รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
27 เมษายน 2565
ผู้เขียน เมธาพร ไตรกิจวัฒนกุล
ทีมวิจัยคณะวิทย์ฯ จุฬาฯ ค้นพบสารสกัดในทุเรียนอ่อนมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงเทียบเท่าวิตามินซี เพิ่มความชุ่มชื่นและปกป้องผิวจากรังสียูวี เล็งผลิตเครื่องสำอาง ช่วยเกษตรกรเพิ่มมูลค่าของเหลือใช้ทางการเกษตร
ทุเรียนเป็นราชาแห่งผลไม้ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ในแต่ละปีประเทศไทยส่งออกทุเรียนไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศและเกษตรกร แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่ายังมีผลทุเรียนอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าใดๆ
“ชาวสวนต้องตัดผลทุเรียนอ่อนทิ้งโดยเฉลี่ยแล้วราว 200-300 ผลต่อหนึ่งต้น เนื่องจากทุเรียนหนึ่งต้นจะออกดอกจำนวนมาก ถ้าทุกดอกกลายเป็นผลทั้งหมด ต้นทุเรียนจะรับน้ำหนักไม่ไหว ทำให้กิ่งหักได้ ชาวสวนจึงต้องเลือกผลที่จะเจริญเติบโตได้จริงและมีรูปร่างสวยงาม เพื่อจะได้ขายได้ราคาดี” รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภอรรจ ศิริกันทรมาศ ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึงที่มาของโจทย์การวิจัยสารสกัดจากทุเรียนอ่อนสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพตามนโยบายการขับเคลื่อน BCG (Bio-Circular-Green Economy) ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy)
“ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกทุเรียนหลายแสนไร่ ผลผลิตที่ออกมาในแต่ละปีมีจำนวนมาก แต่วัตถุดิบที่เป็นของเหลือใช้ทางการเกษตรที่สูญเปล่าไม่มีคนสนใจและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ก็มีอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน เราจึงคิดสร้างมูลค่าเพิ่มให้ทุเรียนอ่อนในสวนโดยหาส่วนประกอบทางชีวภาพในทุเรียนอ่อนว่าจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับอะไรได้บ้าง”
รศ.ดร.ศุภอรรจ อธิบายว่าทุเรียนอ่อนคือผลของทุเรียน (Durio zibethinus L.) ระยะตัดแต่งผลที่ยังไม่มีการเจริญของเนื้อผลที่สมบูรณ์ และยังไม่มีการสร้างกลิ่นของสารระเหย ที่มีซัลเฟอร์เป็นองค์ประกอบ ซึ่งเป็นกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของทุเรียน ผลทุเรียนอ่อนมีความยาว 6-12 เซนติเมตร และมีเมือกใสคล้ายเมือกหอยทากอยู่ภายในเมื่อนำไปแช่น้ำ
“ทีมวิจัยของเรานำผลทุเรียนอ่อนไปวิเคราะห์เมแทโบโลม (เมแทบอไลต์ทั้งหมด) เพื่อศึกษาองค์ประกอบทางเคมี และศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพควบคู่ไปด้วย จึงพบสารกลุ่มโพลีฟีนอล (Polyphenols) ที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระในปริมาณที่สูงมาก และพบสารประกอบฟีนอลิก (Phenolics) ที่มีฤทธิ์ยับยั้งหรือชะลอการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน (Oxidation) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอนุมูลอิสระ และมีฤทธิ์ด้านไกลเคชัน (Glycation) คือการเติมน้ำตาลเข้าไปที่โปรตีน สอดคล้องกับความชราของเซลล์ รวมไปถึงความสามารถในการป้องกันผิวจากรังสีอัลตราไวโอเลต นอกจากนี้ ยังพบเพคติน (Pectin) ที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนัง”
รศ.ดร.ศุภอรรจ กล่าวว่าสารต่างๆ ที่พบในทุเรียนอ่อนเป็นสารที่พบได้ในพืชและผลไม้หลายชนิด อาทิ เมล็ดองุ่น โกโก้ ฯลฯ แต่ชนิดและปริมาณของสารสำคัญที่พบในพืชแต่ละชนิดไม่เท่ากัน ซึ่งปริมาณของสารสำคัญในทุเรียนก่อนสามารถเทียบเคียงกับพืชชนิดอื่นๆ ได้
นางสาวพุทธมาศ ผิวล่อง นิสิตปริญญาโทภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในทีมวิจัย อธิบายว่าการสกัดสารจากทุเรียนอ่อนที่มี Biomarker เป็นการกำหนดฤทธิ์ทางชีวภาพ เป็นกระบวนการสกัดที่ไม่ซับซ้อน ไม่มีการใช้ตัวทำละลายที่เป็นพิษที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และไม่ใช้ความร้อนในการสกัด เพื่อลดพลังงาน ขั้นตอนและค่าใช้จ่าย ซึ่งกรรมวิธีการสกัดนี้จะทำให้ได้สารสกัดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและแพคตินในปริมาณค่อนข้างสูง
“เมื่อได้สารสกัดจากทุเรียนอ่อนแล้ว เราจึงนำมาทดสอบกับเซลล์ผิวหนังโดยนำเซลล์มาแบ่งและบ่มกับสารสกัดเป็นเวลา 24 ชั่วโมง จากนั้นเติมตัวที่ทำให้เซลล์เกิดภาวะเครียดเข้าไป ให้คล้ายกับเราเดินไปเจอฝุ่น เจอแสงแดด ผลพบว่าเซลล์ที่มีสารสกัดทุเรียนอ่อนอยู่ในปริมาณมาก จำนวนเซลล์ที่มีชีวิตจะมีอยู่จำนวนมากเช่นกัน หมายความว่าเมื่อเราทาครีมก่อนไปเจอมลภาวะ จะรักษาปกป้องเซลล์มากกว่าไม่ทาอะไรเลย และเมื่อเราลองทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดทุเรียนอ่อน เปรียบเทียบกับวิตามินซี ก็พบว่าสารสกัดจากทุเรียนอ่อนมีศักยภาพเทียบเท่าหรืออาจจะมากกว่าวิตามินซี เนื่องจากสารสกัดทุเรียนอ่อนมีสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณมาก”
นอกจากประสิทธิภาพแล้ว ทีมวิจัยได้ทดสอบความเป็นพิษกับผิวหนัง พบว่าสารสกัดจากทุเรียนอ่อนมีฤทธิ์เชิงบวก ไม่พบความเป็นพิษ โอกาสก่อให้เกิดการแพ้ต่ำ จึงมีความปลอดภัยสูง มีศักยภาพในการนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางได้เป็นอย่างดี
“เราได้ลองนำครีมกันแดดตามท้องตลาดมาผสมกับสารสกัดในรูปแบบผงสารสกัด ในปริมาณ 2-3% ตามมาตรฐานที่ อย.กำหนด พบว่า เนื้อครีมกันแดดให้เนื้อสัมผัสเหมือนเดิม ผงสารสกัดที่มีสีเหลืองจางๆ เมื่อใส่ในผลิตภัณฑ์แล้วแทบจะไม่เห็นความแตกต่างของสี ที่สำคัญคือสารสกัดจากทุเรียนอ่อนไม่มีกลิ่น จึงไม่รบกวนกลิ่นของครีมกันแดด”
นอกจากนี้แล้ว ทีมวิจัยยังพบว่าสารสกัดทุเรียนอ่อนยังมีฤทธิ์ในการเพิ่มการแบ่งตัวของเซลล์รากผมอีกด้วย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายต่อไปได้
แม้แรกเริ่ม ทีมวิจัยจะวิจัยสกัดสารสำคัญจากทุเรียนอ่อนพันธุ์หมอนทอง แต่ภายหลังก็ได้ทดสอบสกัดสารสำคัญจากทุเรียนอ่อนพันธุ์อื่นๆ ด้วย ซึ่งพบว่าไม่ว่าจะสายพันธุ์ใด ทุเรียนอ่อนก็ให้สารสำคัญที่ไม่ต่างกัน
“ในอนาคต เมื่องานวิจัยก้าวไปถึงขั้นการผลิตเชิงพาณิชย์ เราเชื่อว่าจะช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น ชาวสวนไม่ต้องตัดทุเรียนอ่อนทิ้ง แต่ตัดส่งมาผลิตเป็นสารสกัดในเครื่องสำอาง”
รศ.ดร.ศุภอรรจ กล่าวทิ้งท้ายว่าประเทศไทยมีทรัพยากรจำนวนมาก โดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตร เช่น ผลไม้ ซึ่งน่าสนใจและควรได้รับการสนับสนุนการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแปรรูปสินค้า การนำวัตถุดิบเหลือใช้มาเพิ่มมูลค่าไปจนถึงการพัฒนานวัตกรรม
สุดท้ายทางทีมวิจัยขอขอบคุณผู้ร่วมงานวิจัยท่านอื่นๆ ที่มีส่วนร่วม รศ.ดร.มัญชุมาส เพราะสุนทร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ รศ.ดร.วริษา พงศ์เรขนานนท์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ผศ.นพ.ณัฐ ตันศรีสวัสดิ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ ดร.อัจฉรา แพมณี จากศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สวทช.
ผู้สนใจสารสกัดจากทุเรียนอ่อนสำหรับใช้ในเครื่องสำอาง สามารถติดต่อได้ที่ รศ.ดร.ศุภอรรจ ศิริกันทรมาศ ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ Email : supaart.s@chula.ac.th
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้