต้องรับผิดชอบและทำงานตามหน้าที่อย่างที่ทำเป็นประจำ
ดร.เจนนิเฟอร์ กล่าวเสริมว่าโดยมาก workation จะเป็นการทำงานชั่วคราวหรือในช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อวัตถุประสงค์บางประการ เช่น เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศการทำงาน เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ทางความคิด หรือ สานความสัมพันธ์ในองค์กร เป็นต้น
ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 พนักงานบริษัทหลายแห่งแยกย้ายกระจายตัวทำงานที่บ้าน ไม่ได้พบหน้าและขาดปฏิสัมพันธ์กัน (employee engagement) เกิดระยะห่างกับเพื่อนร่วมงานและหัวหน้า ซึ่งอาจส่งผลต่อความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีม (teamwork) และประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันในองค์กร workation จึงเป็นโอกาสที่จะช่วยเติมเต็มจุดนี้
“หลายบริษัทให้พนักงานที่ทำงานเป็นทีมไปเที่ยวด้วยกันและระหว่างนั้นก็ทำงานร่วมกันไปด้วย workation จึงมีลักษณะคล้ายการไปสัมมนาหรือการท่องเที่ยวประจำปีของบริษัท โดยจุดประสงค์หลักคือการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในทีม เพิ่มความรู้สึกพึงพอใจกับงานมากขึ้น และหลายครั้งก็เป็นโอกาสในการสร้างคอนเนคชันงานและธุรกิจไปด้วย”
แม้การเปลี่ยนสถานที่การทำงานไม่อาจการันตีประสิทธิภาพการทำงานได้เสมอไป แต่บรรยากาศใหม่ๆ ก็อาจช่วยลดความรู้สึกกดดันและความเครียดทั้งใจ ชีวิตและการงานได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานที่ดีขึ้น
สำหรับลักษณะงานที่มีความยืดหยุ่นสูงและไม่ยึดโยงกับสถานที่ เช่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ ครีเอทีฟ คนทำงานออนไลน์ ฯลฯ การทำงานรูปแบบ workation เป็นครั้งคราวช่วยตอบโจทย์เรื่องการหาไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ๆ
“การได้เห็นอะไรใหม่ๆ ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้ง่าย การทำงานแบบ workation มีบรรยากาศที่ผ่อนคลายกว่าการอยู่ในออฟฟิศที่หลายคนอาจรู้สึกอึดอัดกับกรอบกติกาขององค์กร พนักงานเลือกบรรยากาศสถานที่ทำงานได้ เลือกคนที่จะพบปะพูดคุยได้ ความรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจในการจัดการชีวิตและพื้นที่ทำงาน ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายสบายและมีส่วนให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้นได้”
ดร.เจนนิเฟอร์ อ้างถึงการศึกษาหนึ่งที่เผยว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยไม่ค่อยยอมใช้สิทธิ์วันลา เนื่องจาก “รู้สึกผิดที่จะลา(พักผ่อน)” ซึ่งมีคำเรียกทางจิตวิทยาว่า “Vacation Guilt”
“ผู้ที่เป็นแบบนี้มักกลัวว่าเพื่อนร่วมงานจะหาว่าขี้เกียจ รู้สึกผิดว่ากำลังโยนงานให้เพื่อนร่วมงาน และเมื่ออยู่ระหว่างวันลา ก็รู้สึกผิดหากจะไม่ตอบอีเมลหรือตอบไลน์ของเพื่อนหรือหัวหน้า workation จึงเป็นรูปแบบการทำงานที่จะช่วยลดความรู้สึกผิดของคนกลุ่มนี้ได้ระดับหนึ่ง เพราะได้ทำงานไปด้วยแม้จะเปลี่ยนสถานที่และมีเวลาหย่อนใจบ้าง”
สำหรับหลายคน การทำงานที่ออฟฟิศอาจจะดูจำเจแล้ว แต่การทำงานที่บ้านจำเจและน่าเหนื่อยล้ายิ่งกว่า ดร.เจนนิเฟอร์ ขยายความว่า “การใช้ชีวิตติดบ้านแบบ 24 ชั่วโมงตลอดสัปดาห์ หรือเกือบตลอดทั้งเดือน อาจทำให้หลายคนรู้สึกเบื่อหน่ายและเหนื่อยล้ามากขึ้น เพราะนอกจากจะต้องทำงานตามหน้าที่แล้ว ยังอาจต้องดูแลรับผิดชอบงานบ้านไปด้วย พร้อมกับดูแลลูกหลานในการเรียนออนไลน์ ดูแลพ่อแม่สูงวัย เป็นต้น ดังนั้น การออกไปทำงานต่างสถานที่แบบ workation บ้าง จะช่วยให้พนักงานได้พักจากความเหนื่อยล้าและมีชีวิตชีวามากขึ้น”
โลกเทคโนโลยีเปิดกว้างให้เราทำงานได้อย่างไร้ข้อจำกัดของสถานที่และเวลา ประมาณว่า “ทำงานที่ไหน เมื่อไรก็ได้” ชีวิตและพื้นที่การทำงานจึงขยับเข้ามาใกล้กันมากขึ้นและบ่อยครั้งก็อยู่ในพื้นที่เดียวกัน จนเกิดเป็นภาวะที่เรียกว่า Work-Life Blur ซึ่งหากไม่ดูแลให้สมดุลก็จะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตของคนทำงานและส่งผลต่อประสิทธิภาพของงานได้
“มีงานวิจัยที่ระบุว่า Work-Life Blur นำไปสู่ปัญหาความเครียด ความรู้สึกล้า ความเหนื่อยหน่ายทางอารมณ์ ซึ่งเมื่อสะสมไปเรื่อยๆ จะเป็นเหตุให้คนทำงานเกิดภาวะหมดไฟ หรือ Burnout Syndrome ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงานในที่สุด”
ดร.เจนนิเฟอร์ เน้นว่ามนุษย์ทำงานยังต้องการเวลาที่จะ “ปิดสวิตช์” จากงานและหยุดพักผ่อนอย่างจริงจัง โดยไม่มีเรื่องงานเข้ามาพัวพัน
“องค์กรต้องมีวันหยุด (Vacation) ให้กับพนักงานได้พักจากงานจริงๆ โดยที่พนักงานต้องไม่รู้สึกผิดที่ขอลาหยุดและต้องไม่มีการพกงานไปทำระหว่างวันลา และไม่ใช่ workation ที่ยังคงมีเรื่องงานที่ต้องรับผิดชอบ”
แนวโน้มในอนาคตจะมีรูปแบบการทำงานที่หลากหลายขึ้น โดยองค์กรและพนักงานอาจตกลงร่วมกันที่จะทำงานที่สำนักงาน ที่บ้าน (work from home) นอกสถานที่ (workation) ตลอดจนการทำงานแบบลูกผสมหรือไฮบริด (hybrid) ขึ้นกับความเหมาะสมของลักษณะงานและเงื่อนไขชีวิตของพนักงาน
“ผู้ที่เป็นพ่อแม่ก็อาจเลือกทำงานที่บ้านเพื่อที่จะได้ดูแลลูกที่บ้านไปด้วย หรือผู้ที่ต้องดูแลพ่อแม่ผู้สูงอายุในบ้านก็สามารถเลือกทำงานที่บ้านได้ ส่วนคนที่สภาพแวดล้อมที่บ้านไม่เอื้อในการทำงานก็มาทำงานที่ออฟฟิศได้ หรือองค์กรอาจเปิดโอกาสให้มีการทำงานแบบไฮบริด คือทำงานได้ทั้งที่สำนักงาน ที่บ้าน และนอกสถานที่”
ดร.เจนนิเฟอร์ ให้ข้อคิดว่า “การให้สิทธิ์พนักงานออกแบบรูปแบบการทำงานที่ตอบโจทย์ชีวิตของเขาด้วยจะมีส่วนช่วยให้พนักงานรู้สึกเติมเต็มและมีความสุขมากขึ้นในการทำงานและใช้ชีวิต เป็นผลดีกับทั้งองค์กรและพนักงานเอง แต่ก็เป็นเรื่องท้าทายขององค์กรที่จะดูแลเงื่อนไขชีวิตของพนักงานและดูแลประสิทธิผลการทำงานในเวลาเดียวกัน”
ดร.เจนนิเฟอร์ แนะว่าองค์กรควรทำความเข้าใจลักษณะการทำงานแบบ workation และอื่นๆ เพื่อสนับสนุนพนักงานให้ทำงานและดำเนินชีวิตได้ราบรื่นขึ้น
“องค์กรที่สนับสนุนรูปแบบการทำงานแบบ workation ควรต้องวางแนวทางปฏิบัติร่วมกันอย่างชัดเจนว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอระหว่างหัวหน้าและทีมเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน นอกจากนี้ workation ยังมีประเด็นเรื่อง ”ค่าใช้จ่าย” เข้ามากี่ยวข้องด้วย เช่น ค่าเดินทาง ที่พัก และค่าอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เช่น ค่าโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต ซึ่งเรื่องนี้ ทั้งพนักงานและองค์กรต้องตกลงกันว่าเป็นความรับผิดชอบของใครและอย่างไร”
ที่สำคัญ เมื่อพื้นที่ทำงานเข้ามาอยู่ในพื้นที่ส่วนตัว ทั้งที่บ้านและนอกสถานที่ (workation) องค์กรต้องไม่ปนกับสิทธิ์การลาพักเพื่อลดความเครียดและประสิทธิภาพการทำงานที่ดีในระยะยาว
ไม่ว่าพนักงานและองค์กรจะเลือกรูปแบบการทำงานใด สิ่งสำคัญคือทำความเข้าใจและสร้างข้อตกลงร่วมกันเพื่อ “งานก็ดี คนก็มีสุข”
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้