รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
17 กุมภาพันธ์ 2565
ผู้เขียน สุรเดช พันธุ์ลี
นักชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมมือนักวิจัยเยอรมนีและเมียนมาร์ พบกบลำธาร 2 ชนิดใหม่ของโลกที่เมียนมาร์ ชี้ความหลากหลายทางชีวภาพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงอยู่ วอนทุกฝ่ายร่วมอนุรักษ์ผืนป่าก่อนสิ่งมีชีวิตมีค่าสูญพันธุ์
ในเวลาไล่เลี่ยกับที่ค้นพบเขียดชนิดใหม่ของโลกในป่าประเทศเมียนมาร์ (https://www.chula.ac.th/news/47000/) อาจารย์ ดร.ภาณุพงศ์ ธรรมโชติ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ยังได้ค้นพบกบลำธารชนิดใหม่ของโลกอีก 2 ชนิด ที่เขตพะโค ทางตอนเหนือของเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์
สำหรับ อ.ดร.ภาณุพงศ์ ผู้วิจัยสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกในภูมิภาคนี้มาอย่างต่อเนื่อง การค้นพบสิ่งมีชีวิตเช่นเขียดและกบลำธารในประเทศเมียนมาร์นับเป็นภาพสะท้อนความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทุกฝ่ายควรตระหนักและร่วมอนุรักษ์ให้คงอยู่ต่อไป
การค้นพบกบลำธารชนิดใหม่ของโลกในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของทีมวิจัย 3 ประเทศ คือ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยอีสต์ย่างกุ้ง (East Yangon University) ประเทศเมียนมาร์ และสถาบัน Senckenberg Forschungs institut und Naturmuseum ประเทศเยอรมนี นำโดย Prof.Dr.Gunther Köhler ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานและเทคโนโลยีจีโนมของสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก
“เราใช้เวลาศึกษาวิจัยกว่า 2 ปี ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ไปกับการเก็บตัวอย่างกบในพื้นที่ทั้งไทยและเมียนมาร์ให้ได้ครบตามจำนวนที่ตั้งไว้จากนั้นจึงส่งตัวอย่างไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการที่ศูนย์วิจัย Senckenberg ประเทศเยอรมนี โดยนำความรู้ทางฟิสิกส์มาประยุกต์ใช้ทางชีววิทยา ทำการตรวจสอบ DNA ศึกษาโครงสร้างเสียงร้องของกบ รวมทั้งศึกษาจีโนมหรือข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดของกบ จนพบกบชนิดใหม่ของโลกถึง 2 ชนิด” ดร.ภาณุพงศ์ เล่าถึงกระบวนการวิจัยในโครงการสำรวจความหลากหลายของกบในตระกูลกบลำธารในเมียนมาร์และเขตเทือกเขาทางตะวันตกและภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562
การศึกษาและค้นพบกบลำธารทั้ง 2 ชนิดได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Diversity ซึ่งเป็นวารสารวิชาการระดับนานาชาติ เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา
ดร.ภาณุพงศ์ อธิบายถึงลักษณะทั่วไปของกบลำธารว่า “กบลำธารอาศัยอยู่ในลำธารในป่าเขตร้อน อย่างในป่าภาคตะวันตกและภาคใต้ของไทย มีขนาดตัว3-5 เซนติเมตร ลำตัวสีน้ำตาลคล้ายใบไม้เพื่อการพรางตัว กบชนิดนี้จะส่งเสียงร้องเฉพาะเวลากลางคืนเพื่อการผสมพันธุ์ ช่วงที่เป็นลูกอ๊อดจะอาศัยบริเวณลำธารที่น้ำไหลไม่แรง และเมื่อโตเต็มวัยจะอาศัยอยู่ข้างลำธารและพบมากในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูสืบพันธุ์”
สำหรับกบลำธาร 2 ชนิดใหม่ของโลกที่เพิ่งค้นพบนั้น ตัวแรกคือกบลำธารพะโค หรือมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Limnonectes bagoensis ส่วนกบอีกชนิดคือกบป่าไผ่พะโค มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Limnonectes bagoyoma
“กบทั้งสองชนิดมีลักษณะคล้ายกันคือผิวหนังลื่น มีสีน้ำตาลเข้มหรือสีเขียวมะกอกปน ขาหน้า มี 4 นิ้ว ไม่มีพังผืด ขาหลังมี 5 นิ้ว มีพังผืดสำหรับว่ายน้ำ ผิวหนังด้านหลังค่อนข้างเรียบมีตุ่มหรือสันเพียงเล็กน้อย ผิวหนังด้านท้องสีขาวครีมเรียบไม่มีตุ่ม” ดร.ภาณุพงศ์ อธิบาย
“ส่วนลักษณะที่แตกต่างกันก็คือกบลำธารพะโคจะมีแถบสีดำคาดตั้งแต่ปลายจมูกถึงแผ่นหู และมีขนาดลำตัว 30-49 ซม. ใหญ่กว่ากบป่าไผ่พะโคซึ่งมีขนาด 23-29 ซม.”
การค้นพบกบชนิดใหม่ของโลกในครั้งนี้เป็นดัชนีวัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากกบชนิดนี้จะอาศัยในแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่สะอาดและมีน้ำไหลตลอดเวลาจึงจะพบได้เฉพาะในลำธารที่มีความอุดมสมบูรณ์เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ดร.ภาณุพงศ์ กล่าวว่าแม้กบลำธารจะยังคงมีอยู่ แต่ก็ไม่มากนัก หากการตัดไม้ทำลายป่ายังคงดำเนินต่อไป การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่าก็อาจทำให้กบเหล่านี้สูญพันธุ์ได้ในที่สุด
“เราหวังว่าองค์ความรู้จากการวิจัยในครั้งนี้จะทำให้คนเห็นความสำคัญของป่าไม้ ไม่ตัดไม้ทำลายป่า และหาแนวทางพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้เหมาะสมและเป็นการอนุรักษ์ป่าด้วย” ดร.ภาณุพงศ์ กล่าว
ดร.ภาณุพงศ์ยังคงเดินหน้าศึกษาเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกในบ้านเราต่อไป โดยจะวิจัยเพิ่มเติมเรื่องกบลำธารและกบทางภาคใต้ของประเทศไทยซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับกบที่พบในประเทศเมียนมาร์ รวมทั้งศึกษาวิจัยสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่นๆ เช่น จิ้งเหลนชนิดใหม่ของโลกที่อาศัยอยู่บนภูเขาในประเทศอินโดนีเซีย งูปี่แก้วซึ่งเป็นงูไม่มีพิษแต่ชอบกินไข่งูที่มีพิษ และงูกะปะซึ่งเป็นงูที่มีพิษรุนแรงและมักพบข่าวคนถูกงูชนิดนี้กัดจำนวนมาก เป็นต้น
“การค้นพบสัตว์ชนิดใหม่ๆ ถือเป็นดัชนีวัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าในภูมิภาคบ้านเราซึ่งเราเชื่อว่ายังมีสิ่งมีชีวิตประเภทสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกอีกมากที่รอให้เราค้นพบและเรียนรู้ การศึกษาวิจัยเรื่องสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกทำให้เห็นถึงความสำคัญของสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ที่อยู่ร่วมกับมนุษย์ในระบบนิเวศ สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกบางชนิดมีประโยชน์ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แม้รูปร่างหน้าตาของสัตว์ประเภทนี้จะไม่สวยงามเหมือนสัตว์ชนิดอื่น ๆ สัตว์บางชนิดมีอาจมีพิษที่อันตราย แต่สัตว์เหล่านี้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ การศึกษาวิจัยธรรมชาติวิทยาและชีววิทยา รวมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์เหล่านี้จะช่วยให้มนุษย์เราสามารถรักษาสมดุลของระบบนิเวศได้อย่างยั่งยืน” ดร.ภาณุพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย
“หุ่นอาจารย์ใหญ่” ฝึกเจาะเลือดและฉีดยาสุนัข เสริมความมั่นใจนิสิตสัตวแพทย์
จุฬาฯ เปิดตัว “วีลแชร์เดินได้” Wheelchair Exoskeleton หุ่นยนต์สวมใส่บนร่างกายมนุษย์ นั่ง ลุกยืน และเดินได้ในตัวเดียว
“ศูนย์สุขภาวะผู้สูงอายุ จุฬาฯ” บ้านหลังที่ 2 ดูแลระหว่างวัน ตอบโจทย์ลูกหลานวัยทำงาน ตรงใจสูงวัยสุขภาพดี
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้