Highlights

Metaverse อนาคตการศึกษาข้ามพรมแดนการเรียนรู้
จากโลกจริงสู่โลกเสมือน


อาจารย์ครุศาสตร์ฯ จุฬาฯ ชี้ Metaverse ช่วยพาผู้เรียนข้ามข้อจำกัดการเรียนรู้ในโลกความเป็นจริง ยกระดับการเรียนการสอนได้หากรู้จักแยกแยะและใช้อย่างเหมาะสม


สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เร่งความเร็วของโลกอนาคตให้มาอยู่ในปัจจุบัน อย่างเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาในแวดวงการศึกษา ทั้งครู นักเรียน และผู้ปกครอง ต่างต้องปรับตัวเข้าสู่การเรียนการสอนออนไลน์เต็มรูปแบบ ชีวิตวิถีใหม่ยังไปต่อและยิ่งเป็นที่น่าจับตาเมื่อแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเปิดตัว Metaverse เทคโนโลยีโลกเสมือนจริงที่คาดว่าจะเข้ามาเปลี่ยนการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ของผู้คนบนโลกใบนี้ไปอย่างมหาศาล โดยเฉพาะในโลกการศึกษาและการเรียนรู้

ศาสตราจารย์ ดร.ใจทิพย์ ณ สงขลา

ศาสตราจารย์ ดร.ใจทิพย์ ณ สงขลา อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนทัศนะและข้อห่วงใยต่อการศึกษาในอนาคตที่ Metaverse จะเข้ามามีบทบาทเชื่อมการเรียนรู้ระหว่างโลกจริงและโลกเสมือน

Metaverse ข้ามพรมแดนการเรียนรู้

ศ.ดร.ใจทิพย์ กล่าวถึง Metaverse ว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะเข้ามาปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การสื่อสารทางสังคมและการเรียนรู้และเสริมต่อประสบการณ์ให้ผู้เรียนเข้าสู่โลกความเป็นจริงที่อาจไม่เคยหรือไม่สามารถได้พบเห็นผ่านโลกเสมือน

“ผู้ที่อยู่ใน Metaverse จะสร้างอวตารหรือ “ตัวตน” ในรูปลักษณ์ที่พอใจ มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม สัมผัสวัตถุและบรรยากาศด้วยกราฟิกที่มีมิติจากบริบทสิ่งแวดล้อม” ศ.ดร.ใจทิพย์ อธิบายการเชื่อมโยงตัวตนและชีวิตบนสังคมเสมือนจริง ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์หลายอย่างที่โลกความเป็นจริงอาจพาไปไม่ได้หรือไม่ทั่วถึง

“Metaverse ช่วยทำให้สิ่งที่เป็นนามธรรม จับต้องและเข้าใจยาก กลายมาเป็นภาพเสมือนจริงที่สัมผัสและจับต้องได้ การเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ทั้งวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และสิ่งแวดล้อมก็จะเข้าใจได้ง่ายขึ้นและเกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้เร็วขึ้น” 

ใน Metaverse ผู้เรียนจะได้ไปและได้ทำในสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในสภาพกายภาพจริง เช่น การทดลองวิทยาศาสตร์ที่มีความเสี่ยง หรือการเดินทางทัศนศึกษาในที่ห่างไกลและยากจะไปได้ในความเป็นจริง เช่น การผจญภัยในป่าอเมซอน หรือการดำน้ำลงดูประการังที่เกาะฟิจิ เป็นต้น นอกจากนั้น Metaverse ยังช่วยจำลองโลกเสมือนจริงและสร้างสถานการณ์จำลองให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนทักษะเบื้องต้นบางอย่างจนเกิดเป็นความชำนาญได้อีกด้วย (Mastery Learning) เช่น การเข้าสู่สภาพในอวกาศ ดวงดาวอื่น หรือ ได้ฝึกงานร่วมกับผู้มีความสามารถในระดับโลก  แม้กระทั่งการออกแบบเสื้อผ้าและเปิดร้านให้ผู้ซื้อต่างชาติได้พบผู้ขายจริง (เสมือน)และได้ทดลองใส่(เสมือน)ก่อนสั่งซื้อจริง

ศ.ดร.ใจทิพย์ ชวนจินตนาการต่อไปอีกว่า Metaverse จะขยายพรมแดนการเรียนรู้ได้กว้างไกลและทำให้การเรียนรู้เป็นประสบการณ์ที่ตื่นเต้นน่าสนุกสนานยิ่งขึ้น

“เราสามารถเดินทางหรือติดต่อสื่อสารกับคนที่อยู่ห่างไกล ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถจำลองห้องเรียนเสมือนที่ไทย แต่ได้ความรู้สึกเหมือนไปนั่งเรียนที่ต่างประเทศ ไม่ว่ายุโรป อเมริกา แม้จะไกลแค่ไหนก็สามารถจำลองพื้นที่นั้นให้กลายเป็นชุมชน (Community) การศึกษาร่วมกันข้ามประเทศได้” 

สถานศึกษายังจำเป็นในอนาคต?

ถ้าเราสามารถเรียนได้ทุกที่ เรียนรู้ได้ทุกอย่างจากโลกเสมือนแล้ว โรงเรียนหรือสถานศึกษายังจำเป็นอยู่อีกหรือไม่

ศ.ดร.ใจทิพย์ ให้ทัศนะในข้อนี้ว่า “การเรียนรู้ของมนุษย์ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ซึ่ง Metaverse ไม่ให้ได้ทั้งหมด เช่น การรับรส กลิ่น เสียง เป็นต้น บรรยากาศที่สร้างขึ้นจากกราฟิกย่อมไม่มีรสชาติ ไม่เหมือนของจริง 100% จึงไม่อาจทดแทนการเรียนรู้กับโลกในความเป็นจริงได้ทั้งหมด ดังนั้น Metaverse จึงเป็นทางเลือกเสริม ไม่ใช่การทดแทนโรงเรียนเลยเสียทีเดียว นอกเสียจากว่า จะจัดนิเวศในการรับรู้ ให้ตอบสนองสัมผัสทั้งห้า”

แยกแยะ “จริง-เสมือน”

โลกของ Metaverse มีความเสมือนจริงมาก ตัวตนของผู้คนที่อยู่ในโลกนั้นก็อาจเป็นตัวตนเสมือนด้วย ดังนั้น ผู้ที่ท่องโลกเสมือนจริงต้องตระหนักเสมอว่าที่สิ่งหรือคนที่เห็นและปฏิสัมพันธ์ด้วยนั้น “ไม่ใช่ของจริง” ดังที่เห็นในโลกเสมือน

“มีงานวิจัยที่ชี้ว่าผู้ใช้ Metaverse ที่ไม่มีวิจารณญาณในการใช้งาน อาจตกเป็นเหยื่อความลุ่มหลงหรือการรับรู้ที่ผิดเพี้ยนจากภาพเสมือนได้ โดยหลงเชื่อเอาว่าเป็นของจริง ในโลกแห่งนั้นใครต้องการจะเป็นอะไรก็ย่อมได้ และสามารถออกแบบในสิ่งที่ต้องการจะเห็น การโฆษณาชวนเชื่อก็จะตามมาได้ง่ายด้วย” ศ.ดร.ใจทิพย์ กล่าวเตือน

เตรียมพร้อมปรับตัวสู่ Metaverse อย่างไร

ปัจจุบัน มีพื้นที่แซนด์บ็อก (Sandbox) ที่เริ่มปฏิบัติการใช้เทคโนโลยี Metaverse หลายแห่งในสหรัฐอเมริกา รวมถึงมีเว็บไซต์และผู้ประกอบการที่เริ่มให้บริการระบบ Metaverse แล้ว เช่น Spatial และ Metaverse Studio หรือ Koji & Metaverse นั่นหมายความว่า โลกเสมือนกำลังเข้ามาใกล้โลกความเป็นจริงขึ้นทุกที

“เราควรเปิดใจรับเทคโนโลยีใหม่ๆ หมั่นค้นคว้าข้อมูลใหม่ๆ อยู่เสมอ Metaverse ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่ก็เป็นดาบสองคมได้ ดังนั้น เราควรทำความเข้าใจและมีสติสัมปชัญญะในการใช้งานสิ่งนี้ รู้จักแยกแยะความจริงและภาพเสมือน”

โลกในยุคดิสรัปชันเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว Metaverse ที่กำลังเข้ามาในพื้นที่ชีวิตจริงของเราจะเปลี่ยนโฉมชีวิต New Normal ไปอีกแค่ไหนก็ยังไม่แน่ชัด แต่ในแวดวงการศึกษา ศ.ดร.ใจทิพย์ เน้นว่าสิ่งสำคัญที่สุดก็คือการเตรียมผู้เรียนให้มีความสามารถ เท่าทันเทคโนโลยีและการใช้ชีวิตทั้งในโลกเสมือนและโลกแห่งความเป็นจริง

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า