Highlights

ศูนย์นวัตกรรมเพื่อฝึกทักษะคลินิกทางสัตวแพทย์ จุฬาฯ ฝึกทักษะเสมือนจริง เชี่ยวชาญก่อนรักษาจริง


จุฬาฯ เปิดศูนย์นวัตกรรมเพื่อฝึกทักษะทางคลินิกทางสัตวแพทย์ ห้องเรียนปฏิบัติการทันสมัยเสมือนจริง เคี่ยวนิสิตสัตวแพทย์ให้เชี่ยวชาญ พร้อมเปิดพื้นที่จัดอบรมระดับนานาชาติ ส่งเสริมวิชาการด้านสัตวแพทย์ และการแพทย์


จุดเริ่มต้นของศูนย์นวัตกรรมเพื่อฝึกทักษะคลินิกทางสัตวแพทย์ จุฬาฯ

ทุกวันนี้ เทคโนโลยีสมัยใหม่เอื้อให้การเรียนการสอนสามารถสร้างประสบการณ์เสมือนจริงให้กับผู้เรียนได้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะสาขาวิชาที่เกี่ยวกับชีวิตและร่างกายของมนุษย์และสัตว์ การที่ผู้เรียนได้ฝึกฝนทักษะให้เชี่ยวชาญก่อนลงมีดผ่าตัดรักษาร่างที่มีลมหายใจนับเป็นเรื่องสำคัญที่สร้างความมั่นใจให้ทั้งสัตวแพทย์และเจ้าของสัตว์

จากนวัตกรรมร่าง(สัตว์)นิ่ม คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อยอดสร้างศูนย์การเรียนรู้ครบวงจร ศูนย์นวัตกรรมเพื่อฝึกทักษะทางคลินิกทางสัตวแพทย์ (CU Innovation Center for Veterinary Clinical Training: CU IC-VCT)  เพื่อเตรียมนิสิตสัตวแพทย์ให้เชี่ยวชาญในการการดูแลรักษาสัตว์ด้วยห้องปฏิบัติการฝึกทักษะแบบเสมือนจริง 

“จากการที่คณะฯ ค้นพบนวัตกรรม​ร่างนิ่ม​ ซึ่งเป็นวิธีการถนอมร่างอาจารย์ใหญ่แบบไร้สารฟอร์มาลีน ช่วยคงสภาพร่างอย่างเสมือนจริงและเก็บไว้ใช้งานได้หลายครั้ง ไม่มีกลิ่นหรือสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองเวลาที่นิสิตสัตวแพทย์ใช้เรียน แต่การใช้ร่างนิ่มในการเรียนการสอนจำเป็นต้องมีห้องที่ได้มาตรฐาน รักษาอุณหภูมิและพร้อมสำหรับการผ่าตัด คณะฯ จึงได้ปรับปรุงพัฒนาห้องปฏิบัติการเดิมให้กลายเป็นศูนย์นวัตกรรมนี้” รองศาสตราจารย์ สพ.ญ.ดร. ชาลิกา หวังดี หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมเพื่อฝึกทักษะทางคลินิกทางสัตวแพทย์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงที่มาของการก่อตั้งศูนย์ฯ

Assoc.Prof.Dr.Chalika Wangdee
รองศาสตราจารย์ สพ.ญ.ดร. ชาลิกา หวังดี
หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมเพื่อฝึกทักษะทางคลินิกทางสัตวแพทย์

พื้นที่ภายในศูนย์นวัตกรรมเพื่อฝึกทักษะคลินิกทางสัตวแพทย์ จุฬาฯ 

ศูนย์นวัตกรรมเพื่อฝึกทักษะทางคลินิกทางสัตวแพทย์ประกอบด้วยพื้นที่ปฏิบัติการ 3 ส่วน ได้แก่

  • ห้องเรียนปฏิบัติการสำหรับทำหัตถการ
  • ห้องเรียนผ่าตัดจำลอง
  • ห้องเรียนอเนกประสงค์ที่ใช้ในการเรียนการสอนกลุ่มย่อยก่อนการลงมือปฏิบัติและเป็น Skill Lab ที่นิสิตจะเข้ามาฝึกหัตถการเองได้

จุดเด่นของศูนย์ฯ คือ…การฝึกหัตถการทางคลินิกสัตวแพทย์ที่เสมือนจริงมากที่สุด

รศ.สพ.ญ.ดร.ชาลิกา กล่าวว่าห้องปฏิบัติการที่ศูนย์ฯ มีอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ที่ทันสมัยเทียบเคียงกับโรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาฯ​ เพื่อให้นิสิตสัตวแพทย์ชั้นปีที่​ 4 ใช้ในการเรียนวิชาศัลยกรรม​และฝึกทำหัตถการทางคลินิก​​ 

“นิสิตสัตวแพทย์​จะได้เรียนตั้งแต่ภาพรังสีวินิจฉัย และพื้นฐานเบื้องต้นในการทำศัลยกรรม (Principles of Surgery) ได้แก่ การผูกเงื่อนเย็บแผล การเตรียมตัวสัตว์ก่อนผ่าตัด การวางยาสลบ การกรีดผิวหนัง การเย็บแผล การมอนิเตอร์สัตว์ระหว่างการผ่าตัด การศึกษาโครงสร้างภายในของสัตว์ที่เป็นโรคไปจนถึงการผ่าตัดศัลยกรรมกระดูกเพื่อใส่อุปกรณ์ดามเมื่อสัตว์มีภาวะกระดูกหัก” รศ.สพ.ญ.ดร.ชาลิกา กล่าวถึงจุดเด่นของศูนย์ฯ  

ในรายวิชาที่ต้องใช้ร่างอาจารย์ใหญ่ ทางศูนย์ฯ ก็จะร่วมกับศูนย์กายสัตว์อุทิศ จัดเตรียมร่างนิ่มอาจารย์ใหญ่ไว้ให้ พร้อมทั้งจัดหาอุปกรณ์เสริมโมเดลต่างๆ เช่น โมเดลการเย็บแผล โมเดลการสอดท่อ โมเดลการแทงน้ำเกลือ เป็นต้น เพื่อให้นิสิตได้ลงมือปฏิบัติจริงและทำซ้ำจนเกิดความชำนาญ

รศ.สพ.ญ.ดร.ชาลิกา กล่าวเสริมอีกว่านอกจากฝึกปฏิบัติการแล้ว ศูนย์ฯ ยังเป็นพื้นที่จัด​สอบ​ Objective Structured Clinical Examination (OSCE) ซึ่งเป็นการสอบวัดมาตรฐานความรู้และทักษะความชำนาญในการทำหัตถการของนิสิตสัตวแพทย์ก่อนจบไปเป็นสัตวแพทย์ โดยมีการจำลองสถานการณ์ให้นิสิตลงมือปฏิบัติ ตั้งแต่การเตรียมตัวสัตว์ก่อนผ่าตัด การเย็บแผล การปูเตียงผ่าตัด การตรวจคลำ เป็นต้น 

CU Innovation Center for Veterinary Clinical Training
CU Innovation Center for Veterinary Clinical Training2

Skill Lab ฝึกทักษะนิสิตสัตวแพทย์ มีอะไรบ้าง?

ห้อง Skill Lab เป็นห้องฝึกทักษะที่เปิดให้นิสิตสัตวแพทย์ปี 6 เข้ามาใช้งานได้ตลอดเวลา​เพื่อฝึกความชำนาญในการทำหัตถการก่อนขึ้นคลินิก หรือหลังคลินิก เสริมสร้างความมั่นใจก่อนลงมือปฏิบัติจริง

“การเรียนทางด้านศัลยศาสตร์จะต้องมีการฝึกซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง ประมาณ 30 – 50 ครั้ง จึงจะเกิดความชำนาญ ทางศูนย์ฯ จะจัดเตรียมโมเดลหรืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อมคู่มือ อาทิ แป้นเย็บ ตุ๊กตาสำหรับฝึกผ่าเปิดท้องและฝึกเย็บ โมเดลกระดูกสำหรับฝึกการตรวจคลำ สมุดขั้นตอนให้นิสิตกลับไปฝึกที่บ้าน ซึ่งนิสิตต้องจองวันเวลาใช้งานล่วงหน้า” รศ.สพ.ญ.ดร.ชาลิกา กล่าว

การให้บริการวิชาการและอบรมระดับนานาชาติของศูนย์

ด้วยความพร้อมด้านสถานที่ อุปกรณ์และทำเลที่ตั้งใจกลางกรุงเทพฯ ที่ผ่านมา ศูนย์นวัตกรรมเพื่อฝึกทักษะทางคลินิกทางสัตวแพทย์จัดอบรมให้บริการวิชาการไปแล้วมากกว่า 20 โครงการ ตั้งแต่การผ่าตัดโดยใช้ร่างนิ่มอาจารย์ใหญ่ การผ่ากระดูก การผ่าระบบประสาท การส่องกล้องผ่าตัด การผ่าตัดสอดท่อ​ การฝังเข็ม การให้การรักษาทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู ฯลฯ 

“เราเชิญอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาเป็นวิทยากรอบรมให้กับสัตวแพทย์ภายในคณะเองและจากภายนอก รวมไปถึงสัตวแพทย์จากประเทศใกล้เคียงที่สนใจเข้าร่วม เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง อินเดีย ปากีสถาน” 

รศ.สพ.ญ.ดร. ชาลิกา กล่าวว่าองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศสนใจมาทำการฝึกอบรมต่างๆ กับศูนย์ฯ อย่างในปี 2565 นี้ บริษัทเครื่องมือจากประเทศในทวีปยุโรปติดต่อขอใช้ศูนย์ฯ เพื่อจัดอบรมการส่องกล้องในสัตว์ Exotic Pet ซึ่งเป็นงานอบรมครั้งใหญ่ในเอเชีย 

ในอนาคต รศ.สพ.ญ.ดร. ชาลิกา ตั้งเป้าว่าศูนย์จะรองรับการอบรมได้มากขึ้นและกลายเป็นหนึ่งใน hub ที่มีความพร้อมในการจัดอบรมแห่งหนึ่งในเอเชีย 

CU Innovation Center for Veterinary Clinical Training3

ศูนย์นวัตกรรมเพื่อฝึกทักษะทางคลินิกทางสัตวแพทย์ 
ตั้งอยู่ที่ อาคาร 60 ปี ชั้น 4 คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้ที่สนใจจะเข้าร่วม workshop กับทางศูนย์ฯ สามารถติดตามข่าวสารได้ทาง Facebook ของศูนย์นวัตกรรมเพื่อฝึกทักษะคลินิกทางสัตวแพทย์: https://www.facebook.com/cuicvct1/
และ Facebook ของศูนย์การศึกษาต่อเนื่อง คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย https://www.facebook.com/CUVETCE


สำหรับบริษัทหรือหน่วยงานที่สนใจจะใช้สถานที่จัดอบรม สามารถติดต่อได้ที่
ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โทร 0-2218-9639
e-mail: cuicvct@gmail.com
Facebook ของภาควิชา: https://www.facebook.com/vetsurcu
Facebook ของศูนย์นวัตกรรมเพื่อฝึกทักษะคลินิกทางสัตวแพทย์: https://www.facebook.com/cuicvct1/

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า