รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
12 พฤษภาคม 2565
ผู้เขียน การัณย๋ภาส ลิ้มควรสุวรรณ
อาจารย์ครุศาสตร์ จุฬาฯ พัฒนา “บ้านตุ๊กตา” ของเล่นบ่มเพาะอุปนิสัยความเห็นอกเห็นใจให้เด็กๆ รู้จักแนวทางการอยู่ร่วมกับผู้พิการและผู้ชราในสังคมอย่างมีความสุข
การปลูกฝังให้เด็กมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) ไม่อาจทำได้ผ่านการบอกสอนหรือท่องจำ แต่เกิดจากเรียนรู้ผ่านปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคมและการเล่นที่จำลองสถานการณ์และผู้คนที่หลากหลาย เช่น “Doll House” ของเล่นสื่อการเรียนรู้ที่พัฒนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พรเทพ เลิศเทวศิริ สาขาวิชาศิลปศึกษา ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“การปลูกฝังให้เด็กเป็นคนมีจิตใจโอบอ้อมอารีและเข้าอกเข้าใจ (empathy) เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและมีชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างมีความสุข ช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือช่วงก่อนวัยเรียนอายุ 3-6 ขวบ (อนุบาล) ที่เด็กๆ เปิดรับการเรียนรู้และจดจำสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ง่าย”
Doll house คือบ้านตุ๊กตาที่มีความพิเศษตรงที่เป็นตุ๊กตาที่แสดงออกถึงความพิการ ทั้งตุ๊กตาผู้พิการทางสายตา ผู้พิการทางการได้ยิน หรือผู้พิการทางสมอง เป็นต้น และส่วนของตัวบ้านนั้นจะมีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่ตรงกับสิ่งของที่ใช้ในชีวิตจริงพร้อมกับมีกลไกการทำงานที่เหมือนจริง
ผศ.พรเทพ พัฒนา Doll house โดยต่อยอดจากงานวิจัยที่ได้รับรางวัลระดับโลก เช่น ข้อต่อตัวตุ๊กตาที่ได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์เฉพาะของระบบการล็อคข้อต่อต่างๆ ทำให้ตุ๊กตาที่ประกอบขึ้นมาขยับเขยื้อนได้ตามจุดที่กำหนด มีความเสมือนจริง เพิ่มความน่าสนใจในการเล่น
ในเซทอุปกรณ์ Doll House จะเป็นตัวตุ๊กตาสำเร็จรูปที่มีคุณลักษณะท่าทางที่บ่งบอกถึงความเป็นผู้พิการรวมถึงตัวบ้านตุ๊กตาที่มีอุปกรณ์สำหรับผู้พิการที่ครบถ้วนรวมไปถึงทางลาดต่างๆ และรถเข็นสำหรับผู้พิการด้วย โดยชิ้นส่วนเหล่านี้มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงสำหรับเด็กเพราะทำจากวัสดุทดแทนไม้ที่เรียกว่า MDF (Medium Density Fiber Board) แผ่นใยไม้อัดจากเศษฝุ่น เศษไม้ อัดกาวขึ้นรูปมีความหนาแน่นปานกลาง
เด็กๆ จะได้สนุกพร้อมทั้งเรียนรู้ผ่านทางการเล่น Doll houseโดยตุ๊กตาเป็นตัวแทนความพิการและชราภาพแบบต่างๆ มีทั้ง ตาบอด หูหนวก ผู้พิการทางสมอง แขนขาขาด และคนชรา นอกจากนี้ยังมีชิ้นส่วนที่เป็นอุปกรณ์สำหรับผู้พิการแบบต่างๆ เช่น …. ไม้เท้าเดินสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น ซึ่งทุกอย่างใน Doll House เป็นแบบจำลองเสมือนจริง ซึ่งมีหลักการทำงานเหมือนกับของจริง
“Doll House เป็นสื่อในการสอนให้เด็กเกิดความตระหนักรู้และเข้าใจในการอยู่ร่วมกัน เข้าใจความพิการ ความชราภาพของมนุษย์ และเกิด Empathy (ความเห็นอกเห็นใจ) ขึ้นในจิตใจพวกเขา”
ในชุดของเล่นจะมีคู่มือพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันกับผู้พิการและคนชรา รวมถึงแนะนำอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับผู้พิการว่าใช้อย่างไร
“หลายคนไม่ทราบว่าจะช่วยเหลือผู้พิการอย่างไร ทำให้ไม่กล้าให้ความช่วยเหลือ กลัวจะทำผิด หรือกลัวว่าจะเป็นการดูถูกดูแคลนพวกเขา อย่างเรื่องการข้ามถนน เราไม่ควรเดินเข้าไปจับและจูงมือเขาข้ามถนน แต่เราควรใช้หลังมือของเราแตะหลังมือของผู้พิการ แล้วเขาจะมาเกาะที่แขนเรา เพื่อให้เราพาเขาข้ามถนน” อาจารย์พรเทพ ยกตัวอย่างหลักสากลในการพาผู้พิการข้ามถนน
“หรือแม้แต่การใช้ชีวิตร่วมกับผู้สูงอายุ บ้านของ Doll House มีอุปกรณ์ต่างๆ ที่เหมาะกับผู้สูงอายุทำออกมาในรูปแบบของเล่นด้วย ทั้งวอคเกอร์ ไม้เท้า เตียงสำหรับผู้สูงอายุ เสาน้ำเกลือ หรือแม้กระทั่งแพมเพิส (ผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับผู้พิการหรือผู้สูงอายุ) เรียกได้ว่าของเล่นชุดนี้มีทุกอย่างที่เกี่ยวกับการปลูกฝังเรื่องการใช้ชีวิต ความเท่าเทียมในสังคมกับตัวเด็กและผู้พิการ ผู้สูงอายุ”
อาจารย์พรเทพกล่าวว่าผลพลอยได้อีกอย่างของของเล่นชุดนี้คือความรู้และประสบการณ์การเรียนรู้ในการใช้อุปกรณ์ในการดำรงชีพของผู้พิการ ผู้สูงอายุ เพราะอุปกรณ์ทั้งหมดที่อยู่ในชุดของเล่น Doll House นั้นจำลองมาจากของจริง และจุดเคลื่อนไหว เคลื่อนที่ที่มีความใกล้เคียงกับของจริง
Education toy ของเล่นเพื่อการศึกษา พื้นฐานก็คือความสนุก เพราะว่าของเล่นมีไว้เพื่อความสนุก หลังจากได้ความสนุกจากการเล่นแล้วสิ่งที่ตามมาก็คือ การกระตุ้นจินตนาการ จินตนาภาพของเด็กให้เกิดขึ้น พร้อมกับพฤติกรรมการเรียนรู้ สรุปก็คือใช้ศักยภาพของเด็ก มาเป็นตัวกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ไปพร้อมกับการเล่นของเล่น บนพื้นฐานของความสนุกไม่ใช่การสอนเรื่องใดๆ “ของเล่นเพื่อการศึกษาต้องไม่ได้เน้นไปที่การศึกษาโดยตรง แต่ของเล่นต้องทำให้เด็กเกิดความสนุกที่ได้เล่น ที่ตามมาอื่นๆ คือผลพลอยได้ แต่ถ้าของเล่นมีวัตถุประสงค์เน้นที่การเรียนรู้มากกว่าความสนุก อันนี้ก็ไม่ใช่ของเล่นที่ดีมันผิดวัตถุประสงค์ของการทำของเล่นขึ้นมา ของเล่นต้องเล่นเพื่อความสนุก” นี่คือ Education toy ในความหมายของอาจารย์พรเทพ
อาจารย์พรเทพเน้นว่าผู้ปกครองและครูจะต้องอ่านคู่มือพื้นฐานซึ่งมีวิธีการ ข้อแนะนำ ความรู้การใช้อุปกรณ์ และการให้ความช่วยเหลือผู้พิการให้เข้าใจ เพื่อจะแปลงนำมาสู่กระบวนการเล่นกับเด็กๆ ได้อย่างสนุกสนาน
“นี่เป็น “ของเล่น” เด็กๆ ต้องรู้สึกว่าพวกเขากำลังเล่นสนุก ไม่ใช่กำลังเรียน ผู้ปกครองและครูต้องเรียนรู้คู่มือก่อน แล้วถ่ายทอดให้เด็กโดยสอดแทรกข้อมูลไประหว่างการเล่น เช่น เบรลล์บล็อคมีไว้ทำอะไร เพื่ออะไร หรือ Ramp ทางลาดเพื่อสอนเรื่องการเดินของคนพิการ”
”การฝึกให้เด็กรู้จักและมีความเห็นอกเห็นใจ คือการทำให้เขารู้จักพื้นฐานของชีวิต เพราะว่าความเห็นอกเห็นใจเป็นพื้นฐานความดีของมนุษย์ ทุกคนอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องกระตุ้นให้เกิดขึ้นในจิตใจ ในสภาพสังคมที่แข่งขันและเป็นบริโภคนิยมทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนและไกลออกไป ทำให้ถูกกล่าวถึงน้อยลงและเป็นไปในเชิงลบ เราคงไม่มาบอกว่าสิ่งเหล่านี้ผิดหรือถูก ขึ้นอยู่จิตสำนึกของแต่ละคนที่จะเกิดขึ้น ของเล่นต่างๆ ที่ทำขึ้นมา เพื่อต้องการกระตุ้นจิตสำนึกของเด็กๆ ให้เกิดความเห็นอกเห็นใจผ่านการเล่น และสร้างความเข้าอกเข้าใจในสังคมที่แตกต่างกันด้วย” อาจารย์พรเทพ ให้ความหมายของความเห็นอกเห็นใจ
ผู้ปกครองหรือครูอาจให้เด็กๆ เล่น Doll House ตามจินตนาการได้ แต่จะดีกว่าผู้ใหญ่และเด็กๆ จะได้ใช้เวลาและเรียนรู้ไปด้วยกัน เรียกได้ว่าเป็นการเรียนรู้ชีวิตที่มาพร้อมกับการเล่นสนุกที่เหมาะสมกับวัย
“คนพิการไม่ได้ต้องการความสงสาร แต่ต้องการคนที่เข้าใจและได้รับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม Doll House จะช่วยให้เด็กได้เล่นสนุกและเรียนรู้วิธีการช่วยเหลือผู้พิการ การใช้อุปกรณ์สำหรับผู้พิการ และที่สำคัญคือการใช้ชีวิตร่วมกับผู้พิการและผู้สูงวัย”
Doll House เป็นของเล่นสื่อการเรียนรู้ที่สนุกและสามารถบรรจุสาระที่อยากปลูกฝังให้เด็กๆ ได้เป็นอย่างดี โดยในอนาคต อาจารย์พรเทพมีแนวคิดที่จะพัฒนา Doll House ให้เป็นการเล่าเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิตไทยและพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อเป็นการสอดแทรกและปลูกฝังในเรื่องของความพอเพียงให้กับเด็กๆ
สำหรับผู้ที่สนใจ Doll House ติดต่อได้ที่อาจารย์พรเทพ สาขาวิชาศิลปศึกษา ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร 02-218-2290
“หุ่นอาจารย์ใหญ่” ฝึกเจาะเลือดและฉีดยาสุนัข เสริมความมั่นใจนิสิตสัตวแพทย์
จุฬาฯ เปิดตัว “วีลแชร์เดินได้” Wheelchair Exoskeleton หุ่นยนต์สวมใส่บนร่างกายมนุษย์ นั่ง ลุกยืน และเดินได้ในตัวเดียว
“ศูนย์สุขภาวะผู้สูงอายุ จุฬาฯ” บ้านหลังที่ 2 ดูแลระหว่างวัน ตอบโจทย์ลูกหลานวัยทำงาน ตรงใจสูงวัยสุขภาพดี
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้