รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
14 มีนาคม 2565
ผู้เขียน ขนิษฐา จันทร์เจริญ
โรคเลือดออกง่าย ฮีโมฟีเลีย โรคพันธุกรรมที่เป็นตลอดชีวิต แม้จะรักษาหายขาดไม่ได้ แต่ดูแลคุณภาพชีวิตให้ดีได้ แพทย์จุฬาฯ แนะรับการรักษาด้วยแฟคเตอร์ทดแทนแบบป้องกัน ใช้แอปพลิเคชันเป็นตัวช่วยบันทึกข้อมูลเลือดออกผิดปกติและสื่อสารกับแพทย์สม่ำเสมอ
เมื่อเกิดบาดแผล การมีเลือดออกเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นกับทุกคน แต่บางคนอาจมีเลือดออกได้แม้ไม่มีบาดแผลเลย หรือเกิดบาดแผลหรือถูกกระแทกเพียงเล็กน้อย ก็ไม่มีทีท่าว่าเลือดจะหยุดไหลง่ายๆ โดยเฉพาะเลือดออกในข้อหรือกล้ามเนื้อ หากพบอาการเช่นนี้ อย่าได้นิ่งนอนใจเพราะนั่นอาจเป็นอาการของโรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia)
อาจารย์นายแพทย์ฉัตรไผท มูลละ อายุรแพทย์โรคเลือด สาขาอายุรศาสตร์ทั่วไป ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อธิบายถึงโรคนี้ว่า “โรคเลือดออกง่าย ฮีโมฟีเลีย เป็นโรคทางพันธุกรรม เกิดขึ้นเฉพาะในเพศชาย โดยในประชากรชายประมาณ 1-2 หมื่นคนจะพบผู้ป่วยโรคนี้ 1 คน โรคนี้เกิดจากความบกพร่องของยีนที่สร้างปัจจัยการแข็งตัวของเลือด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีเลือดออกผิดปกติตั้งแต่กำเนิด หรืออาจพบได้ในวัยเด็กถึงวัยรุ่น ภายหลังมีการกระแทกของกล้ามเนื้อและข้อระหว่างพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว”
ในปัจจุบัน มีผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียทั้งประเทศราว 1,800 คน แต่ในอนาคตอาจให้การวินิจฉัยผู้ป่วยได้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการน้อย หากประชาชนและแพทย์ทุกๆ สาขาให้ความตระหนักและให้ความสำคัญกับโรคเลือดออกง่ายชนิดนี้
โรคนี้เกิดจากการมีความผิดปกติทางพันธุกรรมของยีนที่สร้างปัจจัยการแข็งตัวของเลือด (coagulation factor) หรือเรียกสั้นๆ ว่าแฟคเตอร์ (factor) ที่สำคัญมีอยู่ 2 ชนิด คือ แฟคเตอร์แปด (factor VIII) และแฟคเตอร์เก้า (factor IX) ซึ่งผู้ที่ขาดแฟคเตอร์แปด เรียกว่าฮีโมฟีเลียเอ (hemophilia A) ส่วนผู้ที่ขาดแฟตเตอร์เก้า เรียกว่าฮีโมฟีเลียบี (hemophilia B) ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยมีผู้ป่วยฮีโมฟีเลียเอ ประมาณ 1,600 คน ส่วนผู้ป่วยฮีโมฟีเลียบี มีประมาณ 200 คน
นายแพทย์ฉัตรไผท อธิบายว่าโรคฮีโมฟีเลียมีการถ่ายทอดแบบยีนด้อยบนโครโมโซม X จึงพบในผู้ป่วยเพศชายที่ได้รับโครโมโซม X ที่มียีนของโรคฮีโมฟีเลียมาจากแม่ ส่วนในผู้หญิงที่มียีนของโรคฮีโมฟีเลียจะเป็นพาหะและไม่แสดงอาการ แต่สามารถถ่ายทอดยีนของโรคนี้ไปสู่ลูกหลานได้
“ผู้ป่วยชายที่เป็นฮีโมฟีเลีย หากแต่งงานกับหญิงที่มียีนปกติ ลูกชายจะไม่เป็นโรคฮีโมฟีเลีย ซึ่งผู้หญิงที่เป็นพาหะของโรคจะมีโอกาสถ่ายทอดโรคไปสู่ลูกชายได้ ส่วนลูกสาวจะมีโอกาสเป็นพาหะของโรคเท่านั้น”
อาการเลือดออกของโรคฮีโมฟีเลียมีลักษณะเด่นๆ คือ มีเลือดออกในข้อร้อยละ 80–100 และในกล้ามเนื้อร้อยละ 10–20 ซึ่งอาจเกิดภายหลังอุบัติเหตุ หรือการกระทบกระแทก เช่น การเล่นกีฬา เป็นต้น ทั้งนี้ ความรุนแรงของอาการเลือดออกขึ้นอยู่กับระดับแฟคเตอร์แปด หรือแฟคเตอร์เก้า โดยแบ่งความรุนแรงของโรคตามอาการเลือดออกได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้
การเป็นโรคฮีโมฟีเลียทำให้ผู้ป่วยต้องระแวดระวังการกระทบกระเทือนเป็นพิเศษ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตโดยเฉพาะในวัยเด็ก ที่การวิ่งเล่นสนุกสนานเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และพัฒนาการทางร่างกาย
“หากเด็กมีกิจกรรมทางร่างกายที่มีแรงกระแทกต่อข้อและกล้ามเนื้ออาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเลือดออก ดังนั้นเด็กจึงไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางร่างกายได้เช่นเดียวกับเด็กวัยเดียวกัน บ้างต้องหยุดเรียนหากมีเลือดออกและต้องรับการรักษา และหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมในระยะยาว เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่จึงมีปัญหาข้อเสื่อมและข้อพิการ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตและการทำงาน ต้องพึ่งพาผู้ดูแลโดยเฉพาะในรายที่มีความพิการมากจนถึงขั้นทุพพลภาพ”
นายแพทย์ฉัตรไผท แนะให้ทารกเพศชายที่เกิดในครอบครัวที่มีประวัติโรคฮีโมฟีเลีย รับการตรวจคัดกรองโรคด้วยการตรวจประเมินการแข็งตัวของเลือด และระดับแฟคเตอร์แปดหรือแฟคเตอร์เก้าในเลือด ตั้งแต่กำเนิดหรือในวัยทารก
“แต่หากครอบครัวใดมีเด็กที่มีอาการเลือดออกผิดปกติในข้อ ในกล้ามเนื้อ หรือเป็นจ้ำเลือดตามผิวหนัง ภายหลังการกระทบกระแทกเพียงเล็กน้อย ควรรีบพาเด็กไปพบกุมารแพทย์เพื่อตรวจประเมินการแข็งตัวของเลือดว่าเป็นฮีโมฟีเลียหรือไม่”
“สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงปานกลางหรือรุนแรงน้อย หากเกิดจ้ำเลือด เลือดในออกข้อหรือกล้ามเนื้อ หรือเลือดออกหลังถอนฟันหรือผ่าตัด ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิฉัยโรคต่อไป”
โรคฮีโมฟีเลียเป็นโรคที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่มีแนวทางการรักษา 2 แบบ คือการรักษาเมื่อมีเลือดออก และการรักษาแบบป้องกัน
“การรักษาแบบป้องกันเป็นการรักษาที่ดีที่สุด เป็นการให้แฟคเตอร์ทดแทนทางหลอดเลือดดำสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งหรือมากกว่า อย่างไรก็ดีการักษาแบบป้องกัน ในประเทศไทยยังมีข้อจำกัด เนื่องจากมีงบประมาณไม่เพียงพอ แต่ในต่างประเทศอาจให้แฟคเตอร์ป้องกันขนาดสูงได้ เช่น อาจให้วันเว้นวันเพื่อป้องกันเลือดออกผิดปกติ และชะลอการเสื่อมของข้อ”
เมื่อการดูแลคุณภาพชีวิตและการรักษาผู้ป่วยฮีโมฟีเลียเป็นสิ่งที่ต้องทำต่อเนื่องและตลอดชีวิต จึงมีการพัฒนาระบบและเทคโนโลยีเพื่อช่วยทั้งผู้ป่วยและแพทย์ให้สามารถติดตามอาการและการรักษาต่อเนื่อง เช่น แอปพลิเคชันต่างๆ อาทิ HemMobile ที่ทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้แนะนำและทดลองใช้กับผู้ป่วย โดยแอปพลิเคชันนี้เป็นเสมือนผู้ช่วยส่วนตัวให้กับผู้ป่วย บันทึกอาการเลือดออกผิดปกติและการฉีดแฟคเตอร์ลงในแอปพลิเคชันเพื่อส่งต่อข้อมูลไปยังแพทย์ที่ทำการรักษาให้ทราบถึงอาการเลือดออกของผู้ป่วย และให้การรักษาอย่างเหมาะสมและแม่นยำมากขึ้น
“การดูแลผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียเป็นการดูแลตลอดชีวิต ผู้ป่วยและครอบครัวต้องมีความเข้าใจโรคและการรักษาอย่างถูกต้อง รวมถึงทีมที่ทำการรักษาต้องมีความรู้และมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย เพื่อให้เกิดการดูแลที่ดีในระยะยาว สามารถอยู่กับโรคฮีโมฟีเลียได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะในเด็กก็ควรเติบโตได้อย่างแข็งแรงและมีข้อเสื่อมเกิดขึ้นน้อยที่สุด” นายแพทย์ฉัตรไผท กล่าวทิ้งท้าย
คีเฟอร์น้ำเกสรดอกกุหลาบ เครื่องดื่มสุขภาพต้านอนุมูลอิสระ ผลงานนิสิตจุฬาฯ คว้าเหรียญทองระดับโลก
The Skinov’e นวัตกรรมสกินแคร์จากเปลือกกล้วยหอมทองปทุม ผลงานวิจัยจุฬาฯ ที่ทำให้สิวเป็นเรื่องกล้วยๆ
น้ำยายืดอายุกระดาษ นวัตกรรมจุฬาฯ อนุรักษ์เอกสารและภาพศิลปะโบราณให้คงสภาพอีกนานนับทศวรรษ
อาหารเป็นยา นวัตกรรมเพื่อสุขภาพของคนยุคปัจจุบัน
จุฬาฯ ชู “หมัดสั่ง” ภาพยนตร์สารคดีฟื้นจิตวิญญาณมวยไทยบนสังเวียนโลก
หุ่นยนต์ดินสอรุ่นล่าสุด “Home AI Assistance” ผู้ช่วยประจำบ้านดูแลผู้สูงอายุตลอด 24 ชั่วโมง อีกก้าวของหุ่นยนต์สัญชาติไทย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้