รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
7 เมษายน 2565
ผู้เขียน ชาติสยาม หม่อมแก้ว
WE Assess ระบบสัมภาษณ์งานด้วย AI ฝีมือคนไทย ตอบโจทย์การพัฒนาศักยภาพมนุษย์ ให้องค์กรประเมินผู้สมัครงานที่ใช่ ช่วยคนไทยได้ทำงานที่ตนเองชอบและถนัด ผลงานนิสิตเก่าวิศวฯ จุฬาฯ ผู้ก่อตั้งบริษัท EdVISORY ในร่ม CU Innovation Hub
จะดีแค่ไหน หากองค์กรต่าง ๆ สามารถเฟ้นหาและคัดกรองผู้สมัครที่มีทักษะความสามารถตรงกับตำแหน่งงาน และจะดีเพียงใด หากคนไทยได้ค้นพบความถนัดของตัวเองและใช้ศักยภาพนั้นในการทำงานสร้างสรรค์สังคมอย่างเต็มความสามารถ
โดยมากแล้ว การค้นหาและการค้นพบ “คนที่ใช่” และ “งานที่ชอบ” มักใช้เวลา ผ่านการลองผิดลองถูกครั้งแล้วครั้งเล่า แต่วันนี้ มีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) “WE Assess” ที่เข้ามาเป็นหนึ่งในตัวช่วยให้กระบวนการดังกล่าวเป็นทางลัดที่สั้นขึ้น
คุณวีรพล วีระโชติวศิน นิสิตเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดใจถึงนวัตกรรมชิ้นนี้ว่า “การพัฒนาคนถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ เราพัฒนา WE Assess เพื่อช่วยให้คนไทยค้นพบศักยภาพของตัวเอง เห็นจุดแข็งและจุดอ่อนที่พัฒนาได้เรื่อยๆ เพื่อตอบโจทย์การ re-skill และ up-skill ในอนาคต”
WE Assess เป็นหนึ่งในนวัตกรรมเพื่อสังคมของ EdVISORY บริษัทเทคโนโลยีด้านการศึกษาและการพัฒนาคนที่คุณวีรพลก่อตั้งขึ้นภายใต้การสนับสนุนของ CU Innovation Hub และเพิ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา ในหมวด “Start-up as a key driver for competitiveness” ซึ่งมีสตาร์ทอัพจากหลากหลายสาขาเข้ามาร่วมแข่งขัน
ด้วยความที่ตั้งต้นจากบริษัทเทคโนโลยีด้านการศึกษา EdVISORY ได้ดำเนินการวิจัยกรอบสมรรถนะของคนไทยเพื่อค้นหาว่าคนไทยควรต้องมีทักษะทางด้านใดบ้าง งานวิจัยดังกล่าวได้รับรางวัลเป็น 1 ใน 8 งานวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จากสำนักงานเลขาธิการสภากาศึกษา ในงาน 16th OEC Symposium และในเวลาต่อมาก็ถูกนำมาต่อยอดในการสร้าง WE Assess
“เราอยากจะพัฒนาเทคโนโลยีจากทรัพยากรที่เรามีอยู่ให้เกิดประโยชน์กับทั้งภาคธุรกิจและภาคการศึกษา ดังนั้น จากระบบการค้นหาตัวเอง WE Space ที่เรามีอยู่ ผนวกกับผลงานวิจัยกรอบสมรรถนะของคนไทยที่เราศึกษา เราจึงเกิดไอเดียทำระบบ pre screening เบื้องต้นสำหรับการสัมภาษณ์งานออนไลน์กับ AI เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้จ้างงานและผู้สมัครงานในยุค social distancing โดยระบบจะช่วยคัดกรองผู้สมัครงานให้ ไม่ต้องนัดหมายสัมภาษณ์ให้ยุ่งยาก ไม่ต้องลำบากเดินทางมาเจอกัน ลดการสัมผัส แต่สามารถวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของผู้สมัครได้ทันที และผู้สมัครงานเองก็สามารถนำเสนอตัวเองได้อย่างเต็มที่ ไม่ถูกจำกัดด้วยประวัติส่วนตัวหรือ Resume อีกด้วย” คุณวีรพล เล่าถึงความคิดที่มาของ WE Assess
WE Assess มีระบบการทำงาน 2 ส่วน คือ ระบบหน้าบ้านและระบบหลังบ้าน
ระบบหน้าบ้านของ WE Assess เป็นส่วนที่ผู้สมัครงานจะได้สัมผัส เริ่มจากผู้สมัครรับรหัสสำหรับกรอกเข้ามาในระบบเพื่อยืนยันตัวตน จากนั้นจะเป็นการสัมภาษณ์งานออนไลน์กับระบบ AI ในรูปแบบวิดีโอ โดยการตอบคำถามปลายเปิดจำนวน 5 ข้อ แต่ละข้อมีเวลาตอบไม่เกิน 5 นาที
“คำถามปลายเปิดเหล่านี้เอื้อให้ผู้สมัครแสดงความสามารถในด้านต่าง ๆ ออกมา เริ่มจากการให้ผู้สมัครได้แนะนำตัว พูดถึงประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ผลงานที่ประสบความสำเร็จในอดีตมีอะไรบ้าง ทำอย่างไรจึงประสบผลสำเร็จ เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นการสัมภาษณ์เชิงสมรรถนะ (Competency Based Interview)” คุณวีรพล ยกตัวอย่างและกล่าวว่าระบบการสัมภาษณ์ออนไลน์ของ WE Assess จะทำให้ผู้สมัครงานสามารถนำเสนอตัวเองได้อย่างเต็มที่
เมื่อผู้สมัครตอบคำถามครบทั้งหมดแล้ว เทคโนโลยี AI จะทำการประมวลผลออกมาเป็นรายงาน (Report) พร้อมชี้จุดแข็งและจุดอ่อนของผู้สมัคร นอกจากนี้ ยังมี Dashboard ที่แสดง Ranking หรืออันดับคะแนนของผู้สมัครพร้อมผลเป็นเปอร์เซ็นต์ (Percentile) ความสามารถเทียบกับคนอื่น ๆ ด้วย
ระบบหลังบ้านของ WE Assess เป็นส่วนที่ให้ทางฝ่ายบุคคล (HR) เข้ามาสร้างข้อมูลและดูข้อมูลต่าง ๆ ทั้งข้อมูลการรับสมัคร เช่น ประกาศรับกี่ตำแหน่ง อะไรบ้าง ข้อมูลของผู้สมัคร อันดับคะแนนที่ผู้สมัครแต่ละคนทำได้
“ปกติแล้วเจ้าหน้าที่บุคคลต้องไล่อ่านประวัติส่วนตัว (Resume) ทีละใบ เพื่อคัดกรองหาผู้สมัครที่น่าสนใจ จากนั้นจึงโทรติดต่อและนัดหมายสัมภาษณ์ แต่กับ WE Assess ฝ่ายบุคคลสามารถทำทุกอย่างได้ในคลิกเดียว หากมีผู้สมัครส่งเรซูเมเข้ามาในระบบ ไม่ว่าจะ 50 หรือ 100 คน ระบบสามารถส่งแบบประเมินให้ผู้สมัครได้พร้อมกันทั้งหมดในครั้งเดียว ช่วยประหยัดเวลาได้มาก”
เมื่อผู้สมัครทำแบบประเมินเรียบร้อยแล้ว AI ก็จะทำการประเมินจุดแข็งจุดอ่อนของผู้สมัครและจัดอันดับคะแนนออกมา โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที ทาง HR ก็สามารถเลือกติดต่อเฉพาะผู้สมัครที่อยู่ใน Top 3 หรือ Top 10 หรือตามความต้องการ เพื่อส่งต่อให้ผู้จัดการ หรือ Line Manager สัมภาษณ์งานทางออนไลน์หรือแบบเห็นหน้าเห็นตาต่อไป พร้อมข้อมูลเชิงลึกจากระบบ WE Assess ต่อไป
เทคโนโลยี AI ของ WE Assess พัฒนาขึ้นโดยใช้ข้อมูลต่าง ๆ จากการให้ผู้เชี่ยวชาญด้านงานบุคคลเข้ามารีวิวคำตอบของผู้สมัครและประเมินให้คะแนน โดยใช้กรอบสมรรถนะ (Competency Framework) ที่ทางบริษัท EdVISORY วิจัยมา เป็นรากฐาน ซึ่งมีทั้งหมด 3 ด้าน ได้แก่
คุณวีรพล อธิบายถึงการนำกรอบสมรรถนะทั้ง 3 ด้านข้างต้นมาพัฒนาเป็นระบบการประเมินด้วยเทคโนโลยี AI ว่า “ผู้สมัครงานอัดคลิปวิดีโอแนะนำตัวและตอบคำถามปลายเปิดตามที่กำหนดไว้ จากนั้นจะมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทำการประเมินและให้คะแนนทั้ง 3 ด้านดังกล่าว โดยมีตัวชี้วัดพฤติกรรม (Indicator) มากกว่า 60 ตัว ที่ใช้เป็นแนวทางในการประเมิน จากนั้นก็จะนำผลประเมินทั้งหมดของผู้เชี่ยวชาญมาเปรียบเทียบ หารือ เพื่อให้เกิดฉันทามติ แล้วนำเอาผลลัพธ์ที่ได้ไปใช้สอนหรือพัฒนา AI จนได้เทคโนโลยี AI ที่มีความฉลาดและแม่นยำ” ซึ่งกระบวนการดังกล่าว WE Assess ยังได้ร่วมมือกับ อาจารย์ที่ปรึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Start-up ชื่อ Wang จาก CU Innovation Hub เช่นกัน เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ เทคโนโลยี AI ของ WE Assess จะทำหน้าที่วิเคราะห์ทั้งคำตอบ น้ำเสียง สีหน้า ท่าทาง ของผู้สมัคร โดยจับเอา Keyword หรือบริบทจากคำตอบของผู้สมัครมาวิเคราะห์กับข้อมูล ที่ AI เคยถูกสอนหรือป้อนข้อมูลเอาไว้โดยผู้เชี่ยวชาญ
“อธิบายให้เห็นภาพง่าย ๆ คือ เราสอนให้ AI รู้จักคุณลักษณะต่าง ๆ เช่น คนที่วิเคราะห์เก่งจะมีลักษณะแบบไหน คนที่สื่อสารเก่งเป็นอย่างไร คนที่สร้างแรงบันดาลใจเก่ง เขาทำอย่างไร ก็จะมีตัวอย่างของพฤติกรรมหลากหลายในการสอน AI ให้เรียนรู้ จนสามารถทำการวิเคราะห์ประเมินผู้สมัครงานได้ต่อไป ส่วนในเรื่องบุคลิกภาพของผู้สมัคร ก็จะมีส่วนที่เป็นวิดีโอที่เราส่งให้เจ้าหน้าที่บุคลสามารถใช้ประเมินร่วมด้วย แต่ในอนาคต เรามีแผนที่จะพัฒนา AI ให้สามารถช่วยวิเคราะห์บุคลิกภาพ สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง ของผู้สมัครด้วย แต่วันนี้ เราเชื่อว่าสิ่งที่สำคัญกว่าก็คือคำตอบหรือความสามารถของผู้สมัคร เราจึงเน้นพัฒนาในส่วนนี้ให้แม่นยำที่สุดก่อน”
คุณวีรพล กล่าวถึงคุณค่าของ WE Assess กับงานด้านพัฒนาศักยภาพมนุษย์ว่า “หนึ่ง คือประหยัดเวลาในการทำงานของ HR สอง คือ ได้ข้อมูลเชิงลึก สามารถประเมินความความสามารถต่าง ๆ ของผู้สมัครได้ครบทั้ง 3 ด้าน และสุดท้าย คือการจัดการข้อมูล จากปกติที่มักทำกันแบบ Manual และมีความยุ่งยากซับซ้อน เกิดการตกหล่นของข้อมูลหรือข้อผิดพลาดต่าง ๆ ได้ แต่วันนี้เราเอาทุกอย่างขึ้นระบบบน Dashboard เจ้าหน้าที่ก็จะสามารถติดตามและจัดการข้อมูลต่อได้ง่าย และได้ข้อมูลที่เที่ยงตรง นี่คือ Value ที่ทาง We Assess มอบให้”
สำหรับผู้สมัครงาน WE Assess ก็เป็นระบบที่เปิดพื้นที่ให้โอกาสในการนำเสนอตัวเอง รวมถึงช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อไปสัมภาษณ์งาน
“บางคนอาจจะเป็นคนที่ทำงานเก่ง แต่เขียนเรซูเมไม่เก่ง บางครั้งจึงอาจถูกตัดสินว่าไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีก็ได้ การนำเสนอตัวเองผ่าน WE Assess ก็จะเป็นช่องทางที่ทำให้ HR ได้เห็นศักยภาพของผู้สมัครจริงๆ อันที่สองคือผู้สมัครสามารถสมัครงานและสัมภาษณ์งานออนไลน์จากที่ไหนก็ได้ตามความสะดวก”
ปัจจุบัน หลายองค์กร อย่างเช่น บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) บริษัท บิซิเนส แอนด์ เทคโนโลยี่ จำกัด กรมควบคุมโรค และองค์กรชั้นนำอีกจำนวนมาก ได้นำ WE Assess ไปใช้ประกอบการคัดกรองผู้สมัครงาน และการประเมินทักษะความสามารถของบุคลากรเพื่อค้นหาจุดแข็งจุดอ่อน และให้ทาง WE Assess จัดการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพให้บุคลากร
ไม่เพียงเป็นระบบที่สนับสนุนงานด้านศักยภาพมนุษย์ในองค์กร (HR) แต่ We Assess ยังช่วยตอบโจทย์ด้านการประเมินผลและพัฒนาความสามารถของนิสิตนักศึกษาด้วย
“มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็นำ WE Assess ไปใช้ประเมินนักศึกษาในการทำกิจกรรม หรือใช้ประเมินนิสิตปี 3-4 ก่อนจะสำเร็จการศึกษาเพื่อนำข้อมูลไปจัดทำเป็น competency transcript ที่บอกได้ทั้งเกรดเฉลี่ย ความสามารถ และความพร้อมของนิสิตในการเข้าสู่โลกของการทำงานจริง”
WE Assess จึงตอบโจทย์การคัดกรอง ประเมิน และพัฒนาศักยภาพมนุษย์ ทั้งในองค์กรและระบบการศึกษา ซึ่งในอนาคตระบบนี้จะยิ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้นตามแนวโน้มของสังคมโลกที่เน้นวัดผลเชิงสมรรถนะ บริษัท EdVISORY จึงเตรียมขยายตลาดไปยังต่างประเทศ และเปิดระดมทุนอย่างเป็นทางการสำหรับนักลงทุนที่สนใจใน WE Assess
สนใจข้อมูลเพิ่มเติม ต้องการทดลองใช้ระบบ หรือร่วมลงทุนใน WE Assess
ติดต่อ Email: weerapol@edvisory.co.th
Facebook: EdVISORY.co.th ( https://www.facebook.com/edvisory.co.th/ )
Website: https://edvisory.co.th หรือ https://weassess.ai
“หุ่นอาจารย์ใหญ่” ฝึกเจาะเลือดและฉีดยาสุนัข เสริมความมั่นใจนิสิตสัตวแพทย์
จุฬาฯ เปิดตัว “วีลแชร์เดินได้” Wheelchair Exoskeleton หุ่นยนต์สวมใส่บนร่างกายมนุษย์ นั่ง ลุกยืน และเดินได้ในตัวเดียว
“ศูนย์สุขภาวะผู้สูงอายุ จุฬาฯ” บ้านหลังที่ 2 ดูแลระหว่างวัน ตอบโจทย์ลูกหลานวัยทำงาน ตรงใจสูงวัยสุขภาพดี
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้