รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
31 มีนาคม 2565
ผู้เขียน ปริณดา แจ้งสุข
อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ แนะสังคมตระหนักภัย “การก่อการร้ายในสังคมเมือง” สร้างองค์ความรู้รับมือเมื่อเกิดเหตุ เสนอรัฐลงทุนด้านความมั่นคง
แม้ปัจจุบันสถานการณ์โรคระบาด สภาวะสงคราม และราคาน้ำมันที่พุ่งทะยานรายวัน จะเป็นปัญหาที่ตรึงความสนใจของผู้คนจำนวนมากเนื่องจากเป็นปัญหาที่กระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างหนัก แต่ก็อย่าได้ละเลย “การก่อการร้าย” ที่ยังเป็นภัยใกล้ตัวผู้คนในสังคมเมือง โดยเฉพาะท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่มีความขัดแย้ง
ทั้งนี้ จากดัชนีการก่อการร้ายทั่วโลก ปี 2565 (2022 Global Terrorism Index) ประเทศไทยได้คะแนนอยู่ในอันดับที่ 22 จาก 163 ประเทศทั่วโลก ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วถึง 3 อันดับ นั่นหมายความว่าประเทศไทยยังคงได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายในระดับที่ค่อนข้างสูงทีเดียว (ที่มา: https://www.visionofhumanity.org/maps/global-terrorism-index/#/)
“ในฐานะประชาชนที่อาศัยอยู่ในสังคมเมือง เราควรตระหนักถึงอันตรายจากการก่อการร้าย และมีความรู้เพียงพอที่จะระแวดระวังตัวให้รอดจากเหตุร้าย และช่วยให้สังคมเมืองของเราปลอดภัยมากขึ้น” ศาสตราจารย์ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในรายการ “รอบตัวเรา” ทางสถานีวิทยุจุฬาฯ เมื่อเร็วๆ นี้
ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวว่าแต่ละสังคมให้นิยามและความหมายของ “การก่อการร้าย” แตกต่างกัน และไม่อาจหานิยามที่เป็นสากลกับเรื่องนี้ได้ แต่สิ่งที่พอจะชี้ได้ว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นเข้าข่าย “การก่อการร้าย” ก็คือ “แรงจูงใจในการก่อเหตุ”
“หากแรงจูงใจของการก่อเหตุเป็นเรื่องส่วนตัว แม้ว่าจะรุนแรงก็ยังไม่อาจนับว่าเป็นการก่อการร้าย อย่างเช่น กรณีเด็กนักเรียนกราดยิงเพื่อนๆ และครูในโรงเรียน แม้จะรุนแรงแต่ก็อาจจะไม่ใช่การก่อการร้าย แต่หากพบว่านักเรียนคนนั้นติดตามเว็บไซต์ของขบวนการก่อการร้าย แล้วลุกขึ้นมากราดยิงเพื่อนๆ อันนี้อาจเข้าข่ายการก่อการร้าย”
“วัตถุประสงค์” ในการก่อเหตุจึงเป็นสิ่งที่ทำให้ “ผู้ก่อการร้าย” แตกต่างจาก “อาชญากร” ศ.ดร.สุรชาติ ขยายความว่า อาชญากรรม เป็นความรุนแรงที่ไม่มีเป้าหมายทางการเมือง แต่มีเป้าประสงค์ที่ทรัพย์สินหรือตัวบุคคล ในขณะที่การก่อการร้ายเป็นการก่อเหตุรุนแรงโดยหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือเป็นการก่อเหตุโดยสมาชิกของขบวนการก่อการร้าย เช่น เหตุวินาศกรรม 11 กันยายน หรือเหตุที่กลุ่มโบโกฮารามลักพาตัวเด็กหญิงในไนจีเรียกว่า 300 คน เป็นต้น
“ในอดีต ผู้ก่อการร้ายจะอยู่ในขบวนหรือเป็นสมาชิกของขบวนการก่อการร้าย แต่ปัจจุบัน มีผู้ก่อเหตุในลักษณะเป็นผู้ปฏิบัติคนเดียว (lone actor) ซึ่งอาจไม่ได้อยู่ในขบวนการอย่างเต็มรูปแบบ แต่ติดตามข้อมูลของขบวนการและได้รับอิทธิพลทางความคิดจากขบวนการ แล้วลุกขึ้นมาลงมือกระทำการด้วยตัวเอง”
ความรุนแรงคือเครื่องมือของการก่อการร้าย ซึ่งอาจกระทำได้หลายรูปแบบและวิธีการ “ทุกอย่างเป็นเครื่องมือก่อเหตุความรุนแรงได้หมด มีด ปืน แต่พื้นฐานคือวัตถุระเบิด” อาจารย์สุรชาติ กล่าว
ในปัจจุบัน การตรวจตราวัตถุระเบิดอย่างเข้มงวดทำให้การก่อเหตุด้วยระเบิดเปลี่ยนแปลงไป เช่น แทนที่จะเอากระเป๋าที่มีวัตถุระเบิดไปวางทิ้งไว้ในสถานที่หนึ่ง ก็อาจใช้ระเบิดฆ่าตัวตายติดที่บุคคล นอกจากนี้ ก็มีการใช้ยานพาหนะพุ่งเข้าใส่ฝูงชน อย่างที่เกิดเป็นเหตุ 11 กันยายน หรือเหตุที่มีผู้ขับรถพุ่งเข้าใส่ผู้คนที่ออกมาฉลองวันชาติฝรั่งเศส เมื่อปี 2559 เป็นต้น นอกจากนี้ ก็ยังมีอาวุธเคมีและชีวภาพที่อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือการก่อการร้ายด้วยเช่นกัน อย่างที่เคยเกิดเหตุโจมตีรถไฟใต้ดินเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ด้วยก๊าซซาริน เมื่อปี 2538 หรือการใช้เชื้อชีวภาพ เช่น “แอนแทร็กซ์” ใส่ในซองจดหมายที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2544
อย่างไรก็ดี อาจารย์สุรชาติ เชื่อว่าในปัจจุบัน ยังไม่มีขบวนการก่อการร้ายใดที่มีศักยภาพมากพอที่จะผลิตอาวุธทางชีวภาพและเคมีในระดับที่จะก่อเหตุในวงกว้าง
การก่อการร้ายมักเกิดขึ้นในพื้นที่เมืองและการระมัดระวังตัวเป็นเรื่องยาก แนวทางที่พอจะพาตัวเองให้รอดจากภัยก่อการร้ายได้คือการสังเกตและระแวดระวังสิ่งรอบตัว
“เมื่อเห็นอะไรผิดแปลก ผิดปกติ ผิดที่ผิดทาง ห้ามแตะต้องโดยเด็ดขาด” ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวเตือน พร้อมกล่าวเสริมว่าสังคมควรมีองค์ความรู้ในการรับมือกับการก่อการร้าย เช่น เมื่อถูกวางระเบิดหรือถูกขู่ว่าจะวางระเบิดจะทำอย่างไร เมื่อเกิดเหตุขึ้น จะทำอย่างไร เป็นต้น
“เราต้องเรียนรู้และฝึกการอพยพคน การเตรียมจัดการปัญหาในสำนักงาน หรือแม้กระทั่งการใช้โทรศัพท์มือถือในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าสัญญาณนั้นจะไปกระทบระเบิดแล้วเกิดเป็นตัวจุดชนวนเองหรือไม่”
ภาครัฐเองต้องตระหนักถึงภัยนี้และลงทุนด้านความมั่นคงสำหรับภัยก่อการร้ายสมัยใหม่ไว้ด้วย
“สังคมเมืองมีความเปราะบางในตัวเอง เมืองใหญ่ไม่เฉพาะกรุงเทพมหานคร ล้วนมีช่องโหว่ที่ให้ผู้ก่อเหตุใช้เป็นเงื่อนไขในการก่อการร้ายได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นการลงทุนของภาครัฐในด้านความมั่นคงจึงจำเป็น” อ.สุรชาติกล่าว ทิ้งท้าย
ติดตามชมรายการ “รอบตัวเรา” ตอน “การก่อการร้ายในสังคมเมือง”ย้อนหลังได้ทาง https://youtu.be/JxyqVwD5v-8
“หุ่นอาจารย์ใหญ่” ฝึกเจาะเลือดและฉีดยาสุนัข เสริมความมั่นใจนิสิตสัตวแพทย์
จุฬาฯ เปิดตัว “วีลแชร์เดินได้” Wheelchair Exoskeleton หุ่นยนต์สวมใส่บนร่างกายมนุษย์ นั่ง ลุกยืน และเดินได้ในตัวเดียว
“ศูนย์สุขภาวะผู้สูงอายุ จุฬาฯ” บ้านหลังที่ 2 ดูแลระหว่างวัน ตอบโจทย์ลูกหลานวัยทำงาน ตรงใจสูงวัยสุขภาพดี
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้